บทบรรณาธิการหนังสือพิมพ์วอลล์ สตรีท เจอร์นัล (Wall Street Journal) วันที่ 4 ก.พ. 2557
ประเทศไทยไปเลือกตั้งเพื่อประชาธิปไตย
รัฐประหารโดยตุลาการ จะถือเป็นการให้รางวัลแก่พฤติกรรมที่ย่ำแย่ของพรรคประชาธิปัตย์
ถ้าหากพรรคฝ่ายค้านบอตการเลือกตั้ง จะถือว่าการเลือกตั้งเป็นโมฆะหรือไม่? คำตอบต่อคำถามข้างต้นกลายเป็นสิ่งสำคัญต่อความมั่นคงของประเทศไทย หลังพรรคประชาธิปัตย์ปฏิเสธที่จะเข้าร่วมการเลือกตั้งเมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา
ถึงแม้ผู้ประท้วงต่อต้านรัฐบาลจะใช้ทั้งคำข่มขู่และการกระทำเพื่อขัดขวางการเลือกตั้ง รวมถึงการปะทะกันด้วยอาวุธในชานเมืองของกทม.เมื่อวันเสาร์ แต่วันเลือกตั้งกลับไปเป็นอย่างสงบสันติ การลงคะแนนเสียงเป็นไปอย่างสะดวกในร้อยละ 90 ของหน่วยเลือกตั้งทั้งหมด และถึงแม้จะยังไม่มีผลการเลือกตั้งอย่างเป็นทางการ แต่ก็มีข้อมูลว่าประชากรผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งเกือบครึ่งหนึ่ง เดินทางไปใช้สิทธิ์ในวันนั้น
ตัวเลขนี้ถือว่าน่าประทับใจอย่างยิ่ง เพราะผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งไม่รู้เลยว่าตนจะถูกทำร้ายระหว่างเดินทางไปลงคะแนนเสียงหรือไม่ นอกจากนี้ ยังเป็นเรื่องน่าชื่นชมที่ผู้ต่อต้านรัฐบาลบางคนยังไม่สนใจข้อเรียกร้องอันไม่เป็นประชาธิปไตยของแกนนำฝ่ายค้าน และเดินทางไปเลือกตั้งเพื่อแสดงจุดยืนของตน โดยการกาบัตรเสีย
ขณะเดียวกัน ถึงแม้ผลการเลือกตั้งจะยังไม่ประกาศอย่างเป็นทางการ แต่ก็ค่อนข้างชัดเจนแล้ว [ว่าใครจะชนะ] และก็ชัดเจนมาตลอด แม้แต่สมาชิกพรรคประชาธิปัตย์ชื่อดังหลายคนก็เคยยอมรับเองว่าพวกตนไม่มีทางชนะการเลือกตั้งครั้งนี้ และนี่คือเหตุผลว่าทำไมพวกเขาจึงบอยคอตการเลือกตั้ง
ดังนั้น พรรคประชาธิปัตย์ขณะนี้จึงประกาศที่จะต่อสู้ด้วยกระบวนการอันไม่เป็นประชาธิปไตย เช่น การประท้วงบนท้องถนน และการฟ้องร้องทางกฎหมาย วิธีแรกของประชาธิปัตย์ ซึ่งเป็นการใช้กฎหมู่นั้น ได้ล้มเหลวลงแล้ว เห็นได้จากยอดชุมนุมต่อต้านรัฐบาลที่ลดน้อยลง อีกทั้งยังต้องใช้เวลาอีกประมาณ 6 เดือนว่ารัฐสภาใหม่จะจัดตั้งได้ เพราะต้องมีการเลือกตั้งซ่อมในพื้นที่ที่ไม่มีการเลือกตั้ง ดังนั้น การปลุกกระแสต่อต้านรัฐบาลจะเป็นเรื่องยาก เพราะเป้าหมายเป็นเพียงรัฐบาลรักษาการณ์เท่านั้น
พรรคประชาธิปัตย์จึงเหลือเพียงแค่หนทางเดียวที่เป็นไปได้ในการล้มรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร และพันธมิตรของอดีตนายกรัฐมนตรีทักษิณ ชินวัตร นั่นคือ การใช้กระบวนการศาล ทั้งนี้ ศาลรัฐธรรมนูญของไทยมีประวัติแทรกแซงการเมืองมายาวนาน เช่น ประกาศให้การเลือกตั้งเมื่อปี 2549 เป็นโมฆะ โดยให้เหตุผลว่าคูหาเลือกตั้งวางผิดมุม
คำว่า “ตุลาการภิวัฒน์” [หรือรัฐประหารโดยตุลาการ] กลายเป็นศัพท์การเมืองไทยในปี 2551 เมื่อศาลรัฐธรรมนูญโค่นรัฐบาลที่สนับสนุนทักษิณ 2 รัฐบาลติดต่อกัน อีกทั้งยังยุบพรรครัฐบาล และห้ามไม่ให้ส.ส.ฝ่ายรัฐบาลหลายคนยุ่งเกี่ยวการเมืองเป็นเวลา 5 ปี รัฐบาลประชาธิปัตย์พร้อมกับรัฐสภาที่เหลืออยู่จากรัฐบาลเก่า จึงขึ้นสู่อำนาจเป็นเวลา 3 ปี ก่อนที่การเลือกตั้งในปี 2554 จะทำให้กลุ่มพลังที่หนุนทักษิณกลับมามีอำนาจอีกครั้ง
ฝ่ายกองทัพและบรรดาชนชั้นสูงได้ร่วมกันเพิ่มพูนอำนาจให้แก่ตุลาการอย่างมาก ผ่านรัฐธรรมนูญปี 2550 ที่มีผลบังคับใช้หลังการรัฐประหาร ศาลรัฐธรรมนูญกลายเป็นองค์รักษ์ต่อต้านกลุ่มพลังของทักษิณ ร่วมกับคณะกรรมการปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ปปช.) และองค์กรที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งอื่นๆ ทั้งนี้ เนื่องจากศาลรัฐธรรมนูญสามารถป้องกันไม่ให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ก็เท่ากับว่าศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจอย่างเบ็ดเสร็จอีกด้วย
อย่างไรก็ตาม หากศาลรัฐธรรมนูญหรือปปช.ใช้อำนาจของตนในการล้มรัฐบาลเพื่อไทย ก็อาจจะกลายเป็นจุดอวสานขององค์กรเหล่านี้อีก เพราะการรัฐประหารด้วยตุลาการในปี 2557 จะยิ่งทำให้สาธารณชนมองว่า สถาบันเหล่านี้ไม่ได้เป็นเครื่องมือไว้รักษาดุลย์อำนาจกับฝ่ายบริหารอีกต่อไป แต่ได้กลายเป็นเครื่องมือเพื่อระบอบเผด็จการไปแล้ว
ขณะเดียวกัน ประชาชนไทยในเขตชนบท ซึ่งเป็นประชากรส่วนใหญ่ของประเทศ กำลังเริ่มหมดความอดทนกับการกระทำที่ขัดขวางสิทธิ์ในการเลือกพรรคการเมืองที่พวกเขานิยมแล้วเช่นกัน
อนึ่ง การรัฐประหารโดยตุลาการและความวุ่นวายที่จะตามมา จะสร้างผลกระทบอย่างใหญ่หลวงต่อธุรกิจของบรรดาชนชั้นสูงในกทม.ที่ส่วนใหญ่สนับสนุนการชุมนุมอันขัดต่อระบอบประชาธิปไตยของพรรคประชาธิปัตย์อีกด้วย ขณะนี้ ผลกระทบจากความไม่สงบในไทยเริ่มเห็นได้จากยอดนักท่องเที่ยวที่เดินทางมาประเทศไทยแล้ว โดยมียอดลดลงกว่าร้อยละ 50 ในเดือนม.ค.ที่ผ่านมา
ความเชื่อของพรรคประชาธิปัตย์ว่า หนทางสู่อำนาจของตนจะต้องมาด้วยกฎหมู่บนท้องถนนและทนายความ แทนที่จะเป็นการเลือกตั้งนั้น คือรากของปัญหาในประเทศขณะนี้ทีเดียว
สังคมไทยจะกลับสู่สภาวะปกติได้ก็ต่อเมื่อทั้งสองฝ่ายตกลงที่จะใช้กระบวนการประชาธิปไตยตัดสินข้อขัดแย้งของพวกเขา ดังนั้น การรัฐประหารโดยตุลาการจะเป็นการให้รางวัลแก่พฤติกรรมที่ย่ำแย่ของพรรคประชาธิปัตย์
จริงอยู่ มีสถานการณ์ที่การบอยคอยการเลือกตั้งถือว่าเป็นสิ่งชอบธรรม เช่น เมื่อการลงคะแนนเสียงไม่ได้เปิดกว้างและเป็นธรรมจริง แต่นั่นไม่ใช่สิ่งที่เกิดขึ้นในประเทศไทย และพรรคฝ่ายค้านเองก็ไม่เคยกล่าวหาในประเด็นนั้นด้วย
เมื่อพรรคการเมืองในระบอบประชาธิปไตยสมัยใหม่ประพฤติตนเป็นเด็กสปอยล์และเอาแต่บอยคอตการเลือกตั้งนั้น พรรคเช่นนี้สมควรถูกลงโทษด้วยการถูกจับไปนั่งข้างนอกสนามการเมือง จนกว่าพรรคดังกล่าวจะมีวุฒิภาวะเป็นผู้ใหญ่เสียที
ที่มา
Thailand Votes for Democracy
A judicial coup would reward the Democrats for bad behavior.
http://online.wsj.com/article/SB10001424052702303442704579360272255058790.html?dsk=y