กลุ่มปฏิญญาหน้าศาล จี้ยุบองค์กรอิสระผลพวงจากรธน.ปี50

ไทยรัฐ 12 สิงหาคม 2556




อดีตคณะกรรมการสิทธิมนุษยชน ชี้ จำเป็นต้องยุบ กสม.และองค์กรอิสระที่มาจากรัฐธรรมนูญปี 2550 ชี้เป็นต้นเหตุทำให้เกิดปัญหาต่อประเทศ เนื่องจากถูกนำไปใช้เป็นเครื่องมือของฝ่ายที่กระทำผิด ...

วันที่ 11 ส.ค.กลุ่มปฏิญญาหน้าศาล นำโดยนางสาวสุดา รังกุพันธ์ อาจารย์ประจำคณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นายไม้หนึ่ง ก.กุนที จัดเสวนาบาทวิถีในหัวข้อ "ยุบเลิกคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนที่มาจาก คมช." โดยมีนายจรัล ดิษฐาอภิชัย อดีตกรรมการสิทธิมนุษยชน เป็นวิทยากร

โดยนายจรัล กล่าวว่า คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนในปัจจุบัน มาจากรัฐธรรมมนูญปี 2550 ที่มาจากคณะรัฐประหาร ซึ่งใช้วิธีการสรรหาจากรัฐสภา ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง และคณะกรรมการสิทธิฯ ส่วนใหญ่ที่ถูกรับเลือกเข้ามามีจุดยืนที่คัดค้านต่อต้านรัฐบาลของพันตำรวจโททักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี มีจุดยืนเข้าข้างกลุ่มพันธมิตร และรัฐบาลของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ 

ทั้งนี้จะเห็นได้จากที่การชุมนุมของคนเสื้อแดงตั้งแต่เดือนเมษายน-พฤษภาคม ปี 2553 ที่มีผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตจำนวนมาก แต่คณะกรรมการสิทธิฯ กลับเขียนรายงานเข้าข้างเจ้าหน้าที่รัฐ และรัฐบาลว่าใช้อำนาจเป็นไปในทางที่ถูกต้องตามกฎหมาย แต่กลับเขียนรายงานว่าร้ายผู้ชุมนุมว่า การที่เจ้าหน้าที่รัฐกระทำการ เนื่องจากกลุ่มผู้ชุมนุมมีการปลุกปั่นยั่วยุ หน้ำซ้ำอ้างว่ามีชายชุดดำเป็นผู้กระทำ  ซึ่งการเขียนรายงานดังกล่าวส่งผลให้ฝ่ายตรงข้ามนำไปอ้างความชอบธรรมให้แก่ตัวเอง ทั้งที่ในความเป็นจริงประชาชนถูกปราบปรามเกินกว่าเหตุ

อดีตคณะกรรมสิทธิมนุษยชน กล่าวด้วยว่า ไม่ใช่เพียงแค่คณะกรรมการสิทธิฯ เท่านั้นที่สมควรจะให้มีการยกเลิก แต่ยังรวมไปถึงองค์กรอิสระต่างๆ ที่เกิดขึ้นจากรัฐธรรมนูญ 2550 เนื่องจากส่วนใหญ่มีพฤติการณ์เหมือนเข้าข้างฝ่ายที่กระทำผิด พร้อมจะเล่นงานและจัดการรัฐบาลฝ่ายตรงข้ามที่มาจากการเลือกตั้งอย่างต่อเนื่อง และพร้อมจะขยายอำนาจไปในทางที่ผิด ดังนั้น หากองค์กรอิสระเหล่านี้ยังคงอยู่ก็จะยิ่งทำให้เกิดความเสียหายต่อหลักต่างๆ ของบ้านเมือง รวมไปถึงยังไม่เป็นประโยชน์ต่อการปกครอง การบริหาร เพราะจะถูกนำไปเป็นเครื่องมือของฝ่ายที่ไม่ถูกต้อง

นอกจากนี้ นายจรัล ยังกล่าวอีกว่า  ปัญหาสำคัญในการยุบองค์กรอิสระต่างๆ เป็นเรื่องที่ยาก เนื่องจาก องค์กรอิสระเหล่านี้มาจากรัฐธรรมนูญปี 2550 ซึ่งวิธีที่จะทำได้คือการแก้ไขรัฐธรรมนูญ  จำเป็นที่ประชาชนทุกคนจะต้องต่อสู้ต่อไปเพื่อให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญให้เป็นของประชาชนอย่างแท้จริง.