"อัมสเตอร์ดัม" ย้ำรัฐบาลเซ็นได้เลยอำนาจศาลอาญาระหว่างประเทศ ไม่เข้าข่ายสนธิสัญญา

ข่าวสด 2 ธันวาคม 2555



"อัมสเตอร์ดัม"ย้ำเซ็นได้เลย"ไอซีซี"

ด้านนายโรเบิร์ต อัมสเตอร์ดัม ที่ปรึกษากฎหมายกลุ่มนปช. ออกแถลงการณ์ถึงกรณีที่มีนักกฎหมายไทยบางคนกดดันไม่ให้รัฐบาลแถลงคำประกาศภายใต้มาตรา 12.3 ยอมรับอำนาจศาลอาญาระหว่างประเทศ (ไอซีซี) ในกรณีอาชญา กรรมมนุษยชาติที่เกิดในปี 2553 โดยอ้างว่าคำประกาศดังกล่าวคือ "สนธิสัญญา" ซึ่งต้องได้รับความเห็นชอบจากรัฐสภาภายใต้มาตรา 190 ของรัฐธรรมนูญปี 2550 ว่า ข้อโต้แย้งนี้เป็นเรื่องไร้สาระ เพราะคำประกาศมาตรา 12.3 ไม่ใช่สนธิสัญญา

นายโรเบิร์ตกล่าวต่อว่า เมื่อไม่นานมานี้ นางฟาทู เบนซูดา อัยการไอซีซีได้เข้าพบรัฐบาลไทยในกรุงเทพฯ และตอบคำถามถึงเรื่องนี้ชัดเจนว่าคำประกาศมาตรา 12.3 มิใช่สนธิสัญญา เพราะสนธิสัญญาคือข้อตกลงระหว่างบุคคลสองฝ่ายหรือหลายฝ่าย ในทางตรงข้าม คำประกาศมาตรา 12.3 คือคำแถลงฝ่ายเดียวโดยรัฐบาล จึงไม่จำเป็นหรือต้องได้รับความเห็นพ้องจากไอซีซี แต่การแถลงคำประกาศคือการใช้อำนาจอธิปไตยของรัฐบาลทางความสัมพันธ์ระหว่างประเทศต่างหาก

ที่ปรึกษานปช. กล่าวอีกว่า ภายใต้รัฐธรรมนูญไอซีซี คำประกาศมีผลทางกฎหมายเมื่อรัฐบาลยื่นคำร้องต่อไอซีซี และไม่จำเป็นต้องได้รับการตอบรับจากไอซีซี โดยเพียงแค่รัฐบาลลงนามเท่านั้น เอกสารเพียงอย่างเดียวคือคำประกาศของรัฐบาล และไม่จำเป็นต้องมีลายมือชื่อตอบกลับจากไอซีซี

นอกจากนี้ นายโรเบิร์ต ยังยกตัวอย่างกรณีรัฐบาลไอวอรี โคสต์ แถลงคำประกาศมาตรา 12.3 ว่า เป็นการยอมรับอำนาจพิจาณาคดีของไอซีซีต่อกรณี 3 สถานการณ์ที่เกิดขึ้นต่างวาระ โดยไม่จำเป็นต้องยึดถือตามกระบวนการทางรัฐ ธรรมนูญ ภายในประเทศว่าด้วยการยอมรับสนธิสัญญา คำประกาศฝ่ายเดียวนี้ให้อำนาจพิจารณาคดีต่อไอซีซีในการพิจารณาสถานการณ์เฉพาะในประเทศนั้น สรุปก็คือคำประกาศฝ่ายเดียวไม่ถือเป็นสนธิสัญญา



"ปึ้ง"แจงต้องรอบคอบที่สุด

ขณะที่นายสุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล รองนายกรัฐมนตรีและรมว.ต่างประเทศ กล่าวถึงนพ.เหวง โตจิราการ แกนนำกลุ่มนปช. เร่งรัดให้ลงนามประกาศรองรับเขตอำนาจไอซีซี เพื่อเข้ามาสืบสวนสอบสวนเบื้องต้นคดี 99 ศพว่า การลงนามหนังสือสัญญาเป็นเรื่องระหว่างประเทศต้องนำเข้าที่ประชุมครม.เพื่อขอความเห็น กรณีนี้ก็เช่นกัน ตนต้องขอความเห็นจากทุกหน่วยงานในกระทรวงและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องก่อนเสนอที่ประชุมครม. สำหรับการเข้าเป็นภาคีของไอซีซีคอร์ตเป็นเรื่องที่ค้างมานาน ตั้งแต่สมัยรัฐบาลนายชวน หลีกภัย ขณะนี้ผ่านมาถึง 10 ปีแล้ว โดย ตั้งคณะกรรมการขึ้นมาหนึ่งชุดเพื่อศึกษาและพิจารณา มีอธิบดีกรมสนธิสัญญาเป็นประธาน ร่วมกับกระทรวงยุติธรรม กองทัพ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องรวม 18 หน่วยงาน อย่างไรก็ตามในรัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์มีความพยายามจะเข้าเป็นสมาชิกภาคี แต่รัฐบาลพ.ต.ท.ทักษิณได้ยับยั้ง เนื่องจากมีข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับประมุขแห่งรัฐ


นายสุรพงษ์กล่าวว่า เมื่อนพ.เหวงร้องมายังตนขอให้ลงนามรับประกาศเขตอำนาจศาลเมื่อวันที่ 23 พ.ย. ที่ผ่านมา ตนเรียกประชุมหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งกฤษฎีกา อัยการ กระทรวงยุติธรรมและดีเอสไอ ซึ่งเสนอให้คณะกรรมการชุดดังกล่าวพิจารณากรณีนี้อีกครั้ง เพราะความเห็นจากหลายหน่วยงานจะทำให้การพิจารณารอบคอบ โดยคณะกรรมการชุดนี้จะพิจารณาใน 2 ประเด็น คือเรื่องที่ค้างคาตลอด 10 ปี และกรณีที่นพ.เหวงยื่นคำร้อง ซึ่งเป็นประเด็นเร่งด่วนที่ต้องพิจารณาคือเป็นการให้ไอซีซีเข้ามาสืบสวนสอบสวนเป็นการเบื้องต้น ทางกลุ่มคนเสื้อแดงอาจจะยังไม่เข้าใจ คงคิดว่าตนในฐานะรัฐมนตรีลงนามได้เลย ซึ่งความจริงทำแบบนั้นไม่ได้ เรื่องนี้ต้องขอความเห็นจากทุกหน่วยงานอย่างรอบคอบ


"ผมไม่ได้ช้า พยายามศึกษาให้รอบคอบที่สุด แต่ผมเซ็นคนเดียวไม่ได้ เพราะการเซ็นหนังสือที่ว่าด้วยเรื่องระหว่างประเทศ ผมเซ็นอะไรไปถือว่าผมทำแทนประเทศไทย แต่ถ้าเป็นเรื่องในประเทศ ผมเซ็นในฐานะรัฐมนตรีได้เลย อยากให้กลุ่ม นปช.เข้าใจตรงกัน ผมอยากทำ เพราะอยากเห็นความเป็นธรรม ฝากถึง นปช.ว่าการที่ไอซีซีทำ การสืบสวนสอบสวน จะเป็นกรณีที่เขาเห็นว่ากระบวนการยุติธรรมไม่เป็นธรรมอย่างแท้จริง แต่วันนี้คดีบางคดีของเราก็ยังเดินหน้า ขอย้ำว่าผมก็อยากให้นำคนผิดมาลงโทษ ไม่ปล่อยให้ลอย นวล ขอให้นปช.สบายใจได้ว่าผมต้องการเห็นคนผิด สั่งฆ่าประชานได้รับโทษตามกฎหมาย นี่เป็นจุดยืนเดียวกัน ถ้าไอซีซีจะเอาคนผิดลงโทษจะเลือกผู้สั่งการเพียงคนเดียว เพราะกรณีที่เกิดในสองสามประเทศ ซึ่งถูกจำคุกในกรุงเฮกขณะนี้ ต่างก็เป็นผู้สั่งการทั้งสิ้น" นายสุรพงษ์กล่าว