หมายเหตุ: สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) จัดอภิปรายหัวข้อ ประเทศไทยได้อะไรจากสภาปฏิรูปการเมือง เมื่อวันที่ 10 ก.ย. ที่โรงแรมมิราเคิล แกรนด์ คอนเวนชั่น หลักสี่
อุทัย พิมพ์ใจชน
อดีตประธานรัฐสภา
จากประสบการณ์ที่เป็นประธานสภามาหลายสมัย เห็นการกระทำของส.ส.ในที่ประชุม ก็เห็นว่าส.ส.คือเงาสะท้อนของประชาชน หากผู้บริหารอยากรู้ว่าประชาชนในแต่ละจังหวัดเป็นอย่างไรให้ดูที่ตัวผู้แทน
ผู้แทนดีต้องถามว่าดีของใคร เพราะอย่างนั้นอยากให้ผู้แทนเป็นอย่างไรก็ต้องทำให้คนเลือกเป็นอย่างนั้น สภาพในสภาที่เป็นอยู่ทุกวันนี้อย่าไปโทษผู้แทนเลยควรโทษคนที่เลือกผู้แทนเข้ามามากกว่า
เชื่อว่าการปฏิรูปการเมืองจะไม่สำเร็จ และการคิดแก้ไขรัฐธรรมนูญ ยิ่งแก้ก็ยิ่งยาว แก้จนเป็นกฎหมายอาญานักการเมือง คนโกง คนเก่ง ถ้าไม่เก่งก็คงโกงไม่เป็น ดังนั้นคงไม่มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญได้
เพราะฉะนั้นถ้าจะแก้ควรเริ่มแก้ที่ตัวราษฎร โดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ต้องปลูกฝังให้มีทัศนะทางการเมืองที่ดี
จตุพร พรหมพันธุ์
แกนนำ นปช.
ความปรองดองจะเกิดขึ้นได้ต้องนำคู่ขัดแย้งมาหารือและพูดคุยกัน แต่ขณะนี้คู่ขัดแย้งไม่เคยคุยกันเลย หากปล่อยให้เกิดเหตุการณ์อย่างนี้ต่อไปกลัวว่าจะไปกระทบต่อระบบรัฐสภา ไม่เคยเจอบรรยากาศของรัฐสภาที่เป็นแบบนี้
ยังกลัวว่าหากปล่อยให้ส.ส.และนักการเมืองมีความขัดแย้งอย่างนี้ต่อไปเรื่อยๆ ไม่แน่ใจว่าหลังจาก กกต.ชุดนี้หมดวาระ จะมีชุดใหม่หรือไม่เพราะประชาชนคงไม่อยากเลือกตั้งในสภาพบรรยากาศความขัดแย้งเช่นนี้
การออกพ.ร.บ.นิรโทษกรรม ที่หลายฝ่ายมองว่าเป็นต้นเหตุของความขัดแย้ง ขอยืนยันว่าจะนิรโทษกรรมเฉพาะประชาชน ยกเว้นบรรดาแกนนำ
ซึ่งตน นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ นายสุเทพ เทือกสุบรรณ ส.ส.สุราษฎร์ธานี พรรคประชาธิปัตย์ นายสนธิ ลิ้มทองกุล แกนนำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ต้องเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
ขณะที่การแก้ไขรัฐธรรมนูญขณะนี้ยังมีความสับสนวุ่นวายมาก เพียงแค่ประเด็นที่มาของ ส.ว. รัฐธรรมนูญเป็นสิ่งที่แก้ไขได้แต่ต้องร่วมมือกัน ต้องรักษาบรรยากาศของประเทศ
การแก้ไขรัฐธรรมนูญดีกว่าการฉีกรัฐธรรมนูญ ดังนั้นควรให้ภาคประชาชนตื่นตัว ไม่ปล่อยให้นักการเมืองคิดแทนประชาชน
ส่วนการหันหน้ามาพูดคุยนั้น หากยังมีการตั้งเงื่อนไข ตั้งข้อกำหนดต่างๆ ก็เป็นเรื่องยากที่จะสามารถมาคุยกันได้
ชำนิ ศักดิเศรษฐ์
รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์
สาเหตุที่สภามีความขัดแย้งอย่างทุกวันนี้ เพราะสภาไม่ได้ดำรงอยู่แค่เสียงข้างมากและเสียงข้างน้อย แต่ได้รับผลพวงมาจากความขัดแย้งในสังคมที่รุนแรง
พรรคประชาธิปัตย์ยินดีจะสร้างความปรองดองให้เกิดในสังคม หากรัฐบาลถอนกฎหมายแก้ไขรัฐธรรมนูญและกฎหมายนิรโทษกรรม แล้วค่อยมาเดินทำเวทีสภาปฏิรูปการเมือง เพราะที่ผ่านมารัฐบาลได้ปฏิเสธข้อเสนอการปรองดองต่างๆ มา 4 ครั้งแล้ว
การแก้ไขรัฐธรรมนูญที่ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าให้แก้เป็นรายมาตรา กฎหมายนิรโทษกรรมที่ คอป. มีข้อเสนอให้รัฐบาลจำแนกความผิดในการนิรโทษกรรม ความเห็นของนพ.ประเวศ วสี เรื่องการปฏิรูปประเทศ
ข้อเสนอดังกล่าวตอบสนองความต้องการของภาคประชาชนมากกว่า ทำให้รัฐบาลปฏิเสธ รวมทั้งการปฏิเสธข้อเสนอของคณะกรรมการปรองดองแห่งชาติของสภาที่มีพล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน หัวหน้าพรรคมาตุภูมิ เป็นประธาน
หากรัฐบาลยังคงปฏิเสธข้อเสนอดังกล่าว การตั้งสภาปฏิรูปของรัฐบาลก็เป็นเพียงแค่ต้องการสร้างความชอบให้กับการแก้ไขธรรมนูญและนิรโทษกรรมของรัฐบาลเท่านั้น
สมชาย วงศ์สวัสดิ์
ประธานกรรมการยุทธศาสตร์ พรรคเพื่อไทย
การปฏิรูปไม่ใช่เป็นเรื่องซับซ้อนยุ่งยาก แต่ครั้งนี้แตกต่างจากในอดีตเพราะรัฐเป็นผู้ริเริ่ม ซึ่งเป็นไปตามที่เคยให้สัญญาไว้ตอนหาเสียง
อย่าไปมองว่าเวทีนี้ไม่มีคู่ขัดแย้งเข้าร่วม เพราะถึงที่สุดหากมีผู้เข้าร่วมมากแล้วผลของการปฏิรูปถ้าประชาชนพอใจ เสียงที่คัดค้านถือเป็นเรื่องปกติ เมื่อถึงจุดนั้นคนที่ไม่เห็นด้วยก็จะค่อยๆ เดินตาม เสียงที่เห็นด้วยส่วนใหญ่
แน่นอนว่าการริเริ่มปฏิรูปโดยรัฐบาลอาจไม่สำเร็จโดยเร็ว แต่ถือว่าเป็นการจุดประกายและถ้าปฏิรูปที่จะได้แน่ๆ คือความบาดหมางจะได้จบ จะมีวิธีทางที่จะนำไปสู่ความสงบของบ้านเมือง แม้จะไม่ถึงนิพพานแต่ก็ดีกว่าไม่ทำอะไรเลย
การที่รัฐบาลเชิญคนทั้งหลายมาร่วมปฏิรูปเป็นเรื่องที่น่าจะให้การสนับสนุน อย่าไปมองว่าจะสำเร็จหรือไม่สำเร็จ เพราะกรุงโรมยังสร้างไม่เสร็จในวันเดียว การปฏิรูปการเมืองอาจไม่สำเร็จได้ในวันเดียวและจากฝีมือคนคนเดียว อาจต้องร่วมกันและใช้เวลา
อย่ามองว่าคู่ขัดแย้งไม่มาเข้าร่วมเพราะถ้ามองอย่างนั้นจะไม่สำเร็จ รัฐบาลก็ควรทำให้เต็มที่ อย่าไปคิด อย่าไปถือเอาความเห็นตนเองเป็นหลัก รับฟังความเห็นจากทุกฝ่าย
ถึงเวลาก็มาดูว่าประชาชนผู้ที่ถืออำนาจคิดเห็นอย่างไร ถ้าเขาเห็นด้วยคนที่ไม่เห็นด้วยในเวลาต่อมาก็จะต้องเดินตามมา และอย่าไปคิดว่าใครจะได้ใครจะเสีย ไม่ใช่เรื่องที่ต้องคำนึงถึง
ในรัฐบาลยิ่งลักษณ์การปฏิรูปอาจไม่จบก็ได้ แต่เมื่อเริ่มต้นก็ถือเป็นนิมิตหมายที่ดี
อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ
หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์
ขณะนี้เรามักได้ยินอยู่ 2 คำ คือคำว่าปฏิรูป คือการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างทางเศรษฐกิจและสังคมของประเทศไทยให้ดีขึ้น ส่วนคำว่าปรองดองคือการคลี่คลายความขัดแย้งที่เกิดขึ้นในสังคม หากสังคมขาดความปรองดองก็ไม่สามารถเดินหน้าปฏิรูปได้
เราตั้งคำถามในการตั้งสภาปฏิรูปการเมืองของรัฐบาลว่า การปฏิรูปจะเปลี่ยนแปลงโครงสร้างทางสังคมได้มากน้อยแค่ไหน และการสร้างความปรองดองจะคลี่คลายความขัดแย้งแค่ไหน
ส่วนตัวเห็นว่าประเทศไทยต้องได้รับการปฏิรูป เพราะขณะนี้ยังมีปัญหาเรื่องทุจริตคอร์รัปชั่น ผู้คนไม่มีจริยธรรม
กว่า 10 ปีที่ผ่านมา มีหลายคณะหลายองค์กรได้ศึกษาแนวทางการปฏิรูป เช่น ข้อเสนอแนะของคณะกรรมการที่มีนายอานันท์ ปันยารชุน เป็นประธาน ข้อเสนอแนะของนพ.ประเวศ วะสี และคณะกรรมการชุดอื่นๆ แต่รัฐบาลกลับไปใช้นักการเมือง ไม่ใช้องค์ความรู้ที่มีอยู่แล้ว
หากรัฐบาลเดินหน้าปฏิรูปเรื่องของที่ดิน ปฏิรูปวงการตำรวจ ปฏิรูปสื่อ การศึกษา รวมทั้งการกระจายอำนาจลงสู่ท้องถิ่นเราก็เห็นด้วย
รัฐบาลไม่จำเป็นต้องไปนับหนึ่งใหม่เพียงนำองค์ความรู้ที่มีอยู่มาใช้ แนวทางการปฏิรูปการเมืองของรัฐบาลนี้ให้ความสำคัญกับนักการเมืองมากเกินไป
ยืนยันว่าระบบการเมืองไม่ได้เป็นอุปสรรคในการพูดคุยกับรัฐบาล จะเห็นได้ว่าเรื่องที่รัฐบาลเสนอเข้าสภากว่า 100 เรื่อง เราคัดค้านแค่การแก้ไขรัฐธรรมนูญและการออกกฎหมายล้างผิดเพื่อคนกลุ่มเดียว
ถ้าไม่ยุ่งกับ 2 เรื่องดังกล่าว และเน้นปฏิรูปโครงสร้างเศรษฐกิจและสังคม เราก็พร้อมจะสนับสนุน
ส่วนเรื่องการปรองดอง ปัญหาที่เกิดขึ้นไม่ได้ซับซ้อน สังคมที่มีการปรองดองไม่ใช่สังคมที่ไม่มีสี แต่ต้องเป็นสังคมที่เคารพสิทธิ์ซึ่งกันและกัน ประชาชนทุกสีอยู่ร่วมกันได้
เช่น หากผมเป็นสีฟ้า แล้วไปพูดบนเวทีก็ต้องไม่มีสีแดงเข้ามาก่อกวน พรรคการเมืองก็แข่งขันกันในเชิงนโยบายแล้วให้ประชาชนตัดสินตอนเลือกตั้ง เรื่องถูกผิดก็ปล่อยให้เป็นกระบวนการของศาล
ประเด็นความขัดแย้ง คือ การออกกฎหมายล้างผิดและการแก้รัฐธรรมนูญ รัฐบาลไม่ควรนำประเด็นนี้มาพูดในเวทีปฏิรูปการเมือง การแก้ความขัดแย้งไม่สามารถใช้เสียงข้างมากแก้ได้ ทุกฝ่ายต้องหาจุดร่วมที่เหมือนกัน
แม้ผมจะไม่เข้าร่วมสภาปฏิรูปการเมืองครั้งนี้ แต่เชื่อว่าประเทศไทยจะสามารถปฏิรูปและสร้างความปรองดองได้