วิเคราะห์พันธมิตรฯ สลายตัว

ข่าวสด 26 สิงหาคม 2556




รายงานพิเศษ

การแถลงยุติบทบาทของแกนนำ พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย (พธม.) นำมาซึ่งเสียงวิพากษ์วิจารณ์หลากหลาย นักวิชาการ แกนนำพรรคเพื่อไทย และแกนนำแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) คิดเห็นอย่างไร ?


สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ 
คณะอักษรศาสตร์ จุฬาฯ

พันธมิตรฯ คงยุติบทบาทในฐานะเป็นแกนนำองค์กรมากกว่า เห็นด้วยกับคำแถลงของนายสมศักดิ์ โกศัยสุข หนึ่งในแกนนำ ที่บอกว่าเพื่อให้แกนนำมีอิสระในการเคลื่อนไหว ไม่ผูกพันองค์กร 

อีกทั้งคงประเมินแล้วว่าการเคลื่อนไหวลักษณะเดิมของ พันธมิตรฯ คงไปไม่ได้แล้ว การจะชุมนุมยืดเยื้อโดยมีคนเข้าร่วมเป็นจำนวนมากคงเกิดขึ้นไม่ได้อีก จึงไม่มีประโยชน์อีกต่อไปในการรวมกันเป็นองค์กรพันธมิตรฯ เป็นความจำเป็นที่ต้องสลาย

แต่เชื่อว่าแม้องค์กรพันธมิตรฯ จะยุติไปแล้ว แต่คงไม่หยุดเคลื่อนไหว เพราะแกนนำแต่ละคนมีช่องทาง มีองค์กรของตัวเองทั้งนั้น จึงสรุปได้ว่าพันธมิตรฯ ไม่ได้หยุด ยังไม่ได้หมดพลังโดยสิ้นเชิง เพียงแต่ถึงเวลาที่ต้องเปลี่ยนแปลงบทบาท 

ส่วนที่มองว่าสาเหตุมาจากขัดแย้งกับพรรคประชาธิปัตย์ เป็นข้ออ้างมากกว่า พวกเขาไม่ได้เพิ่งขัดแย้งกันแต่มีปัญหากันมานานแล้ว พันธมิตรฯ เคยชุมนุมคัดค้านรัฐบาลพรรคประชา ธิปัตย์มาแล้ว ตั้งแต่ม.ค. 2554 จนถึงการเลือกตั้ง 3 ก.ค. 2554 พันธมิตรฯ รณรงค์โหวต NO 

ความขัดแย้งกับพรรคประชาธิปัตย์ทำให้พวกเขาแตกแยกกันเองภายในด้วย คนที่เคยอยู่กับพันธมิตรฯ ก็ย้ายไปอยู่กับพรรคประชาธิปัตย์ เป็นความขัดแย้งที่ร้าวลึกกันมานาน ความขัดแย้งของสองกลุ่มจึงไม่ใช่ประเด็นในขณะนี้แต่ถูกนำมาใช้เป็นข้ออ้าง

และการที่พันธมิตรฯ ประกาศยุติบทบาทไม่ได้หมายความว่าจะช่วยทำให้สถานการณ์ทางการเมืองของประเทศดีขึ้นหรือเลวลง ระยะหลังการต่อต้านกฎหมายต่างๆ ที่อยู่ในการพิจารณาของสภา เช่น ร่างกฎหมายนิรโทษกรรม พันธมิตรฯ แม้จะคัดค้านแต่ก็ไม่เคยร่วมด้วย 

อีกทั้งลักษณะของคนในสังคมแบ่งเป็น 2 ฝ่ายนานแล้ว ฝ่ายที่ไม่ชอบพรรคเพื่อไทย ไม่ชอบพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ก็ยังไม่ชอบเหมือนเดิม ฝ่ายที่ไม่ชอบพรรคประชาธิปัตย์ ก็เช่นกัน ไม่มีอะไรมาเปลี่ยนความคิดได้ 

การไม่มีพันธมิตรฯ แล้ว สถานการณ์ต่างๆ ของบ้านเมืองจึงยังคงเดิม ไม่ได้ทำให้คนที่ไม่ชอบพรรคเพื่อไทยกลับมารักมาชอบ จึงไม่มีอะไรเปลี่ยนเป็นบวกหรือลบ

อย่างไรก็ตาม หากพันธมิตรฯ จะกลับมารวมตัวกันอีกครั้งก็มีโอกาสเป็นไปได้ แต่ไม่ใช่ในนามพันธมิตรฯ คงเป็นรูปแบบอื่น

ประเด็นที่จะทำให้รวมตัวกันได้ต้องเป็นประเด็นร่วม แน่นอนว่าคงหนีไม่พ้นประเด็นที่เกี่ยวข้องกับพ.ต.ท.ทักษิณ อาทิ การนิรโทษกรรม หรือการคืนทรัพย์สิน



จาตุรนต์ ฉายแสง 
รมว.ศึกษาธิการ
กรรมการยุทธศาสตร์ พรรคเพื่อไทย

เป็นเรื่องน่าสนใจอย่างมากเพราะการเคลื่อนไหวในอดีตของพันธมิตรฯ มีผลต่อการเมืองไทยอย่างมาก แม้การเปลี่ยนแปลงบางครั้ง พันธมิตรฯจะไม่ได้เป็นตัวชี้ขาด แต่การเปลี่ยนแปลงนั้นๆ ก็ต้องอาศัยพันธมิตรฯ เป็นตัวสร้างเงื่อนไข

ก่อนหน้านี้พันธมิตรฯ มีทิศทางการเคลื่อนไหวถ่วงรั้งการพัฒนาประชาธิปไตย ดึงประเทศให้ถอยหลังกลับไปสู่การไม่เป็นประชาธิป ไตย ซึ่งเคยทำได้ผลมาแล้ว 

มาวันนี้ประกาศยุติบทบาท จึงน่าสนใจว่าอย่างน้อยพลังฝ่ายประชาธิปไตยคงจะขับเคลื่อนไปข้างหน้าได้มากขึ้น สะดวกขึ้น 

ขณะเดียวกัน ก็คงมองในลักษณะประมาทหรือดูเบาไม่ได้ เพราะพลังส่วนอื่นๆ ที่คอยขัดขวางการพัฒนาประชาธิปไตยยังคงอยู่ และแกนนำบางคนก็อาจไปร่วมกับองค์กรอื่นๆ เคลื่อนไหวได้

สาเหตุที่ยุติบทบาท หากมองในแง่ความคาดหวังต่อผลสำเร็จเป็นไปได้ว่าพันธมิตรฯ พบทางตัน เพราะไม่มีหลักประกันในการทำงานให้ลุล่วง 

ปัญหาหนึ่งน่าจะเกิดจากอุดมการณ์และเนื้อหาที่เสนอ ไม่สอด คล้องกับความต้องการของคนส่วนใหญ่ในสังคม 

และอาจเคลื่อนไหวมานานแล้วเจอแต่อุปสรรค หรืออยู่ในสภาพที่มีผู้สนับสนุนน้อยลง หรือเป็นปัญหาภายใน 

การประกาศยุติบทบาทของพันธมิตรฯ คงไม่ได้ทำให้การเมืองไทยเปลี่ยนแปลงไปมาก เพราะพลังส่วนที่เหลือทั้งจากฝ่ายที่ต้องการพัฒนาประชาธิปไตย กับฝ่ายที่ต้องการฉุดรั้งการพัฒนา จะเป็นตัวแปลในการเปลี่ยนแปลงการเมืองไทยมากกว่า



จตุพร พรหมพันธุ์ 
แกนนำ นปช.

กลุ่มพันธมิตรฯ เป็นส่วนหนึ่งของความขัดแย้งทางการเมือง เมื่อประกาศยุติบทบาทสังคมอาจ มองว่าจะช่วยให้ความขัดแย้งลดลงได้ แต่ความจริงหากย้อนไปในอดีต พันธมิตรฯ เคยประกาศยุติบทบาทแล้วครั้งหนึ่งเมื่อวันที่ 20 ก.ย. 2549 หลังการรัฐประหารเกิดขึ้นเพียง 1 วัน 

ครั้งนี้จึงเป็นครั้งที่ 2 ที่พันธมิตรฯ ประกาศยุติบทบาท แต่เป็นการประกาศยุติบทบาทภายใต้บริบทแตกต่างกัน 

สิ่งที่คนเสื้อแดงพูดมาตลอด คือเรื่องกระบวนการยุติธรรมที่เท่าเทียมกัน วันนี้แกนนำพันธมิตรฯ ติดเงื่อนไขการประกันตัว ซึ่งเป็นผลพวงมาจากการปฏิบัติของรัฐบาลที่พวกเขาสนับสนุน ทำให้เคลื่อน ไหวได้ไม่สะดวก

พันธมิตรฯ รู้ดีว่าลำพังพวกเขาไม่สามารถทำอะไรได้ทุกอย่าง และเกิดคำถามว่าถ้าจะสู้ต่อในขณะนี้เป็นการสู้เพื่ออะไร เพราะพันธมิตรฯ ได้รับบทเรียนจากพรรคประชาธิปัตย์มาแล้ว ทั้งขณะที่เคยร่วมสู้และหลังจากร่วมต่อสู้ 

พรรคประชาธิปัตย์ได้เป็นรัฐบาล ส่วนพันธมิตรฯ เป็นผู้ก่อการร้าย ทำให้พันธมิตรฯ ออกมาขับไล่รัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์เองจนเกิดเป็นความขัดแย้งต่อเนื่อง 

ประกอบกับข้อเสนอล่าสุดของพันธมิตรฯ ที่ให้ส.ส.ประชาธิปัตย์ ลาออกแล้วมาเคลื่อนไหวร่วมกัน แต่ไม่ได้รับการตอบสนอง เป็นสิ่งที่ตอกย้ำได้ดีว่าพรรคประชาธิปัตย์ไม่ได้มองว่าพันธมิตรฯ เป็นเพื่อน 

พันธมิตรฯ เคยฝากมวลชนไว้กับพรรคประชาธิปัตย์ แต่เมื่อขัดแย้งกันเห็นได้ชัดว่ามวลชนของ พันธมิตรฯ หายตามไปด้วย อนาคตพรรคประชาธิปัตย์จะสนองตอบความต้องการของพันธมิตรฯ หรือไม่ พันธมิตรฯ เองน่าจะรู้จักพรรคประชาธิปัตย์ดีที่สุด 

อย่างไรก็ตาม การยุติบทบาทของพันธมิตรฯ ไม่ได้หมายความว่าบรรดาแกนนำ และคนของ พันธมิตรฯ จะยุติบทบาทตามไปด้วย เพียงแค่ต้องการยุติบทบาทองค์กร

เชื่อแน่นอนว่าแกนนำยังจะเคลื่อนไหวทางการเมืองอยู่โดยใช้สิทธิ์ส่วนตัว ไม่ผูกติดกับองค์กร สามารถขับเคลื่อนตามแนวทางที่แต่ละคนเลือกว่าจะไปร่วมกับกลุ่มใดก็ได้สะดวกขึ้น 

การยุติบทบาทของพันธมิตรฯ ไม่ได้มีอะไรซับซ้อนไปกว่านี้ แค่ต้องการพักบทบาทความเป็นองค์กรลง เชื่อว่าวันข้างหน้าพันธมิตรฯ จะกลับมาอีกครั้งซึ่งก็แล้วแต่สถานการณ์ 

ในฐานะบุคคลหนึ่งที่อยู่ในแวดวงเคลื่อนไหวทางการเมือง เคารพการตัดสินใจของพันธมิตรฯ เพราะการเลือกเดินเส้นทางนี้เป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการประชาธิปไตยที่อาจต้องการพักก่อน

หรือต้องการเคลื่อนไหวโดยลำพัง ปลีกวิเวก ทุกสิ่งล้วนเกิดขึ้นได้เสมอ