ธาริตเร่งคดี-ยัน"ฮิโรยูกิ"ไม่ตายฟรี เผยญี่ปุ่นก็ห่วง คนสั่งลอยนวล

ไต่สวนอีกศพแดง 19 พ.ค.53

เมื่อวันที่ 6 พ.ย. ที่ศาลอาญากรุงเทพใต้ ศาลไต่สวนคดีที่พนักงานอัยการยื่นคำร้องขอให้ไต่สวนชันสูตรพลิกศพนายนรินทร์ ศรีชมภู ที่ถูกยิงเสียชีวิตบริเวณทางเท้าหน้าคอนโดมิเนียมบ้านราชดำริ ถนนราชดำริ ใกล้แยกสารสิน กทม. ในเหตุการณ์สลายการชุมนุมกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) เมื่อวันที่ 19 พ.ค.2553

นายสามารถ นุชน้อย ผู้ร่วมชุมนุม เบิกความว่าในวันเกิดเหตุอยู่บริเวณเต็นท์ข้างสวนลุมพินี เวลา 05.00 น. ได้ยินผู้ชุมนุมบอกว่าเจ้าหน้าที่กำลังเข้ามาทางแยกศาลาแดง พยานกับผู้ชุมนุมจึงมุ่งหน้าไปยังแยกศาลา แดง เพื่อผลักดันทหารไม่ให้เข้ามาสลายการชุมนุม สักพักได้ยินเสียงปืนจากฝั่งเจ้าหน้าที่ยิงเข้ามาทางกลุ่มผู้ชุมนุม พยานหลบอยู่บริเวณใต้ตอม่อ ต่อมามีรถหุ้มเกราะและรถน้ำของทหาร ทำลายแนวบังเกอร์กองยางรถยนต์และไม้ไผ่ที่ผู้ชุมนุมทำไว้

พยานเบิกความต่อว่า กระทั่งเวลา 10.00 น. เห็นเจ้าหน้าที่ในสวนลุมฯยิงปืนมาทาง ผู้ชุมนุมที่อยู่ด้านนอก เห็นผู้สื่อข่าวต่างชาติล้มลงห่างจากเต็นท์พยาบาลประมาณ 60 เมตร พยานพร้อมด้วยนางยุพิน นุชน้อย ภรรยา และผู้ชุมนุม 2-3 คน พากันไปหลบอยู่ในตึกยูเอชเอ็ม แต่พยานไม่เห็นขณะที่ผู้ตายถูกยิง และก่อนที่เจ้าหน้าที่จะยิงปืนเข้ามาไม่มีการประกาศเตือนแต่อย่างใด ส่วนผู้ชุมนุมก็ไม่มีอาวุธและไม่ได้ยิงต่อสู้

พยานเบิกความนาทีถูกยิง

ส่วนนายภัสพล ไชยพงษ์ เบิกความสรุปว่าขายขนมบริเวณหน้าห้างเซ็นทรัลเวิลด์ ห่างจากเวทีราชประสงค์ 400 เมตร เวลา 07.00 น. ได้ยินเสียงประกาศจากบนเวทีว่าให้เก็บข้าวของไปรวมกันที่วัดปทุมวนาราม ระหว่างนั้นได้ยินว่ามีคนถูกยิงที่สวนลุมพินี พยานจึงขับรถไปตามถนนราชดำริ เพื่อไปดูเหตุการณ์ และระหว่างนั้นมีเสียงปืนดังขึ้นมาจากแยกศาลาแดง พยานหลบอยู่ที่หลังต้นไม้ บริเวณหน้าอาคารบ้านราชดำริ หันหน้าไปทางแยกศาลาแดง ได้ยินเสียงชายคนหนึ่งพูดผ่านโทรโข่งว่าให้ไปรวมกันที่หลังเวทีราชประสงค์ เพราะเจ้าหน้าที่เข้ามาใกล้แล้ว ขณะนั้นได้ยินเสียงปืนจากแยกศาลาแดงดังมาเป็นระยะๆ เมื่อเสียงปืนสงบลง พยานชะโงกหน้าออกไปดู ก็ถูกยิงเข้าที่ลำคอ แล้ววูบลงไป แต่ยังรู้สึกตัว

พยาน เบิกความต่อว่า เพื่อนที่หลบอยู่ตรงโคนต้นไม้ดึงพยานเข้าไปหลบ สักพักเห็นชายคนที่ถือโทรโข่งเดินออกมาจากแนวหลบ แต่ยังอยู่บนทางเท้า จากนั้นมีเสียงตะโกนว่ามีคนถูกยิง เพื่อนของพยานจึงดึงแขนชายคนดังกล่าวเข้ามาที่ต้นไม้ พบว่าเสียชีวิตแล้ว ทราบภายหลังว่าคือนายนรินทร์ จากนั้นมีคนนำพยานและนายนรินทร์ขึ้นรถไปส่งที่ ร.พ. ตำรวจ หลังเหตุการณ์ พยานไปชี้จุดเกิดเหตุให้พนักงานสอบสวน พบว่าตามต้นไม้ เสาเหล็กบอกทาง มีรอยกระสุนตั้งแต่ระดับเข่าจนสุดปลายมือ มีทิศทางมาจากแยกศาลาแดง

เห็นแต่เจ้าหน้าที่ยิงใส่ม็อบ

ขณะ ที่ นายอุดร วรรณสิงห์ ผู้ร่วมชุมนุมเบิกความโดยสรุปว่าวันเกิดเหตุเวลา 05.00 น. มีคนวิ่งมาบอกว่าเจ้าหน้าที่กำลังจะเข้ามา สลายการชุมนุมตรงแยกศาลาแดง พยานจึงไปวิ่งไปสังเกตการณ์ที่ป้ายรถเมล์ เลยตึกสก. ร.พ.จุฬาลงกรณ์ สักพักเจ้าหน้าที่เริ่มยิงมาตรงจุดที่พยานและกลุ่มผู้ชุมนุมอยู่ เห็นเจ้าหน้าที่ที่อยู่ในรั้วสวนลุมพินียิงปืนเข้าใส่กลุ่ม ผู้ชุมนุม ผ่านไปประมาณ 1 ชั่วโมง เสียงปืนสงบ พยานเห็นเจ้าหน้าที่เข้ามาทางศาลาแดง และยิงเข้ามาอีก พยานจึงไปหลบอยู่ในเต็นท์ บริเวณแยกสารสิน เจ้าหน้าที่วิ่งสลับกันไปมาแล้วยิงใส่ผู้ชุมนุมเรื่อยๆ กระทั่งเจ้าหน้าที่มาหยุดอยู่ใกล้ตึกสก. และคุมพื้นที่ทั้ง 2 ฝั่งถนน

พยาน เบิกความต่อว่า พยานเห็นนักข่าวต่างชาติล้มลง จึงวิ่งเข้าไปดู และก็ถูกยิงเข้าที่หมวกกันน็อกจนล้มลงข้างนักข่าว เห็นว่ามีเลือดไหลออกมา จึงทราบว่านักข่าวถูกยิง เมื่อเสียงปืนสงบ พยานวิ่งข้ามฝั่งไปยังศาลเจ้า จากนั้นพยานคลานออกมา และไปหลบอยู่ตรงต้นไม้ หน้าอาคารบ้านราชดำริ ก็เห็นกองเลือด และทราบจากข่าวภายหลังว่าเป็นเลือดของนายนรินทร์ โดยในช่วงเช้าพยานเห็นนายนรินทร์ถือโทรโข่งยืนอยู่ในกลุ่มผู้ชุมนุม ก่อนที่เจ้าหน้าที่จะเข้ามา ต่อมาพยานวิ่ง หลบไปจนถึงหลังเวทีราชประสงค์ พอเวลา 14.00 น. ก็เห็นเจ้าหน้าที่อยู่หน้าเวที พยานจึงเข้าไปหลบอยู่ในร.พ.ตำรวจ

นักข่าวทีวีเห็น 2 ศพถูกยิงหัว
ด้าน น.ส.ธัญญธร สารสิทธิ์ ผู้สื่อข่าวสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส เบิกความโดยสรุปว่าไปทำข่าวที่แยกศาลาแดง โดยพยานอยู่ด้านหลังของเจ้าหน้าที่จำนวนมากที่เคลื่อนตัวไปตามถนนราชดำริไป ยังกลุ่มผู้ชุมนุม เจ้าหน้าที่ถือปืนเอ็ม 16 และปืนลูกซอง ยิงเข้าไปยังฝั่งผู้ชุมนุม และนำรถหุ้มเกราะเคลื่อนเข้าไปทำลายรั้ว จากการสังเกตเห็นว่า เจ้าหน้าที่แบ่งเป็น 2 ชุด โดยชุดแรกเป็นชุดเคลียร์พื้นที่ ส่วนชุดที่ 2 เคลื่อนกำลังตามชุดแรกไป พยานกับผู้สื่อข่าวคนอื่นๆ อยู่หลังแนวเจ้าหน้าที่ชุดที่ 2 ขณะตามเข้าไปก็ได้ยินเสียงปืนดังขึ้นเป็นระยะ แต่ไม่ทราบว่ามาจากทิศทางใด เมื่อพยานตามไปจนถึงกลางถนนหน้าร.พ.จุฬาฯ เห็นศพผู้ชุมนุม 2 ศพถูกยิงที่ศีรษะ



จากนั้นทนายญาติผู้ตายถามพยานว่า มีทหารอยู่ในสวนลุมพินีหรือไม่ พยานเบิกความว่าไม่เห็น ทนายญาติผู้ตายถามต่อว่า ทหารแต่งกายอย่างไร พยานเบิกความว่า ใส่ชุดลายพราง และสวมหมวก ทนายญาติผู้ตายถามอีกว่า ขณะเดินตามทหารไปนั้นเห็น ผู้ชุมนุม หรือคนอื่นๆ อยู่ในบริเวณดังกล่าวหรือไม่ พยานเบิกความว่าไม่เห็น เนื่องจากเคลียร์พื้นที่ไปแล้ว

ภายหลังที่พยานเบิกความเสร็จสิ้น ศาลนัดไต่สวนครั้งต่อไปวันที่ 12 พ.ย.

"ธาริต"เดินหน้า 99 ศพสุดซอย

ที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) นายธาริต เพ็งดิษฐ์ อธิบดีดีเอสไอ กล่าวถึงกรณีทางการญี่ปุ่นเดินหน้าทวงถามความคืบหน้าคดีนายฮิโรยูกิ มูราโมโตะ ช่างภาพสำนักข่าวรอยเตอร์ ชาวญี่ปุ่น ที่ถูกยิงเสียชีวิตขณะรายงานข่าวในเหตุการณ์สลายม็อบเสื้อแดงเมื่อวันที่ 10 เม.ย.2553 ว่าจากการสอบสวนของดีเอสไอพบข้อเท็จจริง และมีพยานหลักฐานเชื่อว่าการเสียชีวิตของนายฮิโรยูกิ เกิดจากกระสุนปืนของเจ้าหน้าที่ และคดีอยู่ในชั้นไต่สวนของศาล เพื่อหาสาเหตุการเสียชีวิต และแนวโน้นคดีน่าจะออกมาเหมือนกับคดี 6 ศพวัดปทุมวนาราม และนับเป็นครั้งที่ 7 แล้วที่ทางการญี่ปุ่นเดินทางมาติดตามความคืบหน้าคดี



นายธาริตกล่าวว่า ทางการญี่ปุ่นมีความวิตกกังวลว่า หากพ.ร.บ.นิรโทษกรรม ฉบับที่เป็นปัญหาอยู่ในขณะนี้ผ่านความเห็นชอบแล้ว พลเมืองของเขาที่เสียชีวิตจะได้รับความเป็นธรรมหรือไม่ ดีเอสไอก็อธิบาย จนพอใจ และคลายความกังวลลง อย่างไรก็ตาม หาก ร่างพ.ร.บ.นิรโทษกรรม ยังไม่ผ่าน ดีเอสไอจะยังคงเดินหน้าสอบสวนคดีที่อยู่ในความรับผิดชอบต่อไปจนครบ

ยืนยันไม่ซ้ำซ้อน"ป.ป.ช."

อธิบดีดีเอสไอกล่าวต่อว่า คดีการเสียชีวิตและบาดเจ็บของประชาชนในเหตุการณ์ปี 2553 ไม่ใช่คดีทุจริตต่อหน้าที่ แต่เป็นการกระทำผิดในลักษณะนอกหน้าที่ ตามที่อัยการสั่งคดีกับนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรี และนายสุเทพ เทือกสุบรรณ อดีต ผอ.ศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน (ศอฉ.) ที่บุคคลทั้งสองนี้มีหน้าที่ดูแลความสงบของบ้านเมือง ในกรอบกฎหมายก็วางไว้ว่าทำได้แค่ไหน ตามที่ศาลมีคำสั่งผลไต่สวนชันสูตรพลิกศพในกรณี 6 ศพวัดปทุมฯ หรือนายพัน คำกอง ซึ่งเป็นการทำนอกกรอบอำนาจหน้าที่การรักษาความสงบ จึงเป็นคดีวิสามัญฆาตกรรม และผู้มีอำนาจสั่งคดี คือ อัยการสูงสุด

นายธาริตกล่าวอีกว่า แต่กรอบของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) จะไปมองในมุมเข้าข่ายความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 ซึ่งก็สามารถมองได้ แต่ไม่ใช่มองแบบแตกต่าง ก็อาจจะมองว่าในส่วนของการทำหน้าที่ในการรักษาความสงบนั้น มีอะไรที่ถูกต้อง ไม่ถูกต้องหรือไม่ เพราะว่ามีการ กล่าวหา เมื่อมีการกล่าวหา ป.ป.ช.ก็ต้องไต่สวนไปตามขั้นตอน ยืนยันว่าการสอบ สวนคดีของดีเอสไอนั้น ไม่ซ้ำซ้อนกับ ป.ป.ช.อย่างแน่นอน

"ญี่ปุ่น"กังวล"คนสั่ง"ลอยนวล

ผู้สื่อข่าวถามว่า หากสุดท้าย พ.ร.บ. นิรโทษกรรมผ่าน จะชี้แจงกับญี่ปุ่นอย่างไร นายธาริตกล่าวว่าอย่างที่เราเข้าใจว่าเหตุการณ์หลักมาจากการปฏิวัติเมื่อปี 2549 ถ้าไม่มีปฏิวัติครั้งนั้น ก็จะไม่เกิดสถานการณ์รุนแรงต่อเนื่องตามมา เพราะฉะนั้นผลพวงที่แท้จริงก็มาจากคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ (คมช.) ที่สร้างมรดกเลือด มรดกบาปมาจนถึงจุดนี้ และการนิรโทษกรรมในเหตุการณ์ร้ายแรงทำนองนี้ในต่างประเทศก็มี

"ผมคิดว่าความเข้าใจของต่างประเทศ โดยเฉพาะญี่ปุ่นเข้าใจได้ เพราะมันมีรูปแบบของต่างประเทศ เนื่องจากเขาดูเหมือนคนกลาง และเขาไม่ได้ห่วงว่าพ.ร.บ.นิรโทษกรรมนี้จะมาล้างทุจริตให้กับอดีตนายกฯ ทักษิณ ชินวัตร แต่เขาเป็นห่วงว่าคนที่ได้รับผลประโยชน์สูงสุดกับ พ.ร.บ.นิรโทษกรรมฉบับนี้ คือคนสั่งการในคดี 99 ศพ ซึ่งมองต่างกับบ้านเราที่ไม่ห่วงเรื่องนี้เลย ห่วงแต่ว่าล้างทุจริตเท่านั้น" นายธาริตกล่าว

เร่ง 6 ศพวัดปทุมฯส่งอัยการ

อธิบดีดีเอสไอกล่าวต่อว่า ในเนื้อหาของร่างพ.ร.บ.นิรโทษกรรมฉบับนี้ คนที่ได้ประโยชน์สูงสุด คือผู้สั่งการทั้ง 2 คน ตามที่อัยการสั่งฟ้องก็จะหลุดพ้นความรับผิดชอบทางอาญา แต่ทางแพ่งนั้น ญาติของนายฮิโรยูกิสามารถยื่นฟ้องแพ่งกับนายอภิสิทธิ์และนายสุเทพ เพื่อเรียกร้องความเสียหายฐานละเมิดที่ทำให้นายฮิโรยูกิเสียชีวิตได้ ยืนยันว่านายฮิโรยูกิไม่ตายฟรี และคดีนี้ขออย่านำไปโยงการเมือง ถึงแม้ว่าจะมีนิรโทษกรรม และนายอภิสิทธิ์และนายสุเทพได้ประโยชน์ แต่ก็ไม่พ้นผิดเรื่องการละเมิดที่ต้องถูกฟ้องจากญาติของนายฮิโรยูกิ

ส่วน พ.ต.ท.วรรณพงษ์ คชรักษ์ รองอธิบดีดีเอสไอ กล่าวว่าพนักงานสอบสวนกำลังเร่งตรวจสอบรายละเอียดสำนวนคดี ที่เหลือ เพื่อส่งต่อไปยังกองบัญชาการตำรวจนครบาล เหลืออีกประมาณ 30 คดี โดยเฉพาะสำนวนคดี 6 ศพวัดปทุมฯ คาดว่าใช้เวลาไม่นานก็จะส่งให้อัยการได้