การเมืองเริ่มคลี่คลาย แต่ยังไม่ถือว่านิ่ง
กลุ่มกองทัพประชาชนโค่นระบอบทักษิณ หรือกปท. ฉวยโอกาสทีเผลอ ถือฤกษ์ 8 ต.ค.ที่โหมกันว่าเป็นวันโลกาวินาศ
จะเกิดเปลี่ยนแปลงการ เมืองครั้งใหญ่
เคลื่อนขบวนออกจากที่ตั้งสวนลุมพินีมาปักหลักข้างรั้วทำเนียบ นอนรอล้มรัฐบาล
ทำเอาหน่วยข่าวฝ่ายความมั่นคงคาดการณ์ไม่ถึง ไม่นึกว่าม็อบจะมาไม้นี้
แต่ยังดีที่ถือว่าตั้งหลักได้เร็วกับการประกาศใช้พ.ร.บ.ความมั่นคงในพื้นที่ 3 เขต กทม. ดุสิต พระนคร ป้อมปราบฯ เป็นระยะเวลา 10 วันตั้งแต่ 9-18 ต.ค.
คุมสถานการณ์ไม่ให้บานปลาย
เพราะอยู่ในช่วงรัฐบาลต้องต้อนรับแขกบ้านแขกเมืองสำคัญระดับโลก นายหลี่ เค่อเฉียง นายกรัฐมนตรีจีน ที่เดินทางมาเยือนอย่างเป็นทางการ
ทั้งจากการข่าวรัฐบาลที่ได้รับมายังมีสัญญาณบ่งบอก กลุ่มมือที่ 3 เตรียมฉวยโอกาสเข้ามาปลุกปั่นสถานการณ์ขยายความรุนแรง
จึงเป็น 2 เหตุใหญ่เข้าเงื่อนไขความจำเป็น รัฐบาลต้องประกาศใช้พ.ร.บ.ความมั่นคงเป็นเครื่องมือตัดไฟตั้งแต่ต้นลม
ป้องกันไม่ให้สถานการณ์ไหลเข้าทางฝ่ายตรงข้าม
ซึ่งแผนรุกกลับฉับไวถือว่าได้ผลเกินคาด
หลังจากตำรวจนั่งล้อมวงจับเข่าเจรจาแกนนำม็อบ 3-4 รอบ
รอบสุดท้ายเป็นคิว พล.ต.อ.วรพงษ์ ชิวปรีชา รองผบ.ตร. กับ พล.ต.ท.คำรณวิทย์ ธูปกระจ่าง ผบช.น. เปิดกองบัญชาการตำรวจ นครบาลเชิญแกนนำผู้ชุมนุมเจรจากันแบบนุ่มนวล
กระทั่งฝ่ายม็อบยอมถอยออกจากพื้นที่ข้างทำเนียบรัฐบาล กลับเข้าไปอยู่ในสวน ลุมพินีตามเดิม
การถอยครั้งนี้ถูกวิจารณ์ว่า เกี่ยวข้องกับการทำผิดเงื่อนไขการประกันตัวของแกนนำ กปท.อย่างน้อย 3 คน ในคดีร่วมกับม็อบพันธมิตรฯ บุกยึดสนามบินเมื่อปี 2551
ถึงจะมีม็อบบางส่วนไม่ยอมกลับสวนลุมฯ ย้ายมารวมตัวชุมนุมกันใต้ทางด่วนแยกอุรุพงษ์
บริเวณเดียวกับที่พรรคประชาธิปัตย์ใช้เป็นจุดตั้งต้นม็อบเดินเท้าไปยังรัฐสภาต้านร่างพ.ร.บ.ปรองดอง เมื่อวันที่ 7 ส.ค.ที่ผ่านมา
กระทั่งเกิดเหตุมีคนโยนระเบิดเพลิงเข้าใส่ช่วงกลางดึก พร้อมทิ้งกระดาษเขียนข้อความโจมตีเป็นต้นเหตุทำให้รถติด ไล่ให้ไปชุมนุมที่อื่น
ก็เป็นอีกปมหนึ่งที่ตำรวจต้องสืบสวนว่าเป็นฝีมือกระทำของใคร
เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดเหตุเลวร้ายไปกว่านี้
แต่หากพูดถึงสถานการณ์ในภาพรวมต้องถือว่า ?รัฐบาลยิ่งลักษณ์?
ผ่านฤกษ์วันที่ 8 ต.ค.มาได้แบบชิลชิล
ภายใต้ข้อสรุปฝ่ายม็อบต้านรัฐบาลไม่ต่างจากฟืนเปียก จุดเท่าไหร่ก็ไม่ติด
สัญญาณด้านบวกของรัฐบาลก็ดังต่อเนื่อง
จากก่อนหน้านี้ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งยกคำร้องคัดค้านนายกรัฐมนตรีนำร่างแก้ไขรัฐ ธรรมนูญประเด็นที่มาของส.ว. ขึ้นทูลเกล้าฯ หลังผ่านวาระ 3
ล่าสุดยังมีมติยกคำร้องของส.ส.พรรคประชาธิปัตย์และกลุ่ม 40 ส.ว. ที่ยื่นคัดค้านการแก้ไขรัฐธรรมนูญดังกล่าว ตามมาตรา 154 (1)
โดยศาลฯ ยึดเอาบรรทัดฐานเดิมที่เคยวินิจฉัยไว้ในสมัยรัฐบาลประชาธิปัตย์ ว่ามาตรา 154 (1) ใช้ได้เฉพาะกฎหมายทั่วไป
ไม่มีผลครอบคลุมถึงการแก้ไขรัฐธรรมนูญ
อย่างไรก็ตามถึงจะฝ่ามาได้ 2 ด่านติดกัน
แต่เชื่อกันว่าด่านอันตรายที่สุดในเกมผลักดันการแก้ไขรัฐธรรมนูญ คือการที่ศาลรัฐธรรมนูญมีมติรับวินิจฉัยตีความมาตรา 68
ตามที่กลุ่มส.ส.ฝ่ายค้านและส.ว.กลุ่มขาประจำ
ยื่นร้องว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญอาจเข้าข่ายล้มล้างการปกครองตามระบอบประชาธิปไตย หรือเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศโดยมิชอบ
แยกเป็นกรณีร่างแก้ไขที่มาส.ว. 4 คำร้อง กรณีร่างแก้ไขมาตรา 68 กับ 237 อีก 6 คำร้อง
ถ้าหากศาลฯ วินิจฉัยว่าการแก้ไขขัดต่อมาตรา 68 ก็จะนำไปสู่โทษเว้นวรรคการเมือง 5 ปี และยุบพรรคของผู้เข้าชื่อเสนอแก้ไข
ตรงนี้เองที่เป็นจุดเดิมพันวัดใจ
ศาลฯ จะปล่อยให้รัฐบาลเดินหน้าแก้รัฐธรรมนูญได้สุดซอย หรือจะเบรกล้มคว่ำกันช่วงกลางซอย
ซึ่งจะก่อให้เกิดสถานการณ์ร้อนระอุอะไรตามมาอีกมากมาย
ขณะที่ฝ่ายรัฐบาลได้รับสัญญาณบวกต่อเนื่อง
เทียบกันไม่ได้กับสถาน การณ์ฝ่ายต้านที่ออกไปในทิศทางตรงกันข้าม
ความพยายามโหนกระแสฤกษ์ล้มรัฐบาล 8 ตุลาฯ ส่งคนไปเจรจาแกนนำ กปท. กระทั่งบรรลุข้อตกลงเคลื่อนพลออกจากสวนลุมฯ มาปักหลักริมทำเนียบ
โดยมีพรรคการเมืองพรรคหนึ่งรับปากเกณฑ์คนในเครือข่ายชุมชนทั่วกรุงมาเติม
เพื่อรอจังหวะสถานการณ์บางอย่าง
แต่สุดท้ายทำท่าว่าจะจุดไม่ติด ซ้ำรอยกรณีม็อบสวนยางภาคใต้ก่อนหน้า เนื่องจากสถานการณ์ที่จะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงทางการเมืองครั้งใหญ่
ยังไม่สุกงอมพอ
ที่สำคัญหัวขบวนฝ่ายต่อต้านอย่างพรรคประชาธิปัตย์เองยังต้องเผชิญวิกฤตการณ์?ขาลง?ต่อเนื่อง
การเดินหน้าแผนปฏิรูปพรรคแบบครึ่งๆ กลางๆ ทำให้สมาชิกระดับแกนนำบางคนหมดหวังกับอนาคตพรรค
อันเป็นที่มากระแสข่าวกลุ่มนักธุรกิจเอกชนและนักวิชาการต่อสายถึงทาบ ทามให้แยกตัวไปตั้งพรรคทางเลือกใหม่
ยังไม่นับปัจจัยคดี 99 ศพที่เหมือนมีดจ่อคอหอยนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรค และนายสุเทพ เทือกสุบรรณ แกนนำพรรคคนสำคัญ
ล่าสุดยังต้องจับตาไปยังคำให้สัมภาษณ์ของพล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ องคมนตรีและอดีตนายกฯ
บอกกับสื่อว่าพร้อมหันหน้าพูดคุยกับ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ ในฐานะนักเรียนเตรียมทหารรุ่นน้อง และในฐานะคนไทยด้วยกัน
จังหวะเดียวกับที่อัยการสูงสุดมีคำสั่งไม่ฟ้องพ.ต.ท.ทักษิณ ในข้อหาก่อการร้ายจากเหตุการณ์ม็อบเสื้อแดงปี 2553
ขณะเดียวกันก็เตรียมสั่งคดีที่นายอภิสิทธิ์ และนายสุเทพ ตกเป็นผู้ต้องหา สั่งการสลายการชุมนุมจนเป็นเหตุให้มีคนตาย 99 ศพ เจ็บอีกเกือบ 2 พัน
ชี้ชะตากันช่วงปลายเดือนต.ค.นี้
กล่าวกันว่าคดี 99 ศพคือจุดสำคัญอย่างยิ่งยวดในสถานการณ์การเมืองไทยในระยะใกล้ๆ นี้
จะกลายเป็น?ไพ่ตาย?ในการน็อกใครบางคนและบางพรรค
หรือที่มีนักวิเคราะห์บางคนมองว่าอาจเป็น?ไพ่ต่อรอง?ผลประโยชน์อำนาจ
เป็นอย่างนั้นหรือไม่ คำตอบอยู่อีกไม่ไกลจากนี้แน่นอน