อียิปต์ยามกองทัพล้มประชาธิปไตย์ โดย อ.สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ :

สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ
ที่มา:โลกวันนี้วันสุข
14 กรกฏาคม 2556
 
 


 ในที่สุด สถานการณ์ยึดอำนาจในอียิปต์ก็มีแนวโน้มลุกลามกลายเป็นการปราบปรามเข่นฆ่า ประชาชน จนถึงวันอังคารที่ 9 กรกฎาคม นี้ มีประชาชนที่ต่อต้านการยึดอำนาจถูกสังหารไปแล้วมากกว่า 50 คน ซึ่งทำให้เห็นได้ว่า ความขัดแย้งทางการเมืองในอียิปต์ไม่น่าที่จะยุติลงได้โดยง่าย
ทั้ง นี้กองทัพอียิปต์ได้ก่อการยึดอำนาจตั้งแต่วันพุธที่ 3 กรกฎาคม ที่ผ่านมา เพื่อโค่นรัฐบาลของประธานาธิบดีโมฮัมเหม็ด มอรซี แล้วตั้งอัดลี มานซูร์ ประธานศาลรัฐธรรมนูญ เป็นประธานาธิบดีรักษาการ แต่ฝ่ายกองทัพอ้างว่า ไม่ได้ทำการรัฐประหาร เพียงแต่ดำเนินการตามเจตนารมณ์ของประชาชน หลังจากที่ประชาชนนับแสนคนได้มาชุมนุมขับไล่รัฐบาลของประธานาธิบดีมูรซี ตั้งแต่วันที่ 30 มิถุนายนที่ผ่านมา ปัญหาแรกสุดของข้ออ้างนี้ก็คือ ประชาชนอีกฝ่ายหนึ่งนับแสนคนเช่นกัน ก็ก่อการชุมนุมสนับสนุนรัฐบาลมอรซี

อียิปต์ เป็นประเทศในกลุ่มอาหรับที่ใหญ่ที่สุด มีประชากรมากถึง 84 ล้านคน และเป็นมิตรอันแน่นแฟ้นของสหรัฐอเมริกา ความสำคัญคือเป็นประเทศที่ควบคุมยุทธศาสตร์ คือ คลองสุเอช ซึ่งเป็นเส้นทางสำคัญในการขนส่งน้ำมันของโลก ประวัติศาสตร์อียิปต์สมัยใหม่เริ่มจากการปฏิวัติในเดือนกรกฎาคม พ.ศ.2495 โดยคณะทหารหนุ่มฝ่ายก้าวหน้าได้โค่นอำนาจของกษัตริย์ฟารุก ต่อมา คณะปฏิวัติได้ประกาศให้ประเทศอียิปต์เป็นสาธารณรัฐ โดยมีนายทหารหนุ่มวัย 34 ปี คือ กามาล อับเดล นัสเซอร์ เป็นประธานาธิบดี นัสเซอร์ได้ชื่อว่าเป็นวีรบุรุษแห่งชาติ แต่ปกครองประเทศในแบบเผด็จการ แม้ว่ามีการใช้นโยบายใหม่ เช่น การใช้นโยบายเศรษฐกิจสังคมนิยม การปฏิรูปที่ดิน นอกจากนี้ก็คือ การรณรงค์ชาตินิยมอาหรับ เป็นปฏิปักษ์กับอิสราเอล และไม่นิยมตะวันตก โดยเฉพาะการยึดกิจการคลองสุเอช จากอังกฤษ อันนำมาซึ่งสงครามใน พ.ศ.2499 ต่อมา นัสเซอร์ก็นำประเทศเข้าสงครามกับอิสราเอลในเดือนตุลาคม พ.ศ.2510 อันนำมาสู่ความพ่ายแพ้ ทำให้นัสเซอร์เสื่อมศักดิ์ศรีอย่างมาก นัสเซอร์ถึงแก่กรรมในตำแหน่งเมื่อเดือนตุลาคม พ.ศ.2513

รอง ประธานาธิบดีอัลวา ซาดัท ซึ่งเป็นนายทหารอีกคนหนึ่งที่ร่วมปฏิวัติ ได้ขึ้นเป็นประธานาธิบดีคนใหม่ ซาดัทได้นำประเทศเข้าทำสงครามกับอิสราเอลอีกครั้งใน พ.ศ.2516 ซึ่งในครั้งนี้ อียิปต์สามารถรักษาสถานะไม่ประสบความพ่ายแพ้ ทำให้ซาดัทได้รับความนิยมอย่างมาก อย่างไรก็ตาม ซาดัทตัดสินใจปรับเปลี่ยนนโยบาย โดยหันมาสร้างมิตรภาพกับสหรัฐอเมริกา และยุติภาวะสงครามกับอิสราเอล ประธานาธิบดีจิมมี คาร์เตอร์แห่งสหรัฐได้เป็นเจ้าภาพให้ประธานาธิบดีซาดัทได้พบและเจรจากับนายก รัฐมนตรีเมนาเฮม เบกินแห่งอิสราเอลที่แคมป์เดวิดในสหรัฐอเมริกา และนำมาสู่การลงนามในสัญญาสันติภาพแคมป์เดวิดในเดือนกันยายน พ.ศ.2521
ภาย ในประเทศ ประธานาธิบดีซาดัทได้ล้มเลิกเศรษฐกิจสังคมนิยม หันมารับการลงทุนจากตะวันตก ใช้นโยบายเศรษฐกิจเสรีมากยิ่งขึ้น การฟื้นความสัมพันธ์กับตะวันตกและมุ่งสู่ทุนนิยมสร้างความไม่พอใจอย่างมาก แก่ฝ่ายอิสลามหัวรุนแรง ซึ่งเห็นว่าซาดัททรยศต่อประเทศ ในวันที่ 6 ตุลาตม พ.ศ.2524 นายทหารที่เป็นฝ่ายชาตินิยมจัดจึงได้สังหารประธานาธิบดีซาดัทในขณะที่กำลัง ตรวจแถวทหารกองเกียรติยศ

ฮอสนี มูบารัค รองประธานาธิบดีซึ่งเป็นผู้บัญชาการทหารอากาศ ได้รับตำแหน่งประธานาธิบดีแทน และอยู่ในตำแหน่งต่อมานานถึง 30 ปี ในลักษณะของเผด็จการ แม้ว่าจะมีการจัดให้มีการเลือกตั้งและลงประชามติรับรองถึง 3 ครั้ง แต่ก็เป็นการเลือกตั้งที่ปราศจากคู่แข่ง จนถึงการเลือกตั้งใน พ.ศ.2548 ที่เริ่มให้มีการเลือกตั้งประธานาธิบดีโดยมีผู้สมัครจากหลายพรรค มูบารัคลงสมัครในนามพรรคประชาธิปไตยแห่งชาติ และได้รับชัยชนะด้วยคะแนนเสียงถึง 88.6 %

นโยบายของมูบารัคก็ คือ การรักษาความสัมพันธ์อันแน่นแฟ้นกับสหรัฐ และรื้อฟื้นสถานะในโลกอาหรับ ในทางเศรษฐกิจมูบารัคก็ยังส่งเสริมระบบเสรีต่อไป ทำให้เศรษฐกิจของประเทศพัฒนาอย่างมาก ขณะที่ช่องว่างทางชนชั้นก็ยังคงรุนแรง โดยที่มูบารัคและครอบครัวก็ร่ำรวยอย่างมหาศาลภายใต้ระบบรัฐที่ทุจริตคอรับ ชั่นอย่างหนัก แต่กระนั้น อำนาจสถาปนาของกองทัพและศาลก็เป็นไปอย่างมั่นคง และกลายเป็นกำลังสำคัญในการค้ำจุนระบอบมูบารัค อย่างไรก็ตาม เมื่อผ่านการบริหารไปหลายปี กระแสความไม่พอใจต่อมูบารัคขยายตัวมากขึ้น กลุ่มต่อต้านรัฐบาลที่ขยายตัวมากกว่ากลุ่มอื่นคือ กลุ่มภราดรภาพมุสลิม ซึ่งก่อตั้งมาตั้งแต่ พ.ศ.2471 โดยมุ่งที่จะพื้นฟูหลักการดั้งเดิมของอิสลาม ยึดหลักชาตินิยมอาหรับ และต่อต้านทุนนิยมตะวันตก ในสมัยมูบารัคกลุ่มมุสลิมภราดรภาพถือว่าเป็นกลุ่มที่ผิดกฎหมาย

เมื่อ เกิดกระแสอาหรับสปริงใน พ.ศ.2554 ประชาชนก็เริ่มชุมนุมประท้วงประธานาธิบดีมูบารัค และขยายตัวอย่างรวดเร็วและกลายเป็นการจลาจล ในที่สุด ประธานาธิบดีมูบารัคต้องลาออกในวันที่ 11 กุมภาพันธ์ และให้พล.อ.ฮุสเซ็น ทานวานี ผู้บัญชาการทหารสูงสุดมาเป็นประธานาธิบดีรักษาการ เพื่อเปิดทางแห่งการฟื้นฟูประชาธิปไตย การเลือกตั้งเสรีครั้งแรกในประวัติศาสตร์อียิปต์มีขึ้นในเดือนพฤษภาคมและ มิถุนายน โมฮัมหมัด มอรซี ลงสมัครในนามพรรคประชาธิปไตยและยุติธรรมซึ่งเป็นพรรคที่มาจากปีกทางการเมือง ของอิสลามภราดรภาพ เพราะรัฐธรรมนูญของอียิปต์ห้ามตั้งพรรคการเมืองแนวศาสนาโดยตรง ปรากฏว่า มอรซีได้คะแนนเสียงมากที่สุด จึงได้เป็นประธานาธิบดีบริหารประเทศต่อมา
เมื่อ ขึ้นมาสู่ตำแหน่งประธานาธิบดีแล้ว มอรซีได้พยายามปฏิรูปการเมืองด้วยการแก้รัฐธรรมนูญเพื่อลดบทบาทอำนาจนำดั้ง เดิม คือ กองทัพและศาล แต่ให้เพิ่มอำนาจแก่ประธานาธิบดีนอกจากนี้ก็คือ การให้เสรีภาพแก่ฝ่ายมุสลิมภราดรภาพที่จะแสดงบทบาทได้อย่างเปิดเผย จึงได้นำมาสู่ความไม่พอใจ ประการต่อมาคือความล้มเหลวในทางเศรษฐกิจได้ช่วยโหมทวีความไม่พอใจ จึงได้เกิดกระแสต่อต้าน และนำมาซึ่งการชุมนุมต่อต้านรัฐบาลมอรซี จนกลายเป็นเงื่อนไขของการยึดอำนาจอีกครั้งหนึ่งของกองทัพ

เหตุผล สำคัญที่ทำให้ฝ่ายยึดอำนาจไม่ใช่คำว่ารัฐประหาร ก็เป็นเพราะเงินช่วยเหลือทางทหารจำนวนมหาศาลจากอเมริกา เพราะในทางกฎหมาย รัฐบาลอเมริกาจะให้ความช่วยเหลือแก่กองทัพที่ก่อการรัฐประหารทำลาย ประชาธิปไตยไม่ได้ ปัญหาก็คือ การยึดอำนาจก็เผชิญกับการต่อต้านอย่างหนักจากประชาชนเช่นกัน โดยตั้งแต่วันศุกร์ที่ 5 กรกฎาคม การชุมนุมใหญ่เพื่อต่อต้านการยึดอำนาจของฝ่ายทหารเกิดขึ้นหลายเมือง โดยเฉพาะในกรุงไคโร เมืองอเล็กซานเดรีย แต่ละแห่งมีประชาชนเข้าร่วมหลายหมื่นคน และนำมาซึ่งการปราบปรามอย่างรุนแรง

จึง มึความเป็นไปได้ว่า การยึดอำนาจของกองทัพจะนำมาซึ่งความชะงักงันทางการเมือง โดยที่ความขัดแย้งแตกแยกอย่างรุนแรงในสังคมอียิปต์ก็ยังคงดำเนินต่อไป และมีแนวโน้มที่จะกระทบอุตสาหกรรมการท่องเทียว ที่เป็นที่มาของรายได้สำคัญของประเทศ และจะนำมาซึ่งความเสียหายทางเศรษฐกิจอย่างมาก

สถานการณ์ใน อียิปต์คงจะยังไม่จบลงโดยง่าย บทเรียนจากเรื่องนี้ ก็เป็นดังเช่นบทเรียนที่เกิดขึ้นมาแล้วในไทย คือ การรัฐประหารแก้ปัญหาอะไรไม่ได้ แต่จะยิ่งนำมาซึ่งปัญหาใหม่ที่ยุ่งยาก และแก้ยากมากกว่าเดิม เพราะไปใช้วิธีการที่ไม่เป็นประชาธิปไตยเสียแล้ว