ชัยเกษม นิติสริ ก้าวแรกบนเก้าอี้รมว.ยธ. - "ครั้งผมเป็นอัยการสูงสุด ผมฟ้องทักษิณก็หลายเรื่อง.."

ข่าวสด
14 สิงหาคม 2556
รายงานพิเศษ


ก้าวสู่ตำแหน่งทางการเมืองครั้งแรกบนเก้าอี้รมว.ยุติธรรม

ท่ามกลางเสียงวิพากษ์วิจารณ์ถูกส่งเข้ามาสะสางคดีความทางการเมืองให้กับพรรคเพื่อไทย

ซึ่งอาจส่งผลต่อความเป็นกลาง ในการสอบสวนคดีสำคัญหลายคดี

นายชัยเกษม นิติสิริ ชี้แจงถึงข้อกล่าวหาและประกาศจุดยืนการทำงานไว้ดังนี้


เข้าสู่ตำแหน่งทางการเมืองครั้งนี้ถูกวิจารณ์เป็นเรื่องการตอบแทน เพราะเคยช่วยเหลือพ.ต.ท.ทักษิณ เรื่องคดีความ

นายกฯโทร.มาทาบทาม ผมยังไม่ได้ตัดสินใจในทันที ขอคิดดูก่อนแล้วก็ไปปรึกษาคน 2 คน คนหนึ่งคือภรรยา อีกคนหนึ่งคือผู้บังคับบัญชา ที่ดำรงตำแหน่งอัยการสูงสุดอยู่ในขณะนี้

ทุกคนไม่ขัดข้องอะไร การตัดสินใจจึงขึ้นอยู่กับผม เมื่อมีโอกาสที่จะมาอยู่ตรงนี้ก็คิดว่า น่าจะทำประโยชน์ให้สังคมได้มากพอสมควร จึงตัดสินใจรับตำแหน่ง

ต้องถามก่อนว่าผมไปช่วยอะไร พ.ต.ท. ทักษิณ จึงต้องมาตอบแทนผม หากไปตามดูเมื่อครั้งผมเป็นอัยการสูงสุด ผมฟ้อง พ.ต.ท.ทักษิณ ก็หลายเรื่อง ส่วนที่ไม่ฟ้องก็มี ทุกอย่างเป็นไปตามพยานหลักฐาน

ตรงนี้ผมก็ดีใจที่นายกฯ ชมว่า ผมเป็นคนที่ตรงไปตรงมาดี ซึ่งก็ตรงกับจุดประสงค์ของผมเหมือนกัน เพราะหากให้ทำงานด้านนี้แล้ว ความตรงไปตรงมาจะไม่ทำให้เกิดปัญหาอะไร



กระทรวงยุติธรรมมีหลายคดีสำคัญที่ต้องสะสาง เช่นกรณี 99 ศพ และคดีการเมืองต่างๆ หนักใจหรือไม่

ผมรู้สึกว่าโชคดีที่ไม่ได้รับมอบหมายให้ดูเรื่องการเมือง นายกฯ อาจจะเห็นว่าผมไม่ได้มาจากการเมืองตั้งแต่แรก

ในฐานะของการเป็นรมว.ยุติธรรม ผมไม่หนักใจ เพราะตลอดชีวิตการเป็นอัยการของผมก็ต้องยืนอยู่ตรงกลางทั้ง 2 ฝ่าย ที่ต้องมีฝ่ายหนึ่งได้ ฝ่ายหนึ่งเสียมาโดยตลอดอยู่แล้ว ทุกอย่างที่ทำมันขึ้นอยู่กับข้อเท็จจริงและพยานหลักฐาน ในทางกฎหมายและกระบวนยุติธรรมก็ต้องทำแบบนี้ทั้งสิ้น

บางคนไปมองว่า นายธาริต เพ็งดิษฐ์ อธิบดีดีเอสไอ ทำอย่างหนึ่งกับรัฐบาลที่แล้ว และมาเปลี่ยนไปทำอีกอย่างหนึ่งเมื่อรัฐบาลนี้เข้ามา ผมมองว่าเราต้องมองลงไปลึกๆ ในเนื้อหาว่า อธิบดีดีเอสไอไปแกล้งใครหรือไม่ หรือเพราะสืบสวนไปแล้วปรากฏข้อเท็จจริงขึ้นมาแล้วทำให้รู้ว่าต้องทำอย่างไร

ผมเองก็เคยโดน เช่น เรื่อง "ซีทีเอ็กซ์" ถามว่าตื่นเต้นอะไรหรือไม่ ก็ไม่ เพราะมั่นใจว่าไม่ว่าจะถูกใส่อะไรมา สุดท้ายข้อเท็จจริงก็จะบอกเองว่ามันถูกต้องหรือไม่ เช่นเดียวกับว่าการจะฟ้องร้องใคร หรือดำเนินคดีกับใคร ก็ย่อมขึ้นอยู่กับข้อเท็จจริง และพยานหลักฐาน



การดูแลนักโทษการเมือง ทั้งการประกันตัว และสิทธิผู้ต้องหา

การประกันตัวเป็นดุลพินิจของศาล กระทรวงยุติธรรมพยายามช่วยเหลือในเรื่องเงินค่าประกัน แต่เมื่อยื่นไปแล้วศาลไม่ให้ประกันก็ไม่รู้จะทำอย่างไร เพราะสิ่งที่รัฐบาลอยากได้ก็คืออยากให้พวกเขาได้รับการปล่อยตัวชั่วคราว

ศาลพิจารณาปล่อยไปหลายรายที่เป็นตัวเด่นๆ พร้อมกำหนดเงื่อนไขว่า ไม่ให้ไปชุมนุมหรือพูดให้มีปัญหาอีก แต่ตัวเล็กตัวน้อยในหลายๆ กรณี ศาลยังค่อนข้างเข้มงวดว่าจำเป็นต้องขัง เพราะหากปล่อยไปแล้วอาจมีปัญหา

การดูแลนักโทษทางการเมือง เรามีสถานที่ที่ดีกว่าคุกอื่นคือที่ เรือนจำชั่วคราวบางเขน เราพยายามดูแลอย่างเต็มที่ เพราะถ้าหากดูแลไม่ดีปล่อยให้อยู่ในเรือนจำนานเกินไป ความกดดัน สภาพแวดล้อมอาจทำให้คนดีกลายเป็นคนไม่ดีไปได้ เรื่องนี้รัฐบาลพยายามช่วยมาตลอดแต่บางอย่างไม่อยู่ในอำนาจของกระทรวงก็ทำไม่ได้

ส่วนข้อครหาพวกนี้บางคนไม่ใช่นักโทษการเมืองเพราะทำผิดเผาสถานที่นั้น บางคนไม่เฉพาะคดีที่มาชุมนุมทางการเมืองอย่างเดียว แต่โดนข้อหาเป็นผู้ก่อการร้ายด้วย ก็ต้องพิจารณาดูว่าเป็นการเมืองหรือไม่

เพราะข้อเท็จจริงคือเขาถูกจับจากเหตุที่ไปชุมนุมทางการเมือง มันมีความพัวพันกันอยู่ และต้องแยกแยะให้ดีว่าการกระทำดังกล่าวมีมูลเหตุจูงใจทางการเมืองหรือไม่ ไม่เหมือนกับคนที่ไปเผาบ้านคนอื่น ทำร้ายคนอื่น อย่างนี้ไม่ใช่การเมืองแน่นอน

หรืออย่างการเสนอร่างพ.ร.บ.นิรโทษกรรม ก็ต้องดูให้ชัดว่าเกี่ยวข้องกับการเมืองหรือไม่ แต่ไม่ว่าประเทศใดที่เกิดปัญหาลักษณะนี้ขึ้นมา ก็ล้วนไปเกี่ยวพันกับการเมืองทั้งสิ้น



ความเห็นต่อการนิรโทษกรรม ที่ผ่านวาระรับหลักการของสภามาแล้ว

หลักของการนิรโทษกรรมให้กับปัญหาการเมืองที่เกิดขึ้น ไม่เฉพาะแค่ในประเทศไทยในอดีต ที่มีการรัฐประหารแล้วก็มานิรโทษกรรม ทั้งที่โทษของคณะรัฐประหารรุนแรงกว่าการชุมนุมทางการเมืองอยู่มาก

หากนิรโทษกรรมคนจำนวนมากได้ จะทำให้พวกเขารู้สึกว่า ตัวเขาและญาติพี่น้องอีกไม่รู้กี่ทอดจะมีโอกาสได้เริ่มต้นนับหนึ่งใหม่ แต่ถ้าไม่ได้รับโอกาสก็จะมีความรู้สึกบางอย่างที่ติดค้างอยู่อย่างนี้ตลอดเวลา

ผมจึงสนับสนุน ยิ่งเป็นการนิรโทษกรรมเฉพาะประชาชนที่มาเข้าร่วมชุมนุมเท่านั้น ยิ่งดีใหญ่ เพราะประชาชนที่เข้าร่วมมีหลายอย่าง หลายสี บางพวกก็หลงเข้าไป โดนรวบไปกับเขาด้วย

คนที่บอกว่าหากนิรโทษกรรมแล้วก็จะมีการทำอย่างนี้อีกนั้น โดยปกติแล้วไม่มีใครอยากทำแบบนี้ แต่เมื่อเหตุมันเกิดขึ้นแล้วก็ต้องมาคิดว่าจะทำอย่างไรถึงจะแก้ไขได้

ถ้ายังเดินกันแบบนี้ต่อไปเรื่อยๆ ไม่ยอมกัน บ้านเมืองก็จะเป็นแบบนี้ต่อไปอีกหลายปี คิดว่าทุกฝ่ายน่าจะพอใจ เริ่มต้นใหม่ได้ ถ้าหากไม่ยอมนิรโทษฯ บอกว่าคนผิดต้องโดนลงโทษ คงโดนกันครึ่งประเทศ



นโยบายกระทรวงยุติธรรมยุคชัยเกษม

ปัญหาที่ยังคงมีอยู่ในกระทรวง พล.ต.อ. ประชา พรหมนอก อดีตรมว.ยุติธรรม ได้ดำเนินการไปบ้างแล้ว ฉะนั้นปัญหาก็คงจะเป็นเรื่องเดียวกัน แต่วิธีการอาจแตกต่างกัน มีความเร่งด่วนที่ต้องการแก้ไขอย่างน้อย 2 หน่วยงาน

1.สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) เนื่องจากไม่ค่อยมีผลงานเท่าที่ควร เพราะมีอุปสรรคในแง่ข้อกฎหมายที่ถูกออกแบบมาคล้ายกับคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.)

ที่ผ่านมา ป.ป.ช. ได้แก้ไขกันมาหลายรอบแล้ว ส่วนของ ป.ป.ท. ยังอยู่ที่เดิม ทำให้ไม่ค่อยเอื้อต่อการปฏิบัติหน้าที่ งานปราบปรามทุจริตมีจำนวนมาก อีกทั้งการทำหน้าที่ของฝ่าย เลขาฯป.ป.ท. มีหน้าที่คล้ายเลขานุการ ทำให้ไม่ค่อยมีอำนาจหน้าที่ในการทำงาน ความกระตือ รือร้นจึงมีไม่มากเท่าที่ควร

แต่หากสังเกตดูหน่วยงานอย่างสำนักงานป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ป.ป.ส.) หรือกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) จะเห็นว่าผู้บริหารมีอำนาจ ความกระตือรือร้นก็จะมี ผลงานก็จะตามมา จึงต้องปรับโครงสร้างของกฎหมายและอำนาจการบริหาร

2.กรมราชทัณฑ์ ที่มีปัญหาเรื่องพื้นที่ไม่พอกับจำนวนนักโทษที่มีจำนวนมากในแต่ละปี ขณะนี้นักโทษมีอยู่กว่า 270,000 คน ส่วนพื้นที่ที่มีอยู่สามารถรองรับได้เพียง 150,000 คน ยังขาดอยู่อีกเกือบ 1 เท่าตัว และทุกปีก็จะเพิ่มขึ้นประมาณ 20,000 - 30,000 คน

ความแออัดในเรือนจำมีมาก คำพูดที่ว่าหากลุกขึ้นไปเข้าห้องน้ำกลางคืน กลับมาไม่มีที่นอน คือเรื่องจริง ทำให้เสียภาพพจน์ทางด้านสิทธิมนุษยชนเป็นอย่างยิ่ง

สิ่งที่เกิดขึ้นคือ มีการระบายนักโทษ มีความพยายามลดโทษในหลายโอกาส โดยไม่ได้ดูด้านการพัฒนานิสัย ฝึกอาชีพผู้ต้องขังให้ดีก่อนปล่อยออก และเมื่อเราไปเร่งให้เขาออก เขาก็ไม่ค่อยกลัวคุก จึงเป็นสิ่งที่เราจำเป็นจะต้องจัดระบบให้ดี

จำนวนนักโทษยังส่งผลต่อจำนวนผู้คุมที่ไม่เพียงพอ ปกติอัตราส่วนผู้คุมต่อนักโทษจะอยู่ที่ 1 ต่อ 5 แต่ตอนนี้อยู่ที่ 1 ต่อ 50 ทำให้การดูแลเป็นไปได้ยาก