อัยการแจงปมสั่งไม่ฟ้อง"บ.พีซีซี-ผู้บริหาร" คดีฉ้อโกง–ฮั้วประมูลก่อสร้างโรงพัก ชี้เป็นเรื่องสัญญาแพ่ง

มติชน 14 ตุลาคม 2556


   เมื่อวันที่ 14 ตุลาคม นายนันทศักดิ์ พูลสุข อธิบดีอัยการสำนักงานคดีพิเศษและโฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด เปิดเผยถึงกรณีที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ นำสำนวนพร้อมความเห็นสมควรสั่งฟ้องในคดีฉ้อโกงและคดีฮั้วประมูล ที่บริษัทพีซีซี ดีเวลล็อปเม้นต์ แอนด์ คอนตรัคชั่น จำกัด พร้อมพวกผู้บริหาร ตกเป็นผู้ต้องหา ในโครงการก่อสร้างสถานีตำรวจทดแทน 396 แห่งทั่วประเทศว่า ขณะนี้ยังไม่เห็นสำนวนดังกล่าว เนื่องจากเพิ่งจะเข้ามารับตำแหน่งในวันนี้ ซึ่งยังไม่ทราบในรายละเอียดจึงขอตรวจสอบสำนวนคดีก่อน

แหล่งข่าวระดับสูงจากสำนักงานอัยการสูงสุดระบุว่า สำหรับสำนวนคดีฉ้อโกงที่ บริษัท พีซีซี ดีเวลล็อปเม้นต์ แอนด์ คอนตรัคชั่น จำกัด, นายพิบูลย์ อุดมสิทธิกุล ประธานบริษัท พีซีซีฯ, นายวิศณุ วิเศษสิงห์ กรรมการผู้จัดการบริษัท พีซีซีฯ และนายจตุรงค์ อุดมสิทธิกุล กรรมการบริษัท พีซีซีฯ ผู้ต้องหาที่ 1-4 ในความผิดฐานร่วมกันฉ้อโกงเงินค่าก่อสร้างผู้รับเหมาช่วง ในโครงการก่อสร้างสถานีตำรวจทดแทน 396 แห่งทั่วประเทศ จำนวนกว่า 90 ล้านบาท ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 341 ประกอบมาตรา 83 นั้น

โดยอัยการฝ่ายคดีพิเศษได้มีความเห็นสั่งไม่ฟ้อง เนื่องจากทางอัยการพิจารณาสำนวนแล้วมีความเห็นว่าคดีดังกล่าวทางผู้รับเหมาช่วงได้เข้าร้องทุกข์ต่อกรมสอบสวนคดีพิเศษว่าไม่ได้รับเงินค่าจ้างและเงินค่าดำเนินการต่างๆ จากบริษัทพีซีซี ซึ่งทางอัยการพิจารณาคำร้องแล้วเห็นว่ากรณีดังกล่าวไม่ได้เป็นการหลอกลวง แต่เป็นการผิดสัญญาทางแพ่ง เนื่องจากบริษัทพีซีซีไม่จ่ายเงินให้ผู้รับเหมาช่วงตามงวดสัญญา ทำให้ผู้รับเหมาช่วงไม่สามารถดำเนินการก่อสร้างสถานีตำรวจให้เสร็จสิ้นได้ และบริษัทพีซีซีก็เคยเป็นผู้รับเหมาและมีประวัติการทำงานก่อสร้างโครงการใหญ่มาก่อน เห็นว่าบริษัทพีซีซีไม่มีเจตนาฉ้อโกงและไม่มีมูลทางคดีอาญาจึงสั่งไม่ฟ้องดังกล่าว 

ส่วนสำนวนคดีฮั้วประมูล ที่บริษัท พีซีซี ดีเวลล็อปเม้นต์ แอนด์ คอนตรัคชั่น จำกัด, นายพิบูลย์ อุดมสิทธิกุล ประธานบริษัท พีซีซีฯ และนายวิศณุ วิเศษสิงห์ กรรมการผู้จัดการบริษัท พีซีซีฯ ผู้ต้องหาที่ 1-3 ในข้อหา โดยทุจริตร่วมกันเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐโดยรู้ว่าราคานั้นต่ำมากเกินกว่าปกติ (ต่ำกว่าราคากลางถึง 540 ล้านบาท) จนเห็นได้ชัดว่าไม่เป็นไปตามลักษณะสินค้าหรือบริการ หรือเสนอผลประโยชน์ตอบแทนให้แก่หน่วยงานของรัฐสูงกว่าความเป็นจริงตามสิทธิที่จะได้รับ โดยมีวัตถุประสงค์เป็นการกีดกันการแข่งขันราคาอย่างเป็นธรรมและการกระทำเช่นว่าเป็นเหตุให้ไม่สามารถปฏิบัติให้ถูกต้องตามสัญญาได้ ตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ.2542 มาตรา 8 นั้น

 โดยอัยการฝ่ายคดีพิเศษก็ได้มีความเห็นสั่งไม่ฟ้องเช่นกัน เนื่องจากเห็นว่าการประมูลโดยวิธีอีออคชั่นของสำนักงานตำรวจแห่งชาติเป็นการประมูลอย่างถูกต้องและมีการแข่งขันราคากันหลายครั้ง ส่วนที่ทางกรมสอบสวนคดีพิเศษระบุว่า บริษัทพีซีซีเสนอราคาต่ำกว่าความเป็นจริงมากเกินกว่าปกตินั้น ก็ไม่ปรากฏว่าการเสนอราคาต่ำมากจนเกินไปและต่ำกว่าเกณฑ์ของกระทรวงการคลังแต่อย่างใด

 แหล่งข่าวระบุอีกว่า ส่วนกรณีที่ทางดีเอสไอจะมีความเห็นแย้งหรือไม่นั้น ก็เป็นสิทธิที่สามารถทำได้เพราะเป็นเรื่องของความคิดเห็น ทั้งนี้ หากดีเอสไอเห็นพ้องด้วยกับอัยการคดีก็ถือว่าเป็นอันสิ้นสุด แต่หากดีเอสไอมีความเห็นแย้ง ก็จะต้องส่งเรื่องให้นายอรรถพล ใหญ่สว่าง อัยการสูงสุด เป็นผู้ชี้ขาดตามขั้นตอนของกฎหมายต่อไป