บทบรรณาธิการ
คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ(กสม.) ออกรายงานและแถลงการณ์ 2 ฉบับในเวลาไล่เลี่ยกันเมื่อช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา
เป็นรายงานว่าด้วยสถานการณ์การสลายการชุมนุมทางการเมืองเมื่อปี 2553 และแถลงการณ์คัดค้านการประกาศใช้พระราชบัญญัติความมั่นคงในการควบคุมการชุมนุมของประชาชนในปี 2556
เป็นการแสดงจุดยืนทางการเมืองที่ "ชัดเจน" ของ กสม. ชุดปัจจุบันให้สังคมได้ตระหนักอีกครั้ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อมีการเปรียบเทียบ "ท่าที" ของ กสม. ต่อรัฐบาลที่ผ่านมากับรัฐบาลปัจจุบัน
ต่อการใช้อาวุธสงครามเข้าปราบปรามประชาชนอย่างถึงเลือดถึงเนื้อ
กับการประกาศใช้กฎหมายเพื่อป้องปรามสถานการณ์
มีผู้ออกมาวิพากษ์วิจารณ์จุดยืนและท่าทีของ กสม. เป็นจำนวนไม่น้อย โดยเฉพาะในประเด็นสำคัญของรายงาน
อาทิ กรณีการเสียชีวิตของประชาชน 6 ศพที่วัดปทุมวนาราม ที่แม้ศาลจะระบุว่าเกิดจากการกระทำของเจ้าหน้าที่ กสม. ก็ยังระบุว่าเกิดการยิงต่อสู้กับชายชุดดำ ซึ่งศาลยืนยันจากพยานหลักฐานแล้วว่าไม่มีปรากฏอยู่จริง
หรือการหยิบเอาเหตุการณ์ที่มีความสำคัญน้อยกว่า เช่น การยิงเอ็ม 79 ศาลาแดงมาเป็นเรื่องใหญ่ ขณะที่ประเด็นใหญ่ประเด็นสำคัญอย่างการเสียชีวิตของประชาชนด้วยอาวุธปืนติดกล้องกลับถูกละเลยมองข้ามไป
ไม่ได้แสดงจุดยืนด้านสิทธิมนุษยชนเมื่อมีการใช้อาวุธสงครามสังหารประชาชน
เพราะไม่ยึดกุมหลักการสิทธิมนุษยชนให้มั่น เพราะมีท่าทีทางการเมืองเอนเอียงไปข้างใดข้างหนึ่งอย่างชัดเจน เพราะการไม่ปฏิบัติหน้าที่ตามความรับผิดชอบอย่างตรงไปตรงมา
กสม. ย่อมสมควรตกเป็นเป้าวิพากษ์วิจารณ์ของสังคม
และหากไม่ต้องการจะตกเป็นเป้าวิจารณ์ของสังคม กสม. ย่อมไม่อาจใช้วิธีตอบโต้ด้วยคารมโวหารได้
แต่จะต้องกลับมายึดกุมหลักการสิทธิมนุษยชนให้มั่น กลับมาตรวจสอบจุดยืนและท่าทีทางการเมืองของตนเองอย่างตรงไปตรงมา และปฏิบัติหน้าที่ตามความรับผิดชอบตามหลักการ
หรือไม่เช่นนั้นก็ควรจะลาออกจากตำแหน่งไปทั้งคณะ