หนังสือเสนอประธานรัฐสภาพิจารณาทำหนังสือคัดค้านการก้าวล่วงเข้ามาละเมิดอำนาจเสมือนหนึ่งรัฐประหารอำพรางของศาลรธน.
วันนี้ 21 พ.ย.56 ผมทำหนังสือเสนอประธานรัฐสภาเพื่อพิจารณาทำหนังสือคัดค้านการก้าวล่วงเข้ามาละเมิดอำนาจนิติบัญญัติเสมือนหนึ่งการรัฐประหารอำพรางของศาลรธน.ตามนี้ครับ
หนังสือเสนอประธานรัฐสภาเพื่อพิจารณาดำเนินการ “คัดค้านการละเมิดและก้าวล่วงเข้ามายึดอำนาจจากฝ่ายนิติบัญญัติประหนึ่งเป็นการกระทำรัฐประหารอำพราง”โดยศาลรัฐธรรมนูญ
รัฐสภา ถนนอู่ทองใน เขตดุสิต กทม.10300
21 พฤศจิการยน 2556
เรื่อง ขอเสนอให้ประธานรัฐสภาทำหนังสือคัดค้าน คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญอันเนื่องจากละเมิดและก้าวล่วงเข้ามายึดอำนาจหน้าที่ของอำนาจนิติบัญญัติภายใต้การดำเนินการของประธานรัฐสภา
กราบเรียน ประธานรัฐสภา
อ้างถึง คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญเมื่อวันที่ 20 พฤศจิการยน 2556เรื่องร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมฉบับที่....(พศ.....)เรื่องที่มาของสมาชิกวุฒิสภา
ตามที่ศาลรัฐธรรมนูญได้แถลงคำวินิจฉัยกรณี “ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับที่.....(พศ.......)ในเรื่องที่มาของสมาชิกวุฒิสภา เมื่อวันที่ 20 พฤศจิกายน 2556ที่ผ่านมา ได้ก้าวล่วงเข้ามาละเมิด อำนาจหน้าที่ของ อำนาจนิติบัญญัติโดยตรงหลายประการดังต่อไปนี้ เช่น
1.ศาลรัฐธรรมนูญได้กล่าวไว้ในคำวินิจฉัยว่า “ในการพิจารณาของที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภา มิได้นำเอาร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมเกี่ยวกับที่มาของสมาชิกวุฒิสภาฉบับที่นายอุดมเดช รัตนเสถียร และคณะ เสนอต่อสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร เมื่อวันที่ 20 มีนาคม 2556 มาใช้ในการพิจารณาในวาระที่ 1 ขั้นรับหลักการ แต่ได้นำร่างที่มีการจัดทำขึ้นใหม่ ซึ่งมีหลักการแตกต่างจากร่างเดิมที่นายอุดมเดช รัตนเสถียร เสนอ หลายประการ โดยได้ปรากฏว่า มีสมาชิกรัฐสภามาร่วมลงชื่อเสนอญัตติแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญที่จัดทำขึ้นใหม่แต่อย่างใด มีผลเท่ากับว่า การดำเนินการในการเสนอร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ ที่รัฐสภารับหลักการตามคำร้องนี้ เป็นไปโดยมิชอบด้วยรัฐธรรมนูญมาตรา 291 วรรค 1
ในกรณีนี้ ก้าวล่วงมาวินิจฉัย ความชอบด้วยกฎหมายของร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม ซึ่ง ไม่มีมาตราใดของรัฐธรรมนูญกำหนดให้ศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจหน้าที่ดังกล่าวได้ ในทางตรงข้าม นี่เป็นอำนาจหน้าที่โดยตรงของ ท่านประธานรัฐสภาโดยตรงอันกำหนดไว้อย่างชัดเจนในรัฐธรรมนูญมาตรา 137 ประกอบกับข้อบังคับการประชุมรัฐสภาพ.ศ.2553 หมวด1
2.ในคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญได้กล่าวไว้ว่า “ในการพิจารณาวาระที่ 1 และวาระที่ 2 ผู้ถูกร้องที่ 1 และผู้ถูกร้องที่ 2 ได้ผลัดกันทำหน้าที่ประธานที่ประชุม ได้มีการตัดสิทธิผู้ขออภิปรายในวาระที่ 1 และตัดสิทธิผู้ขอแปรญัตติ ผู้สงวนคำแปรญัตติ และผู้สงวนความเห็น เป็นจำนวนถึง 57 คน โดยอ้างว่าความเห็นดังกล่าวขัดต่อหลักการ ทั้งที่ยังไม่ได้มีการฟังการอภิปราย ทั้งนี้ ผู้ถูกร้องที่ 1 และผู้ถูกร้องที่ 2 ได้ใช้เสียงข้างมากในที่ประชุมปิดการอภิปราย เห็นว่า แม้การเปิดการอภิปรายจะเป็นดุลพินิจของประธาน และแม้เสียงข้างมากมีสิทธิที่จะลงมติให้ปิดการอภิปรายก็ตาม แต่การใช้ดุลพินิจและการใช้เสียงข้างมากดังกล่าวจะต้องไม่ตัดสิทธิการทำหน้าที่ของสมาชิกรัฐสภา หรือละเลยไม่ฟังความเห็นของฝ่ายข้างน้อย การรวบรัดปิดการอภิปรายและปิดการประชุมเพื่อให้มีการลงคะแนนเสียง จึงเป็นการใช้อำนาจไปในทางที่ไม่ชอบ เอื้อประโยชน์ต่อฝ่ายข้างมากโดยไม่เป็นธรรม อันเป็นการขัดต่อหลักนิติธรรม
การเริ่มนับระยะเวลาย้อนหลังไปจนทำให้เหลือระยะเวลาขอแปรญัตติเพียง 1 วัน เป็นการดำเนินการที่ขัดต่อข้อบังคับการประชุม และไม่เป็นกลาง จึงไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญมาตรา 125 วรรค 1 และวรรค 2 ทั้งขัดต่อหลักนิติธรรมตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 3 วรรค 2 ด้วย การกำหนดเวลาแปรญัตติร่างรัฐธรรมนูญที่แก้ไขเพิ่มเติม จึงไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญมาตรา 3 วรรค 2 และมาตรา 125 วรรค 1
ทั้งสองเนื้อความดังกล่าว แสดงให้เห็นความผิดพลาดโดยสิ้นเชิงของศาลรัฐธรรมนูญ เพราะรัฐสภาได้ดำเนินการไปตามขั้นตอนในรัฐธรรมนูญและข้อบังคับของรัฐสภา โดยมีการพิจารณาในกรรมาธิการวาระที่สอง และปฏิบัติไปตามข้อบังคับของรัฐสภา เมื่อมีการทำผิดข้อบังคับรัฐสภา จึงไม่อาจจะที่จะอนุญาตให้ทำผิดข้อบังคับได้
ในเมื่อประธานรัฐสภาได้ดำเนินการไปตามข้อบังคับของการประชุมรัฐสภาเช่นนี้แล้ว ศาลรัฐธรรมนูญจึงเป็นผู้ที่กระทำผิดรัฐธรรมนูญ ละเมิดรัฐธรรมนูญเสียเอง และก้าวล่วงเข้ามาละเมิดอำนาจของประธานรัฐสภา อันเป็นอำนาจอธิปไตยหนึ่งในสามของศาลรัฐธรรมนูญโดยไม่สมควรอย่างยิ่ง
3.จากการรับฟังพยานหลักฐาน และการเบิกความในชั้นการพิจารณาไต่สวนคำร้อง เป็นเรื่องที่แจ้งชัด ทั้งภาพวีดีทัศน์ และประจักษ์พยานที่มาเบิกความประกอบการถ่ายทอดการประชุมรัฐสภา ระหว่างที่มีการออกเสียงลงมติร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ เกี่ยวกับที่มาของวุฒิสมาชิกว่า มีสมาชิกรัฐสภาหลายราย ไม่ได้มาออกเสียงลงมติในที่ประชุมรัฐสภาในการพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมฉบับนี้ และได้มอบให้สมาชิกรัฐสภาบางรายใช้สิทธิออกเสียงลงคะแนน แทนในการพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม
การดำเนินการดังกล่าว นอกจากจะเป็นการละเมิดหลักการพื้นฐานของการเป็นสมาชิกรัฐสภา ซึ่งถือได้ว่าเป็นผู้แทนปวงชนชาวไทย ซึ่งจะต้องปฏิบัติหน้าที่โดยไม่อยู่ในความผูกมัดแห่งอาณัติมอบหมาย หรือการครอบงำใดๆ และต้องปฏิบัติด้วยความซื่อสัตย์สุจริต เพื่อประโยชน์ส่วนรวมของปวงชนชาวไทย โดยปราศจากการขัดกันแห่งผลประโยชน์ตามบทบัญญัติ มาตรา 122 รัฐธรรมนูญแล้ว ยังขัดต่อข้อบังคับการประชุมของรัฐสภา ขัดต่อหลักความซื่อสัตย์สุจริตที่สมาชิกรัฐสภาได้ปฏิญาณตนไว้ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 123 และขัดต่อหลักการออกเสียงลงคะแนนตามบทบัญญัติ มาตรา 126 วรรค 3 ที่ให้สมาชิกคนหนึ่งมีเสียง 1 เสียง ในการออกเสียงลงคะแนน มีผลทำให้การออกเสียงลงคะแนนในการประชุมนั้นๆ เป็นการออกเสียงลงคะแนนที่ทุจริต ไม่เป็นไปตามเจตนารมณ์ที่แท้จริงของปวงชนชาวไทย เนื่องจาก มาจากกระบวนการลงคะแนนเสียงที่ไม่ชอบ ขัดต่อข้อบังคับการประชุมรัฐสภา และขัดต่อบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญที่ระบุมาแล้วข้างต้น ถือว่า เป็นมติที่ชอบของรัฐสภาในกระบวนการพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม
การดำเนินการรวบรวมพยานหลักฐาน สืบสวน สอบสวนหาข้อเท็จจริงในเรื่อง “การเสียบบัตรแทนกัน และการใช้สิทธิเกินไปกว่าที่รัฐธรรมนูญรับรองไว้” นั้นเป็นอำนาจหน้าที่ของประธานรัฐสภาโดยตรง ศาลรัฐธรรมนูญไม่มีอำนาจหน้าที่ใดๆที่จะกระทำการดังกล่าว และการที่ศาลรัฐธรรมนูญ
“ด่วนสรุปว่า เมื่อพิจารณาจากภาพถ่ายที่พยานนำสืบต่อศาล ก็เห็นภาพบุคคลปรากฏใบหน้าด้านข้าง ซึ่งสามารถยืนยันได้ว่าเป็น นายนริศร ทองธิราช ผู้ถูกร้องที่ 162 ซึ่งสวมสูทสีเดียวกันกับภาพที่ปรากฏในคลิปวีดีทัศน์ ที่ถือบัตรแสดงตนและลงคะแนนอิเล็กทรอนิกส์ไว้ในมือจำนวนหนึ่ง ซึ่งมากกว่า 2 บัตร เกินกว่าจำนวนบัตรแทนตนที่สมาชิกรัฐสภาคนหนึ่งจะพึงมีได้ และยังใช้บัตรอิเล็กทรอนิกส์ดังกล่าวใส่เข้า-ออกในช่องอ่านบัตร พร้อมกดปุ่มบนเครื่องอ่านต่อเนื่องกันทุกบัตร”
เป็นการด่วนสรุป และตั้งตนเป็น “ศาลยุติธรรม” ในการพิจารณาพิพากษาอรรถคดี ซึ่งไม่ใช่อำนาจหน้าที่ของศาลรัฐธรรมนูญตามที่รัฐธรรมนูญบัญญัติไว้ และในความเป็นจริง นายนริศร ทองธิราชก็ได้ปฏิเสธแล้วว่าไม่ใช่บุคคลดังกล่าว และไม่ได้รับสิทธิอันชอบธรรมของตนที่จะให้ข้อเท็จจริงต่อศาลรัฐธรรมนูญก่อนหน้าที่ศาลรัฐธรรมนูญจะทำการวินิจฉัยดังกล่าว
นี่เป็นพฤติกรรมที่ก้าวล่วงละเมิดอำนาจของประธานรัฐสภาที่ไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญอย่างชัดแจ้ง
ในเมื่อ “ศาลรัฐธรรมนูญ บังอาจ ก้าวล่วงเข้ามาละเมิดอำนาจของประธานรัฐสภา อันเป็นอำนาจอธิปไตยหนึ่งในสามของอำนาจอธิปไตยแห่งระบอบประชาธิปไตย โดยไม่มีบทบัญญัติใดๆแห่งรัฐธรรมนูญกำหนดให้สามารถดำเนินการได้”
การกระทำดังกล่าวของศาลรัฐธรรมนูญ จึงอาจจะกล่าวได้ว่า เป็นการ “ยึดอำนาจจากฝ่ายนิติบัญญัติไปโดยไม่มีบทบัญญัติใดของรัฐธรรมนูญรับรองไว้”
กระผมจึงใคร่ขอกราบเรียน ประธานรัฐสภา ได้โปรดกรุณา รักษา หลักการพื้นฐานแห่งระบอบประชาธิปไตยที่ อำนาจนิติบัญญัติเป็นหนึ่งในอำนาจของ ระบอบประชาธิปไตย ซึ่งมีประธานรัฐสภา เป็นประมุขของฝ่ายนิติบัญญัติ หรือเป็นประมุขของอำนาจนิติบัญญัติ ประธานรัฐสภา จึงไม่สมควรที่จะปล่อยให้ศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็นเพียงองคาพยพหนึ่งของ “ศาลตามหมวด10ของรัฐธรรมนูญ” เท่านั้นก้าวล่วงเข้ามาละเมิดการใช้อำนาจหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญของประธานรัฐสภา ไม่เช่นนั้นการอาจจะกลายเป็นว่า ศาลรัฐธรรมนูญได้ “ทำรัฐประหารอำพรางเข้ามายึดอำนาจจากรัฐสภาไป” เป็นที่เรียบร้อยแล้ว
ขอได้โปรดพิจารณา ทำความเห็น คัดค้านการ แสดงอำนาจที่นอกเหนือไปจาก และเกินไปกว่าที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญของศาลรัฐธรรมนูญอย่างไม่สมควรเช่นนี้
จึงเรียนมาเพื่อโปรดพิจารณา
ขอแสดงความนับถือ
ที่มา Facebook นพ.เหวง โตจิราการ