"วสันต์" ทิ้งศาลรธน. กดปุ่มบอมบ์ใต้เก้าอี้ใคร

มติชน 18 กรกฎาคม 2556


   
         บนผิวหน้าของการลาออกจากประธานศาลรัฐธรรมนูญ และออกจากตุลาการศาลของ วสันต์ สร้อยพิสุทธิ์ อาจดูเหมือนไม่มีอะไร 

        แต่ที่จริงมี"ความนัย" ของการชิงเหลี่ยม เฉือนคมในปมปัญหากฏหมายกันพอสมควร 
        วสันต์ขึ้นเป็นประธานศาลฯเมื่อปี 2554 หลังจากเกิดแรงกดดันให้"ชัช ชลวร" ลาออก ตามข้อตกลงภายใน     

         ประกอบกับมีเรื่อง"คลิป"  บันทึกการหารือภายในและปัญหาสารพัดหลุดออกมาเป็นข่าวอยู่ในห้วงปลายปี 2553 และต้นปี 2554 รุมเร้าจนแทบนั่งไม่ติด

         สุดท้าย ชัช "แถลงขอสลับตำแหน่ง" ต่อที่ประชุมศาล เมื่อ 10 ส.ค.2554 แต่เรื่องไม่จบแค่นั้น
          
 
         การพ้นจากประธานของ"ชัช" แล้วกลับมานั่ง เป็น ตุลาการธรรมดาๆ คนหนึ่ง ทำให้มีตั้งคำถามเรื่องข้อกฏหมายตามมา

         รัฐธรรมนูญ 2550  บัญญัติเกี่ยวกับศาลรัฐธรรมนูญไว้ตั้่งแต่มาตรา 204 เป็นต้นไป  กำหนดว่า พระมหากษัตริย์ ทรงแต่งตั้ง ประธานศาล 1 คน และตุลาการอีก 8 คน ประกอบกันเป็นศาลรัฐธรรมนูญ
        การพ้นตำแหน่งของประธานศาล เป็นไปตามมาตรา 209 

        ปมที่ถกเถียงกันคือ การที่ประธานศาลฯพ้นตำแหน่งไป ถือว่า พ้นจากศาล ขาดจากศาลไปหรือไม่
        หรือว่าพ้นจากตำแหน่งประธานศาล แล้วยังเป็น"ตุลาการ"อยู่ 

        อย่างกรณีที่"ชัช" สลับให้"วสันต์"มาเป็นแทนนั้น ถือเป็นการลาออกหรือไม่ และทำให้" ชัช"ต้องพ้นจากศาลไปเลย หรือว่ายังเหลือสถานะเป็นตุลาการอยู่

        ในการทำเรื่องขอโปรดเกล้าฯให้ชัชพ้นตำแหน่ง และแต่งตั้งวสันต์เป็นประธานศาลเมื่อปี 2554 มีการหารือและถกเถียงถึงสถานะของประธานศาลที่ลาออกกันพอสมควร

         และยังมีคำถามจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องด้วยว่า  การสลับตำแหน่งนั้น ทำได้หรือ และมีกฏหมายเขียนรองรับการกระทำนี้หรือไม่   

         ขณะที่ทางศาลรัฐธรรมนูญยืนยันว่า การสลับตำแหน่งทำได้ และตำแหน่งประธานฯกับตุลาการ เป็นตำแหน่งซ้อนทับกันอยู่ 

          อย่างไรก็ตาม ในการทำเรื่องขอโปรดเกล้าแต่งตั้งวสันต์เป็นประธานศาล  ก็มีการขอให้แต่งตั้งชัช เป็น"ตุลาการ"ด้วย เพื่อความชัดเจน 

         แต่คำสั่งแต่งตั้ง ก็มีเพียงแต่งตั้ง วสันต์ เป็นประธานศาลฯ 
         ในที่สุด ก็มีผู้ร้องเรียนในปัญหานี้ขึ้นมาจริงๆ 
 
 
        หนึ่งในหน่วยงานที่รับเรื่องนี้เอาไว้ รวมถึงดีเอสไอด้วย

          และได้ทำเรื่องสอบถามถึงประธานวุฒิสภา ซึ่งได้ให้เลขาธิการวุฒิสภา ตอบเมื่อเดือนพ.ค. 2556 ที่ผ่านมา ระบุว่า รัฐธรรมนูญไม่ได้ให้อำนาจประธานวุฒิสภาวินิจฉัยในเรื่องนี้แต่อย่างใด

        การลาออกแบบ"ลาขาด" และทิ้งหมดทุกสถานะของ วสันต์ แทนที่จะนั่งเป็นตุลาการต่อไป แบบ"ชัช" ทำให้ผู้ที่ติดตามปมปัญหานี้ ต้องฉุกใจคิดขึ้นมาอีกรอบ

         การพ้นจากศาลของวสันต์ จึงเท่ากับ"กดปุ่ม"ระเบิดเวลา ทิ้งการบ้านไว้ให้คนที่เหลืออยู่ได้เก็บกู้กันต่อไป