รัฐปล่อยก๊าซพุ่ง"แดง"ไม่สะดุ้งค่าครองชีพ :

โพสต์ทูเดย์
13 กันยายน 2556


 

ภาวะค่าครองชีพพุ่งทั่วประเทศทั้งค่าทางด่วน ค่าไฟฟ้า ราคาวัตถุดิบ โดยเฉพาะการปรับขึ้นราคาแอลพีจีภาคครัวเรือน 50 สตางค์ต่อกิโลกรัม ส่งผลกระทบต่อประชาชนเป็นวงกว้าง

นพ.เหวง โตจิราการ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย (พท.) มองว่า การขึ้นราคาก๊าซแอลพีจีเพียง 50 สตางค์ ไม่ส่งผลต่อรายจ่ายของประชาชนมากนัก เพราะต้นทุนค่าอาหารจะเพิ่มสูงขึ้นเฉลี่ยเพียง 10-30 สตางค์ต่อจานเท่านั้น แต่มีบางร้านค้าและผู้ประกอบการที่ฉวยโอกาสขึ้นราคาสูงเกินจริงเป็น 40-50 บาท มองว่าโจทย์ของรัฐบาลเวลานี้คือ ทำอย่างไรจึงจะควบคุมไม่ให้เกิดการเอาเปรียบประชาชนจากผู้ค้าเหล่านี้มากกว่า เพราะโครงการธงฟ้าของรัฐบาลช่วยเหลือไม่ครอบคลุมประชาชนทั้งหมด

“การขึ้นราคาก๊าซแอลพีจีไม่ได้ส่งผลกระทบมากต่อค่าครองชีพ แต่เป็นความบังเอิญในช่วงที่ค่าไฟฟ้าเอฟทีสูงขึ้น ส่วนค่าทางด่วนนั้นเป็นไปตามกฎเกณฑ์ที่เอกชน ที่ได้รับสัมปทานสามารถขึ้นราคาได้ เป็นความบังเอิญทำให้ราคามาประจวบเหมาะกัน จึงทำให้ดูเหมือนว่าค่าครองชีพสูงขึ้น”นพ.เหวง ระบุ

ชินวัฒน์ หาบุญพาด สส.บัญชีรายชื่อ พท. และอดีตที่ปรึกษา รมว.คมนาคม กล่าวว่า ที่ผ่านมามีกลุ่มคนขับแท็กซี่ชุมนุมประท้วงที่รัฐบาลขึ้นราคาก๊าซแอลพีจี โดยขอให้ขึ้นค่ามิเตอร์เป็น 40 บาทนั้นถือว่าแก้ปัญหาที่ไม่ตรงจุด เพราะปัญหาของแท็กซี่ไทยไม่ได้มาจากค่าเชื้อเพลิงที่สูง แต่เป็นเพราะจำนวนรถที่มีมากเกินกว่าความต้องการของผู้โดยสาร

“ทุกวันนี้แท็กซี่รับผู้โดยสาร 30% อีก 70% คือ ขับรถเปล่าตระเวน ดังนั้นแท็กซี่เสียค่าใช้จ่ายเยอะ เพราะคนขับมีสัดส่วนเยอะกว่าผู้โดยสาร ไม่ได้เสียค่าใช้จ่ายเยอะจากราคาก๊าซหรือน้ำมันพุ่งสูงขึ้น” แกนนำแท็กซี่คนเสื้อแดง กล่าว

วรชัย เหมะ สส.สมุทรปราการ พท. ระบุว่า การขึ้นราคาแอลพีจีเป็นไปตามกลไกราคาตลาดและส่งผลให้ต้นทุนราคาอาหารขึ้นไม่ถึง 20 สตางค์ มองว่ากระแสสินค้าราคาแพงเป็นเพียงบรรยากาศและเกิดจากวาทกรรมของพรรคฝ่ายค้านเท่านั้น เพราะตัวเลขเงินเฟ้อยังอยู่ที่ 1.6% ราคาสินค้าบริโภคทั้งเนื้อหมู เนื้อไก่ น้ำมันพืช ผลไม้ และไข่ไก่ยังไม่ถึงขั้นรุนแรงเท่ากับรัฐบาลอภิสิทธิ์ที่ต้องเอาไข่ชั่งกิโลขาย

สมคิด เชื้อคง สส.อุบลราชธานี พท. กล่าวว่า ในต่างจังหวัดมีการขึ้นราคาตามร้านอาหารในตัวเมืองใหญ่จริง แต่กลุ่มผู้ค้าส่วนใหญ่เห็นตรงกันว่าก๊าซแอลพีจีที่สูงขึ้นไม่ได้เป็นปัจจัยสำคัญ แต่มาจากการปรับค่าแรงขั้นต่ำและปัจจัยแวดล้อมอื่นผสมกันที่ทำให้ผู้ค้าถือโอกาสขึ้นราคาอาหารรวบยอด ทั้งนี้ราคาดังกล่าวไม่ได้สูงมาก อาทิ ร้านหมูกระทะเพิ่มจาก 90 เป็น 100 บาท แต่มองว่านโยบายสร้างรายได้ของรัฐทั้งโครงการรับจำนำข้าว ยางพารา และเงินเดือนขั้นต่ำช่วยให้ประชาชนไม่ได้รับผลกระทบ