วรเจตน์-เกษียร-ปิยบุตร: เหตุผลค้าน 'สภาประชาชน' หวั่นเกมนอกกติกานำสู่วิกฤตนองเลือด

10 ธ.ค.2556 ที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กลุ่มนักวิชาการในนามสมัชชาปกป้องประชาธิปไตย (สปป.) แถลงข่าวข้อโต้แย้งด้านกฎหมายกับแนวคิดการก่อตั้ง “สภาประชาชน” โดย คณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์อันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข (กปปส.) ที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) และนักวิชาการกลุ่มหนึ่ง

ยังไม่ถึงทางตัน ยังแก้ได้ในระบบ ก่อนเดินสู่สงครามกลางเมือง

 

ศ.เกษียร เตชะพีระ คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า บ้านเมืองเรายังไม่ถึงทางตัน เราไม่จำเป็นต้องเลือกไปสู่สงครามกลางเมือง ในความรู้สึกเรา วิกฤตนี้กำลังถูกแปรเป็นกฎหมาย ข้อเสนอจำนวนหนึ่ง ในภาวะปกติเป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ในทางการเมืองและในทางกฎหมาย แต่โดยเงื่อนไขของวิกฤตนี้ นักวิชาการ คณะบุคคลหนึ่ง กำลังทำให้สิ่งที่เป็นไปไม่ได้ในทางการเมืองกลายเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ในทางการเมืองและต้องทำ นี่เป็นสิ่งที่อันตรายอย่างยิ่ง เพราะวางอยู่บนพื้นฐานของการปฏิเสธการเลือกตั้งซึ่งเป็นกระบวนการสำคัญของระบอบประชาธิปไตย

“เราผ่านวิกฤตการเมืองมานาน คงเห็นตรงกันแล้วว่า คนไทยเราไม่เหมือนกัน มีกลุ่มที่ความคิดทางการเมืองแตกต่างอย่างมหาศาล แต่เราสามารถทะเลาะกันได้อย่างสันติถ้าเรายอมรับว่าคนไทยเราเท่ากันทางการเมือง แต่เมื่อปฏิเสธความเท่ากัน ไม่มีทางแก้ปัญหาความแตกต่างทางการเมืองอย่างสันติ ถ้าเราปฏิเสธการเลือกตั้ง ทางข้างหน้าจะมีแต่ความรุนแรงและสงครามกลางเมือง”

“พวกเราไม่เชื่อว่าข้อเสนอเบื้องหน้าเราตอนนี้หลีกเลี่ยงไม่ได้ในทางการเมือง เรามีโอกาสจะออกจากช่องทางที่อันตราย พาประเทศไปสูความรุนแรงหรือนองเลือดได้”

เกษียรกล่าวต่อว่า การรวมตัวครั้งนี้นักวิชาการที่รู้ด้านนิติศาสตร์ ด้านรัฐศาสตร์ ด้านอื่นๆ ก็เอามรวมกันเพื่อให้สังคมไทยได้แก้ไขความขัดแย้งทางการเมืองที่จริงและใหญ่โดยไม่ต้องฆ่า  นอกจากนี้ยังมีเครือข่ายศิลปิน นิสิต นักศึกษา ฯลฯ ที่ตั้งใจรณรงค์ให้สังคมได้รับฟังทางเลือก อย่าตกอับกับข้อกล่าวอ้างที่กำลังถูกทำให้เป็นจริงเพราะเป็นเรื่องอันตรายมาก นำพาไปสู่ทางตัน

“เราไม่ต้องการไปสู่ระบอบที่ไม่เป็นประชาธิปไตย ไม่ต้องการเสี่ยงกับสงครามการเมืองเพื่อทดลองสิ่งสร้างสรรค์ทางวิชาการที่ไม่มีที่ไหนเขาทำ”

 จุดร่วมพื้นฐานที่ควรเป็นบรรทัดฐานของสังคมไทยที่ต้องทำเพื่อให้ผ่านการทะเลาะกันอย่างสันติ คือ 1.เราไม่เห็นด้วยกับการดึงเอาสถาบันมายุ่งเกี่ยวกับความขัดแย้งทางการเมือง สถาบันเป็นสมบัติร่วมของชาติ ของคนไทยทั้งหมด ไม่อาจให้คนไทยางกลุ่มดึงไปใช้ได้
2.เราไม่เห็นด้วยกับการแทรกแซงทางการเมืองของทหาร
3.ต้องการรักษาและขยายพื้นที่สิทธิเสรีภาพของคนไทย
4.ต้องการรักษาและขยายพื้นที่ประชาธิปไตย


นายกฯ ออกจากรักษาการไม่ได้ ภารกิจเพื่อรักษาระบบให้เดินต่อ


รศ.วรเจตน์ ภาคีรัตน์ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรศาสตร์ กล่าวถึงข้อเรียกร้องให้ครม./นายกฯ รักษาการณ์พ้นจากตำแหน่งว่า สภาพขณะนี้ นายกฯ ทูลเกล้ายุบสภาและมีผลใช้บังคับแล้ว กำหนดวันเลือกตั้งแล้วคือ 2 ก.พ.57 ก่อนจะยุบสภามีข้อเสนอมาจากบุคคลจำนวนหนึ่งให้ตั้งนายกฯ คนกลาง โดยขอให้นายกฯ ทูลเกล้ายุบสภา หลังจากนั้นให้ลาออกจากการเป็นรักษาการณ์นายกฯ บางคนบอกให้ยุติการปฏิบัติหน้าที่ บางคนบอกให้ครม.ออกจากรักษาการณ์ทั้งคณะ เพื่อให้เกิดสภาพสุญญากาศ เมื่อเกิดสภาพแบบนี้ให้มีการทูลขอนายกฯ โดยให้พระมหากษัตริย์ใช้พระราชอำนาจตามมารตรา 7 แต่งตั้งคนกลาง

“บางท่านแนบเนียนกว่า ซับซ้อนกว่า คือ ให้ ส.ว. สรรหาบุคคลที่ได้รับการยอมรับ โดยให้ประธานวุฒิสภาทูลเกล้าฯ ให้กษัตริย์แต่งตั้ง ในทางกฎหมายเรื่องนี้ชัดเจนแล้วว่าข้อเสนอดังกล่าเวป็นไปไม่ได้”

วรเจตขยายความว่า เป็นไปไม่ได้ด้วยเหตุผลหลายประการ คือ 1.บทบัญญัติตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 7 ไม่มีที่ใดเขียนให้กษัตริย์มีพระราชอำนาจในการแต่งตั้งนายกฯ ได้ ประเพณีที่กษัตริย์จะแต่งตั้งนายกฯ ได้เองยังไม่เกิดขึ้นจนเรียกได้ว่าเป็นประเพณี เพราะต้องมีการทำซ้ำหลายครั้ง จนทำให้คนสำนึกว่าถูกต้องตามกฎหมายแล้วจึงแปรสภาพเป็นกฎหมายให้ต้องปฏิบัติการ

หากมองถึงจุดกำเนิด มาตรา 7 ก็จะเห็นว่ากำเนิดจากธรรมนูญชั่วคราวที่ไม่เป็นประชาธิปไตย โดยเกิดขึ้นครั้งแรกในธรรมนูญการปกครองแผ่นดินชั่วคราว พ.ศ. 2502 ซึ่งเกิดจากการทำรัฐประหารของสฤษดิ์  ธนะรัชต์ ธรรมนูญดังกล่าวมี 20 มาตราเท่านั้น ที่เขียนแบบบมาตรา 7 เพราะธรรมนูญนั้นมีข้อความสั้น อาจเกิดปัญหาแล้วเกิดความสงสัย ผู้ทำรัฐธรรมนูญชั่วคราวจึงเขียนแบบนี้ ต่อมาก็บัญญัติแบบนี้เกือบตลอด รวมถึงรัฐธรรมนูญ 2540 และ 2550 อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันนี้รัฐธรรมนูญเป็นฉบับยาว การใช้มาตรา 7 ใช้ในฐานเป็นบทบัญญัติสำรอง เปิดช่องสำหรับกรณีที่มีปัญหาทางรัฐธรรมนูญแล้วองค์กรใดก็ตามที่ต้องวินิจฉัยก็ค้นหากฎหมายทางประเพณีขึ้นมาวินิจฉัยได้ เรียกว่า เอาไว้อุดช่องว่างกฎหมายลายลักษณ์ ไม่ใช่แหล่งอำนาจให้เอาไปใช้ ยิ่งกว่านั้นมาตรานี้ยังไม่สามารถใช้ได้ตามอำเภอใจแต่ต้องสอดคล้องกับประชาธิปไตยด้วย เพราะเป็นไปไม่ได้ที่จะบัญญัติมาตราใดให้ตีขัดกับหลักการพื้นฐานของรัฐธรรมนูญได้ นอกจากนี้เหตุการณ์นี้เคยปรากฏแล้วปี 2549 พระมหากษัตรย์เคยมีพระราดำรัสไว้ว่าไม่สามารถใช้ได้

วรเจตน์กล่าวว่า ประเด็นสำคัญคือ อาจมีคนบอกว่าจะทำอย่างไรในเมื่อยุบสภาแล้ว ตามหลักการเวลายุบสภา ต้องเป็นการยุบเพื่อนำไปสู่การเลือกตั้ง ฝ่ายบริหารหรือกษัตริย์ไม่สามารถทำตามคำแนะนำของนายกฯ ที่จะยุบโดยไม่เลือกตั้งได้ ข้อเสนอผู้ชุมนุม จริงๆ คือข้อเสนอให้ยุบสภาเพื่อไม่ให้เกิดการเลือกตั้ง ช่วงเวลานี้มีความพยายามบีบนายกฯ ให้หยุดปฏิบัติหน้าที่เพื่อจะได้อ้างว่า ครม.ที่รักษาการพ้นสภาพแล้ว มีอธิการแห่งหนึ่งบอกว่าสมัยรัฐบาลทักษิณเมื่อปี 2549 หลังยุบสภาแล้วก็เกิดสภาพนี้ ฝ่ายค้านบอยคอต ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้การเลือกตั้งนั้นเป็นโมฆะ (คูหาเลือกตั้ง) ต่อมาทักษิณก็ออกจากรักษาการณ์นายกฯ เรื่องนี้ไม่เป็นความจริง ข้อเท็จจริงคือ เป็นการลาพักการปฏิบัติหน้าที่ในฐานะนายกฯ รักษาการ แล้วให้รองนายกฯ ทำหน้าที่แทน แต่ระหว่างตรา พ.ร.ฏ.เลือกก็เกิดรัฐประหาร ดังนั้น ไม่เคยมีสุญญากาศเกิดขึ้นจริง

“ปัจจุบันหากจะเกิดเหตุการณ์เช่นนั้นจริง คุณยิ่งลักษณ์ทำได้แค่พักการปฏิบัติหน้าที่ มอบหมายงานให้รองนายกฯ คนถัดไป รักษาการนายกฯ เป็นไปตามลำดับจนหมด ครม. แม้ไม่เหลือให้ ครม.ซักคนแล้ว ก็ให้ข้าราชการสูงสุดในกระทรวงขึ้นมาปฏิบัติหน้าที่แทน เพื่อให้มีการเลือกตั้ง เป็นการรอให้ประชาชนตัดสินใจ ไม่มีช่องทางใดๆ ให้เกิดนายกฯ คนนอกเพื่อแก้ปัญหานี้ได้ ข้อเสนอนี้ไม่เคารพลักเกณฑ์ในทางรัฐธรรมนูญ โดยพื้นฐานแล้วทำให้เกิดความชะงักงันของระบบ ไม่มีฐานทางหลักวิชารองรับ เป็นการตีความให้เกิดทางตัน” 

“ถ้าจะมีคนบอกว่ามีนายกฯ รักษาการมา เพื่อให้ดำรงชั่วคราวก็ไม่มีประโยชน์ เพราะต้องมีการจัดการเลือกตั้งภายใน 45-60 วัน เว้นแต่ผู้เสนอนั้นมีเผยจิต ไม่ต้องการให้เกิดการเลือกตั้ง การเสนอเช่นนี้จึงเป็นการผลักประเทศไปสู่หุบเหวหายนะ ทำให้คนจำนวนมากไม่พอใจที่มีคนภายนอกมากแทรกแซง ทำให้เกิดกาประท้วงปะทะกันได้”

ในทางความเป็นจริง ประเทศไทยเคยผ่านสภาพนี้มาแล้วในสมัยของทักษิณ เพราะฝ่ายที่คาดว่าจะแพ้การเลือกตั้งอาจทำทุกวิถีทางที่ไม่นำไปสู่การเลือกตั้ง ทำให้เกิดการขัดขวางไม่ให้เกิดการเลือกตั้ง ซึ่งทำได้หลายอย่าง คือ 1. ทำเหมือนที่เคยทำเมื่อปี  2549 ใช้กำลังทหารยึดอำนาจ ฉีกรัฐธรรมนูญทิ้ง ซึ่งเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 113 แต่ก็เคยทำมาแล้ว 2.ใช้กลไกทางกฎหมายเข้าดำเนินการซึ่งเกี่ยวพันกับคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญเรื่องที่มาส.ว.กำหนดให้มาจากการเลือกตั้ง ศาลรัฐธรรมนูญเห็นว่าไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ ในทางกฎหมายคำวินิจฉัยนี้อาจกล่าวได้ว่าขัดต่อรัฐธรรมนูญเสียเอง เพราะรัฐธรรมนูญกำหนดให้ศาลทุกศาลต้องวินิจฉัยชี้ขาดคดีไปตามกฎหมายและรัฐธรรมนูญ แต่คดีนี้ไม่เป็นไปตามกฎหมายปรากฏความบกพร่องมากมาย โดยฉพาะอำนาจเหนือคดี เป็นคำวินิจฉัยที่เสียเปล่า ไม่มีผลบังคับ แต่องค์กรอิสระอย่าง ป.ป.ช. ก็อาจนำผลคำวินิจฉัยนี้เป็นฐานในการกล่าวหาผู้ลงมติแก้รัฐธรรมนูญเรื่องที่มาส.ว. และอาจสั่งให้มีการหยุดปฏิบัติหน้าที่ได้ อย่างไรก็ดี ตอนนี้การสั่งให้หยุดปฏิบัติหน้าที่เป็นไปไม่ได้แล้วเพราะยุบสภาไปแล้ว ส.ส.พ้นจากตำแหน่งหมดแล้ว แต่ในทางปฏิบัติเท่าที่ผ่านมา ปปช.น่าจะไต่สวนเพื่อถอดถอนต่อไปโดยอ้างว่าจะตัดสิทธิทางการเมือง 5 ปี และจะเหลือปัญหากรณีเดียวคือ กรณีนายกฯ ในฐานะคนนำเรื่องทูลเกล้าฯ จะถูกถอดถอนด้วยเหรือไม่ จะสั่งให้หยุดรักษาการหรือไม่ โดยส่วนตัวเห็นว่าทำไม่ได้ แต่แม้ทำได้ รองนายกฯ คนอื่นก็ต้องทำต่อ ดังนั้นในทางกฎหมายการให้ ครม.รักษาการล้มไปนั้น เป็นไปไม่ได้ในทางกฎหมาย

“นายกฯ ได้ปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญจนสุดหนทางแล้ว ไม่สามารถกระทำการเป็นอย่างอื่นได้อีก หากยุติการปฏิบัติหน้าที่ก็ถือว่าฝ่าฝืน มาตรา 181 ของรัฐธรรมนูญ ในทางการเมืองเท่ากับ ครม.เองไม่รักษาระบอบรัฐธรรมนูญให้เดินต่อ การยุบสภาจึงเป็นการใช้อำนาจสุดท้ายทางกฎหมาย แล้วให้ไปวัดกันในสนามเลือกตั้ง ใครมีมวลมหาประชาชนกี่คนก็จะทราบกันในการเลือกตั้ง การขัดขวางการเลือกตั้งจะทำให้ประเทศไทยไม่เหมือนเดิมอีอกต่อไป”

 สมัชชาปกป้องประชาธิปไตยนี้เกิดขึ้นเพราะต้องการให้สังคมเห็นอีกด้านหนึ่งซึ่งเราเห็นว่าถูกต้อง ขณะที่ข้อเสอ ทอป. ขาดฐานทางรัฐธรรมนูญรองรับ ไม่ถูกต้อง

“เวลานี้องค์กรทางการเมืองทั้งหมดต้องปฏิบัติตามกฎหมาย ครม.ต้องรักษาการต่อไป ไม่ใช่เฉพาะการไปสู่การเลือกตั้งอย่างเดียว แต่รักษาการเพื่อให้ระบบเดินไปได้ ถ้าเลิกจะเป็นปัญหากับระบบ การรักษาการจึงไม่ได้เป็นไปเพื่อพรรคการเมืองเท่านั้น แต่เป็นภารกิจที่ยิ่งใหญ่มากกว่านั้น คือภารกิจในการรักษาระบบไว้ให้เดินไปข้างหน้า เพื่อหลีกเลี่ยงการนองเลือดหรือหายนะที่จะเกิด หากครม.ไม่รักษาระบบเอาไว้”

“สื่อคงเห็นแล้วว่าอะไรคือทางต้องเดิน ต้องทำให้เกิดฉันทามติเรื่องนี้แล้วมุ่งหน้าไปสู่การเลือกตั้ง อยากปฏิรูปแบบไหน อย่างมีสภาประชาชนอย่างไร ว่ากันหลังเกิดการเลือกตั้งขึ้น นี่เป็นหนทางเดียวที่จะนำประเทศออกจากวิกฤต”


สภาประชาชน ถอดโมเดลมุสโสลินี



ปิยบุตร  แสงกนกกุล คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวถึงประเด็นที่มาและผลกระทบทางกฎหมายของการเกิดสภาประชาชน ว่า กปปส.อธิบายว่า เวลานี้รัฐสภารัฐบาลเป็นโมฆะเพราะไม่ยอมรับอำนาจศาล อำนาจกลับมาสู่ประชานตามมาตรา 3 เลยและจะใช้อำนาจตั้งสภาประชาชนขึ้นมาและให้มีนายกฯ พระราชทานด้วย นักวิชาการบางคนบอก “ขาเข้ามาตรา 3 แล้วขาออกคือมาตรา 7”

ที่อ้างมานั้นไม่พบเห็นว่า รัฐบาลหรือรัฐสภาไม่ยอมรับอำนาจศาลแต่อย่างใด เพียงแต่ไม่ยอมรับคำวินิจฉัยกรณีแก้รัฐธรรมนูญเรื่องที่มาส.ว.เพียงเรื่องเดียว และคำวินิจฉัยนี้ก็มีประเด็นปัญหาสำคัญคือ การรับคดีโดยปราศจากอำนาจอย่างสิ้นเชิง ขาดเหตุผลรองรับในเกือบทุกประเด็น ดังนั้น จะไปเอาเหตุนี้มากล่าวว่า รัฐบาลและรัฐสภาเป็นโมฆะยังไม่ได้ ต่อให้รัฐบาลป็นโมฆะจริง อำนาจจะกลับสู่ประชาชนตามมาตรา 3 (อำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชนชาวไทย) ได้อย่างไรก็ไม่ใช่แนวทางของ กปปส. เพราะปวงชนชาวไทยมีจำนวนมากและจะแสดงออกซึ่งการใช้อำนาจนั้นได้ย่างไร รัฐธรรมนูญจึงกำหนดให้ทำได้หลายวิธี คือ 1.การออกเสียงเลือกตั้ง 2.การออกเสียงประชามติ 3.ใช้อำนาจผ่านองค์กรของรัฐซึ่งมีจุดเชื่อมโยงกับประชาชน โดยมาตรา 3 กำหนดไว้ว่าพระมหากษัตริย์ใช้อำนาจนั้นผ่านรัฐสภา ครม.และศาล ฉะนั้น อำนาจอธิปไตยนี้ไม่ใช้จะใช้อย่างไรก็ได้ มีแค่ 3 วิธีเท่านั้น

กปปส.อธิบายว่า เวลานี้อำนาจเป็นของเขาแล้วจะใช้อำนาจเอง ระบบรัฐธรรมนูญปัจจุบัน ไม่มีที่ไหนบอกว่าใช้อำนาจโดยตรงตั้งสภาประชาชนขึ้นมาได้เลย

“เมื่อพิจารณารัฐธรรมนูญทั้งฉบับแล้ว เกิดได้ด้วยวิธีเดียวคือ แก้รัฐธรรมนูญเพื่อให้เกิดสภาประชาชน แล้วดีไซด์รูปแบบออกมา ไม่มีหหนทางอื่น หนทางอื่นก็คือ นอกระบบ คือ ฉีกรัฐธรรมนูญหรือรัฐประหาร ดังนั้น ที่กปปส.เสนอ เขาเกาะมาตรา 3 เพื่อบกว่ายังเป็นไปตามรัฐธรรมนูญ แต่จริงๆ แล้วใช้วิธีการนอกรัฐธรรมนูญทั้งนั้น” 

สภาประชาชนนั้นมีนักวิชาการยกตังอย่างหลายกรณี  เช่น กรณีปี 1789 ประเทศฝรั่งเศส หลังฐานันดรที่ 3 รวมตัวกันให้สภานั้นเป็นสภาร่างรัฐธรรมนูญ, เยอรมันในสมัยไวมาร์เปลี่ยนระบบกษัตริย์เป็นสาธารณรัฐ, เหตุการณ์ยุโรปตะวันออก เช่น โปแลนด์ ที่เปลี่ยนผ่านสู่ประชาธิปไตย แต่การเปรียบเทียบดังกล่าวผิดฝากผิดตัว ดังนี้ 1.ตัวอย่างที่ยกมาทั้งหมดโดยเฉพาะยุโรปตะวันออกเปลี่ยนผ่านจากระบบสังคมนิยมหรือคอมมิวนิสต์สู่ระบบรัฐเสรีประชาธิปไตย แต่ปัจจุบันที่อ้างกัน เราเป็นเสรีประชาธิปไตยอยู่แต่กำลังจะเปลี่ยนเป็นระบอบเป็นอะไรก็ไม่รู้ 2.วิธีการเปลี่ยนแปลงจากต่างประเทศเหล่านั้นคือการปฏิวัติเปลี่ยนแปลงจากระบอบการเมืองหนึ่งเป็นอีกอันหนึ่ง

“แต่ของไทย กปปส.ยังไม่กล้าพูดชัดเจนว่า สิ่งที่ตัวเองทำอยู่คือการเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครอง อันใหม่คืออะไร เขาก็ยังไม่พูดถึง แต่สิ่งที่ทำคือการเปลี่ยนแปลงระบอบ การเปลี่ยนแบบนี้โดยใช้วิธีการลุกขึ้นสู้ จุดตัดที่ถือว่าสมบูรณ์เรียบร้อยว่าระบอบใหม่เข้ามาแทนแล้ววัดกันตรงไหน ทุกวันนี้จุดตัดนั้นยังไม่เกิด แต่คุณสุเทพฯ พยายามอยู่” 

อีกประเด็นหนึ่งคือ ที่มาของสภาประชาชน ทาง กปปส. ก็ยังไม่ตกผลึกว่าจะมาจากไหน มีใครบ้าง แต่มีจุดร่วมตรงกันว่าสภานี้ไม่มาจากเลือกตั้ง แต่แต่งตั้งจากหลายวิชาชีพ สภาแบบนี้เกิดขึ้นในสมัยอิตาลี คือ การขึ้นสู่อำนาจของมุสโสลินี มีคนประท้วง  มีคนชุดดำยึดสถานที่ต่างๆ จนสุดท้ายกษัตริย์ยอมให้มุสโสลินีซึ่งเป็นเสียงข้างน้อยเป็นนายกฯ เมื่อมุสโสลินีเข้าสู่อำนาจก็กฎหมายหลายฉบับ ที่สำคัญ คือ เปลี่ยนสภาผู้แทนราษฎรเป็นสภาวิชาชีพแล้วเอาทั้งพวงนี้ไปทำประชามติว่าเอาหรือไม่เอา วิธีการแบบนี้เกิดขึ้นแล้วที่อิตาลี สำหรับจุดที่ยึดอำนาจได้เด็ดขาดคือ การเอาคณะกรรมการฟาสซิสต์ที่เป็นองค์กรนอกระบบ ตั้งมาเป็นองค์กรตามรัฐธรรมนูญ มีบทบาทเป็นคนเลือกผู้จะมาเป็นนายกฯ ประธานสภา ตลอดจนกษัตริย์องค์ต่อไป

“สิ่งที่กปปส. ทำลอกมาจากฟาสซิสม์ ไม่ใช่เสรีประชาธิปไตย”

ประจักษ์ ก้องกีรติ คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า สมัชชาปกป้องประชาธิปไตยเปิดให้ประชาชนทั่วไปสมัครเป็นสมาชิกหรือร่วมลงชื่อในแถลงการณ์ได้ โดยส่งชื่อมาทางอีเมล์ afdd.thailand@gmail.com  หรือสามารถเข้าไปที่แฟนเพจ สมัชชาปกป้องประชาธิปไตย ทั้งนี้ สมัชชายืนอยู่บนจุดยืน 3 ประการ คือ เคารพกติการประชาธิปไตย เข้าสู่การเลือกตั้ง และไม่มอบอำนาจให้คนกลาง

เตือนสติคณาจารย์ไทย



ศ.พิเศษ ชาญวิทย์ เกษตรศิริ อดีตอธิบการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ อ่านจดหมายว่าด้วย พันธกิจผู้บริหารมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ประชาชนไทย อาจารย์มหาวิทยาลัยของรัฐและเอกชน สำเนาถึงนายนรนิต เศรษฐบุตร ประธานสภามหาวิทยาลัย ระบุว่า สถานการณ์ความขัดแย้งทางการเมืองยืดเยื้อยาวนานกว่าทศวรรษ หลังรัฐประหาร 2549 ความขัดแย้งในครั้งนี้ไม่ใช่เพียงชนชั้นนำและกลุ่มผลประโยชน์บางกลุ่ม แต่คือความขัดแย้งของการเมืองมวลชนที่ต่างฝ่ายต่างมีผู้สนับสนุนมากมายหลายล้านคน ขณะเดียวกันความขัดแย้งนี้ก็ได้มีการนำเสนอความคิดในการแก้ปัญหาทางการเมืองจากหลากหลายกลุ่มความคิด จากนักวิชาการมหาวิทยาลัยต่างๆ โดยอ้างหลักจากต่างประเทศสนับสนุนความคิดและการเคลื่อนไหวทางการเมืองของตน ในบรรดาข้อเสนอต่างๆ บางเรื่องได้มีการบิดผันทั้งหลักการและข้อเท็จจริงบางประการ จนดูหมิ่นเหม่จะเป็นอนาธิปไตย อนิติธรรม อนิติรัฐ

ข้อเสนอทางวิชาการบางเรื่อง แทนที่จะนำเสนอทางแก้ปัญหากลับกลายเป็นปัญหาในตัวมันเอง และมีแนวโน้มเป็นส่วนหนึ่งในการทำให้ความขัดแย้งมีมากขึ้นด้วย บรรดาผู้บริหารหลายท่านที่เป็นส่วนหนึ่งในการเคลื่อนไหวดูประหนึ่งยืนตรงข้ามกับหลักนิติธรรม นิติรัฐ ประชาธิปไตยและการทำในนามมหาวิทยาลัยก็หาได้ผ่านความเห็นชอบจากประชาคมแต่อย่างใด มหาวิทยาลัยเป็นแหล่งเรียนรู้ สติปัญญา เป็นของชาติ ของส่วนรวม มหาวิทยาลัยหรือผู้บริหารไม่ควรนำไปเพื่อประโยชน์ส่วนบุคคล หมู่คณะหรือชนชั้น

สำหรับข้อเสนอกับรัฐบาลเพื่อให้ผ่านวิกฤตนี้ เห็นว่า ต้องประกาศจัดออกเสียงประชามติเพื่อแก้รัฐธรรมนูญทั้งฉบับ คืนอำนาจการตัดสินใจให้ประชาชน และยืนยันในความสำคัญของการรักษาประชาธิปไตยตามวิถีทางรัฐสภา แบบนานาอารยประเทศ


ที่มา ประชาไท