ทางออกประเทศไทย ปฏิรูปประเทศ ฉบับ"ธิดา ถาวรเศรษฐ"

มติชน 31 สิงหาคม 2556



หมายเหตุ - นางธิดา ถาวรเศรษฐ ประธานกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) เขียนบทความเสนอแนวทาง การหาทางออกประเทศไทยโดยการปฏิรูปประเทศผ่าน "มติชน"

การหาทางออกประเทศไทยโดยการปฏิรูปประเทศ (ตอนที่ 1)

ถ้าสถานการณ์ประเทศไทยขณะนี้เรียบร้อย ประเทศมีอนาคตแจ่มใส ประชาชนมีความหวัง สังคมไทยมีสันติสุข เราก็ไม่ต้องมาหาทางออกประเทศกัน

ปัจจุบันเป็นที่เข้าใจกันดีว่าสถานะประเทศไทยเกือบจะเป็นและมีโอกาสเป็นรัฐที่ล้มเหลว มีสภาพอนาธิปไตย และถ้าไม่จัดการให้ดีความขัดแย้งและการปะทะทางความคิดสังคมไทยจะพัฒนาเป็นการปะทะจนเกิดเหตุการณ์จลาจลสูญเสียชีวิตดังในต่างประเทศซึ่งมีความเป็นไปได้ค่อนข้างสูงมาก เมื่อมองเห็นเช่นนี้ ภายใต้หลักการ เหตุผล ของคนที่ปรารถนาดีทำเพื่อประเทศและประชาชนไทยทั้งมวล จำเป็นต้องดำเนินการให้เหมาะสม โดยให้ทุกฝ่ายตั้งเป้าหมายและแสดงทรรศนะว่าประเทศไทยที่เรามุ่งหวังควรมีหน้าตาอย่างไร มีการเมืองการปกครองอย่างไร ภาพเศรษฐกิจโดยรวมและโดยแยกส่วนเป็นอย่างไร และที่สำคัญมีภาพสังคมวัฒนธรรม การศึกษา อุดมการณ์ของสังคมที่สันติสุขอย่างไร

แม้ปัจจุบันอาจมีความคิดความเชื่อแตกต่างกัน แต่ภาพประเทศไทยและประชาชนไทยในอนาคตอาจเหมือนกันหรือใกล้กันก็ได้ นี่จึงเป็นที่มาของความเห็นของเราว่าการปฏิรูปประเทศไทยไม่จำเป็นต้องถอยคนละก้าว และต่อรองผลประโยชน์กัน เพราะนั่นคือกลวิธีของชนชั้นนำในสังคม แต่ถ้าปฏิรูปประเทศไทยโดยยึดเอาผลประโยชน์ประเทศชาติและประชาชนเป็นที่ตั้ง เอาอนาคตประเทศและลูกหลานเป็นเดิมพัน เราก็สามารถร่วมมือกันเพื่อไปให้ถึงเป้าหมายเดียวกันได้ และนั่นคือการปฏิรูปประเทศไทย

คำถามคือ สภาปฏิรูปการเมือง คณะที่รัฐบาลพยายามรวบรวมนักการเมือง, อดีตนายกรัฐมนตรี, อดีตประธานสภา, ผู้ทรงคุณวุฒิ, ตัวแทนภาคธุรกิจ, อุดมศึกษา, องค์กรประชาชน ฯลฯ รวมประมาณ 70 คน เหล่านี้จะสามารถทำการปฏิรูปประเทศที่กำลังอยู่ในสภาพขัดแย้งรุนแรงได้หรือไม่ และทำได้อย่างไร

ข้อเสนอของ นปช. 1.ทำให้เป็นวาระของประชาชนทั่วประเทศ 2.ทำให้เป็นวาระแห่งการเรียนรู้ด้วยการใช้ข้อมูล องค์ความรู้แทนความเชื่อลอยๆ ใช้เหตุผลสติปัญญาแทนอารมณ์ 3.ต้องไม่ใช่เฉพาะการปฏิรูปการเมือง แต่ต้องเป็นการปฏิรูปประเทศไปด้วยกันของประชาชนทั้งประเทศ

ในประเด็นการทำให้เป็นวาระของประชาชนทั่วประเทศ จึงไม่ใช่เป็นเรื่องของผู้เชี่ยวชาญ นักวิชาการ และสภาปฏิรูปการเมืองเท่านั้น มิฉะนั้นการปฏิรูปประเทศและหาทางออกประเทศจะไม่สัมฤทธิผลแน่นอน แต่จะกลายเป็นเวทีต่อรองผลประโยชน์ของชนชั้นนำ เป็นเพียงเกมของชนชั้นนำบนยอดพีระมิดของสังคมไทย และนี่ก็จะไม่ใช่เวทีที่ นปช.เหมาะสมจะเข้ามาร่วม เพราะเราเป็นตัวแทนของประชาชนที่เป็นมวลชนพื้นฐาน ไม่ใช่คนบนยอดพีระมิด

กล่าวถึงเป้าหมายประเทศไทย นปช.ชัดเจนในเป้าหมายประเทศไทย คือ ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข โดยมีอำนาจอธิปไตยเป็นของประชาชนไทยอย่างแท้จริง และให้สิทธิ เสรีภาพ ความเสมอภาคเป็นหลักการสำคัญ ที่เราเน้นหนักคือ ความเสมอภาคทางการเมืองและกฎหมาย และผลึกจิตวิญญาณของการต่อสู้ของประชาชนไทย ในส่วนของคนเสื้อแดง ก็คือ "ความเสมอภาค" นั่นเอง เพราะตราบเท่าที่ไม่มีความเสมอภาคในสังคมไทย ก็ไม่อาจบรรลุประชาธิปไตยแท้จริงได้ และก็ไม่อาจเกิดความยุติธรรมได้ ในผืนแผ่นดินนี้ความเท่าเทียมกันจึงเป็นทั้งจุดตั้งต้นและจุดสุดท้ายของการบรรลุการต่อสู้ของคนเสื้อแดง

คำถามต่อมาคือเราปฏิรูปการเมืองการปกครองอย่างเดียวโดยไม่ต้องจัดการเรื่องเศรษฐกิจและสังคมได้หรือไม่ กล่าวโดยหลักการย่อมเป็นไปไม่ได้แน่นอน เพราะ 3 เรื่องนี้ล้วนสัมพันธ์ซึ่งกันและกัน พิจารณาโครงสร้างของสังคมประกอบด้วยรากฐานเศรษฐกิจเป็นโครงสร้างพื้นฐานของสังคมที่จะมีผลต่อโครงสร้างการเมือง การปกครอง และโครงสร้างทางสังคม อันได้แก่วัฒนธรรม การศึกษา แนวคิด อุดมการณ์ และโครงสร้างทั้ง 3 นี้จะส่งผลสะเทือนต่อกันดังนั้น การปฏิรูปการเมืองด้านเดียว ก็ไม่อาจบรรลุเป้าหมายในการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองได้ถ้าไม่ได้ปฏิรูปด้านเศรษฐกิจและสังคมไปด้วย

กล่าวโดยสรุปในตอนที่ 1 ของการปฏิรูปการเมืองคือ ต้องขยายการปฏิรูปการเมืองสู่ประชาชนทั้งประเทศ และให้เป็นการปฏิรูปการเมืองที่เรียนรู้ด้วยกันทั่วประเทศ นั่นคือการมีส่วนร่วมของประชาชนทุกภาคส่วน ซึ่งจะได้ผลและต้องมีการปฏิรูปโครงสร้างประเทศด้านอื่นไปพร้อมๆ กันด้วย คือ ด้านเศรษฐกิจและสังคม

การหาทางออกประเทศไทยโดยการปฏิรูปประเทศ (ตอนที่ 2)

เป้าหมายประเทศไทย 

1.การเมือง ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข หลักการ 1.1 อำนาจอธิปไตยเป็นของประชาชนไทยอย่างแท้จริง

1.2 ให้สิทธิ เสรีภาพ ความเสมอภาค เป็นหลักการสำคัญ 2.เศรษฐกิจ เป็นระบบเศรษฐกิจเสรีและมีการวางแผน หลักการ 2.1 เศรษฐกิจที่มีการวางแผนเพื่อขจัดความยากจน แก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำในสังคม 2.2 เศรษฐกิจที่ส่งเสริมพัฒนาการขีดความสามารถในการแข่งขันด้านเกษตรกรรม, อุตสาหกรรมการผลิต การบริการ และการเงินสอดคล้องกับประเทศและผลประโยชน์ประชาชน ทั้งด้านเศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อม

3.สังคม เสรีนิยมหลักการ ยอมรับความแตกต่างทางความคิด, อุดมการณ์ ตลอดจนเชื้อชาติ ศาสนา สามารถอยู่ร่วมกันได้โดยสันติ

กระบวนการสู่เป้าหมาย

หัวข้อสำคัญในการปฏิรูป 3 ด้านคือ 

1.ปฏิรูปการเมือง ยึดหลักสิทธิ เสรีภาพ เสมอภาค นิติรัฐ นิติธรรม แก้ไขรัฐธรรมนูญ-ปฏิรูปกฎหมาย-แก้ไขกลไกความยุติธรรมและปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม

2.ปฏิรูปเศรษฐกิจ ปฏิรูปโครงสร้างเกษตรกรรม ปฏิรูปโครงสร้างอุตสาหกรรมด้านการผลิต, การบริการ และการเงิน ปฏิรูปงานวิจัยทางวิทยาศาสตร์เทคโนโลยี ปฏิรูปงานสิ่งแวดล้อม ที่อยู่อาศัย และบริการชุมชน ปฏิรูปงานบริการสาธารณะและขนส่งสาธารณะ

3.ปฏิรูปสังคม ภายใต้แนวคิดสนับสนุนสิทธิ เสรีภาพ ความเสมอภาค และแนวคิดเสรีนิยม ปฏิรูปสื่อ ปฏิรูปการศึกษา ปฏิรูปวัฒนธรรม ปฏิรูประบบราชการ ปฏิรูปงานวิจัยและข้อมูลทางสังคม