ทำไมคนฝรั่งเศส จึงปิดบังประวัติศาสตร์ตัวเอง?

มติชน 14 กรกฎาคม 2556



บางตอน บทความ ไกรฤกษ์ นานา นักวิชาทางประวัติศาสตร์ ศิลปวัฒนธรรม
จุดอ่อนหรือปมด้อยอย่างหนึ่งในสังคมไทยคือความอวดเก่งแต่ไม่รู้จริงและการขาดข้อมูลอยู่เสมอ เมื่อถึงคราวจำเป็นกลับไม่กล้าเผชิญหน้าความจริงแม้แต่กับเรื่องที่เราคิดว่ารู้ดีก็ตาม กรณีเขาพระวิหารเป็นตัวอย่างคลาสสิคของการขาดข้อมูลทางประวัติศาสตร์ เพราะขาดความเข้าใจกับปัญหาที่ถ่องแท้ และต้องรอให้นักวิชาการต่างชาติ หรือทนายต่างชาติเป็นคนแก้ต่างแทนให้จึงค่อยเกิดความมั่นใจยิ่งขึ้นก็เพราะเราไม่ค่อยเชื่อมั่นตัวเองมากนัก เรื่องราวต่อไปนี้เป็นอุทาหรณ์หนึ่งเกี่ยวกับชาติมหาอำนาจที่ต้องการลบล้างประวัติศาสตร์ของตนเอง แต่ปิดบังอำพรางว่าเป็นต้นแบบของอารยธรรมที่ควรเอาเยี่ยงอย่าง ทว่า ในความเป็นจริงก็ยังไม่สามารถยอมรับความจริงเกี่ยวกับตัวเองได้ แล้วอะไรคือความภูมิใจของคนในชาติ ?

 ....ภาพพจน์ของประวัติศาสตร์ฝรั่งเศสที่พบได้ทั่วไปมักจะสรรเสริญปรัชญาทางการเมืองการปกครองแนวปฏิรูป โดยเน้นให้เห็นถึงความสำเร็จในการปฏิรูปที่ประชาชนสามารถปกครองกันเอง เรียกใหม่ว่าต้นแบบในระบอบประชาธิปไตย แทนระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ที่ฝรั่งเศสเป็นแม่แบบเช่นกันก่อนหน้านั้น โดยสามารถโค่นล้มพระเจ้าหลุยส์ที่ ๑๖ ลงได้ เรียก “การปฏิวัติฝรั่งเศส”

  แต่ภายหลังเหตุการณ์นั้นเป็นเวลานานถึง ๗๗ ปี (ค.ศ. ๑๗๙๓-๑๘๗๐) ชาวฝรั่งเศสก็จำต้องบากหน้ากลับไปหาระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ที่ให้อำนาจกษัตริย์ปกครองเช่นเดิมเพราะแนวคิดตามระบอบสาธารณรัฐยังไม่พัฒนา และนักการเมืองก็ยังสละกิเลสไม่ได้เพราะผลประโยชน์ยังไม่ลงตัว ทำให้ฝรั่งเศสต้องพึ่งกษัตริย์ปกครองต่อมาอีก ๔ รัชกาล และมาสิ้นสุดเอาในรัชสมัยพระเจ้านโปเลียนที่ ๓


 ภาพพจน์ของประวัติศาสตร์ฝรั่งเศสสามารถแยกแยะออกเป็น ๒ มุมมองดังนี้ คือ

๑. ภาพพจน์ที่ถูกเปิดเผย คือทัศนคติที่ต้องการประชาสัมพันธ์ ถึงความสำเร็จในการปฏิรูปการปกครองว่าเป็นประเทศผู้นำในการรักษาสิทธิเสรีภาพของสามัญชนและเชิดชูสังคมที่เท่าเทียมกัน ไม่มีการแบ่งชั้นวรรณะหรือชนชั้น อำนาจในการปกครองจึงตกอยู่ในมือประชาชน เรียกระบอบสาธารณรัฐ

 ๒. ภาพพจน์ที่ถูกปิดบัง คือประวัติศาสตร์อีกด้านหนึ่งที่ถูกลบออกไปจากฐานข้อมูลเดิมที่มีพระมหากษัตริย์เป็นผู้สร้างชาติ เป็นจิตวิญญาณของฝรั่งเศสมาแต่ดึกดำบรรพ์ และเป็นช่องทางเยียวยาความขัดแย้งของสังคมตลอดมา พัฒนาการที่เรียกว่าความศิวิไลซ์ของฝรั่งเศสล้วนมีจุดเริ่มต้นจากสถาบันกษัตริย์ทั้งสิ้น แต่เมื่อใดที่สถาบันพลาดพลั้ง ราชสำนักดำเนินนโยบายผิดพลาด กลับกลายเป็นความล้มเหลวที่น่าผิดหวัง และเป็นเรื่องที่ต้องปิดบังอำพราง เพราะชาวฝรั่งเศสรับไม่ได้กับความพ่ายแพ้ เป็นเรื่องอับอายขายหน้า เนื่องจากคาดหวังสูงเกินไป ทุกวันนี้ชาวยุโรปอีกกว่าครึ่งที่เทิดทูนสถาบัน และโตมาพร้อมกับฝรั่งเศสก็ยังเห็นต่าง มองว่าเป็นความเห็นแก่ตัวที่ไม่ควรเอาเยี่ยงอย่าง

 แม้แต่ ฟ. ฮีแลร์ ซึ่งเป็นคนฝรั่งเศสโดยกำเนิด เกิดในยุคสาธารณรัฐแท้ๆ กลับมีทัศนคติที่แตกต่างจากพวกนิยมสาธารณรัฐ ท่านชี้ให้เห็นภาพพจน์ที่ถูกมองข้ามไปเช่นการศึกษา การแพทย์ และวัฒนธรรม ว่าเป็นรากเหง้าของฝรั่งเศสอันแท้จริง เราจึงไม่ควรมองผ่านปัจจัยทางการเมืองเพียงด้านเดียว