ณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ขึ้นเดี่ยวไมโครโฟน ที่หอประชุมใหญ่ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในงาน 40 ปี 14 ตุลา 2516 โดยออกตัวว่ามาพูดแบบคนไม่ได้อยู่ในเหตุการณ์ แต่ทำหน้าที่รับไม้ต่อจากคนเดือนตุลา
(ขอขอบคุณคลิปจาก thinkbox007)
ทอล์กโชว์ ณัฐวุฒิ ใสเกื้อ :: งานรำลึก 40 ปี 14 ตุลา โดย คณะกรรมการ 14 ตุลาเพื่อประชาธิปไตยสมบูรณ์
เขากล่าวว่าผู้กุมอำนาจมาสิบกว่าปี ล้มลงจากการต่อสู้เมื่อสี่สิบปีก่อน และเมื่อสี่สิบปีผ่านไป คนเดือนตุลาก็ยังอยู่จำนวนมาก ขนาดที่ว่าจัดงานพร้อมกันไม่ได้ ต้องแยกกันจัดงานสองภาค เหตุที่คนเดือนตุลาเหลือมาก ก็เพราะเก่ง กล้าหาญ และ โชคดี ดีที่สีสิบปีก่อนมีแค่ถนอม ประภาส ซึ่งถูกโค่นล้มเพราะไม่เห็นหัวประชาชน แต่อภิสิทธิ์ สุเทพ เห็นหัวประชาชน ยิงหัวล้วนๆ
เขาแสดงความยินดีที่ได้มาพูดที่เวทีใหญ่ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งวรรคทองของธรรมศาสตร์ จาก'ศรีบูรพา' นั้นเป็นที่จดจำว่า “ฉันรักธรรมศาสตร์ เพราะธรรมศาสตร์สอนให้ฉันรักประชาชน” แต่เมื่อศรีบูรพาล่วงลับไปหลายสิบปี วรรคทองถูกท้าทาย จาก ‘ฉันรักธรรมศาสตร์เพราะธรรมศาสตร์สอนให้ฉันรักประชาชน’ มาเป็น ‘ฉันรักธรรมศาสตร์เพราะธรรมศาสตร์สอนให้ฉันรู้จักอั้ม เนโกะ’ เขากล่าวว่า ใครจะเห็นด้วยกับการเรียกร้องสิทธิในการแต่งตัวแของอั้ม เนโกะหรือไม่เขาไม่ได้ไปตัดสินในเรื่องนั้น
“แต่ที่ผมไม่เข้าใจคือทำไมอาจารย์ธรรมศาสตร์บางคนจึงเห็นการไม่ใส่ชุดนักศึกษา ของอั้ม เนโกะ เป็นเรื่องร้ายแรงกว่าการเรียกร้องนายกพระราชทานของอธิการบางคน ทำไมการแสดงออกองเด็กคนหนึ่งซึ่งแสดงออกอย่างเปิดเผย เป็นเรื่องร้ายแรงกว่าการที่นำธรรมศาสตร์ค้อมกายลงรับใช้เผด็จการของอดีตอธิการบางคน ผมไม่ต้องการคำตอบวันนี้เพราะผมเชื่อว่าเรื่องพวกนี้วันเวลามีคำตอบของมันเองได้”
ณัฐวุฒิกล่าวว่างานรำลึกในประเทศไทยหรือในประเทศไหนก็ตามที่จัดงานรำลึก ส่วนใหญ่เป็นผู้สูญเสียแต่เป็นผู้ชอบธรรม ไม่มีเหตุการณ์ที่เผด็จการที่ไหนรำลึกวันเข่นฆ่าประชาชน เช่นเดียวกับที่อภิสิทธิ์ และประชาธิปัตย์จะไม่จัดงานรำลึกเพราะเขารู้ว่าเขาไม่ชอบธรรม การจัดงานรำลึกคือการถ่ายทอดของประชาชน ถ่ายทอดรุ่นต่อรุ่น
การจัดงานรำลึกเช่นนี้คือการชำระประวัติศาสตร์ ทำให้วิญญาณของวีรชนยังคงสง่างามในการรับรู้และเป็นที่จดจำของประชาชน มันไม่สำคัญว่าเคยร่วมเหตุการณ์หรือไม่ แต่อยู่ที่ว่าเมื่อได้เข้าร่วมในงานรำลึกแล้วคิดอย่างไรกับเหตุการณ์เช่นนี้
“เด็กๆ อย่างผมได้รับแรงบันดาลใจจากพี่ๆ รุ่นใหญ่หลายๆ คน ให้มีแรงต่อสู้ในช่วงเริ่มต้น แต่ผมประหลาดใจจริงๆ ว่าสู้ไปสู้มา มาปี 2549 อีกคนหนึ่งไล่พลเอกสนธิ อีกคนเดินตามหลังพลเอกสนธิเข้าไปทำงานรับใช้คณะรัฐประหาร นี่คนเดือนตุลาทั้งนั้นนะครับ”
เขากล่าวว่าพลเอกถนอมประภาสคงจะสะดุ้งตื่นขึ้นมาเมื่อรู้ว่ามีคนเดือนตุลาไปเชียร์ให้มีการล้อมปราบประชาชนในปี 2553
“การแสดงออกในทางการเมืองมันต่างกรรมต่างวาระ ก็จริงอยู่แต่จุดยืนต้องชดเจนตรงไปตรงมา เรื่องการต้านรัฐประหาร ผมคิดว่ามันเป็นหน้าที่ เป็นหลักการ เป็นสิ่งที่จะต้องบรรจุไง้ลึกสุดของจิตวิญญาณของฝ่ายประชาธิปไตยว่าเราต้องต้านรัฐประหาร ทีนี้อีกฝ่ายบอกว่าเราต้องสนับสนุนรัฐประหาร นี่คือรัฐประหารโดยชอบธรรม นี่คือรัฐประหารที่เข้าเงื่อนไข ผมไม่มีทางเข้าใจ และผมก็เชื่อว่าใครก็ตามที่เคารพในเหตุผล ใครก็ตามที่เคารพในความจริง จะไม่มีทางเข้าใจในข้ออ้างและคำอธิบายแบบนี้ แต่นี่เกิดขึ้นแล้วเพราะนี้เป็นประเทศไทย ประเทศที่อะไรๆ ก็เกิดขึ้นได้ เป็นประเทศที่ต่างชาติเขาเฝ้ามองว่าอะไรที่หาดูยากๆ แปลกๆ ให้มาหาดูทีประเทศไทย เดี๋ยวเห็น”
เขากล่าวต่อไปคนไทยจำนวนไม่น้อยไม่เรียนรู้เลยจากคามรุนแรงและความสูญเสีย เงื่อนไขที่สุ่มเสี่ยงว่าจะทำให้เกิดความรุนแรงและความสูญเสียนั้นขับเคลื่อนตัวเองอยู่ตลอดเวลา ความอยุติธรรมเกิดขึ้นอย่างไม่เห็นแก่เหน็ดเหนื่อย เวลานี้เป็นความพยายามทำให้เนียนในการล้มรัฐบาลและประชาธิปไตย และราวีรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน
ประเทศไทยนับจากการเปลี่ยนแปลงการปกครองมีกองไฟสองกองที่ไม่เคยดับ คือกองไฟของระบอบประชาธิปไตย และกองไฟของระบอบเผด็จการทั่งห้ำหั่นกันอยู่ทุกวันนี้ ยังคงเป็นประวัติศาสตร์ปลายเปิดที่รอการจดจารบันทึก
“แล้วถามว่าเมื่อไหร่มันจะจบ ผมเองก็ไม่ทราบแต่ผมแน่ใจว่ามันจะจบโดยที่ชัยชนะเป็นของฝ่ายประชาธิปไตยอย่างแน่นอน ไม่มีอะไรตองสงสัย” อย่างไรก็ตามในฐานะปุถุชน บางทีการไปต่อว่าคนเดือนตุลาจุดยืนผิดเพี้ยนไปนั้นเป็นเรื่องที่ต้องทำความเข้าใจ เพราะเวลานั้นคนอายุ 19-20 ปีอาจจะไม่รูว่ามาเดินทำไม และเมื่อชีวิตคนเดินไปเรื่อยๆ อาจจะพบว่าสิ่งที่อยู่ข้างใน ทัศนะจิตวิญาณของตัวเองเป็นไปเพื่อรับใช้ฝ่ายใด
“ ใครจะยิ่งใหญ่อย่างไร ผมก็ขอเป็นคนตัวเล็กๆ ในขบวนนี้แต่ผมจะไม่เดินออกจากขบวนนี้เด็ดขาดเพราะผมชอบอยู่ฝ่ายชนะ”
เขากล่าวว่าคนเดือนตุลาอาจจะพูดยากๆ แปลกๆ ดูเป็นปรัชญา และวางท่าเคร่งขรึม แต่แท้ที่จริงแล้วในความเป็นปุถุชนนี้อะไรก็เกิดขึ้นได้ มีรักโลภโกรธหลงเช่นเดียวกับคนทั่วไป
“คนทีออกมาต่อสู้หลัง 19 กันยายน ก็คนธรรมดานะครับ อย่าคาดหวังจากมนุษย์เกินกว่าความเป็นมนุษย์ที่เขาเป็น แต่สิ่งที่ต้องรักษาไว้ด้วยกันคืออะไรก็ตามที่ไม่เป็นประชาธิปไตยต้องสู้ด้วยกัน และประนีประนอมไม่ได้แม้แต่น้อย คนเดือนตุลาก็คนนี่แหละ โชคดีหน่อยก็ตรงที่เป็นคนที่มีเดือนสังกัดชัดเจน ผมเองนอกจากไม่มีเดือนสังกัดแล้ว จึงตัดสินใจจะเป็นคนทุกเดือน เพราะการเป็นคนของเราคือต้องมีสิทธิเสรีภาพเท่าเทียมปลอดจากการกดขี่และความอยุติธรรม”
เขากล่าวทิ้งท้ายว่า ประวัติศาสตร์ทุกหน้าของประเทศไทยไม่มีใครเป็นเจ้าของ ไม่มีใครประกาศตัวตนเป็นผู้ยึดกุมศรัทธาและพลังของมวลมหาประชานไว้ และเหตุการณ์ทุกเหตุการณ์เกี่ยวข้องเชื่อมโยงกัน ที่ใดมีการกดขี่ที่นั่นมีการต่อสู้ ไม่ว่าจะเป็นเดือนไหน โดยไม่ต้องรู้ด้วยว่าจะไปจบเอาเดือนไหน
"สิ่งที่ผมอยากให้ท่านทราบก็คือว่ามีหลายคนเหลือเกินที่อยู่ในเหตุการณ์ 6 ตุลา และ 14 ตุลาและยังสู้เพื่อประชาธิปไตยจนถึงทุกวันนี้ สี่สิบปี และมันมีเหตุการณ์ที่ทั้งน่าเศร้าน่าเจ็บปวดแต่น่าคิด ที่มาเชื่อมยงกัน 14 ตุลา คุณจิระ บุญมากถูกยิงเสียชีวิตเพียงเพราะต้องการเอาผมส้มไปให้เจ้าหน้าที่ ด้วยความปรารถนาดี ว่าในผลส้มมีความบริสุทธิ์ใจของการต่อสู้ และต้องการให้บ้านเมืองมีความเป็นประชาธิปไตยอย่างที่เราตกลงกันแล้วตั้งแต่ 24 มิถุนายน 2475 แต่สิ่งที่ได้กลับมาคือห่ากระสุน และเสียชีวิตตรงนั้น สำหรับผู้เผด็จการ แม้ประชาชนยื่นผลส้มให้เขาก็ปฏิเสธและเข่นฆ่า"
แต่ในปี 2551 คณะเผด็จการได้ยื่นผมส้มให้กับชายคนหนึ่งชื่ออภิสิทธิ์ แล้วบอกว่านี่คือผลส้มที่หล่นลงมาจากการกระทำของฝ่ายเผด็จการทั้งหลาย จงรับเอาไปเถิด เรื่องมันน่าเศร้าตรงที่ว่า ตอนคุณจิระ บุญมาก ยื่นผลส้มให้เผด็จการ เขากลับเข่นฆ่า แต่พอเผด็จการยื่นผลส้มให้นายอภิสิทธิ์กลับรับอย่างหน้าชื่นตาบาน
“จริงๆ อันตรายที่มากอย่างหนึ่งของฝ่ายประชาธิปไตยคือความเป็นนักประชาธิปไตยจอมปลอมของคนบางกลุ่มบางคน ผมออกมาสู้ผมไม่เคยกลัวเผด็จการขอมปลอม เพราะมันไม่น่ากลัว แต่นักประชาธิปไตยจอมปลอมมันน่ากลัวมา มันบ่อนทำลายจิตวิญญาณและสิทธิเสรีภาพของประชาชน วันนี้ยังมีนักประชาธิปไตยจอมปลอมปะปนอยู่ไม่น้อย เราต้องจับมือกันให้แน่นแฟ้น และพร้อมเดินหน้าร่มกันไปจนกว่าจะถึงประชาธิปไตยที่แท้จริง อย่างทีผมเรียนว่าไม่ทราบว่ามันจะเกิดอะไรขึ้นหลังจากนี้ เขากล่าวว่าในการต่อสู้ของคนเสื้อแดงนั้น จะถูกหรือผิดเขาน้อมรับ แต่คิดว่าเขาต่อสู้ค่อนข้างตรงไปตรงมา ขณะที่ตอนนี้มีความสลับซับซ้อน ผู้เล่นหลากหลายแต่ผู้กำกับเป็นคนเดิมเป็นกลุ่มเดียวกัน”
“วิวัฒนาการของฝ่ายประชาธิปไตยมีตลอดเวลา เดือนตุลา 16, 19 ถูกปราบแล้วเข้าป่า ปี 53 ถูกล้อมปราบแล้วเข้ากรุงเทพฯมาผูกริบบิ้นที่ราชประสงค์ เวลานี้ประชาชนตื่นตัวขึ้นมาทั่วประเทศ ขณะที่ฝ่ายเผด็จการใช้วิธีการเดิม เอะอะก็ว่าไม่ประสงค์ดีต่อสถาบัน เป็นกองกำลังติดอาวุธ ใช้สื่อที่รับใช้บางเรื่องบางสำนัก ผมถามจริงๆ ฝ่ายเผด็จการทั้งหลาย ไม่มีครีเอทีฟไอเดียเลยเหรอครับ”
ณัฐวุฒิกล่าวต่อไปว่าเวลานี้สิ่งที่เป็นอาวุธของฝ่ายเผด็จการที่แหลมคมขณะนี้ คือองค์กรอิสระ ซึ่งจริงๆ แล้วการมีองค์กรอิสระนั้นดี หากเป็นธรรม แต่เมื่อไม่เป็นธรรมก็ต้องจัดการด้วยการบีบกล่องดวงใจ ดังนั้นองค์กรอิสระทั้งหลาย ต้องแสดงบัญชีทรัพย์สินอย่างเปิดเผยต่อประชาชน ต้องเข้าสู้กระบวนการตรวจสอบไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าส.ส. ส.ว. ไม่ยิ่งหย่อนไปกว่านักการเมืองที่ท่านตรวจสอบ
สุดท้ายเขากล่าวแสดงความชื่นชมคารวะศรัทธาต่อผู้อาวุโสในเหตุการณ์เดือนตุลามาทั้งชีวิต และเขาไม่เชื่อว่ามีใครเลือกเกิดเพื่อประชาธิปไตย แต่เชื่อว่ามีคนตั้งจะตายเพื่อประชาธิปไตย ซึ่งพวกเขาทำให้เห็นแล้วจากเหตุการณ์ 14 ตุลา 6 ตุลา พฤษภา 35 เมษา-พฤษภา 53