ชำแหละ"ไทยเข้มแข็ง"2020 ความแตกต่าง ยุค รบ.ปชป."กู้เงิน"2009

มติชน 27 กันยายน 2556



พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) เปิดตัว "อนาคตที่เลือกได้" ผ่าน "โครงการสร้างอนาคตไทยเข้มแข็ง 2020" ยืนยันใช้วงเงิน 2 ล้านล้านบาท ด้วยการลงทุนด้วยเงินในระบบงบประมาณปกติ

เป็นวงเงิน 2 ล้านล้านบาท เท่ากับการที่ "รัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร" กู้เงินผ่านร่าง พ.ร.บ.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งของประเทศ พ.ศ. .... หรือ พ.ร.บ.กู้เงิน 2 ล้านล้านบาท ซึ่งเป็นการกู้เงินด้วยกฎหมายพิเศษนอกระบบงบประมาณ

ใน "โครงการสร้างอนาคตไทยเข้มแข็ง 2020" ให้รายละเอียดการใช้วงเงิน 2 ล้านล้านบาท ใน 4 ด้าน ดังนี้

1.ด้านการคมนาคม 1,200,000 ล้านบาท ผ่านรถไฟความเร็วสูง 36,722 ล้านบาท รถไฟทางคู่ 507,933 ล้านบาท รถไฟฟ้ามหานคร 410,966 ล้านบาท ปรับปรุงระบบรถไฟ 19,303 ล้านบาท ถนนทั้งระบบและสถานีขนส่ง 198,423 ล้านบาท และท่าเรือ 26,623 ล้านบาท

2.ด้านการศึกษา 400,000 ล้านบาท ผ่านโรงเรียนวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยวิจัย 150,000 บาท อาชีวะสร้างชาติ 50,000 ล้านบาท ครูพันธุ์ใหม่ พัฒนาคุณภาพครูและ Excellence Centre 110,000 ล้านบาท ปรับปรุงอุปกรณ์ และสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน 90,000 ล้านบาท

3.ด้านสาธารณสุข 200,000 ล้านบาท ผ่านการพัฒนาโรงพยาบาล 12,000 แห่ง 100,000 ล้านบาท และการพัฒนาบุคลากรและสถาบันการศึกษาด้านสาธารณสุข 100,000 ล้านบาท

4.ด้านการชลประทานเพื่อการเกษตร 200,000 ล้านบาท ผ่านระบบชลประทาน 75 ล้านไร่ ทั่วประเทศ

ไม่เพียง "ไทยเข้มแข็ง 2020" จะยืนยันไม่ต้องกู้เงิน เพราะเป็นการลงทุนในระบบงบประมาณปกติ จึงมีความโปร่งใส ตรวจสอบได้ พัฒนาระบบคมนาคม และโลจิสติกส์

พร้อมกันนี้ยังพัฒนาคนพัฒนาชาติ พัฒนาเรื่องน้ำ เพิ่มมูลค่าทางการเกษตร เป็นเงินวิจัยสร้างอนาคตชาติ ทำให้เงินถึงมือคนทุกกลุ่ม

หากย้อนไปเมื่อครั้งที่ "รัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ" บริหารราชการแผ่นดิน ได้เสนอร่าง พ.ร.ก.กำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อฟื้นฟูและเสริมสร้างความมั่นคงทางเศรษฐกิจหรือ พ.ร.ก.ไทยเข้มแข็ง พ.ศ.2552 และร่าง พ.ร.บ.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจ แต่ท้ายที่สุดมีการถอนร่าง พ.ร.บ.นี้ออกจากสภาผู้แทนราษฎร

โดยที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 6 พฤษภาคม 2552 ได้ลงมติอนุมัติหลักการร่าง พ.ร.ก.และร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าว ตามที่กระทรวงการคลังเสนอ

กระทั่งเมื่อวันที่ 13 พฤษภาคม 2552 พ.ร.ก.ไทยเข้มแข็ง พ.ศ.2552 มีผลบังคับใช้ บัญญัติไว้ในมาตรา 3 อำนาจกู้เงินในนามรัฐบาลตาม พ.ร.ก.นี้ให้มีมูลค่ารวมกันไม่เกิน 4 แสนล้านบาท และให้กระทำได้ภายในกำหนดเวลาไม่เกินวันที่ 31 ธันวาคม 2553

ในมาตรา 4 ยังบัญญัติว่า "เงินที่ได้จากการกู้ตามมาตรา 3 ให้นำไปใช้จ่ายตามวัตถุประสงค์ในการกู้โดยไม่ต้องนำส่งคลังตามกฎหมายว่าด้วยวิธีการงบประมาณและกฎหมายว่าด้วยเงินคงคลัง เว้นแต่คณะรัฐมนตรีจะมีมติให้สมทบเป็นเงินคงคลัง"

จะเห็นได้ว่า ในสมัยรัฐบาล ปชป. มีการผลักดัน พ.ร.ก.ไทยเข้มแข็ง 2552 หรือ 2009 ผ่านการกู้เงินโดยไม่ต้องนำส่งคลัง

ในขณะที่ "โครงการไทยเข้มแข็ง 2020" ซึ่ง ปชป. ประกาศสู้กับ "โครงการสร้างอนาคตประเทศ 2020" ของ รัฐบาลเพื่อไทย (พท.) ยืนยันอย่างชัดเจนจะใช้วิธีการผ่าน "งบประมาณปกติ"

เป็นความต่างของ "ไทยเข้มแข็ง 2009" และ "ไทยเข้มแข็ง 2020"

เมื่อ "ไทยเข้มแข็ง 2009" ให้กู้เงิน 4 แสนล้านบาท ผ่านมาตรา 184 ของรัฐธรรมนูญเพราะเห็นว่าเป็นกรณีฉุกเฉินจำเป็นเร่งด่วน

เมื่อ "ไทยเข้มแข็ง 2020" ให้ตั้งวงเงิน 2 ล้านล้านบาท ผ่านการจ่ายเงินแผ่นดินตามกฎหมายว่าด้วยงบประมาณรายจ่าย กฎหมายว่าด้วยวิธีการงบประมาณ กฎหมายเกี่ยวด้วยการโอนงบประมาณหรือกฎหมายว่าด้วยเงินคงคลัง เพราะเห็นว่าสามารถใช้งบประมาณรายจ่ายประจำปีกระทำได้

หากพิจารณาตามหนังสือ ด่วนที่สุด ที่ กค 0900/ล 384 เมื่อวันที่ 6 พฤษภาคม 2552 ซึ่งลงนามเสนอโดยนายกรณ์ จาติกวณิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง และนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรีได้ลงนามอนุมัติร่าง พ.ร.ก.ไทยเข้มแข็ง พ.ศ.2552

ให้เหตุผลถึงความจำเป็นในการเสนอกฎหมายกู้เงิน เพราะรัฐบาลได้กำหนดแนวทางในการฟื้นฟูเศรษฐกิจระยะที่ 2 ขึ้น หรือเอสพี 2 โดยเน้นการลงทุนในโครงการที่สำคัญและจำเป็นต่างๆ ในระหว่างปีงบประมาณ พ.ศ.2552-2555 คิดเป็นวงเงินประมาณ 1.56 ล้านล้านบาท เพื่อเพิ่มแรงกระตุ้นให้กับระบบเศรษฐกิจ ก่อให้เกิดการสร้างงานและสร้างรายได้ให้กับประชาชน เพิ่มการกระจายการลงทุนด้านบริการสาธารณะขั้นพื้นฐานสู่ชนบท ซึ่งจะเป็นการบรรเทาปัญหาการว่างงาน

นอกจากนี้ การออก พ.ร.ก.ไทยเข้มแข็ง ในนาม "ครม." ยังระบุไว้ในหนังสือด่วนที่สุดดังกล่าว ว่าเงินที่ได้จากการกู้ให้นำไปใช้จ่ายตามวัตถุประสงค์ในการกู้ โดยไม่ต้องนำส่งคลังเว้นแต่ ครม.จะมีมติสมทบให้เป็นเงินคงคลัง

การที่ ปชป.เสนอโครงการสร้างอนาคตไทยเข้มแข็ง 2020 ด้วยการจัดสรรวงเงินในโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคม 1.2 ล้านล้านบาท โดยไม่ต้องมีการกู้เงินหรือเฉลี่ย 7 ปี ใช้วงเงินต่อปี ปีละ 1.7 แสนล้านบาท ซึ่งเป็นการลงทุนตามงบประมาณปกติ จะสามารถลงทุนและได้รถไฟรางคู่ ระบบโลจิสติกส์ครอบคลุมทั้งประเทศได้หรือไม่

เพราะขณะที่รัฐบาลเสนอร่างกฎหมายเข้าสภาผู้แทนราษฎร เพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมต้องใช้เงินนอกงบประมาณ 2 ล้านล้านบาท ในภาวะที่ค่าครองชีพ และค่าแรงสูงขึ้น

ทำให้ นายพิชิต ชื่นบาน ส.ส.บัญชีรายชื่อ พท. ในฐานะมือกฎหมาย พท. ตั้งข้อสังเกตถึงเมื่อครั้งที่รัฐบาลนายอภิสิทธิ์เคยเสนอร่าง พ.ร.ก.ไทยเข้มแข็ง พ.ศ.2552 ซึ่งขัดแย้งกับการที่ ปชป.เสนอโครงการไทยเข้มแข็ง 2020 ที่ไม่ผ่านการกู้เงินแต่ใช้วิธีการงบประมาณปกติ

"ผมขอสรุปใน 2 ประเด็น ว่า 1.ขอจับผิดเรื่องตัวเลขค่าใช้จ่ายเมื่อครั้งกู้เงินผ่านโครงการไทยเข้มแข็ง 2552 ใน 3 ปีงบประมาณที่จะใช้เงิน 1.56 ล้านล้านบาท แต่ปีนี้ของแพง ค่าแรงแพง จึงเป็นไปไม่ได้ที่จะเสนอในวงเงิน 1.2 ล้านล้านบาท เพื่อพัฒนาด้านคมนาคม และ 2.ผมจะชี้ให้เห็นว่าสมัยรัฐบาล ปชป.ไม่ตระหนักจะเงินในงบประมาณปกติเลย" นายพิชิตกล่าว

แม้ฝ่ายกฎหมาย พท. ยืนยันว่าร่าง พ.ร.บ.กู้เงิน 2 ล้านล้านบาท ไม่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา169 แต่รัฐบาลนายอภิสิทธิ์ได้เสนอ พ.ร.ก.กู้เงิน หรือไทยเข้มแข็ง วงเงิน 4 แสนล้านบาท มีสาระสำคัญว่าไม่ต้องนำส่งคลังไม่ถือเป็นเงินแผ่นดิน ต้องเว้นไว้ตามมาตรา 169

ทำให้ "พิชิต" ตั้งคำถามไปยัง "ปชป." ว่าเหตุใดเมื่อครั้งเสนอ "ไทยเข้มแข็ง 2009" ไม่เสนอให้ใช้จ่ายเงินในระบบงบประมาณปกติ เหมือนที่เสนอ "ไทยเข้มแข็ง 2020" ในขณะนี้!