เมื่อเวลา 16.15 น. วันที่ 10 พ.ค. ที่ถ.อักษะ บริเวณชุมนุมของกลุ่มนปช. นายจตุพร พรหมพันธ์ ประธานนปช. แถลงถึงกรณี ที่ นายสุเทพ เทือกสุบรรณ เลขาธิการ กปปส. เสนอให้ประธานศาลฎีกา ประธานศาลปกครอง ประธานศาลรัฐธรรมนูญ และประธานวุฒิสภา ประชุมกันในวันที่ 12 พ.ค. เพื่อให้มีการแต่งตั้งนายกรัฐมนตรี มาตรา 7 ว่า ข้อเสนอดังกล่าวของนายสุเทพ เป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ นายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย ว่าที่ประธานวุฒิสภา ยังไม่ได้รับการโปรดเกล้าฯแต่งตั้ง จึงยังทำให้ไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ใดๆได้ ซึ่งกระบวนการเลือกประธานวุฒิสภาเมื่อวันที่ 9 พ.ค.ที่่ผ่านมานั้น ถือว่าขัดต่อหลักปฏิบัติของวุฒิสภาที่จะมีการเลือกประธานฯในสมัยสามัญ ไม่ใช่สมัยวิสามัญแบบครั้งนี้ ทั้งยังถือเป็นการกระทำที่ขัดรัฐธรรมนูญ กระทำการนอกเหนือไปจากที่ พ.ร.ฎ.เปิดประชุมวุฒิสภาสมัยวิสามัญ กำหนดไว้ ถ้าหากมีผู้ไปร้องศาลกระบวนการโปรดเกล้าฯก็จะต้องล่าช้าไปอีก และ ก็เป็นนายสุเทพเอง ที่ออกมาปฏิเสธว่า นายนิวัฒน์ธำรง บุญทรงไพศาล รองนายกรัฐมนตรี ปฏิบัติหน้าที่นายกรัฐมนตรี ไม่มีอำนาจในการทูลเกล้าฯ พ.ร.ฎ.กำหนดวันเลือกตั้ง ก็เท่ากับว่า จะไม่มีใครนำชื่อประธานวุฒิสภาขึ้นทูลเกล้าฯ ตนคิดว่านายสุเทพวางสนุ้กตัวเอง
นายจตุพร กล่าวอีกว่า ขอยืนยันว่า นายนิวัฒน์ธำรง มีอำนาจตามที่นายกรัฐมนตรีรักษาการมีทุกอย่าง และจากเหตุการณ์เมื่อปี 51 ที่ศาลรัฐธรรมนูญชี้ให้ นายสมชาย วงษ์สวัสดิ์ อดีตนายกรัฐมนตรี สิ้นสภาพความเป็นนายกรัฐมนตรี และยุบพรรคพลังประชาชน พรรคชาติไทย และพรรคมัชฌิมาประชาธิปไตย นั้น นายชวรัตน์ ชาญวีรกุล ซึ่งเป็นรองนายกรัฐมนตรีอันดับ 3 ก็ขึ้นมารักษาการนายกรัฐมนตรี และนายสุเทพ ก็ไม่เคยทักท้วงว่า นายเชาวรัตน์ จะรักษาการไม่ได้ จนกระทั่งมีการดีลจัดตั้งรัฐบาลประชาธิปัตย์ในค่ายทหารจนสำเร็จ แต่ครั้งนี้กลับมาปฏิเสธว่า รองนายกฯไม่สามารถรักษาการนายกรัฐมตรีได้
ประธานนปช. กล่าวอีกว่า ข้อเสนอที่ให้ประธานวุฒิสภา และประธานศาลทั้ง 3 ประชุมกัน เป็นสิ่งที่ไม่มีในบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ ที่กำหนดให้ ประธานศาล จะมีอำนาจมาปรึกษาหารือกันเพื่อเลือกนายกรัฐมนตรีได้ ตนจึงอยากเรียกร้องไปยังประธานศาลทั้ง 3 ว่า หากดำเนินการตามที่นายสุเทพยุแยงจะถือเป็นการสร้างวิกฤติชาติ อันจะนำไปสู่สงครามกลางเมือง ทางออกของประเทศไทยต้องเป็นไปตามระบอบประชาธิปไตย ไม่มีอำนาจฝ่ายใดมาอยู่เหนือการเมืองได้ และขอยืนยันว่า ตอนนี้ประเทศไทยไม่มีสุญญากาศทางการเมือง
"ขอเรียกร้องให้ประธานศาลโดยเฉพาะประธานศาลฎีกาอันถือเป็นประมุขของฝ่ายตุลาการ ที่ไม่เคยถูกประชาชนเคลือบแคลงสงสัยมาก่อนว่า อย่าไปประชุมปรึกษากันในวันที่ 12 พ.ค. หรือวันที่ 11 พ.ค. เพื่อหวังจะเร่งเกมให้เสร็จโดยเร็วตามข้อเสนอของนายสุเทพ ซึ่งเป็นกบฎตามที่อัยการส่งฟ้องศาลแล้ว เพราะจะเป็นการทำให้อำนาจฝ่ายตุลาการต้องมาแปดเปื้อน กลุ่ม นปช.หวังเป็นอย่างยิ่งว่าการประชุมดังกล่าวในวันที่ 12 พ.ค. จะไม่เกิดขึ้น เพราะคนเสื้อแดงไม่อาจยอมรับการแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีที่ไม่ได้เป็นไปตามวิถีทางประชาธิปไตยได้ ผมคาดหวังว่าประมุขฝ่ายตุลาการจะคลี่คลายปัญหา ไม่ใช่มาสร้างวิกฤติความขัดแย้ง หากประธานศาลและประธานวุฒิฯมีการไปประชุมกันเมื่อไร ก็จะเป็นจุดเริ่มต้นความขัดแย้งครั้งเลวร้ายที่สุดที่จะเคยมีมาในประเทศไทย มันจะกลายเป็นสงครามกลางเมือง และกลุ่มคนเสื้อแดงก็จะชุมนุมกันยืดเยื้อยาวนานจนกว่าประเทศนี้จะเป็นประชาธิปไตย โดยจะยึดหลักสันติวิธีเอาไว้" ประธานนปช. กล่าว