การปฏิวัติประชาชน “แบบของสุเทพ เทือกสุบรรณ”จะสำเร็จหรือไม่?



ธิดา ถาวรเศรษฐ

30 ธันวาคม 2556

ขอวิเคราะห์ในเชิงหลักการ

ถ้าพิจารณารูปแบบ คล้ายๆ เลียนแบบฝ่ายประชาชนที่ก้าวหน้า ในการลุกขึ้นสู้กับทรราชย์หรือเผด็จการเพื่อเรียกร้องอำนาจมาสู่ประชาชน

ในปัจจุบันนี้ ในยุคเศรษฐกิจทุนนิยมโลกาภิวัตน์ การเมืองการปกครอง ส่วนมากก็เป็นระบอบประชาธิปไตย การเรียกร้องจึงเป็นไปเพื่อชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น เช่น เพิ่มค่าแรง เพิ่มสวัสดิการ เพิ่มราคาพืชผลของเกษตรกร หรือลดค่าครองชีพสำหรับประชาชน ยกเว้นในประเทศที่ยังไม่เป็นประชาธิปไตย ก็มีบางประเทศที่ยังต้องเรียกร้อง ต่อต้านเผด็จการที่ครองอำนาจยาวนาน หรือบริหารประเทศไม่ถูกต้อง

พูดง่ายๆก็คือ การเรียกร้องลุกขึ้นสู้ของประชาชนที่เป็นการปฏิวัติประชาชนนั้น มีน้อยมาก ไม่เหมือนในอดีตในยุคที่เศรษฐกิจการเมืองเป็นระบอบศักดินา มีพระมหากษัตริย์ปกครองแบบ “เอกาธิปไตย”หรือ “คณาธิปไตย” จึงจะเกิดมีการปฏิวัติประชาชน เช่น ในฝรั่งเศส หรือ การลุกขึ้นสู้กับจักรพรรดินิยม เช่นในสหรัฐอเมริกา และประเทศในอินโดจีน เอเชีย อัฟริกา อเมริกาใต้เป็นต้น

การปฏิวัติประชาชนซึ่งเป็นรูปแบบการปฏิวัติของประชาชนที่ก้าวหน้า ที่ต้องการเปลี่ยนแปลงประเทศจากเผด็จการล้าหลังให้เป็นการเมืองการปกครองที่อำนาจมาเป็นของประชาชน โดยใช้การระดมประชาชนมาแสดงตัว อย่างสันติ จนถูกปราบปรามโดยรัฐบาลที่เป็นเผด็จการ จึงเป็นการลุกขึ้นสู้ และในที่สุดก็สามารถได้รับชัยชนะ หรือพ่ายแพ้ ถูกปราบปรามเข่นฆ่าจับกุมคุมขังก็ได้

ส่วนสุเทพเทือกสุบรรณใช้การปลุกระดม พลพรรคประชาธิปัตย์ ที่สนับสนุนและโหวตเสียงให้ในการเลือกตั้ง ตลอดจนชนชั้นกลาง ชนชั้นนำจารีตนิยม มาร่วมส่วนที่เขาเรียกของเขาเองว่า “มวลมหาประชาชน” มาก่อการจลาจล การชุมนุมที่เกิดความรุนแรง ยกระดับทั้งระดมคนจำนวนมากและสร้างสถานการณ์ บุกรุก ยึดครอง สถานที่ราชการ ยึดถนน ที่เป็นข้อเสนอล่าสุดคือ “ปิดกรุงเทพฯ”

แต่สิ่งที่สำคัญที่สุดที่จะทำให้รูปแบบปฏิวัติประชาชนของสุเทพเทือกสุบรรณ ไม่สามารถประสบความสำเร็จเป็นจริงได้ เพราะ

1.เป้าหมายของการลุกขึ้นสู้นั้น เป็นเป้าหมายที่ล้าหลัง เพราะปฏิเสธการเมืองการปกครองในระบอบประชาธิปไตย จึงไม่สามารถใช้รูปแบบของการปฏิวัติประชาชนได้ เพราะรูปแบบนี้ใช้กับการเรียกร้องการเมืองการปกครองที่ก้าวหน้ากว่าเดิม

2.จุดยืน เป็นจุดยืนของพวกชนชั้นนำ จารีตนิยม ที่ปฏิเสธการเข้ามามีอำนาจของคนยุคใหม่ ไม่ว่าจะเป็น นายทุนยุคใหม่ ชนชั้นกลางใหม่ ประชาชน ชนชั้นล่างในยุคใหม่ ซึ่งรวมตัวกันแล้วเป็นองค์ประกอบใหม่ที่สำคัญของการเมืองการปกครองไทยเมื่อจุดยืนไม่ได้อยู่ที่ประชาชนชนชั้นล่างส่วนใหญ่ แต่ต้องการสถาปนาการเมืองการปกครองที่อยู่ภายใต้การนำของ “ระบอบอภิชนาธิปไตย” หรือ “อำมาตยาธิปไตย” ปฏิเสธความเท่าเทียมกันของประชาชนทางการเมืองการปกครอง ก็ไม่อาจสร้างความชอบธรรมในการต่อสู้ และจะเผชิญกับการต่อต้านจากประชาชนส่วนข้างมากแท้จริง รวมทั้งการต่อต้าน จากประชาคมโลก

3.ทัศนะที่หยุดยิ่ง ไม่เห็นการเปลี่ยนแปลงของโลก ของสังคม ใช้ความคิด วิธีการ เป้าหมาย และจุดยืนแบบ 40 ปีที่ผ่านมา มาเป็น แม่แบบ (Model) ในการต่อสู้ เพราะต้องการความสำเร็จ แบบ 14 ตุลา 16 มองไม่เห็นการเคลื่อนตัวของสังคมไทย สังคมโลก

ที่สำคัญมองไม่เห็นการเปลี่ยนแปลงของประชาชน รากหญ้า คนส่วนใหญ่ที่ต้องการ มีส่วนร่วมทางการเมือง เพื่อผลประโยชน์ของประชาชนส่วนใหญ่ ไม่ให้เป็นการเมืองการปกครองแบบเดิมๆ ที่ไม่เห็นหัวประชาชนอีกต่อไป

ส่วนรูปธรรม ความเป็นจริงนั้น สุเทพ จะประสบความสำเร็จ ได้รัฏฐาธิปัตย์เฉพาะหน้าก็ต่อเมื่อ

1.ทหารทำการยึดอำนาจรัฐประหาร
2.พรรคเพื่อไทยยอมแพ้ รัฐบาลลาออก แล้วให้ได้รัฐบาล พระราชทาน จากนั้นสุเทพก็จะตั้ง สภาประชาชน
3.คำพิพากษา และคำวินิจฉัยจากองค์กรอิสระ บวกกับ ศาลรัฐธรรมนูญ หรือศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง หรือศาลปกครอง ลงโทษ นายกรัฐมนตรี คณะรัฐมนตรี พรรคเพื่อไทย และ สส.สว.

ซึ่งหากถ้าเกิดขึ้นจริง คือ กลุ่มจารีต ได้รัฏฐาธิปัตย์

แล้ว“อะไรจะเกิดขึ้นต่อไป”

คำตอบ คือ จะเกิด “การปฏิวัติประชาชนที่แท้จริง ที่นำไปสู่การเมืองการปกครองที่อำนาจเป็นของประชาชนอย่างแท้จริง” ขึ้นแน่นอน