ประชาไท 5 กรกฎาคม 2556
Fri, 2013-07-05 03:15
ไต่สวนการตาย 6 ศพวัดปทุมฯ นัดสุดท้าย 'เสื้อแดงคนสุดท้าย" เบิกความทหารเข้าราชประสงค์หลังแกนนำยุติการชุมนุม 2 ชม. ตำรวจ เบิกผลการรวบรวมพยาน 111 ปาก รับฟังได้ว่าการเสียชีวิตเกิดขึ้นจากทหารที่กำลังปฏิบัติหน้าที่ ศาลนัดฟังคำสั่ง 6 ส.ค.นี้
4 ก.ค.56 ที่ห้องพิจารณาคดีที่ 402 ศาลอาญากรุงเทพใต้ ศาลไต่สวนคำร้องชันสูตรการเสียชีวิต ในคดีที่พนักงานอัยการฝ่ายคดีอาญากรุงเทพใต้ 4 ยื่นคำร้องขอให้ศาลไต่สวนชันสูตรการเสียชีวิตของ นายสุวัน ศรีรักษา อายุ 30 ปี อาชีพเกษตรกร ผู้เสียชีวิตที่ 1, นายอัฐชัย ชุมจันทร์ อายุ 28 ปี บัณฑิตคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง ผู้เสียชีวิตที่ 2, นายมงคล เข็มทอง อายุ 36 ปี เจ้าหน้าที่อาสามูลนิธิป่อเต็กตึ๊ง ผู้เสียชีวิตที่ 3, นายรพ สุขสถิต อายุ 66 ปี อาชีพพนักงานขับรถรับจ้างในสนามบิน ผู้เสียชีวิตที่ 4, น.ส.กมนเกด ฮัคอาด อายุ 25 ปี อาชีพพยาบาลอาสา ผู้เสียชีวิตที่ 5, และนายอัครเดช ขันแก้ว อาชีพรับจ้าง ผู้เสียชีวิตที่ 6 โดยทั้ง 6 ศพ ถูกยิงเสียชีวิตภายในวัดปทุมวนาราม เมื่อวันที่ 19 พ.ค.53 ในเหตุการณ์สลายการชุมนุมของแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ หรือ นปช. สมัยนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เป็นนายกรัฐมนตรี
โดยมีพยานเข้าเบิกความวันนี้ประกอบด้วย ร.ต.ท.ภานุพันธ์ ประเสริฐ รองสารวัตรฝ่ายแต่งตั้ง กองทะเบียน สำนักงานตำรวจแห่งชาติ พนักงานสอบสวน สน.ปทุมวัน ตั้งแต่ปลายปี 52-54 พ.ต.ท.ธัชชัย บุญเพ็ง พนักงานสอบสวนของ สน.ปทุมวัน ในช่วงเกิดเหตุ และได้ทำการชันสูตรพลิกศพ และ น.ส.ผุสดี งามขำ ซึ่งเป็นผู้ชุมนุม นปช. หรือเสื้อแดงคนสุดท้ายที่อยู่บริเวณสี่แยกราชประสงค์ในวันที่ 19 พ.ค.53
ร.ต.ท.ภานุพันธ์ ประเสริฐ เบิกความว่า ในวันที่ 20 พ.ค 53 เวลา 11.30 น. ขณะปฏิบัติหน้าที่เป็นร้อยเวรสอบสวน ได้รับแจ้งเหตุจากเจ้าหน้าที่โรงพักว่ามีผู้เสียชีวิต 6 ราย ในวัดปทุมวนาราม เขากับผู้บังคับบัญชา พ.ต.ท. ธัชชัย บุญเพ็ง ได้เดินทางไปปฏิบัติหน้าที่ โดยไปถึงวัดเวลา 12.30 น. พบทั้ง 6 ศพ อยู่บริเวณศาลาพระราชศรัทธาธรรมแล้วได้แจ้งให้เจ้าหน้าที่ชันสูตรมาทำการชันสูตรศพแล้วจึงได้เคลื่อนย้ายศพไปไว้ที่สถาบันนิติเวช โรงพยาบาลตำรวจเพื่อทำการชันสูตรเพิ่มเติม โดยในการชันสูตรศพที่โรงพยาบาลตำรวจได้มีเจ้าพนักงาน 4 ฝ่าย คือ อัยการ แพทย์ชันสูตร เจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครอง และเขาซึ่งเป็นพนักงานสอบสวนร่วมชันสูตรพลิกศพและเขาได้ทำรายงานการชันสูตรรายงานแก่ พ.ต.ท. ธัชชัย
ทนายญาติผู้ตาย ถามว่าก่อนมีการเคลื่อนย้ายเจ้าหน้าที่ชันสูตรได้มีการเก็บตัวอย่างเขม่าดินปืนหรือไม่ ร.ต.ท.ภานุพันธ์ ตอบว่าไมได้มีการเก็บตัวอย่าง
พ.ต.ท.ธัชชัย บุญเพ็ง เบิกความว่า วันที่ 20 พ.ค. 53 เวลา 11.30 น. ได้รับแจ้งเหตุว่ามีผู้เสียชีวิต 6 ราย ภายในวัดปทุมวนาราม จึงได้รายงานให้ผู้บังคับบัญชาทราบ ผู้บังคับบัญชาได้กำชับให้ทำการชันสูตรพลิกศพ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาคดีอาญามาตรา 150 เนื่องจากผู้เสียชีวิตในพื้นที่การปฏิบัติการกระชับพื้นที่ของทหาร ภายหลังได้ทำเรื่องร้องทุกข์คดีอาญา โดยพยานเป็นผู้กล่าวหาคดีข้อหาฆ่าผู้อื่น เขาได้รวบรวมหลักฐาน สอบสวนพยานเบื้องต้นแล้วส่งต่อให้กรมสอบสวนคดีพิเศษ ตามมติคณะกรรมการคดีพิเศษ ต่อมาทางดีเอสไอได้ส่งสำนวนกลับมาที่กองบัญชาการตำรวจนครบาล และได้ส่งต่อให้พนักงานสอบสวนในท้องที่ดำเนินการต่อ ทางกองบัญชาการตำรวจนครบาลรวบรวบข้อมูลแล้วยังไม่สามารถสรุปได้ว่าเป็นการเสียชีวิตที่เกิดจากการปฏิบัตงานของเจ้าหน้าที่ทหารจึงได้ส่งสำนวนกลับไปให้ดีเอสไออีกครั้ง
19 ก.ย.54 ดีเอสไอส่งกลับมาที่กองบัญชาการตำรวจนครบาลและยืนยันว่าการเสียชีวิตเกิดจากการปฏิบัติการของทหารที่อ้างว่าได้รับคำสั่งมาจาก ศอฉ. ให้มาปฏิบัติในที่เกิดเหตุและมีผู้เสียชีวิตเกิดขึ้น โดยดีเอสไออ้างจากการสอบสวนพยานในที่เกิดเหตุ ที่เป็นเจ้าหน้าที่ทหาร จากนั้นทางกองบัญชาการตำรวจนครบาลได้มีคำสั่งแต่งตั้งพยานกับพวกเป็นพนักงานสืบสวนสอบสวนในคดีนี้
พ.ต.ท.ธัชชัย เบิกความว่า จากการรวบรวมพยาน 111 ปาก รับฟังได้ว่าการเสียชีวิตเกิดขึ้นจากทหารที่กำลังปฏิบัติหน้าที่จึงได้ส่งสำนวนให้อัยการยื่นคำร้องไต่สวน โดยสรุปได้ว่า เส้นทางรอบนอก ถนนพญาไท พระราม 4 ราชดำริ ราชประสงค์ ถูกกำหนดเป็นเขตห้ามใช้คมนาคม โดยมีทหารตั้งด่านมั่นคงแข็งแรงโดยรอบ ในวันที่ 19 พ.ค. 53 ทหารจากกองพันทหารราบที่ 2 กรมทหาราบที่ 31 นำโดย พ.ท.ยอดอาวุธ พึ่งพักตร์ และ ร.ท.พิษณุ ทัศแก้ว กับพวก 160 นาย มาปฏิบัติการที่แยกปทุมวัน จนถึงแยกเฉลิมเผ่าโดยใช้เส้นทางถนนพระราม 1
โดยที่ราวบ่ายโมงเศษแกนนำประกาศยุติการชุมนุมบนเวทีราชประสงค์และได้บอกให้ผู้ชุมนุมที่จะกลับภูมิลำเนาใช้เส้นทางถนนพระราม 1 ไปขึ้นรถที่สนามกีฬาแห่งชาติ หรือเข้าไปพักที่วัดปทุมวนารามได้ จากนั้นแกนนำได้เดินทางเข้ามอบตัวที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ส่วนผู้ชุมนุมที่เดินทางไปขึ้นรถที่สนามกีฬาแห่งชาติจะต้องผ่านเจ้าหน้าที่ทหารที่อยู่ในการควบคุมของ พ.ท.ยอดอาวุธ โดยจะมีการค้นตัวผู้ชุมนุมที่ผ่านมาด้วย โดยผู้ชุมนุมส่วนหนึ่งได้เข้าไปที่วัดปทุมฯ ซึ่งเป็นเขตอภัยทาน ในเวลา 17.00 น. เศษ ส.ต.อ.อดุลย์ พรหมนอก กับพวก 7 คน ขึ้นไปอยู่บนดาดฟ้าอาคารภายในสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เห็นทหารปฏิบัติงานอยู่บนรางรถไฟฟ้าทั้งชั้นบนและล่างโดยเคลื่อนมาจากทางแยกเฉลิมเผ่าไปตามด้านหน้าวัดปทุมฯ
ทหารบนรางรถไฟฟ้านำโดย พ.ท.นิมิตร วีระพงษ์ และจ.ส.อ.สมยศ ร่มจำปา กับพวก รวม 8 นาย ปฏิบัติงานบนรางรถไฟฟ้า โดยรางชั้นบนมีพ.ท.นิมิตร วีระพงษ์คนเดียว รางชั้นล่างมีจ.ส.อ.สมยศ ร่มจำปา กับพวก รวม 7 นาย ส.อ.เดชาธร มาขุนทด ส.อ.ชัยวิชิต สิทธิวงษา ส.อ.วิฑูรย์ อินทำ ส.อ.เกรียงศักดิ์ สีบุ ส.อ.สุนทร จันทร์งาม ส.อ.ภัทรนนท์ มีแสง และส.อ.เดชาธร(พลธวัช) มุนทศ
พ.ต.ท.ธัชชัย เบิกความว่า ต่อมาเวลา 17.40 น.(วันเกิดเหตุ) นายธวัช แสงทน ยืนอยู่กับพวกที่บริเวณศาลาสินธุเสกอยู่ติดกำแพงวัดฝั่งสยามพารากอนด้านในวัดซึ่งกำแพงนี่มีความสูงท่วมหัว เห็นทหารที่อยู่บนรางรถไฟฟ้าชั้นล่างเล็งปืนลงมาที่ตนและพวก ด้วยความกลัวเขาจึงหลบเข้าไปในมูลนิธิสมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก เมื่อนายธวัชมองไปทางด้านขวาขณะรอเข้าห้องน้ำข้างกูฎิห่างออกไปราว 15 ม. ทันใดนั้นเขาเห็นวิถีกระสุนยิงถูกนายสุวัน ศรีรักษาล้มลงหน้าห้องน้ำ เมื่อเสียงยิงปืนหยุดลงนายธวัชและพวกได้เข้าไปนำร่างของออกมาจากจุดเกิดเหตุไปไว้ที่ศาลาพระราชศรัทธาธรรม
นายอัฐชัย ชุมจันทร์ถูกยิงที่ถนนพระราม 1 ใกล้กับประตูทางออกของวัดปทุมฯ ก่อนที่นยอัฐชัยจะถูกยิง มีนายสตีฟ ทิกเนอร์เดินมาจากทางเวทีที่ราชประสงค์มาตามถนพระราม 1 มาหยุดที่ปากทางออกของวัดได้เห็นายอัฐชัยวิ่งมาจากทางแยกเฉลิมเผ่ามุ่งหน้ามาทางวัดปทุมฯ แล้วถูกยิงเข้าที่หลังทะลุอก ล้มลงต่อหน้านายสตีฟ 1 นาทีถัดมานายอัฐชัยลุกวิ่งกระเสือกกระสนไปล้มลงที่ตอม่อรางรถไฟฟ้า นายสตีฟจึงได้ยกกล้องขึ้นมาถ่ายภาพนายอัฐชัยเอาไว้เวลาที่อยู่ในภาพถ่ายระบุ 17.50 น. จึงทำให้ทราบว่าขณะที่นายอัฐชัยถูกยิงเป็นเวลา 17.49 น. สตีฟยืนยันว่าผู้ที่ยิงยิงมาจากทางด้านแยกเฉลิมเผ่า หลังเหตุการณ์พ.ต.ท.ธัชชัยได้นำนายสตีฟไปชี้ที่เกิดเหตุและวัดระยะทางจากจุดที่นายอัฐชัยล้มไปจนถึงแยกเฉลิมเผ่าได้ระยะทาง 100 ม. ซึ่งสอดคล้องกับคำให้การของนายจักรพงษ์ ธนาสิริวรพัฒน์ และนายทิเบต พึ่งขุนทด ซึ่งเป็นเพื่อนของานยอัฐชัย ได้วิ่งหนีทหารจะเข้าไปในวัดด้วยกันทั้งสามคน แต่ทหารได้ยิงถูกนายอัฐชัยก่อน ซึ่งร.ท.พิษณุได้รับว่าได้ใช้อาวุธปืนทาโวร์ยิงไป 10 นัดแต่ปฏิเสธว่าไม่ได้ยิงนายอัฐชัย ต่อมานายอัฐชัยถูกนำตัวไปที่หน้าสหกรณ์ซึ่งใกล้กับเต็นท์พยาบาลนายอัฐชัยก็เสียชีวิตลง จากนั้นนายสตีฟได้เข้าไปภายในวัดปทุมฯ ถ่ายภาพจนถึง 18.12 น. เห็นคนในวัดทยอยหาที่กำบัง จากนั้น 1 นาที เขาได้ยินเสียงปืนเขาจึงได้เขาหาที่กำบังภายในวัด
ประกอบกับคำให้การของนายอุดร วรรณสิงห์ออกจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติเข้าวัดแต่คนในวัดยกมือห้ามเขาเอาไว้เพราะตอนนั้นเสียงปืนดังใกล้เข้ามา นายอุดรจึงหลบอยู่ใต้สกายวอล์คโดยหมอบคว่ำหน้าลงกับพื้นทันใดนั้นเขาเห็น นายรพ และนายมงคลซึ่งยืนอยู่ด้านในใกล้กับประตูทางออกของวัด เสียงกระสุนดังลงมาจากรางรถไฟฟ้ามาโดนนายรพและนายมงคลไล่เลี่ยกัน เมื่อเสียงปืนเงียบลงมีคนมานำร่างทั้งสองคนไปที่เต็นท์พยาบาล ซึ่งก่อนหน้าที่นายมงคลจะถูกยิงเขาได้เห้นายมงคลช่วยปฐมพยาบาลนายอัฐชัยด้วย ซึ่งประมาณเวลาไว้ว่า 18.13 น. และ 5 นาที ต่อมานายอุดรได้เห็นวิถีกระสุนยิงไปที่เต็นท์ เห็นน.ส.กมลเกดถูกยิงล้มลง สอดคล้องกับพยานอีกคนหนึ่งซึ่งหลบอยู่ข้างรถใกล้เต็นห่างจากจุดที่น.ส.กมลเกดถูกยิง 5 ม. เธอเห็นวิถีกระสุนยิงน.ส.กมลเกดซึ่งขณะนั้นกำลังก้มตัวลงอยู่ เธอได้ถ่ายภาพเคลื่อนไหวตอนที่น.ส.กมลเกดและนายอัครเดชถูกยิงเอาไว้ด้วย พ.ต.ท.ธัชชัยได้นำพยานคนนี้ไปชี้จุดเกิดเหตุที่ทั้งสองคนถูกยิงส่วนเธอได้ทำไฟล์ดังกล่าวหายไปแล้ว แต่ในวันที่ 19 นั้น น.ส.ณัฎฐธิดา มีวังปลา ได้ ก็อปปี้ไฟล์จากพยานเอาไว้จึงได้ทำภาพเคลื่อนไหวให้เป็นภาพนิ่งเพื่อให้พยานได้ชี้ที่เกิดเหตุ
พ.ต.ท.ธัชชัย เบิกความด้วยว่าได้ร่วมกับ พ.ต.ท.ธีรนันท์ นคินทร์พงษ์ กองพิสูจน์หลักฐาน สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ได้ทำการตรวจวิถีกระสุนมาจากรางรถไฟฟ้าใกล้กับจุดที่นายมงคลถูกยิง จากการตรวจสถานที่เกิดเหตุของสถายันนิติวิทยาศาสตร์ กระทรวงยุติธรรมพบดีเอ็นเอของผู้เสียชีวิตห้ารายซึ่งถูกนำมารวมเอาไว้อยู่บริเวณเต็นท์พยาบาลใกล้ทางออกของวัด โดยพบทั้งด้านในและด้านนอกเต็นท์ ซึ่งผลการตรวจดีเอ็นเดได้รวมในรายงานการตรวจสถานที่ของ พ.ต.ท.วัชรัศมิ์ เฉลิมสุขสันต์ โดยไม่พบเศษกระสุนที่ร่างนายอัฐชัย เพราะเป็นการยิงในแนวราบ ส่วนผู้เสียชีวิตอีก 5 คน พบเศษกระสุนสีเขียวในร่างกายของ เพราะเป็นการยิงบนลงล่างทำให้มีเศษกระสุนตกค้าง เป็นกระสุนขนาด .223 ชนิด M855 ซึ่งหัวมีสีเขียว ใช้กับอาวุธปืนM16A2 ซึ่งตรงกับคำให้การของทหารบนรางชั้นล่างว่ามีการเบิกอาวุธปืน M16A2 และเบิกกระสุนหัวสีเขียวชนิด M855 มาใช้ในการปฏิบัติการ
โดยจากการตรวจสอบไม่มีการปฏิบัติการของตำรวจในพื้นที่รอบบริเวณวัดปทุมฯ แต่อย่างใด ส่วนทหารที่มาปฏิบัติการนั้นได้รับคำสั่งมาจาก ศอฉ. ในวันเกิดเหตุเมื่อเหตุการณ์สงบแล้วนายศักดิ์ชาย แซ่ลี้และพวกได้ย้ายตัวนายอัครเดชจากบริเวณเต็นท์เป็นคนแรกเข้ามาที่ศาลาพระราชศรัทธาธรรม เนื่องจากขณะนั้นนายอัครเดชยังไม่เสียชีวิตทันที จากนั้นจึงนำร่างของน.ส.กมลเกด นายมงคล ส่วนนนายสุวันก็ถูกนำตัวไปที่ศาลาในจังหวะเดียวกับนายมงคล ต่อมาเป็นร่างของนายรพและนายอัฐชัย ตามลำดับ
พ.ต.ท.ธัชชัย เบิกความถึงเหตุที่ต้องขออนุญาตทหารก่อนเพื่อเข้าพื้นที่เกิดเหตุในวันที่ 20 พ.ค.53 นั้น เพราะมีทหารปิดพื้นที่โดยรอบเอาไว้จึงเข้าไม่ได้เนื่องจากทหารควบคุมไว้หมดแล้ว
น.ส.ผุสดี งามขำเบิกความว่า ทำงานเป็นพยาบาลจนกระทั่งเกษียณก่อนอายุในปี 43 ปัจจุบันช่วยดูแลกิจการโรงพิมพ์ของทางบ้าน และเข้าร่วมชุมนุมตั้งแต่วันที่ 13 มี.ค.-19 พ.ค.53 โดยในวันที่ 13 มี.ค. ไปชุมนุมที่เวทีสะพานผ่านฟ้าลีลาศจนถึง 13 เม.ย. จึงได้ย้ายไปที่เวทีราชประสงค์แล้วอยู่จนถึงวันที่ 19 พ.ค. ซึ่งทราบวัตถุประสงค์ของการชุมนุมคือต้องการให้รัฐบาลในขณะนั้นยุบสภาแล้วเลือกตั้งใหม่ การชุมนุมเป็นการชุมนุมโดยสงบไม่มีอาวุธ
เวทีที่แยกราชประสงค์ด้านหน้าเวทีหันไปทางประตูน้ำ ผู้ชุมุนมจะอยู่บนแยกกระจายไปทุกทิศทั้ง 4 ด้าน คือ ด้านถนนราชดำริ ถนนเพลินจิต ประตูน้ำ ถนนพระราม 1 ผู้ชุมนุมมีเป็นจำนวนมากหลายหมื่นคนแต่ไม่ทราบจำนวนที่แน่นอน ในช่วงที่อยู่ที่แยกราชประสงค์เธอพักอยู่บนเกาะกลางระหว่างเซ็นทรัลเวิลด์และประตูทางเข้าห้องฉุกเฉินของโรงพยาบาลตำรวจ ซึ่งจะมีข้าวของเครื่องใช้และแผ่นไม้ปูรองเอาไว้ ผู้ชุมนุมที่มาชุมนุมมีทั้งที่มาชุมนุมแล้วกลับบ้านและมีที่ปักหลักอยู่ในพื้นที่ชุมนุม
วันเกิดเหตุตอนเช้ามีรถพยาบาลนำคนเจ็บมาส่งที่โรงพยาบาลตำรวจแต่เข้าประตูเล็กเพราะโรงพยาบาลไม่เปิดประตูใหญ่ พยานอยู่ในบริเวณนั้นคอยช่วยเหลือคน คนเจ็บที่ถูกนำมาได้รับบาดเจ็บจากการถูกยิงเป็นส่วนใหญ่ ตอนนั้นไม่ค่อยได้ยินเสียงปืน แต่มีคนเจ็บมาส่งเรื่อยๆ ที่บริเวณเวทีราชประสงค์หน้าเวทีจะมีชาวบ้านอยู่แต่คนที่อยู่ในบริเวณนั้นไม่ใช่ผู้ชุมนุมหน้าประจำ
น.ส.ผุสดี เบิกความถึงตอนบ่ายวันเกิดเหตุ ว่า นั่งพักอยู่ที่เกาะกลาง บนเวทีแกนนำได้ประกาศยุติการชุมนุมจึงคว้าธงไปที่หน้าเวที แกนนำบอกว่าจะมอบตัวที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติและให้มวลชนแยกย้าย โดยไปขึ้นรถที่สนามกีฬาแห่งชาติได้และสามารถไปที่วัดปทุมวนารามได้ นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อก็ได้ขอให้ผู้ชุมนุมกลับบ้าน ซึ่งผู้ชุมนุมที่อยู่หน้าเวทีบางคนก็ร้องไห้ ผู้ชุมนุมก็ตะโกน ไม่ยอมระหว่างนี้มีเสียงระเบิดเกิดขึ้นด้านหลังเวที ณัฐวุฒิก็กลับขึ้นมาพูดอีกแล้วก็มีเสียงปืนดังขึ้นสองนัด ก็ได้มีการ์ดนำตัวแกนนำไป เมื่อแกนนำไปแล้วผู้ชุมนุมก็แยกย้ายกันไป เธออยู่จนถึงเย็น ราวๆ 6 โมงเย็น แต่ไม่ทราบเวลาแน่ชัดเพราะไม่มีนาฬิกา เดินบ้างนั่งบ้างอยู่ในบริเวณนั้น ไม่ได้ไปไหน มีนักข่าวเข้าถ่ายรูปและสัมภาษณ์
หลังแกนนำยุติการชุมนุม ได้ 2 ชม. จึงเห็นทหารเคลื่อนมาจากถนนเพลินจิต ค่อยๆ เดินมา เดินแล้วหยุดจนมาถึงห้นาห้างเกษรพลาซ่าและมีการวางกำลังเป็นจุดๆ พอทหารเข้ามาหาเธอทหารได้พูดคุย จึงถามว่า “จะยิงไหม” ทหารตอบว่า “ไม่ยิง” พยานจึงถามต่ออีกว่า “จะจับไหม” ทหารก็ตอบว่า “ไม่” พยานได้บอกกับทหารอีกว่า “จะฆ่าก็ฆ่า จะไม่ผูกพยาบาท ทำใจไว้แล้ว” ทหารก็ตอบว่า “ผมไม่ทำหรอก พี่กลับบ้านไปเถอะ” พยานก็บอกอีกว่า “ฉันไม่เคยมีน้องที่ฆ่าเพื่อนฉัน” ทหารก็บอกว่า “ผมไปฆ่าเพื่อนพี่ตอนไหน” พยานชี้ไปที่ภาพคนตายบนเวทีซึ่งมีภาพผู้เสียชีวิตเมื่อวันที่ 10 เม.ย.ให้ทหารดู ทหารก็บอกว่า “ยังไม่เคยเห็นหน้าพวกนี้เลยจะไปฆ่ายังไง” ทหารก็ถอยออกไป แล้วก็มีนักข่าวต่างประเทศเข้ามาสัมภาษณ์ พยานจึงอยู่จนถึงเย็น นักข่าวก็ออกไป แล้วได้มีล่ามของนักข่าวมาบอกให้พยานกลับพราะเดี๋ยวจะติดเคอร์ฟิว จะอยู่ทำไม จึงยอมกลับแต่ได้ขอไปเก็บของก่อน และนักข่าวได้ให้เสื้อยืดสีขาวกับพยานเพื่อให้เปลี่ยนตอนเดินออกไป จึงเดินไปที่หน้าโรงพยาบาลตำรวจเพื่อเก็บของที่เกาะกลาง ระหว่างที่เดินไปนั้นได้เห็นทหารมีอาวุธปืนอยู่ทางแยกเฉลิมเผ่าหลายคนแต่เห็นในระยะไกล โดยจุดที่อยู่ตอนนั้นห่างจากแยกเฉลิมเผ่า 400 ม. เมื่อเดินไปถึงจุดที่วางของไว้ของๆ พยานถูกรื้อกระจัดกระจายแล้วและทางเดินนั้นมีน้ำท่วมขังอยู่จึงไม่ได้ไปเอาของ
น.ส.ผุสดี เบิกความต่อว่าเดินกลับไปทางเวทีโดยผ่านเวทีไปทางด้านหน้าเวทีแล้วเปลี่ยนเสื้อ ตรงนั้นไม่มีใครนอจากนักข่าว ทหาร และหญิงชราอีกหนึ่งคนในบริเวณนั้น ไม่มีบุคคลอื่นที่มีอาวุธ เมื่อเปลี่ยนเสื้อแล้วจึงได้เดินออกไปทางถนนเพลินจิต สำหรับเหตุที่ไม่ไปทางพระราม 1 นั้นเพราะทางนั้นถนนมีน้ำท่วมและมีทหารอยู่ด้วย
ทั้งนี้ภายหลังจบการสืบพยานปากสุดท้าย ศาลได้อ่านรายงานการพิจารณาคดี และนัดฟังคำสั่งการไต่สวนชันสูตรพลิกศพของคดีนี้ ในวันที่ 6 ส.ค. 56 เวลา 9.30 น. และศาลได้บอกเหตุที่ต้องนัดวันฟังคำสั่งเป็นระยะเวลานานเนื่องจากในคดีนี้มีเอกสารที่จะต้องพิจารณาเป็นจำนวนมาก
เรียบเรียงจาก : บันทึกการไต่สวยการเสียชีวิตโดยศูนย์ข้อมูลประชาชนผู้ได้รับผลกระทบจากการสลายการชุมนุม กรณี เม.ย.-พ.ค.53 (ศปช.)