"พวงทอง ภวัครพันธุ์"
ถามทะเลาะกันทำไม-มองทะลุปมขัดแย้งร่างพรบ.นิรโทษกรรมฯ
หมายเหตุ :
รศ.ดร.พวงทอง ภวัครพันธุ์ อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
โพสต์ข้อความเผยแพร่ในเฟซบุ๊ก http://www.facebook.com/puangthong.r.pawakapan/ เนื้อหาระบุถึงกรณีความขัดแย้งและวิวาทะที่เกิดขึ้นระหว่างกลุ่มที่สนับสนุนร่างพรบ.นิรโทษกรรมฯ
ฉบับ วรชัย เหมะ กับร่างพรบ.นิรโทษกรรมฯ ฉบับประชาชน มีเนื้อหาดังนี้
ทะเลาะกันไปทำไม
หลายคนคงรู้สึกเหมือนเราว่า
เวลาเห็นเพื่อน ๆ ในแวดวงคนทำงานการเมืองซึ่งมีแค่หยิบมือเดียว ทะเลาะกันเองแล้ว
เศร้า
กรณีล่าสุดก็ได้ทำให้คนหลายคนต้องเลิกคบกันไปแล้ว
เรื่อง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมน่ะเอง
ไม่ได้จะดราม่า
แต่อยากชวนให้มองด้านดีของกันและกันให้มากขึ้น
กลุ่มปฏิญญาหน้าศาลที่นำโดย
อ.หวาน สุดา รังกุพันธ์
ได้รณรงค์-เรียกร้อง-ต่อสู้ให้นิรโทษกรรมนักโทษการเมืองมาร่วมปีอย่างไม่เหน็ดเหนื่อย
จัดเสวนาหน้าศาลอาญาทุกวันอาทิตย์ จัดเลี้ยงข้าวนักโทษที่หลักสี่ทุกวันเสาร์
แวะไปเยี่ยมนักโทษ 112 ที่บางขวางเป็นประจำ เป็นศูนย์กลางที่พึ่งทั้งทางใจและทางกายให้กับทั้งนักโทษการเมืองและครอบครัวของพวกเขา
เมื่อครั้งที่ไปเยี่ยมนักโทษการเมืองที่คุกหลักสี่
เรายังจำแววตาที่ปนเปไปด้วยความหวัง ความไม่แน่ใจ ความเศร้าเหล่านั้นได้ดี
โดยเฉพาะสายตาของ ปัทมา มูลมิล (อายุ 24 ปี) กับธีรวัฒน์ สัจสุวรรณ (22 ปี) พวกเขาดูเด็กมาก โทษจำคุก 34
ปีมันมากมายเกินไปสำหรับพวกเขา ปัทมาซึ่งเป็นผู้หญิงคนเดียวในคุกหลักสี่
เคยเครียดจนคิดจะฆ่าตัวตาย เรายังได้เจอกับญาติของนักโทษในที่อื่นๆอีก
พวกเขาพูดถึงคนที่ตนรักที่ยังติดคุก ด้วยน้ำตาอาบหน้าทุกที
นาน
ๆ ทีเราจึงจะได้พบกับพวกเขา แต่เราก็กลับบ้านด้วยความเศร้าทุกที แต่
อ.หวานและเพื่อนใช้เวลาคลุกคลีอยู่กับพวกเขาอยู่ตลอดเวลา
ได้รับรู้ถึงความทุกข์ของพวกเขาอย่างใกล้ชิด กลายเป็นความผูกพัน
เป็นภาระหน้าที่ที่ต้องทำ และนี่เองที่เราเชื่อว่าเป็นเหตุผลสำคัญที่ผลักดันให้
อ.หวาน กลายเป็นผู้นำผลักดันเรื่องนิรโทษกรรมอย่างจริงจัง
ผลักดันด้วยความหวังที่จะได้เห็นพวกเขาได้ออกมาอยู่ด้วยกันอีกครั้งหนึ่ง ได้กอดกัน
ได้กินข้าวด้วยกันแบบครอบครัวอีกครั้งหนึ่ง
ความหวังที่ดูห่างไกลในช่วงปีที่ผ่านมา
เริ่มปรากฏเป็นจริงมากขึ้น
เมื่อพรรคเพื่อไทยประกาศในเดือนเมษายนว่าจะบรรจุร่างฉบับวรชัย
เข้าเป็นวาระเร่งด่วนเมื่อเปิดสภา
นักโทษในคุกหลักสี่ต่างก็รับรู้ข่าวนี้กันทั้งนั้น ครั้งที่เราไปเยี่ยมพวกเขา
ดวงตาเขาฉายแววความหวังอย่างเห็นได้ชัด ยิ่งใกล้เปิดสภา
ความหวังก็ดูจะเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ จนทำให้กลุ่มปฏิญญาหน้าศาล
ดูจะสนใจอยู่กับการปลดปล่อยนักโทษการเมืองเท่านั้น ยิ่งผูกผันมาก
ก็ยิ่งอยากเห็นพวกเขาเป็นอิสระโดยเร็วมากขึ้น เรื่องอื่นไม่สำคัญ ไว้ว่ากันทีหลัง
ขอเอานักโทษออกมาก่อน
คงเป็นด้วยอารมณ์เช่นนี้เอง
เมื่อกลุ่มญาติเสนอร่างนิรโทษกรรมของตนเองออกมา กลุ่มปฏิญญาหน้าศาลจึงตั้งตัว
ตั้งสติไม่ทัน กลัวว่าทุกอย่างจะช้าไปอีก
จึงปล่อยคำพูดที่ทิ่มแทงความรู้สึกกลุ่มญาติแบบไม่เกรงใจกัน
เพียงหวังว่าจะปกป้องให้กระบวนการเดินไปแบบไม่มีอะไรมาสะดุดขาอีก แต่ยิ่งตอบโต้กัน
คำพูดก็ยิ่งแรงขึ้นๆ จนกลายเป็นการเหยียบย่ำผู้ตาย
การหมกมุ่นอยู่กับเป้าหมายของตนเองมากเกินไป
อาจทำให้พวกเขาลืมนึกถึงหัวอกของคนเป็นพ่อเป็นแม่ที่เห็นลูกของตนถูกยิงทิ้งอย่างอำมหิตด้วยฝีมือทหาร
แต่กลับมองว่าการไม่ยอมเลิกรากับคนที่มีส่วนร่วมในการฆาตกรรม เป็นความยุ่งยาก
เจ้าปัญหา
แท้ที่จริงแล้ว
หากเราหันไปดูตัวอย่างของบางประเทศ
ที่ประสบความสำเร็จกับการเอาเผด็จการทหารลงมารับโทษอาญาอย่างสาสมกับความผิดของตนนั้น
เราจะพบว่าพลังสำคัญที่อยู่เบื้องหลังความสำเร็จนั้น คือ
ความรักอันยิ่งใหญ่ที่พ่อแม่มีต่อลูกนั่นเอง
อาร์เจนตินาคือกรณีตัวอย่างที่ดีที่สุด
เมื่อเผด็จการทหารขึ้นครองอำนาจในปี 1976 พวกเขาทำ “สงครามสกปรก” (Dirty War) ด้วยการอุ้ม-ฆ่า (forced
disappearance) คนหนุ่มสาวกว่าสามหมื่นคน
คนที่ออกมาป่าวประกาศให้สังคมอาร์เจนตินาและทั่วโลกได้รับรู้ถึงเรื่องราวของสงครามสกปรกนี้ก็คือ
บรรดาแม่ๆ (ที่มีพ่อสนับสนุนอยู่เบื้องหลัง)
พวกเขาเริ่มด้วยการนัดเดินขบวนหน้าจัตุรัสเมโย ใกล้ทำเนียบรัฐบาลทุกวันพฤหัสบ่าย 3 โมง จากไม่กี่สิบคน กลายเป็นหลายร้อยคน พวกแม่จะมีผ้าสีขาวโพกหัว
อันเป็นสัญลักษณ์ของผ้าอ้อมเด็ก การเคลื่อนไหวได้รับความสนใจจากสื่อทั่วโลกมากขึ้นเมื่ออาร์เจนตินาเป็นเจ้าภาพฟุตบอลโลกในปี
1978
แม้ว่าผู้นำ
3 คนของ “ขบวนการแม่แห่งจัตุรัสเมโย” จะถูกทหารอุ้มฆ่าไปด้วย แต่คนที่เหลือก็ไม่ยอมละเลิก
จนกระทั่งระบอบทหารหมดอำนาจลงจากวิกฤตเศรษฐกิจในปี 1984
แม่แห่งจัตุรัสเมโยก็ยังเดินหน้าเรียกร้องให้รัฐบาลพลเรือนสืบค้นหาความจริงและนำผู้นำทหารมาลงโทษให้ได้
ในที่สุด
ในปี 1985 ผู้นำทหารหลายคนถูกนำขึ้นพิจารณาคดี แต่กองทัพขู่ว่าจะทำรัฐประหาร
ผลปรากฏว่ารัฐบาลยอมถอย สภาคองเกรสออกกฎหมายให้ยุติการพิจารณาคดีทั้งหมด
หรือเท่ากับให้อภัยโทษนั่นเอง
แม่จำนวนหนึ่งหมดเรี่ยวแรง
เลิกราไป แต่ก็ยังมีแม่ที่ไม่ยอมพ่ายแพ้ พวกเขาต่อสู้ต่อไปจนกระทั่งในปี 2003
สภาคองเกรสลงมติยกเลิกกฎหมายอภัยโทษ และในปี 2005
ศาลสูงมีความเห็นว่ากฎหมายอภัยโทษขัดกับรัฐธรรมนูญ
ส่งผลให้การพิจารณาคดีผู้นำทหารเริ่มขึ้นอีกครั้ง หลายคนถูกตัดสินจำคุกหลายสิบปี
การต่อสู้ที่ใช้เวลายาวนานถึงสามทศวรรษนี้
หากไม่ใช่ด้วยความรักอันยิ่งใหญ่ของคนเป็นพ่อแม่ ก็คงยากจะยืนหยัดอยู่ได้
สังคมไทยผ่านโศกนาฏกรรมมาหลายครั้ง
คนบริสุทธิ์สูญเสียชีวิตไปโดยไม่สามารถเรียกร้องความยุติธรรมใด ๆ ให้พวกเขาได้
หากใครได้เคยพบเจอพ่อแม่ของคนหนุ่มสาวที่เสียชีวิตในช่วง 14
ตุลา, 6 ตุลา, และพฤษภา 35 ก็คงได้รับรู้ถึงความขมขื่นที่ยังฝังแน่นในใจพวกเขาอยู่
แต่พวกเขาทำอะไรไม่ได้
เพราะชนชั้นนำได้ร่วมมือกันออกกฎหมายนิรโทษกรรมให้กับตนเองไปแล้ว
แต่ในกรณีเมษา-พฤษภา
2553 สิ่งนี้ยังไม่ได้เกิดขึ้น และเราต้องไม่ปล่อยให้มันเกิดขึ้นง่ายๆ
อีกต่อไป
หากพ่อแม่ของผู้เสียชีวิตยังไม่หมดเรี่ยวแรงในการต่อสู้เพื่อความยุติธรรมให้กับครอบครัวของพวกเขา
พวกเรามีหน้าที่ที่จะต้องสนับสนุน
กฎหมายนิรโทษกรรมต้องไม่เพียงช่วยเหลือนักโทษการเมืองที่เป็นชาวบ้านให้พ้นจากการจองจำ
แต่มันต้องสามารถป้องกันไม่ให้อาชญากรรมโดยรัฐมีโอกาสเกิดขึ้นในประเทศนี้ได้อีก