คุณูปการ พ.ร.บ.เหมาเข่ง "เพื่อไทย-เสื้อแดง"จูนคลื่น บทสรุป 2 ขาดีกว่าขาเดียว




บทเรียนจากร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมเหมาเข่งสุดซอย

ทำให้รัฐบาลเพื่อไทยกับ นปช. คนเสื้อแดงต้องกลับมาปรับจูนคลื่นความคิด ทบทวนยุทธศาสตร์ 2 ขากันใหม่

ยุทธศาสตร์ 2 ขา ขาหนึ่ง คือ พลังตัวแทนในสภาอันหมายถึง ส.ส.รัฐบาลพรรคเพื่อไทย ขาหนึ่ง คือ พลัง นปช. เสื้อแดง อันมีบทบาทเคลื่อนไหวนอกสภา

แรงสั่นสะเทือนจากการที่รัฐบาลเพื่อไทยผลักดันร่างนิรโทษกรรมฉบับเหมาเข่งสุดซอย โดยไม่สนใจเสียงทักท้วงคนเสื้อแดง "มิตรร่วมรบ" ว่าสมควรยึดร่างของ นายวรชัย เหมะ

ก่อให้เกิดรอยปริแตกภายใน 2 ขา

เนื่องจากร่างเหมาเข่งสุดซอย เนื้อหาส่วนหนึ่งเป็นการตอบสนองประโยชน์"นายใหญ่"ในต่างประเทศ

กระทั่งเปิดช่องโอกาสให้พรรคฝ่ายตรงข้ามหยิบฉวยเอาไปเป็น"สารตั้งต้น" ปลุกกระแสการชุมนุมต่อต้านอย่างกว้างขวางภายใต้วาทกรรมต่อต้านล้างผิดคนโกง

แต่อีกส่วนหนึ่งที่ทำให้ นปช. คนเสื้อแดง รวมถึงบรรดานักวิชาการ สื่อมวลชนและเสื้อแดงอิสระกลุ่มอื่นๆ ต่างคัดค้านท้วงติง

คือเนื้อหาของการนิรโทษกรรม "ผู้สั่งการ" สลายการชุมนุมเดือนเมษายน-พฤษภาคม 2553 กระทั่งมีคนตายร่วมร้อยศพ บาดเจ็บเกือบ 2,000 คน

4 ส.ส.เสื้อแดง ประกอบด้วย นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ นพ.เหวง โตจิราการ นายวรชัย เหมะ และ น.ส.ขัตติยา สวัสดิผล แสดงจุดยืนสวนทางกับมติพรรค

ด้วยการ"งดออกเสียง" โหวตวาระ 3 ร่าง พ.ร.บ. ดังกล่าวในสภา

ถึงแม้ในที่สุดร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมเหมาเข่ง จะไม่สามารถฝ่ามรสุมไปจนสุดซอยได้ตามแบบที่รัฐบาลพรรคเพื่อไทยต้องการ

แต่ก็ได้ทิ้งคำถามน่าสนใจไว้ว่ายุทธศาสตร์ 2 ขาเพื่อไทย-คนเสื้อแดง ต่อจากนี้ยังจะสามารถก้าวเดินไปด้วยกันได้หรือไม่ อย่างไร



ความชัดเจนของสถานการณ์ขณะนี้เป็นที่รับรู้กันโดยทั่วไปว่า

เครือข่ายต่อต้านรัฐบาลนำโดยพรรคประชาธิปัตย์ได้ก้าวข้ามเรื่องนิรโทษกรรมล้างผิดคนโกง เข้าสู่โหมดขับไล่รัฐบาลยิ่งลักษณ์ โค่นล้มระบอบทักษิณ ไปแล้วเรียบร้อย

ที่กล่าวเช่นนั้นก็เพราะว่า ทั้งที่รัฐบาลเพื่อไทยสั่งถอยและถอนร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมฉบับเหมาเข่ง 6-7 ฉบับออกจากสภาไปแล้วทุกกระบวนท่า

แต่เสียงนกหวีดยังดังไม่หยุด

แม้พลาดหวังจากคำวินิจฉัยของศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ หรือศาลโลก ในคดีปราสาทพระวิหาร ที่ไม่ได้ตัดสินให้ไทยต้องสูญเสียพื้นที่ 4.6 ตารางกิโลเมตรให้กัมพูชา

ก็ยังมีประเด็นศาลรัฐธรรมนูญนัดอ่านคำวินิจฉัยคำร้องคัดค้านการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่มาของ ส.ว. วันที่ 20 พฤศจิกายนนี้ เข้ามาทดแทน

คำตัดสินศาลรัฐธรรมนูญตรงนี้เองที่เชื่อกันว่าแกนนำม็อบนกหวีดคาดหวังให้เป็นประเด็นโค่นล้มรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ยุบพรรคและตัดสิทธิการเมือง 5 ปี

เมื่อนำมาประกอบเข้ากับการแถลงจุดยืนของ นายสนธิ ลิ้มทองกุล อดีตแกนนำกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย เรียกร้องขอนายกรัฐมนตรี มาตรา 7 ของรัฐธรรมนูญ

หรือที่เรียกว่า" นายกฯ ม.7"

ประกอบกับความเคลื่อนไหวของ พล.ต.จำลอง ศรีเมือง 1 ใน 5 อดีตแกนนำกลุ่มพันธมิตรฯ ที่เดินนำม็อบกองทัพประชาชนโค่นระบอบทักษิณ (กปท.) กองทัพประชาชนและภาคีเครือข่ายประชาชน 77 จังหวัด

ยื่นทูลเกล้าฯ ถวายฎีกาจัดตั้ง"สภาประชาชน" และปฏิรูปการเมือง พร้อมให้รัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ยุติบทบาทในการบริหารประเทศ

ก็ยิ่งชัดว่ากลุ่มบุคคลเหล่านี้กำลังฝันถึงอะไร แค่อ้าปากก็มองเห็นทะลุถึงตับไตไส้พุง

อีกมุมหนึ่ง ความฝันของกลุ่มเครือข่ายฝ่ายตรงข้ามเหล่านี้ กลับเป็นแรงกระตุ้นให้ยุทธศาสตร์ 2 ขา รัฐบาลพรรคเพื่อไทย และ นปช. คนเสื้อแดง

ให้ต้องรีบลืมเลือนความบาดหมางที่มีต่อกัน

กลับมาสามัคคีกลมเกลียวกันโดยด่วน



ภาพที่ปรากฏต่อสายตาสาธารณชนก็คือ

น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เดินนำ นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ นายจตุพร พรหมพันธุ์ และ นายวีระกานต์ มุสิกพงศ์ 3 แกนนำ นปช. เสื้อแดง

เข้าร่วมประชุมกับสมาชิกและแกนนำพรรคเพื่อไทย ไม่ว่า นายจารุพงศ์ เรืองสุวรรณ หัวหน้าพรรค นายภูมิธรรม เวชยชัย เลขาธิการพรรค รวมถึง "เจ๊แดง" นางเยาวภา วงศ์สวัสดิ์ เมื่อวันที่ 7 พฤศจิกายน

เพื่อ"เคลียร์ใจ"ระหว่างกัน

น.ส.ยิ่งลักษณ์ กล่าวในที่ประชุมพรรคตอนหนึ่งว่า "นายจตุพร นายณัฐวุฒิ และนายวีระกานต์ ไม่ได้หายไปไหน ยังอยู่กับพวกเราตลอดเวลา"

ต่อมาหลังการประชุม แกนนำ นปช. และ ส.ส.เสื้อแดง นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ นายจตุพร พรหมพันธุ์ นายวรชัย เหมะ นายก่อแก้ว พิกุลทอง นายวิภูแถลง พัฒนภูมิไท และ นายพายัพ ปั้นเกตุ เปิดแถลงข่าวร่วมกัน

นายณัฐวุฒิ กล่าวว่า ฝ่ายประชาธิปไตยแม้จะเห็นต่างใน พ.ร.บ.นิรโทษกรรม แต่สถานการณ์ใหญ่ขณะนี้ คือ การโค่นล้มรัฐบาล ดังนั้น ต้องจัดการภายใน เพื่อเผชิญปัญหาภายนอก

จัดการภายใน คือ การปรับทุกข์ ผูกมิตร ทำความเข้าใจ แสดงความเป็นเอกภาพ

ส่วนปัญหาภายนอกที่ต้องจัดการ คือ ประชาธิปัตย์กำลังเดินเกมปลุกกระแสโค่นรัฐบาล

ขณะที่ นายจตุพร พรหมพันธุ์ กล่าวว่า แม้ นปช. เสื้อแดง จะมีความเห็นต่างกับพรรคเพื่อไทยในเรื่อง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม แต่จะไม่มีวันร่วมมือกับประชาธิปัตย์เพื่อล้มรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งตามระบอบประชาธิปไตยโดยเด็ดขาด

รูปแบบของพรรคประชาธิปัตย์และกลุ่มต่างๆ ที่ขับเคลื่อนอยู่ขณะนี้ เป็นตัวละครตัวเดิมก่อนเหตุการณ์รัฐประหารปี 2549 ต่อเนื่องมา

วิธีการเดิม เป้าหมายเดิม คือ ล้มรัฐบาล

คนเสื้อแดงจะต่อสู้ทุกวิถีทางแต่จะไม่ปะทะเผชิญหน้า ยอมรับว่ากระอักกระอ่วนใจต่อพรรคเพื่อไทย แต่ความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวเท่านั้น

ทำให้รัฐบาลอยู่รอดปลอดภัย

ผลจากการเคลียร์ใจวันนั้น

เป็นที่มาของการเดินสายจัดเวทีระดมพลคนเสื้อแดงครั้งใหญ่ ภายใต้คอนเซ็ปต์ "นปช.-เพื่อคนไทย ปกป้องประชาธิปไตย" โดยจัดขึ้นในเขตยุทธศาสตร์จังหวัดหัวเมืองใหญ่พื้นที่ภาคกลาง ภาคเหนือ และภาคอีสาน



เวที "นปช.-เพื่อคนไทย ปกป้องประชาธิปไตย"

เริ่มขับเคลื่อนจากเวทีลานอเนกประสงค์หลังสนามฟุตบอลเอสซีจี เมืองทองธานี ถนนแจ้งวัฒนะ จ.นนทบุรี เมื่อวันที่ 10 พฤศจิกายน

เวทีลานว่างติด บ.ข.ส. แห่งที่ 3 จ.ขอนแก่น วันที่ 11 พฤศจิกายน เวทีสนามกีฬาสมโภชเชียงใหม่ 700 ปี จ.เชียงใหม่ วันที่ 12 พฤศจิกายน

เวทีหน้าศาลากลาง จ.สมุทรปราการ วันที่ 13 พฤศจิกายน ตามด้วย จ.อุดรธานี และ จ.ชลบุรี โดยแต่ละเวทีมีผู้มาร่วมชุมนุม 30,000-50,000 คน

ก่อนวกกลับมายังเวทีเมืองทองธานีในช่วงระหว่าง 18-20 พฤศจิกายน

เพื่อลุ้นผลตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญ ในวันที่ 20 พฤศจิกายน อันจะมีผลต่อสถานภาพสมาชิกรัฐสภา 312 ส.ส. และ ส.ว. ว่าจะอยู่หรือไป

แกนนำ นปช. คนเสื้อแดง กล่าวถึงการเดินสายชุมนุมครั้งนี้ เนื่องจากเห็นว่ารัฐบาลได้ถอยร่างนิรโทษกรรมเหมาเข่งออกจากสภาไปแล้วทุกกรณี

แต่ม็อบนกหวีดยังคงปักหลักชุมนุมต่อไปเหมือนต้องการยื้อเวลา เพื่อรอสัญญาณเปลี่ยนแปลงทางการเมืองบางอย่างที่อาจไม่เป็นไปตามวิถีทางระบอบประชาธิปไตย

คนเสื้อแดงจึงต้องออกมาแสดงพลังท้าทายและป้องปรามสิ่งที่คาดการณ์ไว้ไม่ให้เกิดขึ้น

ยุทธศาสตร์ 2 ขาที่เคยผิดจังหวะขัดกันเองจากเรื่องนิรโทษกรรมเหมาเข่ง จนทำให้เดินเป๋ไปเป๋มาอยู่ช่วงหนึ่ง วันนี้กลับมาปรับคลื่นจูนความคิดกันใหม่

สรุปบทเรียนความผิดพลาดร่วมกัน

เหมือนที่ นางธิดา ถาวรเศรษฐ กล่าวไว้ในหลักสูตรโรงเรียน นปช. หลังจากร่างเหมาเข่งถูกตีตกตายสนิท ว่าถึงอย่างไรการต่อสู้กับระบอบอำมาตย์ด้วยพลังประชาธิปไตย 2 ขา ย่อมดีกว่าต่อสู้ด้วยขาข้างเดียว

ที่สำคัญ "ขาพรรคเพื่อไทย"มีโอกาสถูกยุบพรรคได้

แต่"ขาคนเสื้อแดง"ไม่มีศาลรัฐธรรมนูญหรือองค์กรอิสระใดสั่งยุบได้



(ที่มา:มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับประจำวันที่ 15-21 พฤศจิกายน 2556)