กรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือดีเอสไอ ยังคงเดินหน้าสอบสวนคดีการเสียชีวิตของประชาชนจากสถานการณ์รุนแรงทางการเมืองในปี 2553 อย่างต่อเนื่อง แม้ว่ากระบวนการเดินหน้าออกกฎหมายร่างพ.ร.บ.นิรโทษกรรมฉบับเหมาเข่งจะเดินหน้าอยู่เช่นกัน เพราะหน้าที่ของดีเอสไอในคดีมีผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์สลายการชุมนุมของคนเสื้อแดงเมื่อปี 2553 คือการสอบสวนหาหลักฐานพยานเพื่อดำเนินคดีกับผู้ที่ต้องรับผิดชอบ ในวันที่ 5 พ.ย.นี้ คดีจะมีความเคลื่อนไหวที่สำคัญอีกวาระหนึ่ง
เมื่อเจ้าหน้าที่ระดับสูงญี่ปุ่น และผู้บัญชาการสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมญี่ปุ่นมีนัดเข้าพบนายธาริต เพ็งดิษฐ์ อธิบดีดีเอสไอ และพนักงานสอบสวนเพื่อสอบถามความคืบหน้าผลการสอบสวนกรณีการเสียชีวิตของนายฮิโรยูกิ มูราโมโตะ ช่างภาพสำนักข่าวรอยเตอร์
เสียชีวิตขณะบันทึกภาพเหตุการณ์ในฐานะสื่อมวลชน ความตายของฮิโรยูกิ มูราโมโตะ เป็นสิ่งที่ย้ำเตือนว่า ประเทศไทยต้องหาคำตอบให้กับญาติและครอบครัวชาวญี่ปุ่นของเขา รวมถึงรัฐบาลญี่ปุ่น และสำนักข่าวรอยเตอร์ สื่อใหญ่ระดับโลก
ฮิโรยูกิทำงานในพื้นที่เสี่ยงภัยมาก่อน ทั้งในเกาหลีเหนือ และฟิลิปปินส์ในช่วงเกิดวิกฤตทางการเมืองแต่กลับมาเสียชีวิตในประเทศไทย ในวันที่ 10 เมษายน 2553 ระหว่างปฏิบัติหน้าที่อยู่ในเขตที่มีคำสั่งให้เจ้าหน้าที่ใช้อาวุธ ด้วยข้ออ้างเรื่อง ผู้ก่อการร้าย
ผลการสอบสวนพบว่า มีพยานหลายปากยืนยันว่าฮิโรยูกิถูกกระสุนที่มาจากฝั่งเจ้าหน้าที่สุดท้ายคงต้องรอฟังศาลชี้ผลการไต่สวนชันสูตรศพ ซึ่งคาดว่าคงจะสรุปได้ในเร็วๆ นี้
คําถามที่ผุดขึ้นมาจากการผลักดันร่างพ.ร.บ.นิรโทษกรรมขณะนี้ก็คือ ประเทศไทย จะหาคำตอบให้ฝ่ายญี่ปุ่นอย่างไรหากผลการสอบสวนสรุปสำนวนเสร็จสิ้น ใครจะเป็นผู้รับผิดชอบ
เมื่อความตายของชาวต่างชาติไม่ใช่เรื่องที่ตกลงกันเองได้เฉพาะในหมู่คนไทยฮิโรยูกิเป็นเหยื่อในกรณีเดียวกับ ฟาบิโอ โปเลงกี ช่างภาพอิสระชาวอิตาลีที่เสียชีวิต ในวันที่ 19 พ.ค.2553 ที่มาเสียชีวิตในไทย
น้องสาวของฟาบิโอทำจดหมายเปิดผนึก แล้วว่า ต่อต้านการปล่อยให้ผู้ต้องรับผิดชอบลอยนวลประเทศไทยจะตอบคำถามกับสองชีวิตนี้อย่างไร
ที่มา ข่าวสด