อ่านคำแถลงศาลรัฐธรรมนูญฉบับเต็ม:

ข่าวสด
21 พฤศจิกายน 2556


เมื่อวันที่ 20 พ.ย.เวลา 13.20 น.  ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ  นำโดยนายจรูญ อินทจาร ประธานศาลรัฐธรรมนูญ พร้อมด้วยตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ รวม 9 คน ออกนั่งบัลลังก์อ่านคำวินิจฉัยในคำร้องที่ พล.อ.สมเจตน์ บุญถนอม ส.ว.สรรหา กับคณะ นายวิรัตน์ กัลยาศิริ ส.ส.สงขลา พรรคประชาธิปัตย์ กับคณะ นายสาย กังกเวคิน ส.ว.ระยอง กับคณะ และนายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคประชาธิปัตย์ กับคณะ  ยื่นขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย กรณีที่นายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ ประธานรัฐสภา นายนิคม ไวยรัชพานิช รองประธานรัฐสภา กับพวก รวม 312 คน ร่วมกันเข้าชื่อเสนอร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญเกี่ยวกับที่มาของ ส.ว. ไม่ชอบทั้งในเชิงรูปแบบ กระบวนการ และเนื้อหาอันเป็นสาระสำคัญ ว่าถือเป็นการกระทำที่เข้าข่ายล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข หรือเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศโดยวิธีการซึ่งมิได้เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ และขัดต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 68 วรรคหนึ่ง หรือไม่

 นายสุพจน์ อ่านคำวินิจฉัยว่า ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาคำร้องและเอกสารหลักฐานประกอบของผู้ร้องและไต่สวนพยาน อีกทั้งสั่งให้คู่กรณียื่นคำแถลงการณ์ปิดคดีเป็นหนังสือแล้ว เห็นว่า คดีมีพยานหลักฐานเพียงพอที่จะวินิจฉัย  จึงสรุปประเด็นวินิจฉัยไว้2ประเด็น  ดังนี้ 1. กระบวนการพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่...) พ.ศ. ... เป็นการกระทำเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครอง ประเทศโดยวิธีการที่มิชอบด้วยรัฐธรรมนูญ หรือไม่  2. การแก้ไขเพิ่มเติมเนื้อหาของร่างรัฐธรรมนูญ แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่...) พ.ศ. ... มีลักษณะเป็นการกระทำเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศ โดยวิธีการซึ่งไม่ได้เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญหรือไม่ 

 ทั้งนี้ ก่อนพิจารณามีปัญหาที่ต้องพิจารณาว่า ศาลรัฐธรรมนูญ มีอำนาจในการวินิจฉัยเกี่ยวกับกรณีการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ หรือไม่ ประเทศที่นำเอาระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตยมาใช้ในการปกครองประเทศ ล้วนมีวัตถุประสงค์และมุ่งหมายที่จะออกแบบหรือสร้างกลไกในการคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของประชาชน ทำให้ประชาชนเข้ามามีบทบาทและมีส่วนร่วมในการปกครองประเทศและตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ อีกทั้งสร้างระบบตรวจสอบระบบถ่วงดุล ระหว่างองค์กรหรือระหว่างสถาบันการเมือง ทั้งนี้  เพื่อให้เกิดดุลยภาพในการใช้อำนาจประชาธิปไตยซึ่งเป็นของประชาชน ตามหลักการแบ่งแยกอำนาจที่แบ่งตามหน้าที่ คือ อำนาจนิติบัญญัติ อำนาจบริหาร และอำนาจตุลาการ

 ดังจะเห็นได้จาก ความตอนหนึ่งที่ปรากฏในคำปรารภของรัฐธรรมนูญ 2550 อันเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศ ซึ่งเป็นเจตนารมณ์ของศาลรัฐธรรมนูญว่าร่างรัฐธรรมนูญฉบับที่จัดทำใหม่นี้มีสาระสำคัญเพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ร่วมกันของประชาชนชาวไทยในการธำรงรักษาไว้ซึ่งเอกราชและความมั่นคงของชาติ การทำนุบำรุงรักษาศาสนาทุกศาสนาให้สถิตสถาพร เกิดเทิดทูนพระมหากษัตริย์เป็นประมุข และเป็นมิ่งขวัญของชาติ การยึดถือระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข เป็นวิถีทางในการปกครองประเทศ  การคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของประชาชน และประชาชนมีบทบาทและมีส่วนร่วมในการปกครองและตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐอย่างเป็นรูปธรรม การกำหนดกลไกสถาบันทางการเมืองทั้งฝ่ายนิติบัญญัติและฝ่ายบริหาร ให้มีดุลภาพและประสิทธิภาพตามวิถีการปกครองแบบระบบรัฐสภา รวมทั้งให้สถาบันศาล องค์กรอิสระอื่น สามารถปฏิบัติหน้าที่โดยถูกต้องสุจริต และเป็นธรรม

 จากหลักการดังกล่าวนี้ ย่อมแสดงให้เห็นอย่างชัดแจ้งว่า เจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญฉบับนี้ มีความมุ่งหมายที่จะให้องค์กร หรือสถาบันการเมือง ได้ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความถูกต้องชอบธรรม มีความเป็นอิสระและซื่อสัตย์สุจริต เพื่อประโยชน์ส่วนรวมของประชาชนชาวไทย โดยปราศจากการขัดกันแห่งผลประโยชน์ ไม่ประสงค์ที่จะให้องค์กรและสถาบันการเมืองใดบิดเบือนการใช้อำนาจโดยเบ็ดเสร็จเด็ดขาด ปราศจากความชอบธรรมทุกรูปแบบ อีกทั้งไม่ประสงค์ที่จะให้องค์กร สถาบันการเมือง หยิบยกบทกฎหมายใดมาเป็นข้ออ้าง เพื่อใช้เป็นฐานสนับสนุน ค้ำจุน ในการแสวงหาผลประโยชน์ส่วนตนหรือพวกพ้องจากการใช้อำนาจนั้นๆ

 อย่างไรก็ดี ภายใต้การปกครองในระบอบประชาธิปไตย แม้จะยึดถือเอามติฝ่ายเสียงข้างมากเป็นเกณฑ์ แต่หากละเลยหรือใช้อำนาจอำเภอใจกดขี่ข่มเหง ฝ่ายเสียงข้างน้อย โดยไม่ฟังเหตุผล จนทำให้ฝ่ายเสียงข้างน้อย ไม่มีที่อยู่ที่ยืน จะถือว่าเป็นการปกครองในระบอบประชาธิปไตยได้อย่างไร  หากแต่จะกลับกลายเป็นระบอบเผด็จการฝ่ายข้างมาก ขัดแย้งต่อระบอบการการปกครองประเทศ ไปอย่างชัดแจ้ง ซึ่งหลักการพื้นฐานอันสำคัญนี้ได้รับการยืนยันมาโดยตลอดว่า ต้องมีมาตรการในการป้องกันการใช้อำนาจบิดเบือนหรืออำนาจอำเภอใจของบุคคล กลุ่มบุคคลฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง ที่เข้ามาใช้อำนาจอธิปไตยของประชาชน โดยให้ตั้งมั่นอยู่บนหลักการ แบ่งการแยกใช้อำนาจอธิปไตย อันเป็นอำนาจของปวงชนชาวไทย เพื่อให้แต่ละองค์กร หรือสถาบันการเมืองที่ใช้อำนาจอยู่ในสถานะที่จะตรวจสอบและถ่วงดุล เพื่อทัดทานการใช้อำนาจซึ่งกันและกันได้อย่างเหมาะสม มิใช่แบ่งแยกให้เป็นพื้นที่อิสระของแต่ละฝ่าย ที่จะใช้อำนาจตามอำเภอใจอย่างไรก็ได้  เพราะหากปล่อยให้ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งมีอำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาด โดยปราศจากการตรวจสอบแล้ว ย่อมเป็นความเสี่ยงอย่างยิ่งที่จะทำให้เกิดความเสียหาย และนำพาประเทศชาติให้เสื่อมโทรมลง เพราะความผิดหลงและมัวเมาในอำนาจของผู้ถืออำนาจรัฐ

 ในการนี้อาจกล่าวได้ว่า องค์กรที่ใช้อำนาจอธิปไตย ไม่ว่าจะเป็นประมุขของรัฐ รัฐสภา คณะรัฐมนตรี หรือศาล ล้วนจัดตั้งขึ้น หรือได้รับมอบอำนาจมาจากรัฐธรรมนูญทั้งสิ้น ดังนั้น  การใช้อำนาจขององค์กรเหล่านี้ จึงต้องถูกจำกัดการใช้อำนาจทั้งในด้านรูปแบบและเนื้อหา จึงมีผลให้การใช้อำนาจขององค์กร ทั้งหลายเหล่านี้ ไม่สามารถที่จะขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญได้  โดยเหตุนี้รัฐธรรมนูญ 2550 จึงได้นำหลักนิติธรรมมากำกับใช้อำนาจของทุกฝ่ายทุกองค์กรและทุกหน่วยงานของรัฐบาล ภายใต้หลักการที่ว่า นอกจากการใช้อำนาจตามบทกฎหมายที่มีอยู่ทั่วไปแล้ว ยังต้องใช้อำนาจและปฏิบัติหน้าที่ด้วยความถูกต้องตามหลักนิติธรรมด้วย กรณีจึงใคร่การปฏิบัติตามกฎหมายที่เป็นลายลักษณ์อักษร หรือหลักเสียงข้างมากแต่เพียงเท่านั้น แต่ต้องคำนึงถึงหลักนิติธรรมควบคู่ไปด้วย การอ้างหลักเสียงข้างมากมิได้คำนึงถึงเสียงข้างน้อย เพื่อหยิบยกมาสนับสนุนการใช้อำนาจตามอำเภอใจเพื่อให้บรรลุเป้าหมายหรือวัตถุประสงค์ของผู้ใช้อำนาจ ท่ามกลางความซับซ้อนระหว่างผลประโยชน์ส่วนตน หรือกลุ่มบุคคล กับผลประโยชน์ของประเทศชาติและความสงบสุขของประชาชนโดยรวม และการใดก็ตามที่จะนำไปสู่ความเสียหายและความเสื่อมโทรมของประเทศชาติ หรือการบาดหมางแตกความสามัคคีอย่างรุนแรง  การนั้นย่อมขัดต่อหลักนิติธรรม ตามมาตรา 3 วรรคสองของรัฐธรรมนูญ 2550 ซึ่งหมายถึงรัฐธรรมนูญนี้ตามนัยมาตรา 68  

 การใช้กฎหมายและการใช้อำนาจทุกกรณีต้องเป็นไปโดยสุจริต  จะเป็นไปโดยทุจริต ฉ้อฉลมีประโยชน์ทับซ้อนหรือวาระซ่อนเร้นไม่ได้ เพราะมิฉะนั้นจะทำให้บรรดาสุจริตชนคนส่วนใหญ่ของประเทศเสียประโยชน์อันพึงมีพึงได้ให้ไปตกอยู่แก่บุคคลหรือคณะบุคคลผู้ใช้อำนาจ โดยปราศจากความชอบธรรม หลักนิติธรรมถือเป็นแนวทางในการปกครองที่มาจากหลักความยุติธรรมตามธรรมชาติ เป็นเป็นความเป็นธรรมที่บริสุทธิ์ ปราศจากอคติ  โดยไม่มีผลประโยชน์ส่วนตนเข้ามาเกี่ยวข้องและแอบแฝง หลักนิติธรรมจึงเป็นหลักการบนพื้นฐานสำคัญที่อยู่เหนือบทบัญญัติที่เป็นลายลักษณ์อักษร ซึ่งรัฐสภา คณะรัฐมนตรี ศาล และองค์กรตามรัฐธรรมนูญ และหน่วยงานต่างๆของรัฐ จะต้องยึดถือเป็นแนวทางปฏิบัติ ส่วนหลักการปกครองแบบประชาธิปไตย หมายถึงการปกครองของประชาชนโดยประชาชนและเพื่อประชาชน  มิใช่การปกครองตามแนวความคิด ของบุคคลใดหรือกลุ่มบุคคลใดบุคคลหนึ่งและมิใช่การปกครองที่อ้างอิงมาจากฐานอำนาจระบบการเลือกตั้งเท่านั้น 

 ทั้งนี้ หลักการปกครองในระบอบประชาธิปไตยยังมีองค์ประกอบที่สำคัญอีกหลายประการ การที่องค์กร  สถาบัน ในฐานะผู้ใช้อำนาจรัฐ มักจะอ้างอยู่เสมอว่า  ตนมาจากการเลือกตั้งของประชาชน แต่กลับนำแนวความคิดของบุคคลใดบุคคลหนึ่งหรือกลุ่มบุคคลใดบุคคลหนึ่งมาปฏิบัติหาใช่วิธีการปกครองแบบประชาธิปไตยที่มีความมุ่งหมายเพื่อประโยชน์สุขของประชาชนโดยส่วนรวม  ภายใต้หลักนิติธรรม เนื่องจากประชาธิปไตยมิได้หมายถึงเพียงการได้รับเลือกตั้งหรือชนะการเลือกตั้งของฝ่ายการเมืองเท่านั้น เพราะเสียงส่วนใหญ่จากการเลือกตั้งมีความหมายเพียงสะท้อนถึงความต้องการของประชาชนผู้มีสิทธิออกเสียงเลือกตั้งในแต่ละครั้งเท่านั้น หาใช่เป็นเหตุให้ตัวแทนใช้อำนาจได้โดยไม่คำนึงถึงความถูกต้องและชอบธรรมตามหลักนิติธรรมแต่อย่างใด

 ขณะเดียวกันรัฐธรรมนูญฉบับนี้กำหนดให้มีศาลรัฐธรรมนูญ มีอำนาจหน้าที่สำคัญในการตรวจสอบและถ่วงดุลการใช้อำนาจเพื่อให้เป็นไปตามหลักนิติธรรม  ภายใต้หลักการควบคุมความชอบด้วยรัฐธรรมนูญของกฎหมาย อันเป็นปรัชญาของการปกครองระบอบประชาธิปไตย ที่จะให้สิทธิเสรีภาพของประชาชนที่รัฐธรรมนูญรับรองไว้ได้รับการคุ้มครองอย่างเป็นรูปธรรม  ควบคู่ไปกับการธำรงและรักษาไว้ซึ่งความเป็นสูงสุดของรัฐธรรมนูญ  ดังจะเห็นได้จากบทบัญญัติรัฐธรรมนูญ มาตรา 216 วรรคห้า ที่ว่าคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญให้เป็นเด็ดขาดมีผลผูกพันรัฐสภา คณะรัฐมนตรี ศาล และองค์กรอื่นของรัฐ ประกอบมาตรา 27 ที่ว่า สิทธิและเสรีภาพที่รัฐธรรมนูญฉบับปี 50 รับรองไว้โดยชัดแจ้งโดยปริยาย หรือโดยคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญย่อมได้รับความคุ้มครองและผู้พันรัฐสภาคณะรัฐมนตรี ศาล รวมทั้งองค์กรตามรัฐธรรมนูญ และหน่วยงานของรัฐโดยตรงในการตรากฎหมาย การใช้บังคับกฎหมาย และการตีความกฎหมายทั้งปวง

 เมื่อพิจารณาโดยตลอดแล้วเห็นว่าผู้ร้องใช้สิทธิตามรัฐธรรมนูญตามรัฐธรรมนูญมาตรา 68 วรรคสอง ด้วยการยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ โดยอ้างว่า ผู้ถูกร้องได้ทำการล้มล้างการปกคอรงประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข หรือเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในวิถีทางในการปกครองประเทศโดยวิถีทางซึ่งไม่ได้เป็นวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญนี้ ศาลรัฐธรรมนูญจึงมีอำนาจที่จะวินิจฉัยได้

 ประเด็นที่ 1 กระบวนการพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยแก้ไขเพิ่มเติมฉบับที่....พุทธศักราช....มีลักษณะเป็นการกระทำเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศโดยวิธีการที่มิชอบด้วยรัฐธรรมนูญนี้หรือไม่
 (1)  ร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมกับที่มาของสมาชิกวุฒิสภาที่ใช้ระหว่างพิจารณาประชุมร่วมกันของรัฐสภาเป็นฉบับเดียวกันกับที่มีการยื่นญัตติขอแก้ไขเพิ่มเติมต่อสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรในฐานะสำนักงานเลขาธิการรัฐสภาหรือไม่ ร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติม(ฉบับที่...) พ.ศ. ... ที่ผู้เสนอญัตติขอแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ และได้มีการแจกจ่ายสำเนา ให้สมาชิกรัฐสภาในวันประชุมรัฐสภาวาระ 1 รับหลักการซึ่งผู้ร้องอ้างว่าไม่ตรงกับที่ได้มีการเสนอให้รัฐสภาเสนอพิจารณาในวาระที่หนึ่งขั้นรับหลักการ โดยมีข้อแตกต่างหลายประการ ในกรณีนี้ศาลมีคำสั่งให้เลขาธิการรัฐสภาส่งต้นฉบับของร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญที่เสนอให้รัฐสภาพิจารณาในวาระที่ 1 ขั้นรับหลักการเพื่อประกอบการพิจารณาของศาลซึ่งนายสุวิจักษณ์ นาควัชระชัย เลขาธิการรัฐสภาได้ส่งต่อศาลแล้ว เมื่อวันที่ 12 พ.ย.56 เมื่อตรวจสอบแล้วปรากฏว่าร่างแก้ไขเพิ่มเติมที่เสนอให้รัฐสภาพิจารณาตามที่เลขาธิการ ส่งให้ศาลมีการใส่เลขหน้าเรียงตามลำดับด้วยลายมือตั้งแต่หนังสือ ถึงประธานรัฐสภา รายชื่อสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ผู้เข้าชื่อเสนอญัตติ รายชื่อสมาชิกรัฐสภาผู้ร่วมเสนอจนถึงหน้าที่ 33 แต่ในหน้าถัดไปซึ่งเป็นบันทึกหลักการและเหตุผล ตัวร่างรัฐธรรมนูญ ฉบับที่แก้ไข และบันทึกวิเคราะห์สรุปสาระสำคัญร่างที่แก้ไขไม่ปรากฏว่ามีการลงเลขหน้ากำกับไว้

 อีกทั้งไม่มีการเขียนข้อความใดๆ ด้วยลายมือ และเมื่อตรวจสอบปรากฏว่าอักษรที่ใช้ตั้งแต่หน้าที่ 1 ถึงหน้าที่ 33 มีความแตกต่างกันกับตัวอักษรที่ใช้ในบันทึกหลักการและเหตุผล ตัวร่างรัฐธรรมนูญที่แก้ไขและบันทึก วิเคราะห์สรุปสาระสำคัญของร่างรัฐธรรมนูญที่แก้ไข เมื่อนับเอกสารประกอบคำร้องของผู้ร้องที่ 1 และผู้ร้องที่ 2 ที่อ้างว่าได้รับแจกเพื่อใช้ในการประชุมรัฐสภาทั้งสองฉบับ มีข้อความและเลขหน้าตรงกัน และมีการเติมข้อความต่อท้ายชื่อร่างรัฐธรรมนูญในหน้าบันทึกวิเคราะห์สรุปสาระสำคัญของร่างที่แก้ไขด้วยลายมือ และมีการใส่เลขหน้า เรียงลำดับ ตั้งแต่หนังสือถึงประธานรัฐสภา เพื่อขอเสนอร่างรัฐธรรมนูญที่แก้ไข รายชื่อสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรผู้เข้าชื่อเสนอญัตติ รายชื่อสมาชิกรัฐสภาผู้เข้าชื่อเสนอญัตติ บันทึกหลักการและเหตุผล ประกอบร่างรัฐธรรมนูญที่แก้ไข ตัวร่างรัฐธรรมนูญที่แก้ไข และบันทึกวิเคราะห์สรุปสาระสำคัญของร่างรัฐธรรมนูญ รวม 41 หน้า สำหรับอักษรที่ใช้พิมก็ปรากฏว่าได้ใช้ตัวอักษรแบบเดียวกัน ตั้งแต่หน้าแรกจนถึงหน้าสุดท้าย

 นอกจากนี้  เมื่อนำเอกสารญัตติขอแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญเกี่ยวกับมาตรา 190 ที่นายประสิทธิ์ โพธสุธน และพวกเป็นผู้เสนอตามที่เลขาธิการสภา ได้นำส่งศาลมาประกอบการพิจารณามาตรวจสอบ ปรากฏว่ามีการใส่เลขหน้าเรียงตามลำดับ ด้วยลายมือตั้งแต่หน้าหนังสือถึงประธานรัฐสภา รายชื่อสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรผู้เข้าชื่อเสนอญัตติ รายชื่อสมาชิกรัฐสภาผู้ร่วมเสนอบันทึกหลักการและเหตุผล ตัวร่างรัฐธรรมนูญฉบับที่แก้ไขจนถึงหน้าสุดท้ายซึ่งเป็นบันทึกวิเคราะห์สรุปสาระสำคัญของร่างที่แก้ไข อีกทั้งมีการเติมข้อความชื่อร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย โดยเพิ่มเติมคำว่าแก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่....)พ.ศ. ...ในหน้าบันทึกวิเคราะห์สรุปสาระสำคัญของรัฐธรรมนูญที่แก้ไข

 ส่วนตัวอักษรที่ใช้ในการพิมพ์ก็เป็นตัวอักษรที่มีลักษณะเดียวกัน ตั้งแต่หน้าแรกจนถึงหน้าสุดท้าย ลักษณะของการใส่เลขหน้าตั้งแต่หน้าแรกจนถึงหน้าสุดท้าย การแก้ไขชื่อร่างที่แก้ไข การใช้ตัวอักษรที่พิมพ์ตั้งแต่หน้าแรกจนถึงหน้าสุดท้ายจะเหมือนกับเอกสารที่ผู้ร้องอ้างว่า ได้รับแจกจากการประชุมของรัฐสภา จากข้อเท็จจริงหลักฐานดังกล่าวเบื้องต้น เชื่อได้ว่าร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยแก้ไขเพิ่มเติม(ฉบับที่....) พ.ศ. ... เสนอให้สภาพิจารณาในวาระที่ 1 ขั้นรับหลักการมิใช่ร่างเดิมที่นายอุดมเดชรัตนเสถียร ยื่นต่อสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร เมื่อวันที่ 20 มี.ค. 56 และได้ส่งสำเนาให้สมาชิกรัฐสภาประกอบการประชุม แต่เป็นร่างที่จัดพิมพ์ขึ้นใหม่ซึ่งมีจ้อความที่แตกต่างจากร่างเดิมหลายประการถึงแม้ว่านายสุวิจักษณ์ นาควัชระชัย  จะเบิกความว่า ก่อนที่บรรจุวาระ หากมีความจำเป็นต้องแก้ไขก็ยังสามารถแก้ไขได้ ก็น่าจะเป็นการแก้ไขในเรื่องที่ผิดพลาดเล็กๆน้อยๆ เช่นการพิมพ์ผิดไม่ใช่เป็นการแก้ไขซึ่งขัดกับหลักการเดิม หากเป็นการแก้ไขที่ขัดกับหลักการเดิม ก็ชอบที่จะมีผู้ร่วมลงชื่อเสนอญัตติตามที่บัญญัติไว้ จากการตรวจสอบร่างที่มีการแก้ไขปรากฏว่ามีการเพิ่มเติม เปลี่ยนแปลงหลักการที่สำคัญจากร่างเดิมหลายประการ คือการเพิ่มเติมหลักการโดยมีการแก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 116 วรรค 2 และวรรค 1 ของมาตรา 241 ด้วย

 ประการสำคัญการแก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 116 จะมีผลให้บุคคลผู้เคยดำรงตำแหน่งสมาชิกวุฒิสภา และสมาชิกภาพสิ้นสุดลง สามารถสมัครเป็นวุฒิสภาได้อีก โดยไม่ต้องรอให้พ้นระยะเวลา 2 ปี และมีการดำเนินการในลักษณะที่มีเจตนาปกปิดข้อเท็จจริงว่าได้มีกรจัดทำร่างขึ้นใหม่ให้สมาชิกรัฐสภาทราบทุกคน เมื่อข้อเท็จจริงฟังเป็นที่ยุติว่าในการพิจาณาของที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภามิได้นำเอาร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมเกี่ยวกับที่มาของสมาชิกวุฒิสภาฉบับที่นายอุดมเดช รัตนเสถียร และคณะ เสนอต่อสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรเมื่อวันที่ 20 มี.ค. 2556 มาใช้ในการพิจารณาวาระที่ 1 ขั้นรับหลักการ แต่ได้มีการนำร่างที่จัดทำขึ้นใหม่ซึ่งมีหลักการแตกต่างจากร่างเดิมที่นายอุดมเดช รัตนเสถียรเสนอหลายประการ โดยปรากฏว่ามีสมาชิกรัฐสภาร่วมลงชื่อเสนอญัตติแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญที่จัดทำขึ้นใหม่แต่อย่างใด มีผลเท่ากับว่าการดำเนินการในการเสนอร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญที่รัฐสภารับหลักการตามคำร้องนี้เป็นไปโดยมิชอบตามรัฐธรรมนูญมาตรา 291 (1) วรรคหนึ่ง

 (2) การกำหนดวันแปรญัตติรัฐธรรมนูญแห่งราชอาญาจักรไทยแก้ไขเพิ่มเติม ( ฉบับที่...) พ.ศ. ...ขัดต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่ ที่เห็นในการบัญญัติกฎหมาย เป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของสมาชิกรัฐสภา โดยเฉพาะผู้ที่ขอแปรญัตติ หรือกรรมาธิการที่ขอสงวนการแปรญัตติย่อมมีสิทธิที่จะได้อภิปรายและให้เหตุผลในการแปรญัตติ สงวนคำแปรญัตติ หรือได้สงวนความเห็นไว้ สำหรับกรณีนี้จากการเบิกความต่อศาลในชั้นไต่สวน ปรากฏในการพิจารณาวาระที่ 1 และ 2 ผู้ถูกร้องที่ 1 และ 2 ได้ผลัดกันทำหน้าที่ประธานในที่ประชุม ได้มีการตัดสิทธิผู้อภิปรายในวาระที่ 1 และตัดสิทธิผู้สงวนแปรญัตติจำนวน 57 คนโดยอ้างว่าความเห็นดังกล่าวขัดต่อหลักการทั้งที่ยังไม่ได้มีการฟังการอภิปราย ทั้งที่ผู้ถูกร้องที่ 1และ2 ไม่ใช่เสียงข้างมาก แต่ปิดการอภิปรายเห็นว่าแม้การปิดการอภิปรายจะเป็นดุลพินิจของประธานและแม้เสียงข้างมากจะมีสิทธิในการให้ปิดประชุมการอภิปรายก็ตาม

 แต่การใช้ดุลพินิจและเสียงข้างมากดังกล่าวจะต้องไม่ตัดสิทธิของรัฐสภา หรือละเลยไม่ฟังความเห็นของฝ่ายข้างน้อย การรวบรัดการปิดอภิปราย ปิดประชุมเพื่อให้มีการลงคะแนนเสียงจึงเป็นการใช้อำนาจไปในทางที่มิชอบ เพื่อประโยชน์แก่ฝ่ายข้างมากโดยไม่เป็นธรรมอันเป็นการขัดต่อหลักนิติธรรม นอกจากนี้ผู้ร้องยังอ้างอีกว่า การนับเวลาในการแปรญัตติของผู้ถูกร้องที่ 1 ไม่ถูกต้อง โดยอ้างว่าเมื่อที่ประชุมพิจารณารับหลักการในวาระที่ 1 แล้ว ในวันที่ 4 เม.ย. 2556 มีผู้เสนอกำหนดเวลาในการแปรญัตติติกำหนดเวลา 15 วัน และ 60 วัน

 ซึ่งตามข้อบังคับการประชุมจะต้องให้ที่ประชุมสภาพิจารณาลงมติว่าจะใช้กำหนดเวลาใด แต่ก่อนที่จะมีการลงมติเกิดปัญหาในที่ประชุมในขณะนั้น เมื่อนับองค์ประชุมไม่ครบตามที่รัฐธรรมนูญกำหนด ผู้ถูกร้องที่ 1 จึงได้มีการสั่งให้มีการลงมติยื่นญัตติภายใน 15 วัน นับตั้งแต่วันที่รับหลักการ โดยมีผู้ทักท้วง ผู้ถูกร้องที่ 18 เม.ย. ในการประชุมครั้งนี้ที่ประชุมมีมิติให้กำหนดเวลาแปรญัตติ 15 วัน แต่ผู้ถูกร้องที่ 1 ได้สรุปให้นับย้อนหลังไป 15 วัน ตั้งแต่วันที่ 4 เม.ย. ทำให้ระยะเวลาในการแปรญัตติไม่ครบ 15 วัน ตามมติที่ประชุมก็จะเหลือเวลาให้สมาชิกรัฐสภาเสนอการแปรญัตติเพียง 1 วันเท่านั้น เห็นว่าการแปรญัตติเป็นสิทธิของสมาชิกรัฐสภาที่เสนอความคิดเห็น การแปรญัตติจึงต้องมีเวลาพอสมควร

  เพื่อประสงค์ในการแปรญัตติได้ทราบเวลาที่แน่นอนในการแปรญัตติ อันเป็นสิทธิของสมาชิกรัฐสภาภายใต้บทบัญญัติทางรัฐธรรมนูญ การนับเวลาในการแปรญัตติย่อมไม่อาจนับเวลาย้อนหลังได้ แต่ต้องนับตั้งแต่วันที่มี่ประชุมมีมติเป็นต้นไป การนับเวลาย้อนหลังจนทำให้เหลือเวลาในการขอแปรญัตติเพียง 1 วัน เป็นการดำเนินการที่ขัดต่อข้อบังคับในการประชุม และไม่เป็นกลาง จึงไม่ชอบด้วยข้อบังคับ 125 วรรคหนึ่งและวรรคสอง ทั้งหลักนิติธรรม ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 3 วรรคสองด้วย การกำหนดเวลาในแก้ไขรัฐธรรมนูญ จึงไม่ชอบด้วยมาตรา 3 วรรคสอง และมาตรา 125 วรรคหนึ่ง

 (3) วิธีการในการแสดงตนในการแก้ไขและลงมติในการการแก้ไขรัฐธรรมนูญเกี่ยวกับที่มาสมาชิกวุฒิสภาชอบด้วยรัฐธรรมนูญหรือไม่ เมื่อพิจารณาระบอบการปกครองที่สำคัญในระบอบประชาธิปไตย ระบบรัฐสภาแบบมีผู้แทนแล้วจะเห็นว่า สมาชิกวุฒิสภาเป็นบุคคลที่มีความสำคัญต่อระบบนี้เป็นอย่างยิ่ง เนื่องจากบุคคลเหล่านี้มีหน้าที่เป็นผู้แทนของปวงชนที่มาจากการเลือกตั้งโดยประชาชน หรือได้รับการสรรหาเข้าไปใช้อำนาจนิติบัญญัติแทนประชาชน อย่างไรก็ดี ภายใต้การปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยพ.ศ.2550 มาตรา 122 ได้บัญญัติเรื่องนี้ไว้ชัดแจ้งว่า สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภาย่อมเป็นผู้แทนปวงชนชาวไทย โดยไม่ยู่ในความผูกมัดทางอานัตมอบหมายหรือความครอบงำใดๆ ต้องปฏิบัติหน้าที่โดยความซื่อสัตย์สุจริต เพื่อประโยชน์ส่วนรวมของปวงชนชาวไทย โดยในการขัดกันทางผลประโยชน์

 อีกทั้งไม่เป็นไปตามหลักนิติธรรม ตามที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญมาตรา 3 วรรคสอง ที่ว่าการปฏิบัติหน้าที่ของรัฐสภาคณะรัฐมนตรี ศาล และองค์กรตามรัฐธรรมนูญต้องเป็นไปตามหลักนิติธรรม ส่วนการใช้อำนาจของสมาชิกรัฐสภา ในฐานะผู้แทนปวงชนชาวไทย ผู้เป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตยที่แท้จริง รัฐธรรมนูญมาตรา 126 วรรคสาม หลักการสำคัญ ที่เกี่ยวข้องกับกระบวนตรากฎหมายไว้ว่า สมาชิกรัฐสภาคนหนึ่งย่อมมีการออกเสียงหนึ่งในการลงคะแนน เว้นแต่คะแนนในที่ประชุมเท่ากัน ก็ให้ประธานในที่ประชุมออกเสียงเพิ่มขึ้นมาเป็นอีกเสียงหนึ่ง ให้เป็นเสียงชี้ขาด ย่อมเป็นที่เข้าใจได้ว่า การปฏิบัติหน้าที่ของสมาชิกรัฐสภานั้นการแสดงตัวออกเสียง ถือเป็นเรื่องที่ต้องมาแสดงตนในที่ประชุมเพื่อแสดงญัตติต่างๆ แต่ละครั้งด้วยตนเอง เช่นเดียวกับกรณีนี้ ย่อมเป็นสิทธิออกเสียงด้วย1ครั้ง การกระทำใดที่มีผลให้การลงคะแนนผิดไปจากความเป็นจริง ย่อมไม่ชอบด้วยเจตนารมณ์ และบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ พิจารณาให้เห็นว่า คดีนี้ผู้ร้องมีประจักษ์พยานและมีการเบิกความเป็นหลักฐานสำคัญ คือ แผ่นวีดีทัศน์ที่บันทึกภาพเหตุการณ์ที่มีการลกระทำดังกล่าวถึง 3 ครั้ง ที่นำมาแสดงเห็นว่า มีสมาชิกรัฐสภาบางคนใช้บัตรอิเล็กทรอนิกส์ ขึ้นมาแสดงตนแทนผู้อื่น ระหว่างที่มีการพิจารณาแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญที่มาส.ว.

 ในการนี้ น.ส.รังสิมา รอดรัศมี ส.ส.สมุทรสงคราม พรรคประชาธิปัตย์ ในฐานะพยานบุคคลของผู้ร้องที่ 2  และที่ 4 ได้เบิกความประกอบคลิปวีดีทัศน์รวม 3 ตอน  เพื่อยืนยันว่าในขณะนั้นได้มีบุคคลที่ตามที่ปรากฏในคลิปวีดีทัศน์ ว่าได้ใช้บัตรแสดงตน อิเล็กทรอนิกส์ใส่เข้าไปในเครื่องออกเสียงลงคะแนนแล้วกดปุ่มแสดงตน และลงมติคราวละหลายใบ ซึ่งขัดแย้งกับหลักการและวิธีการที่ถูกต้องในเรื่องนี้ การเบิกความของนาง อัจรา ชูยืนยง ผู้บังคับบัญชากลุ่มงานโสตทัศนูปกรณ์ สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ที่ให้การไว้ว่า บัตรอิเล็กทรอนิกส์ ที่ใช้ในการนับองค์ประชุมการแสดงตนและการลงมติ สมาชิกรัฐสภาจะมีประจำตัวคนละ 1 ใบ และจะมีบัตรสำรองอีกคนละ 1 ใบ ซึ่งเก็บไว้ที่เจ้าหน้าที่รัฐสภา กรณีสมาชิกรัฐสภาไม่ได้นำบัตรประจำตัวมาประกอบกับสิ่งที่ปรากฏในคลิปวีดีทัศน์ที่มีการกระทำดังกล่าว ซึ่งสอดคล้องกับสิ่งที่ปรากฏในคลิปวีดีทัศน์บันทึกการถ่ายทอดสดการประชุมรัฐสภา และรายงานการประชุมรัฐสภา ซึ่งเป็นช่วงระยะเวลาเดียวกันกับที่มีการประชุมร่วมรัฐสภา แก้ไขที่มา ส.ว. ที่ระบุไว้ในคำร้องที่เลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญ 

 อีกทั้งในการไต่สวนพยานและการฟังภาพและเสียง เบิกความว่า เป็นเสียงของรองประธานรัฐสภา ซึ่งทำหน้าที่เป็นประธานในที่ประชุมขณะนั้น ชี้ให้เห็นว่าผู้ถูกร้องที่ 162 ซึ่งเป็นสมาชิกรัฐสภาได้ใช้บัตรอิเล็กทรอนิกส์แสดงตนออกเสียงในการลงคะแนนครั้งละหลายใบใส่เข้าไปในเครื่องอ่านบัตรและกดปุ่มแสดงตนติดต่อกันหลายครั้ง นอกจากนี้ พยานบุคคลยังได้เบิกความว่าเป็นผู้ถูกร้องและไม่มีเหตุโกรธเคืองกันเป็นการส่วนตัวแต่อย่างใด โดยเฉพาะ นายนริศร ทองธิราช ส.ส.สกลนคร พรรคเพื่อไทย และคนของตนที่พยายามถ่ายคลิปวีดีทัศน์ เพื่อให้ได้มาซึ่งพยานหลักฐานเพื่อประกอบการร้องเรียน เมื่อพิจารณาและนำสืบก็เห็นบุคคลปรากฏใบหน้าด้านข้าง ก็สามารถยืนยันได้ว่าเป็นนายนริศร ซึ่งถือบัตรลงคะแนนไว้ในมือมากกว่า 2 ใบ พร้อมกดลงคะแนนอย่างต่อเนื่องมากกว่า 1 บัตร เห็นได้ชัดว่า ผิดปกติวิสัยและการทำหน้าที่ของสมาชิกรัฐสภา จึงเป็นเรื่องที่แจ้งชัดว่ามีสมาชิกรัฐสภาหลายรายไม่ได้มาออกเสียงในที่ประชุมรัฐสภา และมอบให้สมาชิกออกเสียงแทน การดำเนินดังกล่าวจึงถือว่าเป็นการละเมิดพื้นฐานของการเป็นสมาชิกรัฐสภา ขัดต่อข้อบังคับประชุมรัฐสภาและยังขัดต่อข้อบังคับความซื่อสัตย์สุจริต ที่สมาชิกรัฐสภาได้ปฏิญาณตนไว้ ตามมาตรา 123 และขัดต่อหลักการออกเสียงลงคะแนนตามมาตรา 126 วรรคสาม  มีผลให้การออกเสียงให้การประชุมรัฐสภาครั้งนั้นเป็นทุจริต ไม่เป็นเจตนารมณ์ของปวงชนชาวไทย มิอาจถือว่าเป็นมติที่ชอบของกระบวนการรัฐสภาในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ

 ปัญหาที่ต้องพิจารณาประเด็นที่ 2 การแก้ไขรัฐธรรมนูญเกี่ยวกับที่มาของ ส.ว. ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศโดยวิถีทางที่ไม่เป็นไปตามที่รัฐธรรมนูญบัญญัติไว้หรือไม่ ตามที่ผู้ร้องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยนั้น มีการเปลี่ยนแปลงเนื้อหาสาระในหลายประเด็น เห็นว่ารัฐธรรมนูญ 2550 มีรัฐธรรมนูญ 2540 เป็นแม่แบบ โดยรัฐธรรมนูญ 2550 ได้แก้ไขคุณสมบัติของ ส.ว. ไว้หลายประการเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาเหมือนฉบับปี 2540 คือการบัญญัติให้ ส.ว.สรรหา เข้ามามีองค์ประกอบร่วมกับส.ว.เลือกตั้ง เพื่อโอกาสแก่ประชาชนทุกภาคส่วน ทุกสาขาอาชีพ ได้มีส่วนร่วม ในการทำหน้าที่ของวุฒิสภา เพื่อประโยชน์แก่ประเทศชาติ

 ทั้งนี้ ได้กำหนดคุณสมบัติของส.ว.ได้เป็นอิสระจาก ส.ส. เช่นห้ามบุพการี คู่สมรส  และบุตรของส.ส.  หรือผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองเข้ามาเป็น ส.ว. และกำหนดเวลาห้ามเกี่ยวข้องกับพรรคการเมืองไว้เป็นเวลา 5 ปีเป็นต้น รัฐธรรมนูญ 2250 กำหนดให้รัฐสภาประกอบด้วย 2 สภา คือส.ส.และส.ว.ให้มีดุลยภาพระหว่างกัน โดยกำหนดให้บทบาทของส.ว.เป็นองค์กรตรวจทานบทบาทการทำหน้าที่และถ่วงดุลอำนาจ โดยให้ส.ว.ในการตรวจสอบและถอดถอน ส.ส.ได้ ในคดีที่ถูกกล่าวหาว่า มีวิธีการที่ปกติส่อไปในทางทุจริตและหน้าที่ จงใจใช้อำนาจหน้าที่ขัดต่อบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญหรือกฎหมาย หรือฝ่าฝืนจริยธรรมอย่างร้ายแรง ทั้งที่บัญญัติไว้ในมาตรา 270 ว่าพิจารณาจากอำนาจหน้าที่ของส.ว.แล้ว จะเห็นได้ว่า รัฐธรรมนูญมีเจตนารมณ์ที่ทำให้ส.ว.มีอิสระจากส.ส.อย่างแท้จริง จึงบัญญัติห้ามความสัมพันธ์ที่เกี่ยวข้องกันดังกล่าว หากส.ส.และส.ว.มีความสัมพันธ์อย่างใกล้ชิดกัน ย่อมไม่อาจหวังได้ว่า จะมีการตรวจสอบอย่างตรงไปตรงมา อันเป็นการขัดกับหลักการการถ่วงดุลอำนาจซึ่งกันและกัน

 สำหรับการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญตามคำร้องนี้ เป็นการแก้กลับไปสู่จุดบกพร่องที่เคยที่เกิดขึ้นแล้วในอดีต เป็นจุดบกพร่องที่ล่อแหลม เสี่ยงต่อการสูญเสียสิ้นศรัทธาและสามัคคีธรรมของมวลมหาชนชาวไทย เป็นความพยายามนำประเทศชาติให้ถอยหลังเข้าคลองทำให้วุฒิสภากลับไปเป็นสภาญาติพี่น้อง เป็นสภาของครอบครัว และสภาผัวเมีย สูญเสียสถานะและศักยภาพแห่งการเป็นสติปัญญาให้แก่สภาผู้แทนราษฎร กลายเป็นเพียงเสียงสะท้อนของมวลชนกลุ่มเดียวกัน ทำลายสาระสำคัญของการมีสองสภา นำพาไปสู่การผูกขาดอำนาจรัฐตัดการมีส่วนร่วมของปวงประชาหลากสาขาหลายที่  เป็นการกระทบการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีประมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และเปิดช่องให้ผู้ร่วมกระทำการครั้งนี้ กลับมีโอกาสได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองโดยวิธีการที่ไม่ได้เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญนี้ คือรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยปี 2550 ซึ่งได้รับความเห็นชอบจากการออกเสียงจากปวงประชาชนชาวไทย 

 นอกจากนี้  การแก้ไขที่มาของวุฒิสภาจากการเลือกตั้งอย่างเดียวที่มาเหมือนกับสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจึงย่อมเป็นเสมือนสภาเดียวกัน ไม่เกิดความแตกต่าง และเป็นอิสระซึ่งกันและกันของทั้งสองสภา เป็นการทำลายลักษณะ และสาระสำคัญของระบบทั้งสองสภาให้สูญสิ้นไป การแก้ไขที่มาและคุณสมบัติวุฒิสภาให้มีความสัมพันธ์เกี่ยวข้องกับทางการเมือง หรือสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรได้ ย่อมทำให้หลักการตรวจสอบและถ่วงดุล ถ่วงอำนาจซึ่งกันและกันของระบบทั้งสองสภาต้องสูญสิ้นไป โดยเสียไปอย่างมีนัยยะสำคัญ ทำให้ฝ่ายการเมืองสามารถควบคุม อำนาจเหนือรัฐสภาได้อย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาด ปราศจากการตรวจสอบและการถ่วงดุลซึ่งกันและกันอันเป็นการกระทบต่อการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และเปิดทางให้บุคคลที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินการครั้งนี้ได้อำนาจในการตอบแทนในการปกครองประเทศที่ไม่เป็นไปตามวิถีทางของประชาธิปไตยที่ได้บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ

 นอกจากนี้ในเนื้อหาในร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 11 และมาตรา 11 ทับ 1 ยังขัดต่อรัฐธรรมนูญในเรื่องกระบวนการตรากฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และสมาชิกวุฒิสภาที่จะบัญญัติขึ้นใหม่ โดยรวบรัดให้มีการประกาศใช้กฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญดังกล่าว โดยไม่ต้องปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญมาตรา 141 ที่จะต้องส่งร่างกฎหมายดังกล่าวให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาตรวจสอบความด้วยรัฐธรรมนูญเสียก่อนซึ่งขัดกับหลักการดุลและอำนาจ อันเป็นหลักการปกครองในระบอบประชาธิปไตย ทำให้ฝ่ายการเมืองสามารถออกกฎหมายได้อย่างตามอำเภอใจ โดยอาศัยเสียงข้างมากปราศจากการตรวจสอบ อาศัยเหตุได้วินิจฉัยมาแล้วข้างต้นจึงวินิจฉัยโดยเสียงข้างมาก 6 ต่อ 3  ว่า การดำเนินการพิจารณาและลงมติแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญของผู้ร้อง ถูกร้องทั้งหมดในคดีนี้เป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญมาตรา 122 มาตรา 125 วรรค หนึ่ง วรรคสอง มาตรา 126 วรรคสาม มาตรา  291 และมาตรา 3 วรรค 2 และวินิจฉัยด้วยเสียงข้างมาก 5 ต่อ 4 ว่า มีเนื้อความที่เป็นสาระสำคัญขัดแย้งต่อหลักการพื้นฐาน และเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ 2550 อันเป็นการกระทำเพื่อให้ผู้ถูกร้องได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศ โดยวิธีการซึ่งมิได้เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติในรัฐธรรมนูญ ฝ่าฝืนรัฐธรรมนูญมาตรา 68 วรรคหนึ่ง ส่วนที่ผู้ร้องขอให้ยุบพรรคการเมืองที่เกี่ยวข้อง และเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งคณะกรรมการบริหารพรรคการเมืองเหล่านั้นเห็นว่ายังไม่เข้าเงื่อนไข ตามรัฐธรรมนูญ 2550 มาตรา 68 วรรค 3และวรรค 4 จึงให้ยกคำร้องในส่วนนี้