พวงทอง ภวัครพันธุ์ วิเคราะห์กก.สิทธิ์สอบม็อบแดง

ข่าวสด 12 สิงหาคม 2556


รายงานพิเศษ



ได้เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวาง ในกลุ่ม นักวิชาการและภาคประชาชน 

พวงทอง ภวัครพันธุ์ อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในฐานะผู้ประสานงานศูนย์ข้อมูลประชาชนผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุสลายการชุมนุมเม.ย.-พ.ค. 2553 (ศปช.) 

ที่เกาะติด ค้นคว้า และตรวจสอบผลกระทบจากเหตุรุนแรงในช่วงดังกล่าว วิเคราะห์รายงานของกรรมการสิทธิฯ ไว้ดังนี้ 

เนื้อหาในรายงานของกรรมการสิทธิฯ ตรงกับข้อเท็จจริงและครบถ้วนหรือไม่ 

หลังได้อ่านรายงานดังกล่าว สะท้อนถึงทัศนคติของกรรมการสิทธิฯ ได้อย่างชัดเจน ที่มองว่าการชุมนุมของกลุ่มนปช. มีพฤติกรรมที่แสดงออกเกินกว่าการใช้สิทธิเสรีภาพในการชุมนุมตามรัฐธรรมนูญ 

เพราะในรายงานได้ระบุถึงการบุกสถานที่ราชการและสถานที่สำคัญ การเข้าไปยึดพื้นที่สาธารณะจนสร้างความเดือดร้อนให้ประชาชน รวมทั้งการอธิบายให้เข้าใจได้ว่ามีผู้ใช้อาวุธและมีชายชุดดำอยู่ในกลุ่มนปช. 

จึงเป็นเหตุผลที่กรรมการสิทธิฯ กำลังจะบอกว่า รัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ มีความชอบธรรมที่จะประกาศใช้กฎหมายในสถานการณ์ฉุกเฉิน การออกพ.ร.บ.การรักษาความมั่นคงในราชอาณาจักร รวมทั้งการจัดตั้งศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน (ศอฉ.) เพื่อมาสลายผู้ชุมนุม แม้ว่ากฎหมายดังกล่าวจะเป็นการละเมิดสิทธิของประชาชนและประโยชน์โดยรวม 

รายงานของกรรมการสิทธิฯ กลับไม่ได้ให้ความสำคัญกรณีรัฐบาลใช้อำนาจหน้าที่เกินกว่าเหตุต่อประชาชน

เพราะในรายงานไม่ได้ระบุว่ารัฐบาลได้จัดกำลังเจ้าหน้าที่กว่า 1 หมื่นคน กระสุนจริงใช้ไปกว่า 1 แสน 2 หมื่นนัด ใช้กระสุนของปืนสไนเปอร์กว่า 2 พันนัด นี่คือข้อเท็จจริงที่ไม่ปรากฏในรายงาน 

แต่กลับไปอธิบายว่าขณะที่เจ้าหน้าที่ฝ่ายรัฐสลายการชุมนุมอาจมีผู้ที่บาดเจ็บหรือเสียชีวิต เพราะมีความจำเป็นที่จะต้องควบคุมสถานการณ์ให้กลับมาสู่ความสงบและส่วนผู้ที่เสียหายรัฐก็สมควรที่จะเยียวยารักษา

แตกต่างหรือคล้ายจากรายงานที่กรรมการสิทธิฯ เคยเสนอไว้ในปี 2554

การนำเสนอรายงานฉบับล่าสุดไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจแต่อย่างใด เพราะกรรมการสิทธิฯ มีรายงานลักษณะนี้เผยแพร่ออกมาในปี 2554 เนื้อหาแทบไม่ได้มีความแตกต่างจากรายงานฉบับล่าสุด

จะมีก็เพียงแต่ขยายความให้เป็นวิชาการมากขึ้น ด้วยการใส่ข้อกฎหมายที่รองรับว่ารัฐบาลนายอภิสิทธิ์มีความชอบธรรม และกลุ่มนปช.ได้กระทำเกินสิทธิเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญที่กำหนด ทั้งที่กรรมการสิทธิฯ มีเวลาทำรายงานฉบับนี้ถึง 3 ปี มากกว่าหน่วยงานอื่น 

ไม่อยากเชื่่อว่าในรายงานนี้จะไม่มีการพิจารณาความสูญเสีย หรือสาเหตุการเสียชีวิตของผู้ชุมนุมในแต่ละพื้นที่ แต่ใส่ข้อมูลที่ไม่สอดคล้องกับเหตุการณ์ปัจจุบัน เช่น การกล่าวหาว่ามีชายชุดดำ มีผู้ชุมนุมใช้อาวุธสงคราม หรือก่อการร้ายต่างๆ 

ทั้งที่ศาลมีคำสั่งชัดเจนแล้วว่า มือเผาเซ็นทรัลเวิลด์ไม่ใช่คนเสื้อแดง 6 ศพวัดปทุมฯ ตายเพราะเจ้าหน้าที่อย่างไม่มีการตอบโต้ หรือแม้แต่การนำกำลังเจ้าหน้าที่พร้อมอาวุธหนักเข้ามาตรึงกำลังก่อนจะมีเหตุรุนแรง 

ในรายงานมีแต่การอ้างอิงรายงานจาก ศอฉ. ว่าการสลายการชุมนุมเป็นไปตามหลักสากล ซึ่งขัดแย้งกับข้อเท็จจริง หรือกรณีกรรมการสิทธิฯ พยายามสร้างการอ้างอิงของ ศอฉ.ให้เป็นหลักฐานเบ็ดเสร็จที่ไม่จำเป็นต้องพิสูจน์ใดๆ 

จึงขอถามว่าถ้าจะอ้างหลักฐานเช่นนี้ เหตุใดจึงไม่นำข้อมูลทางฝั่งเสื้อแดงมาอ้างอิงบ้าง ทำไมเลือกที่จะเสนอข้อมูลเพียงด้านเดียว กรณีนี้บ่งบอกได้ว่ามุมมองการแก้ไขปัญหาและแนวทางการพิจารณาเพื่อหาข้อสรุปของกรรมการสิทธิฯ มีปัญหา


รายงานนี้สอดคล้องกับหลักการขององค์กรด้านสิทธิมนุษยชนหรือไม่ 


ยิ่งในฐานะเป็นองค์กรที่มีหน้าที่ปกป้องสิทธิของประชาชนจากการใช้อำนาจเกินขอบเขตของรัฐ แต่สิ่งที่เกิดขึ้นได้ตรงข้ามกับหลักการขององค์กรอย่างสิ้นเชิง 

แน่นอนว่าพฤติกรรมหลายอย่างของกลุ่มนปช.มีสิ่งที่ไม่ถูกต้อง จนทำให้ถูกประณามหลายต่อหลายครั้ง แต่ทั้งหมดก็ไม่เพียงพอที่จะอนุญาตให้รัฐใช้กำลังกับประชาชน 

ข้ออ้างที่บอกทำไปเพราะต้องการให้สังคมกลับสู่ความสงบ แต่ต้องแลกด้วยการเสียชีวิตของประชาชนเชื่อว่ารัฐที่มีมนุษยธรรมคงไม่มีแนวคิดเช่นนี้


กรรมการสิทธิฯ เห็นต่างกรณีการออกพ.ร.บ.ความมั่นคงยุครัฐบาลนายอภิสิทธิ์กับรัฐบาลปัจจุบัน

กรณีที่กรรมการสิทธิฯ ออกแถลงการณ์ต่อต้านรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ที่ออกพ.ร.บ.รักษาความมั่นคงต่อมวลชนที่เคลื่อนไหวในขณะนี้ แต่สมัยรัฐบาลนายอภิสิทธิ์สามารถออกกฎหมายสถานการณ์ฉุกเฉินได้เพราะความเหมาะสม 

แม้จะไม่เห็นด้วยกับการออกพ.ร.บ.รักษาความมั่นคง แต่จำเป็นต้องตั้งคำถามว่าหากรัฐบาลน.ส.ยิ่งลักษณ์ไม่ประกาศ พ.ร.บ.ดังกล่าว ปล่อยให้การชุมนุมลุกลามจนถึงขั้นรุนแรงเหมือนสมัยรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ ที่ประกาศตอนเหตุการณ์วิกฤตแล้ว ทางกรรมการสิทธิฯ ยังจะเขียนรายงานลักษณะนี้ในทำนองเดิมหรือไม่

การกระทำแบบนี้จะทำให้อนาคตการเมืองไทยมีความเสี่ยง เพราะในปัจจุบันการที่มวลชนจะออกมาเคลื่อนไหวสามารถทำได้ง่ายมาก หากกรรมการสิทธิฯ ไปตัดสินว่ารัฐบาลนายอภิสิทธิ์ สลายชุมนุมอย่างชอบธรรม แบบนี้รัฐบาลอื่นก็สามารถทำได้เพราะมีบรรทัดฐานไว้แล้ว

การเผยแพร่รายงานในช่วงที่การเมืองร้อน

ไม่ทราบถึงเจตนาที่แท้จริง แต่ตั้งข้อสังเกตได้ว่าการเผยแพร่รายงานดังกล่าวในช่วงที่มีการผลักดันกฎหมายนิรโทษกรรม อาจส่งผลให้การคัดค้านการนิรโทษกรรมมีน้ำหนักขึ้น 

จะไม่แปลกใจเลยหากเร็วๆ นี้จะเห็นนายอภิสิทธิ์และ นายสุเทพ เทือกสุบรรณ นำรายงานมาอ้างอิงเพื่อคัดค้านการนิรโทษกรรม หรือเพื่อยืนยันความชอบธรรมในคดีความ

การดำเนินการของกรรมการสิทธิฯ ถูกมองสองมาตรฐาน 

นี่คือการสะท้อนความเป็นสองมาตรฐาน เลือกปฏิบัติต่อข้างใดข้างหนึ่ง โดยปฏิเสธไม่ได้ว่าองค์กรอิสระในประเทศ ไทยค่อนข้างที่จะต่อต้านระบอบทักษิณ 

และแนวคิดในการต่อต้านนั้นได้ลุกลามมาเป็นอคติกับกลุ่มคนเสื้อแดง ที่ได้กลายมาเป็นแนวคิดที่ครอบงำหรือบดบังการพิจารณาประเด็นต่างๆ ให้เกิดความเคลือบแคลงต่อสังคม 

ถึงอย่างไร แม้คนเสื้อแดงจะเข้าข้างทักษิณ ก็ไม่ได้หมายความว่าองค์กรอิสระจะปล่อยให้รัฐล่วงละเมิดสิทธิของประชาชนได้โดยทำเป็นไม่รู้ไม่เห็นต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น

ใครได้ประโยชน์จากข้อมูลรายงานนี้

รายงานของกรรมการสิทธิฯ นี้คงไม่สามารถไปเอื้อประโยชน์ให้ทางฝั่งจำเลยได้ หากไปต่อสู้ในชั้นศาล รายงานนี้ถือว่าเป็นข้อมูลที่อ่อนอย่างสิ้นเชิง เพราะไม่มีการแสดงหลักฐาน ทั้งในด้านพยานบุคคล พยานวัตถุ หรือนิติวิทยาศาสตร์ 

อีกทั้งแม้จะมีการเสนอรายงานฉบับนี้ต่อรัฐบาลน.ส. ยิ่งลักษณ์ เชื่อว่ารัฐบาลคงไม่เอามาเป็นหลักทางกระบวนการยุติธรรม 

ที่จะส่งผลเสียโดยตรงคือเรื่องความเข้าใจของประชาชน ซึ่งในสถานการณ์ปัจจุบันการรับข้อมูลข่าวสารมีเรื่องแบ่งค่ายแบ่งสีเป็นปัจจัยหลัก สนับสนุนฝ่ายใดก็รับเฉพาะข้อมูลของฝ่ายนั้น 

ยิ่งรายงานที่บิดเบือนข้อมูลอย่างนี้จะทำให้สังคมเกิดความวุ่นวายมากขึ้น พออ่านจบก็ยังไม่เข้าใจว่ากรรมการสิทธิฯ จะเขียนรายงานที่ทำให้องค์กรตนเองถูกโจมตีไปทำไม

บทบาทของกรรมการสิทธิฯ ส่งผลอย่างไรต่อองค์กร 

การเผยแพร่รายงานนี้ กรรมการสิทธิฯ ได้ทำให้ภาพลักษณ์ขององค์กรเสียหายอย่างสิ้นเชิง ทั้งที่ผ่านมาองค์กรก็ถูกวิพากษ์วิจารณ์มาตลอดตั้งแต่หลังปี 2549 ที่ไม่ยอมออกมาประณามการทำรัฐประหาร ทั้งที่เป็นการละเมิดสิทธิประชาชนอย่างเห็นได้ชัด 

เมื่อนำเสนอข้อมูลที่ไม่สอดคล้องกับเหตุการณ์ปัจจุบันแบบนี้ ย่อมสะท้อนไปถึงทัศนวิสัยและเจตนารมณ์ของกรรมการสิทธิฯ กับจุดยืนที่ค่อนข้างมีปัญหาต่อการเมือง