ไฟเขียว ผ่านโร่ ร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม วันที่ 7 สิงหาคม :

ข่าวสด
24 กรกฏาคม 2556
คอลัมน์วิเคราะห์การเมือง

ไม่มีเหตุผลอะไรที่พรรคเพื่อไทยหรือที่ประชุมวิปพรรคร่วมรัฐบาลจะ ดอง ร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมฉบับของ นายวรชัย เหมะ เอาไว้

 โดยจะไม่พิจารณาในวันที่ 7 สิงหาคม

 หากอ้างเหตุผลว่าเพราะพรรคประชาธิปัตย์คัดค้าน เพราะกลุ่ม 40 ส.ว.จะสกัดขัดขวาง แล้วยอมจำนนก็เป็นเหตุผลอันอ่อนยวบยาบอย่างยิ่ง

 เพราะแทบไม่มีเรื่องใดของรัฐบาลที่พรรคประชาธิปัตย์จะเห็นด้วย

 ยิ่งเสียงจากกลุ่ม 40 ส.ว.ยิ่งมีความเด่นชัด เพราะว่าคนพวกนี้ล้วนเป็นผลิตผลของรัฐประหารเมื่อเดือนกันยายน 2549

 และหายใจร่วมรูจมูกเดียวกับพรรคประชาธิปัตย์อยู่แล้ว

 การคัดค้านต่อต้านของทั้งพรรคประชาธิปัตย์และกลุ่ม 40 ส.ว.มิได้เป็นเรื่องใหม่เป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นประจำและอยู่ในความคาดหมายแทบไม่มีอะไรแปรเปลี่ยน

 ก็ต้อง เดินหน้า ต่อไป

  หากพวกที่ต้องการ ดอง ร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมเพราะประเมินว่าฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยจะไม่ยอมแน่นอน น่าจะมีการเคลื่อนทั้งในและนอกสภา

 ถามว่าการต่อต้านมีพลังมากน้อยเพียงใด

 หากประเมินจากจำนวนมือที่เห็นๆ กันอยู่ ไม่ว่าในสภาผู้แทนราษฎร ไม่ว่าในวุฒิสภา ก็ประจักษ์แล้วว่าเสียงข้างมากเป็นของรัฐบาล

 ขณะเดียวกัน พลังที่เคลื่อนไหวนอกรัฐสภาก็กระจัดกระจาย

 ระยะตั้งแต่ม็อบ แช่แข็ง ประเทศล้มเหลวเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2555 เป็นต้นมา แทบไม่เคยมีการชุมนุมเคลื่อนไหวใดระดมมวลชนได้มากกว่า 5,000 คน ไม่ว่าจะมองผ่านเวทีผ่าความจริง ไม่ว่าจะมองผ่านหน้ากากขาว

 เด่นชัดว่า อ่อนแรง เปลี้ยเพลียเป็นลำดับ

 ขณะเดียวกัน หากมองจากระยะเวลาของแต่ละร่าง พ.ร.บ.สำคัญของรัฐบาลก็จะเห็นทางสะดวกเปิดโล่งให้กับร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมอย่างเต็มที่

 นั่นก็คือ ร่าง พ.ร.บ.งบประมาณจะสะดวกก็ตั้งแต่กลางเดือนสิงหาคม

 นั่นก็คือ ร่าง พ.ร.บ.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมของประเทศ ก็รอต่อจากร่าง พ.ร.บ.งบประมาณ

 วันที่ 7 สิงหาคม จึงเป็นโอกาสของร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม

 ขณะเดียวกัน การพิจารณาในวันที่ 7 สิงหาคมก็เสมอเป็นเพียงวาระแรกว่าจะรับหรือไม่รับกว่าจะเป็นกฎหมายก็ต้องผ่านวาระ 2 วาระ 3 อีกหลายเดือน

 วันที่ 24 กรกฎาคม จึงน่าจะเป็นจุดเริ่มต้น

 แท้จริงแล้ว ร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมเสมอเป็นเพียงหมุดหมาย 1 อันจะนำไปสู่การปรองดอง

 การพิจารณาในขั้นกรรมาธิการจึงทรงความหมาย การหารือในขั้นแปรญัตติก่อนลงมติวาระ 2 จึงมีความสำคัญที่แต่ละฝ่ายจะดำเนินการร่วมกัน

 เป้าหมายเพื่อสมานฉันท์เป้าหมายเพื่อปรองดอง