ทีมข่าว นปช.
12 กันยายน 2556
ถ้าจะกล่าวถึงผู้ถูกคุมขังด้วยคดีทางการเมือง เรามักจะนึกถึงประชาชนที่ต่อสู้ทางการเมืองเพื่อต่อต้านอำนาจรัฐที่ไม่ชอบธรรมหรือรัฐที่กดขี่ประชาชนด้วยวิธีการต่าง ๆ นานา จนเหตุทำให้เกิดการรวมตัวของประชาชนที่ต้องออกมาต่อสู้กับความไม่ชอบธรรมของอำนาจรัฐ ซึ่งผลที่ตามมาก็อาจทำให้ประชาชนผู้ออกมาต่อต้านถูกเข่นฆ่าหรือถูกคุมขังด้วยคดีทางการเมือง ซึ่งสิ่งเหล่านี้ก็สิ่งที่กำลังเกิดขึ้นกับพี่น้องเสื้อแดงหลายคนที่ต้องคดีทางการเมืองจนส่งผลให้ถูกคุมขังอยู่ในเรือนจำจวบจนปัจจุบัน
ที่เรือนจำหลักสี่ในเวลานี้ ถูกใช้เป็นที่คุมขังพี่น้องเสื้อแดงที่ต้องคดีทางการเมือง ณ เวลานี้มีผู้ถูกคุมขังอยู่ 21 คนในเรือนจำแห่งนี้ แบ่งเป็นชาย 19 คน หญิง 2 คน ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นพี่น้องเสื้อแดงที่ได้ร่วมการต่อสู้ทางการเมืองมาด้วยกันทั้งสิ้น ยังไม่รวมถึงพี่น้องคนอื่น ๆ ที่ได้รับการประกันตัวไปก่อนหน้านี้อีกหลายสิบคน แต่ว่าถึงจะออกไปได้ ก็ยังมีคดีติดตัวอยู่ดี
ในบรรดาเหยื่อทางการเมืองทั้งหลายที่ถูกคุมขัง ก็ใช่ว่าทุกคนจะเคยร่วมต่อสู้ทางการเมืองเหมือนพี่น้องเสื้อแดงคนอื่น หนึ่งในนั้นก็คือ นายเพชร แสงมณี ชายหนุ่มชาวกัมพูชา อายุ 30 ปี ผู้ต้องคดี พ.ร.ก.ฉุกเฉิน และ วางเพลิงเผาทรัพย์ ศาลตัดสินจำคุก 6 ปี 6 เดือน ซึ่งเพชร เป็นผู้ถูกกล่าวหาว่าเขาวางเพลิงธนาคารกรุงเทพ สาขาพระโขนง จนได้รับความเสียหาย ในฐานะชาวกัมพูชาที่อาศัยอยู่ในประเทศไทยมานานกว่า 10 ปี เพชร รู้สึกว่าการที่ตัดสินเขาให้จองจำคุก 6 ปีกว่านั้น ช่างไม่มีความเป็นธรรมเอาเสียเลย เพชรเล่าให้ทีมข่าว นปช.ฟังว่า "หลักฐานก็ไม่มีอะไรมาก แล้วก็ส่งฟ้อง ทั้งเนื้อทั้งตัวผมในตอนนั้นมีอยู่ 800 บาท ไม่มีอะไรนอกเหนือจากนั้น" หลักฐานที่พวกตำรวจเอามาวางไว้บนโต๊ะนั้นก็มีเพียงแค่ ไฟแช็คและผ้าเช็ดหน้า ซึ่งตำรวจที่ทำคดีก็บังคับให้เพชรรับสารภาพว่าเป็นคนวางเพลิง โดยพูดอย่างหยาบคายว่า "มึงจะทำไม่ทำกูไม่สน แต่อย่าให้ผู้ใหญ่ด่ากูละกัน" เพชร เล่าย้อนกลับไปเหตุการณ์เมื่อวันที่ 19 พ.ค. 2553 ซึ่งเป็นวันสุดท้ายของการสลายการชุมนุมของคนเสื้อแดงและเป็นวันที่เขาถูกจับกุมบริเวณตลาดพระโขนงหลังจากที่กลับจากการไปส่งของที่บางกะปิ ซึ่งเพชร มองว่าการที่ตำรวจบังคับให้เขารับสารภาพนั้นไม่ต่างอะไรกับการ "จับแพะมารับบาป"
เพชร เล่าว่าเขาถูกตั้งข้อหาวางเพลิงธนาคารกรุงเทพโดยที่เขาบอกว่าเขาไม่รู้เรื่องอะไรทั้งนั้นเพราะวันที่ 19 พฤษภาคม ปี 53 นั้น เขาก็ทำงานส่งของตามปกติตามคำสั่งของนายจ้าง แต่มาถูกจับกุมยัดข้อกล่าวโดยที่ตัวเขาเองนั้น ก็ไม่ใช่ผู้ชุมนุมทางการเมืองแต่อย่างใด ไม่เคยเข้าร่วมชุมนุมกับคนเสื้อแดงในการเรียกร้องให้รัฐบาลของ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ยุบสภาในปี 53 แต่กลับต้องมากลายเป็นเหยื่อทางการเมืองที่มีสาเหตุมาจากการไม่ยอมยุบสภาของรัฐบาล นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ และได้ปราบปราม คุมขังประชาชนเป็นจำนวนมาก
เพชร ให้เหตุผลว่าที่ตัวเองไม่ได้มีส่วนร่วมในการชุมนุมเสื้อแดงโดยบอกว่า "ผมเป็นคนกัมพูชา ผมไม่มีสิทธิไปเลือกตั้ง ผมไม่เคยคิดจะไปชุมนุมเลย แล้วมาจับผมยัดเยียดข้อกล่าวหาผม ขอให้สังคมข้างนอกให้ความเป็นธรรมกับผมบ้าง" เมื่อถามถึงประชาธิปไตยนั้น เพชร สนับสนุนประชาธิปไตยเพราะเห็นว่าประชาธิปไตยทำให้คนเท่าเทียมกัน
เพชร ได้ขอร้องผู้หลักผู้ใหญ่ในบ้านเมืองว่า "ผมอยากให้ผู้หลักผู้ใหญ่ของบ้านเมืองที่รักความเป็นธรรม อยากให้เขาเข้าใจว่าคนที่ติดคุกโดยได้รับความอยุติธรรมโดยที่ไม่ได้ทำอะไรผิดบ้าง พวกที่อยู่ข้างในนี้ก็มีแต่ประชาชนตาดำๆ อยากให้พี่น้องได้รับความเป็นธรรม"
เวลานี้นับจากวันที่เขาสูญเสียอิสรภาพก็ล่วงเลยผ่านไป 3 ปี เพชร อาจจะต้องรออีกประมาณ 3 ปี กว่าจะได้รับอิสรภาพ หากยังไม่มีการนิรโทษกรรม ซึ่งก็ถือได้ว่าเป็นเวลาที่ยาวนานมากกว่าจะได้ออกมา แต่เพชร ก็ดูจะไม่หนักใจมากนัก เพราะเมื่อเทียบกับคดีของเพื่อนร่วมชะตากรรมจากอุบลราชธานี ทั้ง 4 คน ซึ่งได้แก่ นายสนองเกตุ สุวรรณ,นายสมศักดิ์ ประสานทรัพย์, นายธีรวัฒน์ สัจสุวรรณ,น.ส.ปัทมา มูลมิล ที่ถูกกล่าวหาว่าเผาศาลากลางโดยไม่มีหลักฐานอะไรเป็นชิ้นเป็นอัน ก็ถือว่าหนักหนาสาหัสกว่าอย่างเทียบกันไม่ได้ เพราะแต่ละคนมีอัตราโทษ 30 กว่าปีขึ้นไปทั้งนั้น เรื่องนี้ทำให้เพชรเห็นใจในความทุกข์ยากของเพื่อนร่วมชะตากรรมทั้ง 4 คนนี้อย่างมากเป็นพิเศษ เพราะไม่รู้ว่าเมื่อไหร่พวกเขาถึงจะได้รับอิสรภาพถ้าหากไม่มีการนิรโทษกรรม เพชรจึงได้ขอร้องให้ ส.ส.ทุกท่านที่รักความเป็นธรรม ช่วยกันผลักดัน พ.ร.บ.นิรโทษกรรมให้กับประชาชนตาดำๆ ที่กำลังรอคอยความช่วยเหลืออยู่
เมื่อถามถึงชีวิตในภายภาคหน้าถ้าได้รับอิสรภาพจะอยู่ประเทศไทยต่อไหม? เพชรตอบว่า "ถ้าที่นี่ต้อนรับผมจะอยู่ ถ้าไม่ต้อนรับผมจะอยู่ไปทำไม?" เพชรยังคงมีความต้องการที่อยู่ประเทศไทยเหมือนเดิมถึงแม้ว่าจะถูกจำคุกอยู่ในประเทศนี้ เขาได้จากประเทศกัมพูชาตั้งแต่สมัยที่เขาอายุ 14 ปี จนปัจจุบันนี้เขาก็อายุ 30 แล้ว เขายังบอกว่า "ผมอยู่เมืองไทยนานกว่าบ้านเกิดผมอีก อยู่จนความคิดเหมือนคนไทย อยู่จนเขียนไทยอ่านไทยได้ เพียงแต่ว่าไม่มีบัตรประชาชนเท่านั้น แล้วก็รู้สึกว่าเราเป็นคนไทยคนหนึ่ง" เพชรยังมองว่าประเทศไทยเป็นประเทศที่น่าอยู่ที่สุดประเทศหนึ่ง เพียงแต่ติดตรงที่ว่ายังไม่มีระบอบประชาธิปไตยที่สมบูรณ์ เพชรจึงอยากฝากให้ผู้นำประเทศมองประชาชนเป็นตัวตั้ง ไม่ใช่มองแต่พวกพ้องเป็นตัวตั้ง ถ้าเป็นอย่างนั้นประเทศชาติจะไม่สงบ
ส่วนเหตุการณ์ในปี 53 ที่มีการสลายการชุมนุมเข่นฆ่าพี่น้องเสื้อแดงนั้น ถึงแม้ว่าเพชรจะไม่ใช่ผู้ชุมนุม แต่เขาก็มองว่า "ปี 53 มันสะเทือนใจมากที่สุด ที่รัฐบาลอภิสิทธิ์ ได้ใช้อาวุธสงครามปราบปรามประชาชนมือเปล่า แค่พวกเขามาเรียกร้องให้ยุบสภา ปืนที่เอามาใช้ก็เป็นภาษีประชาชน ทำไมพวกคุณทรยศประชาชนแบบนี้ ขนาดเด็กยังไม่เว้นเลย แล้วผมจะเหลืออะไร? คนไทยด้วยกันยังดำเนินคดีกันได้ นับประสาอะไรกับผม เขมรก็โดนไปด้วย ทั้งที่ผมไม่รู้เรื่องอะไรด้วยเลย"
นี่คือเสียงคร่ำครวญจากเหยื่อการเมืองชาวกัมพูชาที่ถูกคุมขังอยู่ในเรือนจำหลักสี่ ซึ่งไม่ได้มีส่วนร่วมในการเคลื่อนไหวทางการเมืองแต่อย่างใด แต่ในที่สุดเขาก็ต้องมารับเคราะห์กรรมทางการเมืองที่เขาไม่ได้ก่อ ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าอดสูอย่างยิ่งที่จะปล่อยให้เขาต้องติดคุกอย่างทรมานทรกรรม จึงสมควรอย่างยิ่งที่จะต้องนิรโทษกรรมให้แก่พวกนักโทษการเมืองทั้งหมด