เล่าเรื่องเมื่อยังเยาว์ (ตอนที่ 3) : น.พ.เหวง โตจิราการ

Facebook น.พ.เหวง โตจิราการ


เล่าเรื่องเมื่อยังเยาว์(3) 
 เข้าเรียนที่คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี เมื่อข้ามฟากไป เรียนปีห้าที่โรงพยาบาลรามาธิบดี การเคลื่อนไหวทางการเมืองของนักศึกษาสถาบันต่างๆที่ต่อต้านกับระบบเผด็จการถนอมประภาส และต่อต้านสงครามเวียดนาม ขึ้นสู่กระแสสูง โดยเริ่มจากต่อต้านสินค้าญี่ปุ่น ต่อไปก็ต่อต้านสงครามเวียดนาม ต่อต้าน การอนุญาตให้อเมริกาใช้ฐานทัพในไทย มีสังคมศาสตร์ปริทัศน์ฉบับ “ภัยเหลือง” “ภัยเขียว” ผมเคยเข้าร่วมเป็นสาราณียกรของสังคมศาสตร์ปริทัศน์ฉบับนิสิต นักศึกษาอยู่ครั้งหนึ่งกับ ธเนศร์ อาภรณ์สุวรรณ เหตุการณ์ใหญ่ 14 ตุลาคม 2516 เริ่มก่อตัวขึ้น โดยเริ่มจาก กรณี ทุ่งใหญ่นเรศวร ที่พันเอกณรงค์ กิตติขจร ใช้เฮลิคอปเตอร์ราชการไปล่าสัตว์พร้อมดาราหญิงชื่อดัง และไปยิงกระทิงหลายตัวที่ทุ่งใหญ่ดังกล่าว บังเอิญเฮลิคอปเตอร์ตก และมีหลักฐานปรากฏมากมาย รวมไปถึง พันเอกณรงคกิตติขจร ขับรถชนป้อมตำรวจที่เขตดุสิตพัง และวางอำนาจบาตรใหญ่ ทำให้สังคมต่อต้านอย่างรุนแรง ประกอบกับจอมพลถนอมต่ออายุราชการตนเองยิ่งทำให้ความไม่พอใจรุนแรง จนนักศึกษาที่รามคำแหงออกหนังสือ “สภาสัตว์ป่าแห่งทุ่งใหญ่ต่ออายุให้กับจ้าวสัตว์ป่า”ทำให้ถูกคัดชื่อออก นำมาสู่การชุมนุมประท้วงของนักศึกษาในรามคำแหงจำนวนมาก และเคลื่อนขบวนออกมาชุมนุมนับหมื่นที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย จนทำให้ จอมพลถนอมต้องสั่งให้ ดร.ศักดิ์ ผาสุกนิรันดร์ ยอมรับนักศึกษาทั้ง9 คนกลับเข้าเรียนในมหาวิทยาลัยตามเดิม แต่ก่อนที่จะสลายการชุมนุมก็ได้มีการนัดหมายกัน ให้มาเรียกร้องรัฐธรรมนูญจากรัฐบาลจอมพลถนอม ในเดือนตุลาคมปีเดียวกันคือปี2516 ตอนข้ามฟากมาเรียนคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี ในระยะแรกในตัวผมเองมีความขัดแย้งอย่างมากระหว่าง การแบ่งเวลาให้กับการเรียนแพทย์และการเข้าร่วมการต่อสู้กับเผด็จการทรราชย์ถนอมร่วมกับเพื่อนนักศึกษาต่างสถาบันกับประชาชนภายนอก และความรู้สึกลำบากใจ ต่อการขาดความตื่นตัวทางการเมืองของเพื่อนนักศึกษาร่วมสถาบันภายในมหาวิทยาลัยมหิดล ในระยะนั้น ศูนย์นิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทยเริ่มมีบทบาทมากยิ่งขึ้นต่อเนื่องจากการเคลื่อนไหวต่อต้านสินค้าญี่ปุ่น พร้อมกับ การเริ่มก่อตัวของ ชมรมนักศึกษาในมหาวิทยาลัยต่างๆอันได้รับแรงบันดาลใจจากนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ต่อด้วย นักศึกษามหาวิทยาลัยรามคำแหง ต่อมามหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาลัยวิชาการศึกษาประสานมิตร ต่อมามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ผมพยายามเชื่อมโยงให้เกิดความตื่นตัวขึ้นภายในมหาวิทยาลัยมหิดล ก็เริ่มต้นที่ เพื่อนๆพี่ๆในคณะแพทยศาสตร์รามาธิบดี และเริ่มมองหาน้องๆจากคณะวิทยาศาสตร์มหาวิทยาลัยมหิดล พื้นฐานที่ผมต่อเชื่อมกับเพื่อนๆนักศึกษารุ่นเดียวกันรุ่นน้องๆ นั้นผมได้เริ่มทำตั้งแต่ปี2512-13-14แล้ว เริ่มต้นด้วยการ ช่วยเพื่อนๆและน้องๆในการเรียน เพราะ ชีวิตการเรียนในมหาวิทยาลัย ต่างจากมัธยมปลาย ต้องพึ่งตัวเองอย่างมากทางวิชาการ ในสองปีแรก มีเพื่อนๆที่สอบไม่ผ่านวิชาแคลคูลัส ฟิสิกส์ เคมีวิเคราะห์ และชีววิทยา จำนวนมาก ผมเลยตัดสินใจ ใช้เวลาพักเที่ยงประมาณ หนึ่งชั่วโมง เปิด ติว (ในสมัยนั้นไม่มีโรงเรียนติวแบบสยามตอนนี้ครับ ผมสงสัยว่า มหิดลอาจจะเป็นที่แรกที่เปิดติวเป็นห้องใหญ่ มีคนเข้าฟัง หลายร้อย) ทั้งสี่วิชาดังกล่าว เพราะผมชอบ วิชา ทางด้านนี้ทั้งหมดเลยครับ ผมรู้สึกสนุก ชีวิตมีความหมายได้ทำประโยชน์ และได้เพื่อน ต่างคณะวิชา หรือภาควิชา จำนวนมาก สิ่งนี้เป็นประโยชน์ในการ เคลื่อนไหวนักศึกษายกระดับการตื่นตัวทางการเมืองและการต่อสู้ทางการเมืองในภายหลัง นี่เป็นความการแสดงออกที่พัฒนามาจากคำสอนของอ.พุทธทาสนั่นแหละที่ให้ทำประโยชน์ผู้อื่น ให้ทำลายความเห็นแก่ตัว เป็นเรื่องเดียวกัน