กลุ่มนักวิชาการตั้ง 'สมัชชาปกป้องประชาธิปไตย' เห็นต่างข้อเสนอ กปปส.-ทปอ. (แถลงการณ์เต็ม)

ตั้ง ‘สมัชชาปกป้องประชาธิปไตย’ ประกาศจุดร่วมไม่เห็นด้วยกับการนำสถาบันกษัตริย์มาเกี่ยวการเมือง ให้ทหารแทรกแซงการเมือง ต้องการรักษาและขยายพื้นที่สิทธิเสรีภาพ-พื้นที่ประชาธิปไตย


10 ธ.ค.2556 ชาญวิทย์ เกษตรศิริ เกษียร เตชะพีระ พวงทอง ภวัครพันธุ์ ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ วรเจตน์ ภาคีรัตน์ ปิยบุตร แสงกนกกุล และประจักษ์ ก้องกีรติ เป็นตัวแทน สมัชชาปกป้องประชาธิปไตย (สปป.) ก่อตั้งโดยเครือข่ายนักวิชาการ กว่า 150 คน อ่านแถลงการณ์ โดยมีจุดร่วมเบื้องต้นคือ ไม่เห็นด้วยกับการนำสถาบันกษัตริย์มาเกี่ยวข้องกับการเมือง ไม่เห็นด้วยกับการที่ทหารแทรกแซงการเมือง รักษาและขยายพื้นที่สิทธิเสรีภาพ รักษาและขยายพื้นที่ประชาธิปไตย ทั้งนี้ สปป.แจ้งว่า ประชาชนที่สนใจและเห็นด้วยสามารถร่วมลงชื่อในแถลงการณ์ได้ที่แฟนเพจ สมัชชาปกป้องประชาธิปไตย (สปป.)


ชมคลิป

รายละเอียดมีดังนี้



แถลงการณ์สมัชชาปกป้องประชาธิปไตยฉบับที่ 1

“สมัชชาปกป้องประชาธิปไตย” ซึ่งเป็นการรวมตัวของนักวิชาการ และประชาชนหลากหลายอาชีพ ขอแถลงโต้แย้งประเด็นที่ กปปส. ที่ประชุมอธิการบดี (ทปอ.) และ นักวิชาการจำนวนหนึ่งที่นำเสนอความเห็นไปในทิศทางที่ขัดกับกติกาประชาธิปไตยในภาวะวิกฤติของบ้านเมือง ดังนี้

1. การก่อตั้งสภาประชาชน: ความเคลื่อนไหวที่นำมาสู่การจัดตั้งสภาประชาชน มีที่มาจากการข้อกล่าวหาที่ว่ารัฐบาลและรัฐสภาไม่ยอมรับอำนาจศาลรัฐธรรมนูญ ดังนั้นรัฐบาลและรัฐสภาจึงหมดความชอบธรรม และจำต้องจัดตั้งสภาประชาชนด้วยการอ้างอิงมาตราที่ 3 ของรัฐธรรมนูญ 2550 โดยไม่จำเป็นต้องแก้ไขรัฐธรรมนูญ สมัชชาฯ ขอแถลงว่า กระบวนที่นำมาซึ่งการก่อตั้งสภาประชาชนโดยไม่เข้าสู่กระบวนการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญโดยวิถีทางปรกติ ถือว่าไม่สอดคล้องกับหลักการประชาธิปไตย หลักนิติธรรม และถือว่าเป็นการทำรัฐประหาร ทั้งนี้จำต้องชี้แจงว่าคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญในครั้งนี้ เป็นการขยายอำนาจของศาลรัฐธรรมนูญโดยไม่มีฐานอำนาจตามรัฐธรรมนูญรองรับ จึงไม่มีผลทางกฏหมาย นอกจากนี้ การอ้างอิงมาตรา 3 ของรัฐธรรมนูญเพื่อจัดตั้งสภาประชาชนนั้น ไม่สามารถทำได้เพราะไม่ได้บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ เว้นแต่จะต้องเข้าสู่กระบวนการแก้ไขรัฐธรรมนูญเสียก่อน ประการสำคัญ การนำเสนอเรื่องของสภาประชาชนไม่มีความชัดเจนถึงความยืดโยงกับความเป็นตัวแทนของประชาชนไม่คำนึงถึงความเท่าเทียม และความหลากหลายทางความคิด โดยเฉพาะต่อประชาชนที่ไม่ได้เข้าร่วมกับ กปปส.

2. ข้อเสนอให้มีนายกรัฐมนตรีคนกลางหลังการยุบสภา เป็นที่มาจากการตีความรัฐธรรมนูญมาตรา 7 ของรัฐธรรมนูญ หรืออาจเรียกง่ายๆว่า “นายกฯคนกลางพระราชทาน” เป็นการพยายามตีความรัฐธรรมนูญที่ไม่เป็นไปตามครรลองของหลักการประชาธิปไตย และละเมิดบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญ ที่ระบุว่านายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรีภายหลังจากการยุบสภาจะต้องปฏิบัติหน้าที่ต่อไปจนกว่าจะมีคณะรัฐมนตรีชุดใหม่มารับหน้าที่เมื่อการเลือกตั้งเสร็จสิ้นลง อีกทั้งกระบวนการใดๆ ที่ขัดขวางกระบวนการเลือกตั้ง เหนี่ยวรั้งให้การเลือกตั้งล่าช้า หรือสร้างสูญญากาศทางการเมืองถือเป็นการทำลายหลักการประชาธิปไตยและรัฐธรรมนูญเสียเอง นอกจากไม่เป็นคุณต่อการอยู่ร่วมกันในสังคมที่ต้องเคารพในสิทธิมนุษยชน เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น ความเท่าเทียม สันติภาพ และอาจนำไปสู่วิกฤติความขัดแย้งที่รุนแรงขึ้นด้วย

3. การแก้ไขรัฐธรรมนูญ สมัชชาปกป้องประชาธิปไตยขอยืนยันว่ารัฐธรรมนูญเป็นกติกาประชาธิปไตยที่ทุกฝ่ายต้องให้ความเคารพ แต่รัฐธรรมนูญนั้นสามารถแก้ไขได้ด้วยเจตจำนงของประชาชนและต้องคำนึงถึงทั้งหลักประชาธิปไตยและหลักการที่ไม่ทำลายสังคมประชาธิปไตยเสียเอง ทั้งนี้หากมีความไม่เห็นพ้องต้องกันถึงกติกาประชาธิปไตยฉบับนี้ ก็สมควรจะร่วมกันหาทางออกที่ได้รับการยอมรับกันทุกฝ่าย สมัชชาฯขอเสนอว่าการร่วมกันออกแบบการทำประชามติในการแก้ไขหรือยืนยันการใช้รัฐธรรมนูญฉบับปี 2550 ควรเป็นทางออกของสังคม

วันที่ 10 ธันวาคม 2556

ทั้งนี้ แถลงการณ์ฉบับเต็มของสมัชชาปกป้องประชาธิปไตย (สปป.) มีรายละเอียดดังนี้

แถลงการณ์สมัชชาปกป้องประชาธิปไตย (สปป.)

ตามที่ที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) กลุ่มผู้ชุมนุมที่ใช้ชื่อว่า กปปส. และนักวิชาการจำนวนหนึ่ง เรียกร้องให้นายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรีกระทำการในทางที่ขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญและไม่เป็นไปตามครรลองของการปกครองในระบอบประชาธิปไตย เพื่อมิให้เกิดความสับสนแก่ประชาชนจนอาจนำมาซึ่งวิกฤตการณ์ทางการเมืองที่หนักหน่วงรุนแรงมากยิ่งขึ้นและป้องกันการทำลายระบอบประชาธิปไตย นักวิชาการ ปัญญาชน นักเขียน นิสิตนักศึกษา ข้าราชการ และบุคคลทั่วไป ซึ่งรวมตัวกันเป็นเครือข่ายในนามของ “สมัชชาปกป้องประชาธิปไตย” จึงจำเป็นต้องแถลงโต้แย้งในประเด็นดังต่อไปนี้

- ๑ -

การก่อตั้ง “สภาประชาชน”
โดยอาศัยอำนาจตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา ๓

๑. กปปส. และนักวิชาการจำนวนหนึ่งได้อ้างว่ารัฐสภาและรัฐบาลไม่มีความชอบธรรมและเป็นโมฆะไป เนื่องจากไม่ยอมรับอำนาจของศาลรัฐธรรมนูญ ดังนั้น ประชาชนจึงมีสิทธิต่อต้านรัฐบาลตามรัฐธรรมนูญฯ มาตรา ๖๙ นั้น ข้ออ้างดังกล่าวไม่ถูกต้องและเป็นการจินตนาการที่ไกลเกินไป กล่าวคือ ข้อเท็จจริงไม่ปรากฏว่ารัฐสภาหรือรัฐบาลได้ประกาศไม่ยอมรับอำนาจศาลรัฐธรรมนูญ มีเพียงพรรคเพื่อไทยและสมาชิกรัฐสภาบางส่วนที่ได้ประกาศไม่ยอมรับ “คำวินิจฉัย” ของศาลรัฐธรรมนูญ กรณีร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมในประเด็นที่มาของสมาชิกวุฒิสภา

ในส่วนที่มีผู้อ้างว่ารัฐธรรมนูญฯ มาตรา ๒๑๖ วรรคห้าบัญญัติว่า “คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญให้เป็นเด็ดขาด มีผลผูกพันรัฐสภา คณะรัฐมนตรี ศาล และองค์กรอื่นของรัฐ” ดังนั้น เมื่อรัฐสภาหรือรัฐบาลไม่ยอมรับคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ จึงละเมิดรัฐธรรมนูญ ทำให้รัฐสภาหรือรัฐบาลขาดความชอบธรรมและเป็นโมฆะนั้น พวกเราเห็นว่าคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่จะถือได้ว่ามีผลเป็นเด็ดขาดและผูกพันองค์กรอื่นของรัฐนั้น ต้องเป็นคำวินิจฉัยที่ได้ตัดสินไปโดยชอบด้วยรัฐธรรมนูญและกฎหมายตามรัฐธรรมนูญฯ มาตรา ๑๙๗ และต้องเป็นการใช้อำนาจหน้าที่ซึ่งอยู่ภายใต้กรอบที่รัฐธรรมนูญกำหนด ไม่ใช่เป็นการใช้อำนาจหน้าที่ซึ่งขัดต่อบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญหรือตามอำเภอใจ

เมื่อกรณีนี้ปรากฏว่าศาลรัฐธรรมนูญได้รับคำร้องและทำการตัดสิน โดยที่ไม่มีฐานอำนาจตามรัฐธรรมนูญรองรับ คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญในกรณีนี้จึงขัดต่อรัฐธรรมนูญ และถือไม่ได้ว่าเป็นคำวินิจฉัยในความหมายของรัฐธรรมนูญฯ มาตรา ๒๑๖ วรรคห้า คำวินิจฉัยนี้จึงเสียเปล่าและไม่มีผลทางกฎหมายผูกพันรัฐสภา คณะรัฐมนตรี ศาล และองค์กรอื่นของรัฐแต่อย่างใด การอ้างกรณีไม่ยอมรับคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญเพื่อใช้เป็นเหตุให้ใช้สิทธิในการต่อต้านรัฐบาลจึงยังไม่อาจรับฟังได้

๒. นอกจากนี้ กปปส. และนักวิชาการจำนวนหนึ่งยังได้อ้างต่อไปว่า เมื่อรัฐบาลและรัฐสภาเป็นโมฆะไปแล้ว อำนาจอธิปไตยจึงต้องกลับคืนสู่ประชาชนตามรัฐธรรมนูญฯ มาตรา ๓ ดังนั้น ประชาชนจึงสามารถใช้อำนาจอธิปไตยโดยตรงเพื่อก่อตั้งสภาประชาชนได้นั้น หากพิจารณาตามรัฐธรรมนูญปัจจุบัน ประชาชนมีวิธีการแสดงออกซึ่งการใช้อำนาจอธิปไตยโดยตรง ผ่านการออกเสียงประชามติ และการออกเสียงลงคะแนนเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภา ตลอดจนใช้อำนาจผ่านองค์กรของรัฐซึ่งมีจุดเชื่อมโยงกับประชาชน

เมื่อพิจารณาบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญฯ มาตรา ๓ จะเห็นได้ว่า พระมหากษัตริย์ผู้ทรงเป็นประมุขทรงใช้อำนาจอธิปไตยของประชาชนผ่านทางรัฐสภา คณะรัฐมนตรี และศาล ดังนั้น จึงไม่มีกรณีใดตามมาตรา ๓ ที่ให้ประชาชนใช้อำนาจอธิปไตยก่อตั้งสภาประชาชนได้เอง อีกทั้งเมื่อพิจารณารัฐธรรมนูญทั้งฉบับ ก็ไม่ปรากฏว่ามีบทบัญญัติใดให้อำนาจประชาชนก่อตั้งสภาประชาชนได้ ข้อเสนอดังกล่าวจึงเป็นกรณีที่คนกลุ่มหนึ่งฉกฉวยแอบอ้างความเป็น “ประชาชน” เพื่อก่อตั้งสภาประชาชนขึ้นเอง โดยปราศจากบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญรองรับและเป็นการกระทำที่ขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญ หากต้องการให้ “สภาประชาชน” เกิดขึ้นได้ มีเพียงวิธีการเดียวเท่านั้น คือ แก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญกำหนดให้มีสภาประชาชนขึ้น

ความพยายามก่อตั้งสภาประชาชนขึ้นโดยอาศัยวิธีการอื่น นอกจากการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ  จึงเป็นการกระทำเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศโดยวิธีการซึ่งมิได้เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญนี้ หรือรัฐประหารนั่นเอง

๓. ในส่วนขององค์ประกอบของสภาประชาชนและการได้มาซึ่งสมาชิกสภาประชาชนนั้น แม้ข้อเสนอดังกล่าวจะยังไม่เป็นที่ยุติ แต่ปรากฏให้เห็นจุดร่วมกันประการหนึ่งว่า สภาประชาชนไม่ได้มาจากการเลือกตั้งแต่มาจากการแต่งตั้งบุคคลจากสาขาอาชีพต่างๆ ข้อเสนอเรื่องสภาประชาชนจึงไม่สอดคล้องกับหลักการประชาธิปไตย

ตรงกันข้าม หากพิจารณาจากข้อเท็จจริงในทางประวัติศาสตร์และการเมืองร่วมสมัย พบว่าสภาประชาชนที่มาจากหลากหลายวิชาชีพเป็นความคิดสืบทอดจากลัทธิ Fascist corporatism ดังที่เคยปรากฏให้เห็นในประเทศอิตาลีในสมัยที่ปกครองโดยเผด็จการฟาสซิสต์ภายใต้การนำของเบนิโต้ มุสโสลินี ซึ่งได้แก้ไขกฎหมายการเลือกตั้งในปี ๑๙๒๘ ให้สภามีที่มาจากการเสนอชื่อของหลากหลายสาขาอาชีพ และสภานี้ก็เป็นกลไกสำคัญที่นำอิตาลีไปสู่รัฐเผด็จการแบบเบ็ดเสร็จในท้ายที่สุด

- ๒ -

การเสนอให้มีนายกรัฐมนตรี “คนกลาง” ภายหลังการยุบสภาผู้แทนราษฎร
โดยอาศัยอำนาจตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา ๗
หรือโดยอาศัยการตีความรัฐธรรมนูญแบบประหลาด

๑. รัฐธรรมนูญฯ มาตรา ๗ บัญญัติว่า “ในเมื่อไม่มีบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญนี้บังคับแก่กรณีใด ให้วินิจฉัยกรณีนั้นไปตามประเพณีการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข” บทบัญญัติในลักษณะเช่นนี้ปรากฏตัวขึ้นครั้งแรกในธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร พ.ศ. ๒๕๐๒ ซึ่งเป็นรัฐธรรมนูญชั่วคราว มีบทบัญญัติเพียง ๒๐ มาตราเท่านั้น บทบัญญัติในลักษณะเช่นนี้จึงมีขึ้นเพื่อแก้ปัญหากรณีที่ไม่มีบทบัญญัติในธรรมนูญการปกครองชั่วคราวบัญญัติไว้เท่านั้น

สำหรับรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน  มาตรา ๗ เป็นบทบัญญัติซึ่งองค์กรตามรัฐธรรมนูญที่เกี่ยวข้องสามารถนำมาใช้ได้ในลักษณะที่เป็นการอุดช่องว่างของรัฐธรรมนูญลายลักษณ์อักษรเท่านั้น กล่าวคือ หากมีปัญหาในทางรัฐธรรมนูญเกิดขึ้น และไม่มีรัฐธรรมนูญลายลักษณ์อักษรบัญญัติไว้ องค์กรที่เกี่ยวข้องสามารถนำเอาประเพณีการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข ซึ่งในทางนิติศาสตร์หมายถึงกฎหมายประเพณีทางรัฐธรรมนูญมาใช้วินิจฉัยปัญหาที่เกิดขึ้นได้

ทั้งนี้ กฎหมายประเพณีทางรัฐธรรมนูญกำเนิดขึ้นได้ต้องเป็นการปฏิบัติในทางรัฐธรรมนูญที่เกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่า จนองค์กรของรัฐและบุคคลทั่วไปเห็นกันว่าการปฏิบัตินั้นมีสภาพบังคับ ประการสำคัญ กฎหมายประเพณีทางรัฐธรรมนูญที่จะนำมาใช้บังคับ ต้องไม่ขัดหรือแย้งกับการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขด้วย

๒. แม้รัฐธรรมนูญฯ มาตรา ๗ จะมีความหมายดังที่กล่าวมาในข้อ ๑ แต่ก็มีความพยายามที่จะให้พระมหากษัตริย์แต่งตั้งนายกรัฐมนตรีโดยอาศัยอำนาจตามมาตราดังกล่าว โดยมีข้อเสนอให้ยุบสภาผู้แทนราษฎร เพื่อให้สมาชิกภาพของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรสิ้นสุดลงพร้อมกับคณะรัฐมนตรี  ผู้ที่ต้องการให้เกิดภาวะสุญญากาศจึงเรียกร้องให้คณะรัฐมนตรีรักษาการยุติการปฏิบัติหน้าที่ และยังเสนอว่าพระมหากษัตริย์ย่อมมีพระราชอำนาจที่จะแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีได้โดยอาศัยอำนาจตามรัฐธรรมนูญ มาตรา ๗ บางท่านเสนอว่าให้วุฒิสภาประชุมกัน และคัดเลือกบุคคลใดก็ได้ตามที่วุฒิสภาเห็นสมควรเสนอให้พระมหากษัตริย์แต่งตั้งให้เป็นผู้ที่ทำหน้าที่นายกรัฐมนตรี โดยให้ประธานวุฒิสภาเป็นผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการ

๓. สปป. เห็นว่าข้อเสนอข้างต้นเป็นสิ่งที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญและหลักการปกครองในระบอบประชาธิปไตยหลายประการ เนื่องจาก รัฐธรรมนูญฯ มาตรา ๑๐๘ กำหนดให้การยุบสภาผู้แทนราษฎรต้องกระทำโดยพระราชกฤษฎีกาและต้องกำหนดวันเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรใหม่ภายในระยะเวลาไม่น้อยกว่า ๔๕ วันแต่ไม่เกิน ๖๐ วันนับแต่วันยุบสภาผู้แทนราษฎร ดังนั้น การยุบสภาผู้แทนราษฎรโดยไม่กำหนดวันเลือกตั้งก็ดี หรือการยุบสภาผู้แทนราษฎรโดยมีวัตถุประสงค์ไม่ให้มีการเลือกตั้งทั่วไปก็ดี ย่อมไม่อาจกระทำได้ เพราะการกระทำดังกล่าวขัดต่อรัฐธรรมนูญและจะมีผลเป็นการทำลายรัฐธรรมนูญลง

๔. ภายหลังจากยุบสภาผู้แทนราษฎรแล้ว รัฐธรรมนูญฯ มาตรา ๑๘๑ กำหนดให้คณะรัฐมนตรีที่พ้นจากตำแหน่งเนื่องจากการยุบสภา ต้องปฏิบัติหน้าที่ต่อไปจนกว่าคณะรัฐมนตรีชุดใหม่ซึ่งจะเกิดขึ้นหลังจากการเลือกตั้งเข้ารับหน้าที่ การเรียกร้องให้คณะรัฐมนตรีรักษาการยุติการปฏิบัติหน้าที่หลังจากที่ยุบสภาผู้แทนราษฎรแล้ว จึงเป็นการเรียกร้องให้คณะรัฐมนตรีรักษาการ กระทำการฝ่าฝืนหน้าที่ที่รัฐธรรมนูญบัญญัติไว้

๕.  ข้อเสนอให้พระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีโดยอาศัยอำนาจตามมาตรา ๗ ยังเป็นข้อเสนอที่เรียกร้องให้พระมหากษัตริย์กระทำการในสิ่งที่พระองค์ไม่มีพระราชอำนาจด้วย เพราะบทบัญญัติมาตรา ๗ เป็นบทบัญญัติที่ให้องค์กรทางรัฐธรรมนูญวินิจฉัยไปตามกฎหมายประเพณีทางรัฐธรรมนูญเฉพาะกรณีที่ไม่ปรากฏว่ามีรัฐธรรมนูญลายลักษณ์อักษรบัญญัติในเรื่องที่เป็นปัญหาไว้เท่านั้น ไม่ใช่เป็นบทบัญญัติที่ก่อตั้งอำนาจให้พระมหากษัตริย์ในการแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีทั้งๆ ที่อยู่ในระหว่างประกาศใช้พระราชกฤษฎีกายุบสภาผู้แทนราษฎร และกำลังจะมีการเลือกตั้ง ซึ่งประชาชนผู้เป็นเจ้าของอำนาจกำลังจะใช้อำนาจของตนในการเลือกสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เพื่อให้สภาผู้แทนราษฎรมาเลือกนายกรัฐมนตรีต่อไป

๖. ข้อเสนอที่ให้นายกรัฐมนตรีรักษาการต้องพ้นไปจากการรักษาการในตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ไม่ว่าจะโดยวิธีการบังคับให้นายกรัฐมนตรีหยุดพักการปฏิบัติหน้าที่ หรือโดยวิธีการอื่นใดก็ตาม ล้วนแล้วแต่มีเป้าประสงค์ให้เกิด “สุญญากาศ” ในระบบการเมือง เพื่อให้บ้านเมืองถึงทางตัน  

ดังที่มีนักวิชาการบางคนเสนอว่า เมื่อนายกรัฐมนตรีพ้นไปจากการรักษาการในตำแหน่งนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีทั้งคณะพ้นไปจากการรักษาการในตำแหน่งรัฐมนตรีแล้ว ก็ให้วุฒิสภาคัดเลือกบุคคลที่ไม่ต้องเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรมาเป็นผู้ที่ทำหน้าที่แทนนายกรัฐมนตรี ข้อเสนอดังกล่าวไม่มีฐานทางกฎหมายใดๆรองรับ เพราะรัฐธรรมนูญไม่ได้ให้อำนาจดังกล่าวไว้แก่วุฒิสภา อีกทั้งตำแหน่งผู้ที่ทำหน้าที่แทนนายกรัฐมนตรีก็เป็นตำแหน่งที่ไม่มีบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญอีกด้วย ในกรณีที่เกิดเหตุการณ์ที่นายกรัฐมนตรีไม่อาจปฏิบัติหน้าที่รักษาการตำแหน่งนายกรัฐมนตรีได้ ไม่ว่าจะด้วยเหตุใดก็ตาม ก็ต้องให้รัฐมนตรีคนหนึ่งทำหน้าที่รักษาการตำแหน่งนายกรัฐมนตรีแทน และในกรณีที่เกิดเหตุการณ์ที่รัฐมนตรีทั้งคณะไม่อาจปฏิบัติหน้าที่รักษาการตำแหน่งรัฐมนตรีได้ ไม่ว่าจะด้วยเหตุใดก็ตาม ก็ต้องให้ปลัดกระทรวงทำหน้าที่รักษาการแทนเพื่อรอให้คณะรัฐมนตรีที่มีที่มาจากสภาผู้แทนราษฎรซึ่งได้รับการเลือกตั้งจากประชาชนเข้าปฏิบัติหน้าที่ รัฐธรรมนูญไม่เปิดช่องให้เลือกบุคคลที่ไม่ได้เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร หรือที่เรียกกันว่า “คนกลาง” หรือ “คนนอก” เข้าปฏิบัติหน้าที่รักษาการนายกรัฐมนตรีได้

๗. รัฐธรรมนูญฯกำหนดระยะเวลาจัดการเลือกตั้งไว้ชัดเจน เมื่อได้สภาผู้แทนราษฎรชุดใหม่ ก็จะมีการแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีต่อไปตามลำดับ โดยในระหว่างที่ยังไม่ได้สภาผู้แทนราษฎรชุดใหม่และคณะรัฐมนตรีชุดใหม่ คณะรัฐมนตรีรักษาการก็ปฏิบัติหน้าที่ได้เท่าที่จำเป็นภายใต้เงื่อนไขที่รัฐธรรมนูญฯ มาตรา ๑๘๑ (๑) – (๔) กำหนดไว้เท่านั้น

ด้วยระยะเวลารักษาการในตำแหน่งที่ไม่นานนี้ จึงไม่มีความจำเป็นแต่ประการใดที่ต้องมี “คนกลาง” หรือ “คนนอก” มาทำหน้าที่รักษาการแทนนายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรี   

การตัดสินใจยุบสภาผู้แทนราษฎรของนายกรัฐมนตรีเป็นวิธีการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองโดยคืนอำนาจการตัดสินใจให้แก่ประชาชน อันเป็นวิธีการที่สอดคล้องกับการปกครองในระบอบประชาธิปไตย และตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย เมื่อยุบสภาผู้แทนราษฎรแล้ว ต้องมีการเลือกตั้ง โดยในระหว่างนั้น คณะรัฐมนตรีต้องปฏิบัติหน้าที่รักษาการต่อไป

สปป. เห็นว่าการขัดขวางไม่ให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไม่ว่าด้วยวิธีการใดก็ดี การเหนี่ยวรั้งให้การเลือกตั้งต้องล่าช้าออกไปไม่ว่าด้วยวิธีการใดก็ดี ตลอดจนการสร้าง “สุญญากาศ” ในระบบการเมืองไม่ว่าด้วยวิธีการใดก็ดี เป็นการเปิดโอกาสให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองโดยไม่เป็นไปตามรัฐธรรมนูญและครรลองของประชาธิปไตย การกระทำทั้งหลายทั้งปวงดังกล่าวล้วนแต่เป็นการกระทำที่อยู่นอกความมุ่งหมายของรัฐธรรมนูญ ทำลายกระบวนการสร้างเจตจำนงทางการเมืองในระบอบประชาธิปไตยโดยสันติวิธี และจะนำประเทศไปสู่ภาวะวิกฤติอย่างรุนแรง

ด้วยเหตุนี้สมัชชาปกป้องประชาธิปไตยจึงขอเรียกร้องให้ประชาชนเข้าสู่กระบวนการเลือกตั้งที่กำลังจะมีขึ้น และให้ประชาชนแสดงเจตจำนงทางการเมืองของตนผ่านกลไกการเลือกตั้ง โดยหลังจากมีการเลือกตั้งทั่วไปแล้ว ให้รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งดำเนินการปฏิรูปการเมืองการปกครองและระบอบรัฐธรรมนูญให้เป็นนิติรัฐ-ประชาธิปไตยต่อไป

ด้วยเจตจำนงที่ยึดมั่นต่อระบอบประชาธิปไตยและสันติภาพ
สมัชชาปกป้องประชาธิปไตย
๑๐ ธันวาคม ๒๕๕๖

๑. ชาญวิทย์ เกษตรศิริ                 ๒. นิธิ เอียวศรีวงศ์                                  ๓. พนัส  ทัศนียานนท์ 
๔. ผาสุก พงษ์ไพจิตร                  ๕.  เกษียร เตชะพีระ                               ๖. สุรชาติ บำรุงสุข
๗. ไชยันต์ รัชชกูล                       ๘. พวงทอง ภวัครพันธุ์                            ๙. ยุกติ มุกดาวิจิตร
๑๐. พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์                 ๑๑. พรสันต์ เลี้ยงบุญเลิศชัย                   ๑๒.ประภาส ปิ่นตบแต่ง
๑๓. วรเจตน์ ภาคีรัตน์                 ๑๔. ปิยบุตร แสงกนกกุล                         ๑๕.. จันทจิรา เอี่ยมมยุรา           
๑๖.. สาวตรี สุขศรี                      ๑๗.. ปูนเทพ ศิรินุพงษ์                            ๑๘.  ธีระ สุธีวรางกูร     
๑๙. ชูศักดิ์ ภัทรกุลวณิชย์            ๒๐. พิชิต ลิขิตกิจสมบูรณ์                       ๒๑. เวียงรัฐ เนติโพธิ์     
๒๒. นิติ ภวัครพันธุ์                     ๒๓. ประจักษ์ ก้องกีรติ                            ๒๔. วิโรจน์ อาลี
๒๕. ศรีประภา เพชรมีศรี ๒๖. อรรถจักร์ สัตยานุรักษ์                       ๒๗. สมชาย ปรีชาศิลปกุล
๒๘ เอกชัย ไชยนุวัติ                     ๒๙. ปิ่นแก้ว เหลืองอร่ามศรี                     ๓๐. อัจฉรา รักยุติธรรม
๓๑.. จักรกริช สังขมณี                 ๓๒. ศรีสมภพ จิตต์ภิรมย์ศรี                     ๓๓. เกษม เพ็ญภินันท์
๓๔. อุเชนทร์ เชียงเสน                 ๓๕. ธนภาษ เดชพาวุฒิกุล                       ๓๖. คงกฤช ไตรยวงค์
๓๗. สุทธิชัย งามชื่นสุวรรณ         ๓๘.. พรสันต์ เลี้ยงบุญเลิศชัย                  ๓๙. บัณฑิต จันทร์โรจนกิจ
๔๐. ศรีประภา เพชรมีศรี              ๔๑. มรกต ไมยเออร์                                ๔๒. อภิชาต สถิตนิรามัย
๔๓. พิพัฒน์ สุยะ                       ๔๔. บุญส่ง ชัยสิงห์กานานนท์                  ๔๕. ชาญณรงค์ บุญหนุน           
๔๖. คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง               ๔๗. โกวิท แก้วสุวรรณ                             ๔๘. วสันต์ ลิมป์เฉลิม   
๔๙. ชาตรี ประกิตนนทการ           ๕๐. สลิสา ยุกตะนันทน์                          ๕๑. กริช ภูญียามา       
๕๒. ฐาปนันท์ นิพิฏฐกุล              ๕๓. บัณฑิต ไกรวิจิตร                 ๕๔. มิเชลแทน (Michelle Tan)
๕๕.. ขวัญรวี วังอุดม                   ๕๖. สุรัช คมพจน์                                   ๕๗. นฤมล กล้าทุกวัน   
๕๘. วิทยา อาภรณ์                      ๕๙. อสมา มังกรชัย                                ๖๐.. ทิพย์ชนก รัตโนสถ 
๖๑. พิสิษฐิกุล แก้วงาม               ๖๒. กิ่งกาญจน์ สำนวนเย็น                      ๖๓.. อนุสรณ์ อุณโณ    
๖๔ ชลิตา บัณฑุวงศ์                   ๖๕. ซากีย์ พิทักษ์คุมพล                          ๖๖.. วินัย ผลเจริญ       
๖๗. อลงกรณ์ อรรคแสง              ๖๘. ศุทธิกานต์ มีจั่น                               ๖๙. ยอดพล เทพสิทธา 
๗๐. วัชรพล พุทธรักษา                ๗๑.  ฐานิดา บุญวรรโณ                          ๗๒. สุนิสา อิทธิชัยโย    
๗๓. อริน เจียจันทร์พงษ์               ๗๔.พุทธพล มงคลวรวรรณ                      ๗๕. ณภัค เสรีรักษ์        
๗๖. ธวัชชัย ป้องศรี                     ๗๗. ณรุจน์ วศินปิยมงคล                        ๗๘. เสาวนีย์ อเลกซานเดอร์
๗๙. วรวิทย์ กนิษฐเสน                 ๘๐. ยโสธรา อัมฤตาลัย                           ๘๑. จันทรา ธนะวัฒนาวงศ์
๘๒. ปิยะมาศ ทัพมงคล              ๘๓. ฐิติพล ภักดีวานิช                             ๘๔. ปฤณ เทพนรินทร์   
๘๕. สรพจน์ เสวนคุณากร            ๘๖.. เอกรินทร์ ต่วนสิริ                             ๘๗.. อสมา มังกรชัย     
๘๘. รพีพรรณ เจริญวงศ์              ๘๙. ปฐม ตาคะนานันท์                           ๙๐. กษมาพร แสงสุระธรรม
๙๑. ดวงฤทัย เอสะนาชาตัง         ๙๒.วรพจน์ พันธุ์พงศ์                              ๙๓. วาด รวี
๙๔ . ปราบดา หยุ่น                     ๙๕ . ซะการีย์ยา อมตยา                          ๙๖. อุทิศ เหมะมูล
๙๗. ณัฐพล ใจจริง                     ๙๘. พ.ต.ท.เทิดสยาม บุญยะเสนา                        ๙๙. ร.ต.อ.วัชระ ดวงชะฎา
๑๐๐. ร.ต.อ.ยศพล รัตนถาวร       ๑๐๑. พ.ต.ท.สุทิน กลิ่นหวล                   ๑๐๒. พ.ต.ต.อนุสรณ์ สินธ์เทียม
๑๐๓. พ.ต.ท.เทิดสยาม บุญยะเสนา, ๑๐๔. ร.ต.อ.วัชระ ดวงชะฎา ,                ๑๐๕. พ.ต.ท.อรรณพ ชัยชาญ,
๑๐๖. ร.ต.อ.ธนากร คำวะรัตน์,     ๑๐๗. ร.ต.ท.เกียรติศักดิ์ ผัดก๋า                  ๑๐๘. วันรัก สุวรรณวัฒนา
๑๐๙. ชูวัส ฤกษ์ศิริสุข                 ๑๑๐. วิริยะ สว่างโชติ                             ๑๑๑. ชัยวุฒิ ตันไชย
๑๑๒. ร.ต.ท.ภิญโญ เวียงคำ        ๑๑๓. สุรพศ ทวีศักดิ์                               ๑๑๔. วิจักขณ์ พานิช
๑๑๕. ภิญญพันธ์ พจนะลาวัณย์  ๑๑๖. ศุภชัย เกศการุณกุล                                   ๑๑๗. พัชรินทร์ รักสัตย์
๑๑๘. ชลัท ศานตืวรางคณา         ๑๑๙. ขวัญชัย กุลสันติธำรง                     ๑๒๐. วาสนา ละอองปลิว          
๑๒๑. ศิริจิต สุนันต๊ะ                   ๑๒๒. ณัฐวัฒน์ กฤตยานวัช                     ๑๒๓. ชีรา ทองกระจาย 
๑๒๔. ปรีดี หงษ์สต้น                  ๑๒๕. อติภพ ภัทรเดชไพศาล                   ๑๒๖. สถิติ ทูลขำ         
๑๒๗. ธีรวัฒน์ ขวัญใจ                ๑๒๘. ศุภวัชร์ มาลานนท์              ๑๒๙. เอกพลณัฐ ณัฐพัทธนันท์
๑๓๐. พงศ์จิรา เชิดชู                   ๑๓๑. เมธยา ศิริจิตร                               ๑๓๒. ปิง วิชัยดิษฐ       
๑๓๓. อาหวัง ล่านุ้ย                    ๑๓๔. อันธิชา แสงชัย                              ๑๓๕. พิเชฐ แสงทอง    
๑๓๖. ดุษณ์ดาว เลิศพิพัฒน์        ๑๓๗. สิทธิพล เครือรัฐติกาล                    ๑๓๘. ดันย้าล อับดุลเลาะ          
๑๓๙. ศศิวรรณ จริงจิตร              ๑๔๐. อัลเบอท ปอทเจส                          ๑๔๑. ไพศาล ลิขิตปรีชากุล
๑๔๒. ภูวิน บุณยะเวชชีวิน           ๑๔๓. ชุมาพร แต่งเกลี้ยง                         ๑๔๔. นริณีย์ รุทธนานุรักษ์
๑๔๕. อัญชนา สุวรรณานนท์        ๑๔๖. การะเกต์ ศรีปริญญาศิลป์               ๑๔๗. สุกรี คลองวิธี
๑๔๘. ธิกานต์ ศรีนารา                ๑๔๙. จิรกาญจน์ สงวนพวก                     ๑๕๐. สร้อยมาศ รุ่งมณี
๑๕๑. อรัญญา ศิริผล



ที่มา ประชาไท