สรุปร่างแก้ "ที่มาสว." - จ่อวาระ3

ข่าวสด 17 กันยายน 2556


 
รายงานพิเศษ

การพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ประเด็นที่มาส.ว. วาระ 2 ถกเดือดตั้งแต่วันแรก และปั่นป่วนวุ่นวายต่อเนื่อง

ส่งผลให้การพิจารณา 13 มาตรา เป็นไปอย่างล่าช้า จนกินเวลาถึง 12 วัน

เนื้อหาถูกกลบด้วยบรรยากาศการประชุม ซึ่งได้รับการพูดถึงและจดจำได้มากกว่า

ทั้งที่ร่างแก้ไขดังกล่าวมีเนื้อหาสาระที่น่าสนใจ และมีรายละเอียดแต่ละมาตราดังนี้

มาตรา 1 รัฐธรรมนูญนี้เรียกว่า "รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่...) พุทธศักราช..."

มาตรา 2 รัฐธรรมนูญฉบับนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป

มาตรา 3 ยกเลิกความในมาตรา 111 และมาตรา 112 และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน

มาตรา 111 วุฒิสภาประกอบด้วยสมาชิกซึ่งราษฎรเลือกตั้งจำนวน 200 คน ในกรณีที่ตำแหน่งว่างลงไม่ว่าด้วยเหตุใดๆ และยังมิได้มีการเลือกตั้งขึ้นแทนตำแหน่งที่ว่าง ให้วุฒิสภาประกอบด้วยสมาชิกวุฒิสภาเท่าที่มีอยู่

กรณีที่มีเหตุการณ์ใดๆ ทำให้ส.ว.ไม่ครบจำนวนตามวรรคหนึ่ง แต่มีจำนวนไม่น้อยกว่าร้อยละ 95 ของจำนวน ส.ว.ทั้งหมด ให้ถือว่าวุฒิสภาประกอบด้วยสมาชิกจำนวนดังกล่าว แต่ต้องมีการเลือกตั้งให้ได้ ส.ว.ครบจำนวนตามวรรคหนึ่งภายใน 180 วัน นับแต่วันที่มีเหตุการณ์ดังกล่าว และให้ ส.ว.ที่เข้ามาอยู่ในตำแหน่งเพียงเท่าวาระของวุฒิสภาที่เหลืออยู่

มาตรา 112 การเลือกตั้งส.ว. ให้ใช้เขตจังหวัดเป็นเขตเลือกตั้ง โดยผู้มีสิทธิเลือกตั้งมีสิทธิออกเสียงลงคะแนนเลือกผู้สมัครในเขตนั้นได้ 1 คน และให้ใช้วิธีออกเสียงลงคะแนนโดยตรงและลับ การคำนวณเกณฑ์จำนวน ส.ว.ที่แต่ละจังหวัดจะพึงมี ให้คำนวณตามวิธีที่บัญญัติไว้ในมาตรา 94 โดยอนุโลม

ในกรณีที่จังหวัดใดมี ส.ว.ได้มากกว่าหนึ่งคน ให้ผู้สมัครที่ได้คะแนนสูงสุดเรียงตามลำดับจนครบจำนวน ส.ว.ที่จะพึงมีได้ในจังหวัดนั้น เป็นผู้ได้รับเลือกตั้งเป็น ส.ว.

เพื่อประโยชน์ในการเลือกตั้ง ให้ผู้สมัครสามารถหาเสียงเลือกตั้งได้ก็แต่เฉพาะที่เกี่ยวกับการปฏิบัติงานในหน้าที่ของวุฒิสภา

หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการเลือกตั้งและการหาเสียงเลือกตั้งของ ส.ว.ให้เป็นไปตามพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. และ ส.ว.

การแก้ไขมาตรานี้ ทำให้ ส.ว.ชุดใหม่ประกอบไปด้วยสมาชิกที่มาจากการเลือกตั้งล้วนๆ จำนวน 200 คน โดยใช้เขตจังหวัดเป็นเขตเลือกตั้ง โดยส.ว. 1 คน ต่อประชาชนประมาณ 325,000 คน

ผู้มีสิทธิเลือกตั้ง ส.ว.มีสิทธิออกเสียงลงคะแนนเลือกตั้งผู้สมัครรับเลือกตั้งในเขตเลือกตั้งนั้นได้ 1 คน กรณีที่จังหวัดมี ส.ว.ได้มากกว่า 1 คน ให้ผู้สมัครรับเลือกตั้งที่ได้คะแนนสูงสุดเรียงตามลำดับจนครบจำนวน ส.ว.ที่จะพึงมีได้ในจังหวัดนั้น

จากเดิม ส.ว.มีที่มาจากส.ว.เลือกตั้ง 76 คน จาก 76 จังหวัด และ ส.ว.สรรหา 74 คน รวมเป็น 150 คน

มาตรา 4 ยกเลิกมาตรา 113 และ 114 ว่าด้วยการคัดสรร ส.ว.สรรหา โดยคณะกรรมการสรรหา 7 คน ประกอบด้วย ประธานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ประธานผู้ตรวจการแผ่นดิน ประธานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ประธานคณะกรรมการการตรวจเงินแผ่นดิน ผู้พิพากษาศาลฎีกา และตุลาการศาลปกครองสูงสุด ให้เป็นอันสิ้นสุด

มาตรา 5 ยกเลิกมาตรา 115 ว่าด้วยคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามที่ไม่สามารถลงสมัคร ส.ว.ได้ เช่น ผู้สมัครต้องไม่เป็นบุพการี คู่สมรส หรือบุตรของ ส.ส. หรือผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง

ตามร่างนี้ ลูก เมีย พ่อ แม่ และเครือญาติผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองสามารถลงสมัครรับเลือกตั้ง ส.ว.ได้

มาตรา 6 ยกเลิกความในวรรคสอง ของมาตรา 116 ที่ว่าด้วยการดำรงตำแหน่งทางการเมืองของ ส.ว. หลังพ้นสมาชิกภาพแล้ว และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน

บุคคลผู้เคยดำรงตำแหน่งส.ว.และสมาชิกภาพสิ้นสุดลงมาแล้วยังไม่เกินสองปี จะเป็นรัฐมนตรีหรือผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองซึ่งมิใช่ส.ว.มิได้

ส่งผลให้สมาชิกวุฒิสภาสามารถลงสมัครรับเลือกตั้ง ส.ว. ต่อเนื่องได้ทันทีเมื่อหมดวาระ โดยไม่ต้องเว้นวรรค

และส.ว.เลือกตั้งชุดปัจจุบันที่จะหมดวาระลงในวันที่ 2 มี.ค. 2557 สามารถลงสมัครได้อีกสมัยในทันที

มาตรา 7 ยกเลิกมาตรา 117 และ 118 และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน

มาตรา 117 สมาชิกภาพของ ส.ว.เริ่มตั้งแต่วันเลือกตั้งส.ว. ให้วาระของวุฒิสภามีกำหนดคราวละ 6 ปีนับแต่วันเลือกตั้ง

มาตรา 118 เมื่อวาระของวุฒิสภาสิ้นสุดลง พระมหากษัตริย์จะได้ทรงตราพระราชกฤษฎีกาให้มีการเลือกตั้งสมาชิกวุฒิสภาใหม่เป็นการเลือกตั้งทั่วไป ซึ่งต้องกำหนดวันเลือกตั้งภายใน 45 วันนับแต่วันที่วาระของวุฒิสภาสิ้นสุดลง และวันเลือกตั้งนั้นต้องกำหนดเป็นวันเดียวกันทั่วราชอาณาจักร

เท่ากับกำหนดให้ ส.ว.มีวาระการดำรงตำแหน่ง 6 ปี และไม่จำกัดวาระว่าจะเป็นได้กี่สมัย รวมถึงกำหนดวันเลือกตั้งเมื่อวาระส.ว.สิ้นสุดลงภายใน 45 วัน

มาตรา 8 ให้ยกเลิกมาตรา 120 และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน

มาตรา 120 เมื่อตำแหน่ง ส.ว.ว่างลงเพราะเหตุอื่นใดนอกจากถึงคราวออกตามวาระของวุฒิสภา ให้มีการเลือกตั้ง ส.ว.ขึ้นแทนภายใน 45 วัน นับแต่วันที่ตำแหน่งนั้นว่างลง เว้นแต่วาระของวุฒิสภาจะเหลือไม่ถึง 180 วัน จะไม่ดำเนินการเลือกตั้งก็ได้ ส.ว.ผู้เข้ามาแทนที่ให้อยู่ในตำแหน่งได้เพียงเท่าอายุของวุฒิสภาที่เหลืออยู่"

หมายถึงการเลือกตั้ง ส.ว.ที่ว่างลงด้วยเหตุอื่นที่ไม่ใช่การครบวาระ ภายใน 45 วัน ยกเว้นวาระการดำรงตำแหน่งจะเหลือไม่ถึง 180 วัน จะไม่จัดให้เลือกก็ได้ ส่วนผู้ที่เข้ามาดำรงตำแหน่งแทนให้ครบวาระเท่า อายุส.ว.ที่เหลืออยู่

มาตรา 9 ให้ยกเลิกความในวรรคหนึ่งของมาตรา 241 และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน

มาตรา 241 ในระหว่างที่พระราชกฤษฎีกาให้มีการเลือกตั้งส.ส.หรือ ส.ว. หรือประกาศให้มีการออกเสียงประชามติมีผลใช้บังคับ ห้ามมิให้จับ คุมขัง หรือหมายเรียกตัวกรรมการการเลือกตั้ง ไปทำการสอบสวน เว้นแต่ในกรณีที่ได้รับอนุญาตจากคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) หรือในกรณีที่จับในขณะกระทำความผิด

มาตรา 10 ให้ ส.ว.ที่มีสมาชิกภาพอยู่ในวันที่ร่างแก้ไขฉบับนี้ใช้บังคับยังคงสมาชิกภาพ และทำหน้าที่ ต่อไป

ในกรณีที่การดำรงตำแหน่งของ ส.ว. ว่างลงก่อนการแก้ไขเพิ่มเติมโดยรัฐธรรมนูญนี้ ไม่ต้องดำเนินการเลือกตั้งหรือสรรหาขึ้นใหม่แทนตำแหน่งที่ว่าง

มาตรา 11 ให้ กกต.ดำเนินการเสนอร่าง พ.ร.บ. ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งส.ส. และ ส.ว. ต่อรัฐสภาภายใน 30 วัน นับแต่วันที่รัฐธรรมนูญนี้ใช้บังคับ

ภายใน 120 วันนับแต่วันที่รัฐธรรมนูญนี้ใช้บังคับ ให้รัฐสภาดำเนินการพิจารณาและให้ความเห็นชอบร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งส.ส.และส.ว. ที่ กกต.เสนอตามวรรคหนึ่งให้แล้วเสร็จ

เมื่อครบกำหนดระยะเวลาตามวรรคสอง หรือมีเหตุอื่นใด ทำให้รัฐสภาไม่สามารถพิจารณาร่าง พ.ร.บ. ประกอบรัฐธรรมนูญตามวรรคหนึ่งให้แล้วเสร็จ ให้ประธานสภาผู้แทนราษฎรนำร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญดังกล่าวที่สภาผู้แทนราษฎรให้ความเห็นชอบเสนอต่อนายกฯ นำขึ้นทูลเกล้าฯ และให้นำความในมาตรา 150 และมาตรา 150 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาใช้บังคับโดยอนุโลม

มาตรา 11/1 เมื่อ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งส.ส.และส.ว.ตามมาตรา 11 มีผลใช้บังคับ ให้บรรดาบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ กฎหมาย ระเบียบ ประกาศ หรือข้อบังคับใด ที่อ้างถึงพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งส.ส.และการได้มาซึ่งส.ว. ให้หมายถึง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งส.ส.และส.ว.

มาตรา 12 เมื่อได้มีพระราชกฤษฎีกากำหนดให้มีการเลือกตั้ง ส.ว.ครั้งแรกซึ่งเป็นการเลือกตั้งทั่วไปตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งส.ส.และส.ว. ตามมาตรา 11 ให้ ส.ว.ตามมาตรา 10 สิ้นสุดสมาชิกภาพในวันที่สมาชิกวุฒิสภาที่ได้รับเลือกตั้งใหม่เข้ารับหน้าที่