กลุ่มญาติผู้เสียหายจากเหตุการณ์ 53 แถลงเจตนารมณ์อีกครั้ง พร้อมเปิดรับฟังความเห็นต่อร่าง เล็งแก้มาตรา 3(4) ขยายฐานการนิรโทษให้ครอบคลุมประชาชนที่ถูกคุมขังมากที่สุด ยันไม่นิรโทษทหารที่กระทำ "เกินกว่าเหตุ" ไม่นิรโทษประทุษร้ายชีวิตผู้อื่น ไม่นิรโทษเผาสถานที่เอกชน แต่เชื่อศาลรับฟังมูลเหตุจูงใจทางการเมือง
25 ก.ค.56 ที่อนุสรณ์สถาน 14 ตุลาฯ กลุ่มญาติผู้เสียหายจากเหตุการณ์ทางการเมือง เม.ย.-พ.ค.53 นำโดย นางพะเยาว์ อัคฮาค หรือ แม่น้องเกด และพันธ์ศักดิ์ ศรีเทพ หรือ พ่อน้องเฌอ ผู้สูญเสียลูกในเหตุการณ์ดังกล่าว แถลงเจตจำนงและรับฟังความคิดเห็นต่อร่างพ.ร.บ.นิรโทษกรรมฉบับประชาชน หรือชื่อเต็ม ร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมแก่ประชาชนซึ่งได้กระทำความผิดอันเนื่องมาจากเหตุการณ์ความขัดแย้งทางการเมือง ภายหลังการยึดอำนาจรัฐโดยคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขเมื่อวันที่ 19 กันยายน พ.ศ.2549
นางพะเยาว์ อัคฮาด ได้แถลงเจตจำนงของกลุ่มญาติฯ ที่นำเสนอร่างนี้ว่า เสียงตอบรับร่างฉบับนี้เป็นที่น่าดีใจ เนื่องจากได้รับการตอบรับทั้งสิ่งที่เด่นชัด และสิ่งที่ต้องแก้ไขปรับปรุงเพื่อให้ได้ประโยชน์กับผู้ถูกกระทำ ผู้ไม่ได้รับความเป็นธรรมในทุกๆ สีเสื้อเพื่อให้ได้ออกจากเรือนจำ อย่างไรก็ตาม จากกรณีที่มีหลายร่างถูกบรรจุอยู่ในสภาก็คงมีความขัดแย้งกันอยู่แล้วเพราะเป็นคู่กรณีกันแทบจะทั้งหมด ร่างของญาติจึงเป็นร่างที่อยู่ตัวกลางและอยากให้ใช้เป็นหลักในการพิจารณา เนื่องจากเป็นการเรียกร้องความเป็นธรรมให้ประชาชนผู้บริสุทธิ์ ไม่ได้เอื้อและไม่ได้อุ้มใคร
“พูดง่ายๆ ว่าร่างนี้ผู้ที่จะไม่ได้รับประโยชน์เลยคือ แกนนำหลักทั้งหลาย ผู้สั่งการและกองทัพ อย่างไรก็ตามเราโดนวิพากษ์วิจารณ์ในหลายๆ เรื่อง เราจึงต้องการให้สังคมเป็นผู้ชี้ขัด” พะเยาว์กล่าว
พันธ์ศักดิ์ ศรีเทพ กล่าวถึงกระบวนการยกร่างว่า ต้องทำความเข้าใจก่อนว่าญาติไม่ใช่ผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมาย การร่างกฎหมายนิรโทษกรรมและการผลักดันให้เอาผิดทหารไม่ใช่เรื่องง่ายสำหรับญาติ ก่อนหน้านั้นนางพะเยาว์และญาติคนอื่นๆ ใช้วิธีตระเวนเดินทางไปร้องเรียนหลายที่ตลอดมา จนกระทั่งปีที่แล้วคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย (คปก.) ได้เชิญ นางพะเยาว์ ตนเอง และนิชา ธุวธรรม ภรรยาพ.อ.ร่มเกล้า ในฐานะตัวแทนของญาติผู้เสียชีวิตไปให้ความเห็นต่อร่าง พ.ร.บ.ปรองดอง และพ.ร.บ.นิรโทษกรรม ที่มีอยู่ 5 ฉบับในขณะนั้น ซึ่งมีร่างของ พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ นายนิยม วรปัญญา เมื่อกลุ่มญาติได้ฟังผู้เชี่ยวชาญให้ความเห็นแล้วพบว่า ร่างทั้งหมดจะมีปัญหาเพราะอาจนำไปสู่การละเว้นความผิด นิรโทษกรรมบุคคลซึ่งที่ผ่านมาก็มีความเจ็บปวดแบบนี้อยู่ กลุ่มญาติจึงเริ่มปรึกษากัน
จนเมื่อต้นปีนายวรชัย เหมะ ได้ยื่นร่างและให้สัมภาษณ์ว่าเป็นร่างที่นิรโทษกรรมประชาชนทุกคน ทำให้เกิดความหวังแต่ ปัญหาคือ ร่างของวรชัยไม่ได้พูดถึงปฏิบัติการทางทหาร กฎหมายนิรโทษกรรมก็ไม่พูดถึงสิ่งที่จะนิรโทษกรรม กลุ่มญาติจึงรู้สึกว่ามีกระบวนการบางอย่างที่จะยอมรับว่าปฏิบัติการทางทหารในช่วงเม.ย.-พ.ค.53 ชอบธรรม จึงเริ่มปรึกษานักกฎหมาย อาจารย์กฎหมายและนักสิทธิมนุษยชน สุดท้ายได้คำแนะนำว่าญาติน่าจะร่างกฎหมายด้วยตัวเอง เป็นเหตุที่เราต้องระดมญาติมาให้ความเห็นกัน
เขากล่าวด้วยว่า ก่อนยกร่างมีการให้ความเห็นกัน โดยอาจารย์ท่านหนึ่งช่วยตั้งต้นให้ โดยบอกว่าอย่าไปดูที่หน้าตาว่าจะนิรโทษให้ใคร เพราะเมื่อออกกฎหมายมาจริงๆ จะเป็นเรื่องที่ควบคู่กับการพิจารณาความอาญา ดังนั้น ต้องมองที่การกระทำ ว่าการกระทำใดควรนิรโทษ การกระทำใดไม่ควรนิรโทษ ซึ่งญาติก็ได้แสดงเจตนารมณ์ไว้แล้ว โดยเราใช้หลักการทางกฎหมายที่กว้างที่สุด คือ หลักการของรัฐในการให้ความคุ้มครองประชาชนและทรัพย์สินของเอกชน
“เราเชื่อว่ารัฐไม่มีสิทธิจะนิรโทษกรรมให้กับการฆ่าคนอื่น เพราะรัฐไม่ใช่เจ้าของชีวิตใคร นั่นข้อแรก ข้อที่สองคือ รัฐไม่มีสิทธินิรโทษในการทำลายทรัพย์สินของเอกชน เพราะรัฐไม่ใช่เจ้าของทรัพย์สินนั้น เราจึงยึดสองข้อนี้เป็นหลัก” พันธ์ศักดิ์กล่าว
เขากล่าวว่า ภรรยาของพ.อ.ร่มเกล้าก็ออกมาพูดถึงร่างวรชัยว่าการนิรโทษกรรมประชาชนทุกคนไม่น่าจะเป็นไปได้เพราะเชื่อว่าสามีมาปฏิบัติหน้าที่ทางราชการทางทหาร เสียชีวิตในระหว่างปฏิบัติหน้าที่ในขณะที่มีการกล่าวหาว่ามีกองกำลัง มีอาวุธในที่ชุมนุม กลุ่มญาติจึงเขียนมาตรา 3 (4) ขึ้นมาในส่วนของผู้ที่เผาทรัพย์สินเอกชนรวมถึงผู้ที่ประทุษร้ายต่อผู้อื่นถึงแก่ชีวิต โดยแยกออกจากมาตรา 4 ที่มุ่งเฉพาะเจาะจงไปที่ปฏิบัติการทางทหาร แต่อย่างที่หลายท่านทราบแล้วว่า มาตรา 3(1), (2), (3) นั้นได้คัดลอกมาจากร่างของคณะนิติราษฎร์ โดยได้รับคำบอกเล่าจากอาจารย์ท่านหนึ่งในนิติราษฎร์ว่าเป็นบริการวิชาการสาธารณะ จึงสามารถนำมาใช้ได้
เขากล่าวด้วยว่า ในร่างยังมีบางถ้อยคำที่มีปัญหา และเริ่มรับฟังความคิดเห็นมาเรื่อยๆ และพบว่าสุดท้ายยังมีความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนกันอยู่ การเข้าใจเนื้อหาเป็นเรื่องที่คลาดเคลื่อนกันได้ และเป็นการยากที่จะร่างโดยเสร็จสมบูรณ์เพราะกลุ่มญาติไม่ใช่นักกฎหมาย เราก็อยากฟังความคิดเห็นเช่นกัน
“แต่ในส่วนที่คลาดเคลื่อนจากเจตนารมณ์ เราค่อนข้างแปลกใจเพราะเราเดินสายและพูดถึงเจตนารมณ์ของเรามากกว่าการพูดถึงเนื้อหาเพราะเราก็ยอมรับว่าเราไม่ได้แม่นเรื่องเนื้อหามากมายนัก เพื่อนบางคนได้ให้คำแนะนำหลายๆ เรื่องโดยเฉพาะเรื่องการเผาทำลายทรัพย์สินราชการที่เราจะนิรโทษแล้วผมตัดข้อความออกไป โดยเพื่อนแนะนำว่าควรใส่กลับเขามาใหม่ รวมทั้งขยายความไปถึงการบุกรุกสถานที่ราชการ จะได้คลอบคลุมถึงทั้งกลุ่มพันธมิตรฯ และกลุ่มเสื้อแดง ในส่วนทรัพย์สินเอกชน คงต้องพิสูจน์กันด้วยวิธีพิจารณาความอาญาว่ามีเหตุจูงใจทางการเมืองหรือไม่ ซึ่งเชื่อว่าศาลจะรับฟังได้ ส่วนจะวินิจฉัยอย่างไรคงเป็นหน้าที่ของศาล” พันธ์ศักดิ์กล่าว
เขากล่าวด้วยว่า วันนี้จะเป็นการรับฟังอีกครั้ง หลังจากนั้นจะมีกลุ่มเพื่อนช่วยนำความคิดเห็นไปปรับใช้ในร่างหลักที่มีและเป็นไปตามเจตนารมณ์ของญาติ หลังเสร็จสิ้นก็จะนำเสนอกับพรรคร่วมรัฐบาลที่ไม่ใช่พรรคประชาธิปัตย์และพรรคเพื่อไทย
“แต่สุดท้ายเราถือว่าเรายื่นกับรัฐสภา ส.ส.ท่านไหนจะมาลงชื่อก็เป็นเอกสิทธิของส.ส.แต่ละคน เราปิดกั้นการลงชื่อไม่ได้ ถ้าสังคมตอบรับว่าร่างฉบับประชาชนดีกว่าร่างอื่นๆ ครอบคลุมและตอบโจทย์ปัญหาสังคมการเมืองได้มากกว่า หากส.ส.ท่านใดไม่ลงชื่อคงทำได้แค่เพียงให้ประชาชนในพื้นที่ตั้งคำถามกับส.ส.ท่านนั้นเอง” พันธ์ศักดิ์กล่าว
สมบัติ บุญงามอนงค์ หรือ บก.ลายจุด นักกิจกรรมทางการเมือง กล่าวว่า ในขณะที่เรายังมีปัญหาเรื่องกีฬาสี การนิรโทษกรรมกลายเป็นของแสลงในบรรยากาศปัจจุบัน ว่ากันตามตรงคนส่วนใหญ่ในสังคมยังรับไม่ได้กับการนิรโทษกรรมเพราะมีความแค้นกันอยู่ มีคนอยู่ในอารมณ์นี้ซึ่งเป็นสิทธิที่คนจะแค้น ใครโดนเองย่อมต้องแค้น แต่ประเด็นการนิรโทษกรรมเกิดจากการที่มีคนบางกลุ่มที่ไม่ได้รับสิทธิตามรัฐธรรมนูญในการประกันตัว
“จุดเริ่มต้นของเรื่องนี้ เริ่มแรกมันเกิดจากที่ คนกลุ่มหนึ่งไม่ได้รับสิทธิในการประกันตัว แล้วหมดหนทาง จนเกิดการเคลื่อนไหวให้มีการออกกฎหมายเพื่อเอาคนกลุ่มนี้ออกจากคุก แต่การไปนิรโทษกรรมก็เข้าเกมการเมืองพอเอากฎหมายเข้ามานิรโทษกรรมคน เพียงแค่ต้องการให้เขาออกจากคุกก่อน ที่จริงแล้วเรื่องนิรโทษกรรม เกือบทุกฝ่ายเอากลับไปได้ก่อนเลย ถ้าศาลให้สิทธิในการประกันตัวเสมอกันทุกฝ่าย กฎหมายนิรโทษกรรมทุกฉบับถอยได้หมด แต่มันเป็นเอกสิทธิ์ของศาลว่ากรณีใดจะให้ประกันตัว แต่มันก็ดันกันมาจนถึงจุดนี้”สมบัติกล่าว
“ผมได้รับเชิญมาในวันนี้เพราะบรรยากาศต่อการเสนอของญาติ วัฒนธรรมในการอภิปรายกันในเรื่องนี้แย่มาก ไม่มีวัฒนธรรมการถกเถียงกันอย่างมีเนื้อหาสาระ ผมให้สัมภาษณ์ว่าผมเห็นด้วยกับแนวทางของวรชัย เพราะเห็นว่าทำได้จริงในช่วงเวลาปัจจุบัน อย่างไรก็ตาม การเสนอความคิดของเครือข่ายญาติเป็นสิทธิ หมายความว่าทุกฝ่ายมีสิทธิ ปชป.จะเสนออีกร่างก็เป็นสิทธิ แต่ผมแปลกใจที่พอเครือข่ายญาติเสนออกมาแล้วเกิดปฏิกิริยารุนแรงมาก” สมบัติกล่าว
สมบัติกล่าวถึงส่วนของเนื้อหาโดยยกกรณีจำเลยซึ่งถูกจับที่สามเหลี่ยมดินแดงในข้อหาปล้นปืนทหาร (ขึ้นไปแย่งปืนบนรถทหาร) จะมองว่าเป็นการปล้นหรือเป็นการยึดปืนจากทหาร ซึ่งแม้ประชาชนไม่มีสิทธิ แต่รูปการณ์ตอนนั้นประชาชนไปบล็อกทหารเพื่อไม่ให้เอากำลังและอาวุธเข้ามาสลายการชุมนุมกระทำความรุนแรงต่อประชาชน ถามว่าคนไปบล็อกมีเจตนาทางการเมืองไหม กรณีขอนแก่นมีบล็อกขบวนรถไฟที่ขนรถถังทหาร ถามว่าเป็นการกระทำที่จะได้รับการนิรโทษภายใต้กฎหมายฉบับนี้ไหม กรณีเผาศาลากลาก็มีเหตุจูงใจทางการเมือง ต้องช่วยเขาออก มาต่อให้เผา การเผาศาลากลางที่อุบลราชธานี ตำรวจออกหมายจับคน 300 คนจากหลักฐานเพียงมีรูปปรากฏในที่ชุมนุม เวลานั้นรัฐใช้มาตรการหว่านแหเพื่อให้ประชาชนกลัว เวลานี้คนจำนวนมากยังกลับบ้านไม่ได้ ถามว่าถ้าถูกจับมาจะได้ประกันไหม กรณีการปล้นเซเว่นบริเวณบ่อนไก่ที่ถูกปิดล้อม มีเด็กวัยรุ่นวิ่งไปเอาอาหารมาแจกให้คนในชุมชน การกระทำแบบนี้จะพิจารณาอย่างไร นอกจากนี้ยังไม่รู้ว่ามาตรา 112 อยู่ในร่างนี้ด้วยไหม
“เอาเข้าจริงเรายังไม่มีความพร้อมในการพูดเรื่องนิรโทษกรรมเท่าไร แต่เราต้องเดินหน้าด้วยเหตุผลว่า คนของเราจำนวนหนึ่งอยู่ในคุก ไม่ได้รับสิทธิประกันตัว ถ้าได้ประกันตัวสู้กันชั้นศาล ใช้เวลาสักนิดแล้วมาพูดเรื่องนี้กันอีกทีจะดี” สมบัติกล่าว
เขายังให้ความเห็นต่อกรณีการออกมาให้สัมภาษณ์ของนายอภิสิทธิ์ต่อเรื่องนี้ว่า ผู้นำฝ่ายค้านมักพูดอะไรเก๋ๆ เช่นการบอกว่าผู้ถูกจับโดยพ.ร.ก.ฉุกเฉินไม่ควรไปเอาผิด เป็นสิทธิเสรีภาพของประชาชน แต่ตนก็เห็นหนึ่งในประชาชนจำนวนมากที่โดนข้อหานี้และถูกนำไปกักตัวที่ ตชด.ดังนั้น กรณีนี้แทบไม่เหลือใครแล้วที่โดนข้อหานี้แล้วไม่ติดคุก
อดุลย์ เขียวบริบูรณ์ ประธานคณะกรรมการญาติวีรชนพฤษภา 2535 กล่าวว่าพูดได้เพียงว่าสิ่งที่เรียกร้องให้นิรโทษกรรมเหมาะสมไหมในช่วงเวลานี้ โดยเท้าความว่าสมัยพฤษภาทมิฬ ทหารออกมาปราบปรามจนเกิดความสูญเสีย ก่อนออกจากเก้าอี้ก็ออกนิรโทษกรรมเลยโดยไม่มีการสอบสวน ไม่ว่าจะคัดค้านต่อสู้อย่างไรก็ไม่เป็นผล ญาติพฤษภาทมิฬเห็นว่า ไม่ว่าเหลืองหรือแดงครั้งหนึ่งเคยเป็นพวกเดียวกันทั้งหมด แต่บัดนี้มีความเห็นต่างอยู่คนละข้าง นำพาสู่การเรียกร้องในปี 50-53 จนถูกรัฐตั้งข้อกล่าวหา จับกุมคุมขังเป็นจำนวนมาก มีทั้งฝ่ายเสื้อเหลืองและเสื้อแดงด้วย มองว่าทำอย่างไรจะให้พวกเขาได้พ้นทุกข์กลับไปหาครอบครัว
อดุลย์กล่าวว่า เขาเคยเรียกร้องให้มีการนิรโทษกรรม 11 สัปดาห์เต็ม แม้ว่าจะมีประสบการณ์ที่เจ็บปวดกับการนิรโทษกรรมเมื่อคราวพฤษภาคม 2535 จนต้องกลายเป็นพลเมืองชั้นสองที่ไม่มีสิทธิจะไปฟ้องร้องให้เป็นคดีได้ด้วยซ้ำ แต่ที่ออกมาเรียกร้องในเวลานี้เพราะเห็นว่านี่เป็นครั้งแรกที่ภาคประชาชนผู้ได้รับความทุกข์สมควรได้รับการปลดปล่อย เพราะ การกระทำผิดไม่ได้มุ่งหมายถึงขั้นเอาชีวิต เขาสมควรได้รับการลดโทษ จนกระทั่งได้ร่วมกับ คปก.ทำการศึกษาเปรียบเทียบร่างนิรโทษกรรมหลายฉบับ และคาดว่าคปก.จะเสนอหลักการต่อรัฐบาลในเวลาต่อไปว่า การนิรโทษกรรมควรจะเป็นแบบไหน การกระทำได้ควรจะได้รับการนิรโทษกรรม อย่างไรก็ตาม ยังเห็นว่าแม้มีความเห็นต่าง แต่ร่างของวรชัยเหมะ และร่างของพะเยาว์ก็ไม่ได้ต่างกันมากนัก เพราะมีความมุ่งหมายจะนิรโทษกรรมให้ประชาชนเป็นหลัก แต่ร่างของวรชัยค่อนข้างกว้างกว่าและพยายามจะนิรโทษกรรมให้ทุกฝ่าย
เขากล่าวว่า ที่น่าแปลกใจ คือ ตลอดมากองทัพมีส่วนเกี่ยวข้องที่ทำให้เกิดความเสียหายปี 53 แต่ผู้นำเหล่าทัพยังไม่ถูกดำเนินคดีแต่อย่างใด ผู้นำเหล่าทัพและกองทัพเองก็ไม่เคยออกมายอมรับว่าทำผิด และยืนยันว่าทำถูกมาโดยตลอด จึงเป็นเรื่องน่าแปลกว่าร่างของนายวรชัยจะไปนิรโทษกรรมให้คนที่เขาไม่ผิดได้อย่างไร เพราะไม่ว่าจะเป็นแกนนำเสื้อแดง เสื้อเหลือง ผู้สั่งการไม่ว่าอภิสิทธิ์ เวชาชีวะ สุเทพ เทือกสุบรรณ ล้วนแล้วถูกกล่าวหาดำเนินคดีและยืนยันว่าพร้อมไปพูดในศาล
“กองทัพยังไม่เคยยอมรับผิด และว่าทำถูกด้วย แล้วจะไปนิรโทษกรรมให้คนไม่ยอมรับผิดได้อย่างไร นี่คือคำถามผม ” อดุลย์กล่าว และว่าร่างทั้ง 6 ฉบับมีโอกาสจะสร้างความขัดแย้งสูงและตีความไม่รู้จบ เชื่อว่าฉบับประชาชนหากเปิดให้สังคมได้พิจารณา วิพากษ์วิจารณ์ เพื่อสิ่งที่เหมาะสมสำหรับทุกฝ่ายจะได้ลดความขัดแย้งลงได้
ในอนุกรรมการพิจารณาร่างทั้ง 6 ฉบับ ของคปก. ซึ่งเมื่อรวมฉบับประชาชนแล้วเป็น 7 ฉบับ ได้ข้อสรุปจากสาธารณะชัดเจนว่า 1. คำถามว่าเรื่องนี้ควรออกเป็น พ.ร.ก. พ.ร.บ. หรือออกกฎหมายแก้รัฐธรรมนูญ สังคมตอบชัดว่า พ.ร.ก.เป็นทางออกที่ดีที่สุด แต่อย่างนั้นจะต้องออกตั้งแต่ตอนเปลี่ยนรัฐบาลมีเป้าหมายเพื่อให้สังคมสงบ แต่เมื่อไม่ได้ทำ และปล่อยเวลานานมาเกือบ 3 ปี จึงคิดว่าควรออกเป็น พ.ร.บ. ส่วนการแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นเรื่องยากพอสมควร 2.ใครอยู่ในข่ายบ้าง ตนได้เสนออาจารย์ที่ธรรมศาสตร์ ว่า การใช้ความรุนแรงโดยเฉพาะการเผาศาลากลางมีความผิด แต่ก็นิรโทษกรรมได้ แต่นักกฎหมายมหาชนและนักกฎหมายอาญา แยกเรื่องนี้เป็นสองส่วน ว่าตั้งใจหรือวางแผนมาเผาโดยเฉพาะ หรือเกิดจากสถานการณ์ยั่วยุพาไปจนเกิดความรุนแรง อย่างหลังควรได้อานิสงส์ ส่วนการเผาเอกชนผิดอยู่แล้วไม่ต้องพูดถึง
ในช่วงท้ายได้เปิดให้มีการถกเถียง โดยอุเชนทร์ เชียงเสน นักกิจกรรมกล่าวว่า ตอนนี้กลุ่มญาติกลายเป็นกระโดนต้องรับผิดในสิ่งที่ไม่ใช่ความผิดของพวกเขา ร่างกฎหมายของกลุ่มญาติไม่ได้เลวร้าย แต่ทำไมปฏิกิริยาของสังคมโดยเฉพาะกลุ่มคนเสื้อแดงจึงแรงมาก
สำหรับคนที่จุดประเด็นเรื่องนิรโทษกรรมต้องให้เครดิตกับกลุ่มนิติราษฎร์ และกลุ่ม 29 มกราฯ แต่จุดเด่นของร่างนี้คือ การพูดถึงเรื่องทหาร อย่างไรก็ตาม เราสามารถเถียงกันได้ว่าร่างของวรชัยครอบคลุมถึงทหารหรือไม่ แต่อย่างไรเสียข้อเสนอของญาติในร่างนี้ก็ควรรับไว้
เขากล่าวต่อว่า เขาเห็นด้วยกับข้อวิจารณ์ว่า การเลือกนิรโทษกรรมโดยให้แยกแยะการเผาสถานที่เอกชนและการเผาสถานที่รัฐนั้นเป็นสิ่งลำบาก เพราะความรุนแรงของประชาชน เป็นปฏิกิริยาตอบกลับต่อความรุนแรงของรัฐ ซึ่งในประวัติศาสตร์การเมืองที่ผ่านมาประชาชนก็เผาทั้งสถานที่รัฐและสถานที่เอกชนด้วยความโกรธแค้น แต่สิ่งหนึ่งที่เป็นปมของเสื้อแดงหลายคนคือ กรณีไม่นิรโทษกรรมให้กับคนที่ใช้กำลังประทุษร้ายคนอื่นเพื่อมุ่งหมายเอาชีวิต เราต้องยอมรับว่ามีการยิงทหาร ตำรวจเสียชีวิต มีการยิงเอ็ม 79 จนคนที่สีลมเสียชีวิต
“เราไม่รู้ว่าคนกลุ่มนี้คือใคร แต่คนที่มุ่งหวังประทุษร้ายเอาชีวิตคนอื่น ต่อให้เป็นพวกเรา คนกลุ่มนี้ไม่ควรได้รับการนิรโทษกรรม” อุเชนทร์กล่าว
อานนท์ นำภา ทนายความแสดงความเห็นว่า จุดที่เห็นตรงกัน คือ หลักการที่จะไม่นิรโทษกรรมให้ทหารและผู้สั่งการทั้งอภิสิทธิ์และสุเทพ ซึ่งในสถานการณ์จริงนั้นลำดับชั้นในการตัดสินใจเชื่อว่ามีน้อยกว่าระดับผู้บังคับบัญชาของทหาร ซึ่งมักออกมาใส่ร้ายเสื้อแดงรายวัน สร้างแรงจูงใจให้ทหารชั้นผู้น้อยในการปราบปราม ส่วนที่หลายคนกังวลว่าไม่ควรเอาผิดทหารเกณฑ์ระดับปฏิบัติการ ในความเป็นจริงทหารเกณฑ์ไม่ได้รับอนุญาตให้พกปืน มีแต่ทหารชั้นสูงขึ้นไป และประเด็นของคำว่า “ไม่เกินกว่าเหตุ” ก็ไม่เป็นปัญหาหากยึดให้เป็นไปตามหลักสากล หลายกรณีชี้ชัดว่าเกินกว่าเหตุแน่ เช่นการยิงผู้ชุมนุมที่หัว การยิงใส่ถึง 11 นัด
ในส่วนที่เห็นต่างคือ ข้อจำกัดในการนิรโทษกรรมให้ประชาชนนั้น เห็นว่า ต่อให้เป็นทรัพย์เอกชนก็ต้องยกเว้นให้เขาหากมีมูลเหตุจูงใจทางการเมือง และต่อให้เป็นการกระทำที่ประทุศร้ายต่อชีวิตก็ควรนิรโทษกรรมหากมีเหตุจูงใจจากการเมือง เช่นกรณีที่เชียงใหม่ มีการปาของตอบโต้กันจนมีการยิงกันในช่วงค่ำ มูลเหตุจูงใจไม่ใช่การฆ่าเฉพาะราย ไม่ใช่โดนจ้างมาฆ่า แต่เป็นมูลเหตุโดยรวมของความขัดแย้ง
“หลายคดีที่ติดคุกตอนนี้เกี่ยวกับ พ.ร.บ.อาวุธปืน วัตถุระเบิด ถ้าไม่ได้มุ่งหมายอย่างอื่นนอกจากเจตนาทางการเมืองก็ควรครอบคลุม” อานนท์กล่าว
อุเชนทร์กล่าวว่า ในประเด็นของอานนท์ที่หยิบยกกรณีเชียงใหม่นั้น เวลาคิดเรื่องนิรโทษกรรม ต้องไม่คิดจากฝ่ายเหลืองหรือแดง ถ้าคิดจากขั้วตรงข้ามจะไม่ make sense ควรยึดหลักว่าถหากใช้กำลังประทุษร้ายไม่เกินกว่าเหตุต้องได้รับทั้งนิรโทษกรรมทั้งสองส่วน เพื่อทำให้ประชาชนทั้งสองฝ่ายเข้าใจกันได้ อยู่กันได้
อานนท์ กล่าวว่า คำว่า “เกินกว่าเหตุ” ระหว่างเจ้าหน้าที่รัฐกับประชาชนย่อมมีระดับที่แตกต่างกัน กรณีที่ยกตัวอย่างที่เชียงใหม่ ไม่ใช่ต้องการให้นิรโทษกรรมเฉพาะเสื้อแดง เพราะกรณีของเสื้อเหลืองก็มีคดีของนายปรีชา ซึ่งถูกล่าวหาว่าจะขับรถทับตำรวจเมื่อ 7 ตุลา 2551 และถูกลงโทษหนักเช่นกัน แต่กรณีนี้มีเหตุจูงใจทางการเมืองแน่ ต้องได้รับนิรโทษกรรมเช่นกัน รวมถึงการกระทำของกลุ่มเสื้อเหลืองอีกหลายๆ กรณี
ผุสดี งามขำ ซึ่งได้รับฉายาว่า “เสื้อแดงคนสุดท้าย” เนื่องจากปรากฏภาพนั่งอยู่ในที่ชุมนุมเป็นคนสุดท้ายในขณะทหารเข้าสลายการชุมนุม กล่าวว่า ร่างของญาติผู้สูญเสียถือเป็นร่างกลาง ไม่ใช่ของกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง เป็นจุดรวมของผู้สูญเสีย ทั้งทหาร ตำรวจ ประชาชน เป็นหลักประกันให้แผ่นดินนี้ว่าจะไม่บ้าเลือดฆ่ากันอีกแม้ว่าจะมีความกดดันใดๆ แต่การที่เราไม่ใช่นักกฎหมาย ถ้อยคำอาจไม่รัดกุม แต่ที่ผ่านมามีการเห็นแก่ประโยชน์ตนเองและพวกพ้อง คนเสื้อแดงจำนวนมากด่าว่าญาติอย่างน่าเสียใจ จึงขอลาออกจากเสื้อแดง และต่อไปจะสู้ในฐานะประชาชน
พันธ์ศักดิ์ ให้สัมภาษณ์ภายหลังเวทีว่า กรณีคำว่า “เกินกว่าเหตุ” สุดท้ายต้องนำประมวลวิธีพิจารณากฎหมายอาญาเข้ามาจับในกระบวนการนี้ ทุกร่างต่างก็ไม่มีกระบวนการ อาจต้องใส่กระบวนการนี้เข้าไปโดยต้องไปเริ่มที่ศาล อาจเริ่มจากการไต่สวนก่อน กรณีที่ยกตัวอย่างหลายๆ อย่างไม่ต้องถามว่าเกินกว่าเหตุหรือไม่ แต่ในกรณีที่มีหลายกรมกองในพื้นที่ จับคนทำจริงๆ ไม่ได้ ผู้บังคับบัญชาก็ต้องรับผิดชอบ ส่วนที่มี พ.ร.ก.ฉุกเฉินคุ้มครองทหารอยู่นั้น ตัว พ.ร.ก.ก็พูดว่าทำอะไรได้แค่ไหน หรือกรณีที่สุเทพชอบอ้างคำสั่ง ในฐานะประธาน ศอฉ.โดยชูกระดาษแผ่นเดียวว่าไม่มีการสั่งให้ใช้ความรุนแรง แต่ข้อเท็จจริงยังมีการฆ่ากัน 1 เดือน 9 วันแสดงว่ากระดาษแผ่นนั้นไม่มีความหมาย อย่างน้อยต้องโดนข้อหาละเว้น ละเลยการปฏิบัติหน้าที่
เรื่องความกังวลว่าจะไม่ครอบคลุมนักโทษการเมืองนั้นเห็นว่า ต้องการขยายฐานการนิรโทษกรรมดังที่มีคนเสนอแนะ เพราะคำของญาติค่อนข้างรัดชัดและดิ้นไม่หลุด ที่เป็นเช่นนั้นเพราะญาติก็ต้องการเจาะจงกับทหารด้วย คาดว่าทางกลุ่มจะเขียนใหม่ในส่วนถ้อยคำที่ตัดไป โดยเฉพาะประเด็นเผาสถานที่ราชการให้ได้รับการนิรโทษที่ถูกตัดไปต้องนำเข้ามาใหม่ เพราะในร่างเขียนเพียงว่าการเผาทำลายทรัพย์สินเอกชนเป็นความผิด อย่างไรก็ตาม การขยายฐานนั้นรวมมวลชนทั้งสองฝ่ายเช่นกัน
กรณีร่างของวรชัยนั้น ไม่มีการเขียนเรื่องทหาร การไม่เขียนคือการเขียน กฎหมายนิรโทษต้องเขียนว่าจะนิรโทษใครบ้าง แต่จู่ๆ กลับไม่เขียนเรื่องนี้ นั่นเป็นปฏิบัติการที่ชอบธรรมทางกฎหมายแน่ๆ ที่จะให้การนิรโทษทหาร และเมื่อถามแล้วยิ่งมั่นใจ ทุกคนอึ้งเพราะไม่เคยมีใครเห็นร่างนี้ ฟังแต่การให้สัมภาษณ์ลอยๆ ของวรชัยที่จะนิรโทษประชาชนทุกคนยกเว้นแกนนำ ผู้บังคับบัญชา อย่างไรก็ตาม ในชั้นกรรมาธิการจะไปเพิ่มเติมเนื้อหาที่จะเอาผิดทหารในภายหลังก็ไม่ได้ เพราะรับหลักการกระดาษแผ่นเดียวไปแล้ว ดังนั้นโดยความเข้าใจส่วนตัว กระดาษแผ่นแรกและเจตนารมณ์เจ้าของร่างจึงสำคัญ และเจตนารมณ์เขาก็ชัดแล้วว่าไม่เอาผิดทหาร
ในกรณีของมาตรา 112 เขากล่าวว่า ในมาตรา 3 (3) มีการตีความว่าอาจครอบคลุมการนิรโทษเรื่องนี้ กลุ่มญาติไม่ได้มีเจตนารมณ์ให้เกี่ยวข้องกับมาตรานี้ อย่างไรก็ตามเห็นว่าไม่จำเป็นต้องเขียนเพิ่มเติม ส่วนในขั้นแปรญัตติจะมีการเขียนเพิ่มเติมให้ชัดเจนขึ้นหรือไม่เป็นสิทธิของคณะกรรมาธิการ