สกู๊ปพิเศษ:ปฏิวัติอียิปต์-ไทย คล้ายแต่ไม่เหมือน!

ข่าวสด
6 กรกฏาคม 2556
สกู๊ปพิเศษ:ปฏิวัติอียิปต์-ไทย คล้ายแต่ไม่เหมือน! 
ยุทธการชิงเหลี่ยมการเมืองระหว่าง ประธานาธิบดีโมฮาเหม็ด มอร์ซี แห่งอียิปต์ กับผู้ชุมนุมฝ่ายต่อต้านเรือนแสนที่ปักหลักกลางกรุงไคโร ในโอกาสครบรอบ 1 ปีที่นายมอร์ซีขึ้นสู่อำนาจ ถึงจุดแตกหักในที่สุด

ด้วยการยึดอำนาจจากกองทัพอียิปต์ โค่นล้มนายมอร์ซีลงจากเก้าอี้ผู้นำประเทศ ระงับรัฐธรรมนูญชั่วคราว แต่งตั้งรัฐบาลรักษาการ และสัญญาว่าจะมีการเลือกตั้งครั้งใหม่

นับว่าเป็นอีกหนึ่งหัวเลี้ยวหัวต่อในมหากาพย์ "อาหรับ สปริง" ซึ่งปะทุขึ้นในภูมิภาคตะวันออกกลางตั้งแต่ปี 2553 จากการโค่นล้มเผด็จการอำนาจนิยมในหลายประเทศ ตั้งแต่ตูนิเซีย อียิปต์ จนถึงลิเบีย

จนถึงนาทีนี้ก็ยังไม่แน่ชัดว่า "อาหรับ สปริง" จะนำพาอียิปต์ไปในทางใดกันแน่

ย้อนกลับไปเมื่อ 1 ปีก่อน ชาวอียิปต์มีความหวังอย่างมากกับโอกาสได้เลือกตั้งผู้นำอย่างเสรีครั้งแรกในรอบหลายทศวรรษ หลังจากที่ ฮอสนี มูบารัก ถูกโค่นอำนาจลงจากพลังมวลมหาประชาชน

ในการเลือกตั้งดังกล่าว มอร์ซีซึ่งเป็น "ลูกหม้อ" ของกลุ่มอิสลามสายเคร่งที่ชื่อ มุสลิม บราเธอร์ฮู้ด หรือภราดรภาพมุสลิม กำชัยชนะอย่างฉิวเฉียดด้วยคะแนนเสียงร้อยละ 51 ขึ้นเป็นประธานาธิบดีพลเรือนคนแรกของอียิปต์

ประชาชนหวังว่านายมอร์ซีจะช่วยนำอียิปต์ไปสู่ประชาธิปไตยที่ครอบคลุมเสียงจากทุกฝ่าย แต่ความหวังเหล่านี้ก็พังทลายโดยเร็ว เมื่อพรรคพวกของนายมอร์ซีเข้ายึดกุมอำนาจ ผลักไสไล่ส่งฝ่ายตรงข้าม และดำเนินนโยบายในเชิงอิสลามสายเคร่งขึ้นมาก แตกต่างจากอียิปต์ยุคมูบารักซึ่งกลุ่มภราดรภาพมุสลิมถูกปราบปราม

รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ของอียิปต์ร่างขึ้นอย่างเร่งด่วนและไม่ปรึกษาฝ่ายต่างๆ ซ้ำยังตัดทอนข้อเสนอคุ้มครองสิทธิสตรีและผู้นับถือศาสนาอื่นๆ ออกเกือบหมด

ขณะเดียวกัน กลุ่มชาวคริสต์คอปติกถูกกลุ่มนิกายสุหนี่สายสุดโต่งเข้าทำร้ายบ่อยครั้งขึ้น และฝ่ายเสรีนิยมก็ถูกคุกคามจากอิทธิพลทางศาสนาผ่านกฎหมายหมิ่นศาสนามากขึ้น เนื่องจากกลุ่มอิสลามสายเคร่งเหล่านี้ได้รับการสนับสนุนจากพรรคพวกที่มีอำนาจรัฐในกำมือ

มิหนำซ้ำ นายมอร์ซียังไม่สามารถแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจที่เรื้อรังของอียิปต์ได้ ค่าเงินปอนด์อียิปต์ดิ่งเหว น้ำมันแพงและขาดแคลน เกิดเหตุจลาจลในหลายพื้นที่ จนนักท่องเที่ยวหนีหายจำนวนมาก

มีนักวิเคราะห์มองว่า การที่อียิปต์ไม่เคยปกครองในระบอบประชาธิปไตย และกลุ่มภราดรภาพมุสลิมถูกกดขี่มานาน ทำให้นาย มอร์ซีกับพรรคพวกไม่เข้าใจหลักการประชาธิปไตย

ความรู้สึกต่อต้านจึงเพิ่มพูนขึ้นในหมู่ประชาชน หลายคนมองว่านาย มอร์ซีเอาแต่เถลิงอำนาจโดยไม่สนใจพลเมืองอีกร้อยละ 49 จนปะทุเป็นการชุมนุมครั้งใหญ่ที่สุดตั้งแต่การขับไล่มูบารัก

ม็อบหนุนนายมอร์ซีก็ออกมาแสดงพลังเช่นกัน กลายเป็นเหตุม็อบชนม็อบ มีผู้เสียชีวิตหลายสิบราย ท่ามกลางกระแสความกลัวว่าอียิปต์กำลังดิ่งลงสู่สภาวะสงคราม กลางเมือง

1.ผู้นำกองทัพแถลงยึดอำนาจ

2.มอร์ซีถูกควบคุมตัว

3.ทหารคุมกำลัง

4.คณะรักษาการของหัวหน้าผู้พิพากษาศาลฎีกา

กองทัพอียิปต์จึงเข้ารัฐประหาร โดยระบุว่าเป็นการคลี่คลายสถานการณ์ไม่ให้เกิดการนองเลือดไปมากกว่านี้ และรับปากว่าจะเป็นการยึดอำนาจเพียงชั่วคราว ก่อนคืนอำนาจอธิปไตยให้ชาวอียิปต์ต่อไป

ชาวไทยเคย "ลิ้มรส" กับการรัฐประหารในปี 2549 และได้พบเห็นความวุ่นวายไม่สิ้นสุดที่เกิดจากการยึดอำนาจครั้งนั้นมาแล้ว หลายคนจึงรู้สึกระแวงต่อข่าวรัฐประหารในประเทศอียิปต์เป็นธรรมดา

อย่างไรก็ตาม มีความแตกต่างอย่างมากระหว่างไทยกับอียิปต์ ถึงแม้จะมีนักการเมืองฝ่ายค้านหรือผู้ประท้วงต่อต้านรัฐบาลในไทยบางคนพยายามโยงเรื่องราวอย่างมั่วซั่ว

เพราะดูเหมือนว่ารัฐบาลของนายมอร์ซีพร้อมที่จะเปลี่ยนประเทศเป็นรัฐอิสลาม ซึ่งเป็นสิ่งที่ประชาชนจำนวนมากคัดค้าน อีกทั้งยังไม่ดำเนินตามระบอบประชาธิปไตยหรือตามนิติรัฐในหลายประเด็น

ส่วนกองทัพอียิปต์ เข้ายึดอำนาจก็ต่อเมื่อเกิดการปะทะกันดุเดือดในกรุงไคโร จนหลายฝ่ายกังวลว่าจะบานปลายจนฉุดรั้งไม่อยู่ มิได้เป็นการกล่างอ้าง "ม็อบชนม็อบ" ขึ้นมาลอยๆ แบบเมื่อเดือนก.ย. 2549

ใบตองแห้ง คอลัมนิสต์ชื่อดังของไทย กล่าวไว้ว่า การรัฐประหารในอียิปต์เป็นเรื่องคลุมเครือที่ต้องถกเถียงกัน แต่การรัฐประหาร 2549 ในไทยนั้น ไม่มีอะไรต้องเถียง ไม่มีอะไรคลุมเครือ เพราะเป็นไปเพื่อ 'ทำลาย' ประชาธิปไตยชัดเจน!

ในประวัติศาสตร์ มีประวัติการก่อรัฐประหารที่นำไปสู่ประชาธิปไตยอยู่บ้าง เช่น กรณีประเทศโปรตุเกส แต่การรัฐประหารเหล่านี้มีลักษณะเหมือนกันคือ เป็นการยึดอำนาจชั่วคราว จากคณะปกครองประเทศที่แสดงพฤติกรรมเป็นเผด็จการอำนาจนิยมอย่างเต็มตัว และเป็นการยึดอำนาจที่มีจุดประสงค์สถาปนาระบอบประชาธิปไตยขึ้นมาอีกครั้งอย่างชัดเจน โดยมีการลุกฮือจากประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศเป็นแรงสนับสนุน

คำถามที่ยังเหลืออยู่คือ กองทัพอียิปต์จะนำพาประเทศไปสู่ประชาธิปไตย และคืนอำนาจให้ประชาชนในเร็ววันได้จริงหรือไม่ เพราะเมื่อครั้งที่กองทัพอียิปต์รับไม้ต่อเป็นรัฐบาลรักษาการถัดจากเผด็จการมูบารัก ก็ไม่สามารถแก้ไขปัญหาต่างๆ จนมีม็อบออกมาขับไล่เหมือนกัน และถูกวิจารณ์อย่างหนักว่ายึดกุมอำนาจไว้นานเกินไปก่อนที่จะตกลงจัดเลือกตั้งครั้งใหม่

นักวิเคราะห์มองตรงกันว่า ปัญหาที่เรื้อรังของอียิปต์คงไม่มีทางออกที่ง่ายดายอย่างแน่นอน และยังไม่แน่ชัดว่ารัฐประหารครั้งนี้คือวิธีแก้ไขปัญหาที่เหมาะสมมากน้อยเพียงใด

แต่ที่แน่ๆ คือ อียิปต์ได้เข้าสู่ช่วงเวลาแห่งความคลุมเครือที่ไม่มีใครคาดเดาทิศทางได้!