รายงาน คอป. คัมภีร์สู่การปรองดอง? :ณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ

มติชน 27 สิงหาคม 2556



หมายเหตุ - นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ ในฐานะแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) เขียนบทความตอบคำถามของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ถึงสาเหตุที่รัฐบาลไม่นำข้อสรุปของคณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อการปรองดองแห่งชาติ (คอป.) มาใช้ในการคลี่คลายวิกฤตความขัดแย้งของประเทศ

น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เริ่มประชุมปฏิรูปประเทศไทยนัดแรกแล้วเมื่อวันอาทิตย์ที่ 25 สิงหาคม ท่ามกลางสายตาของคนทั่วโลกและความคาดหวังของสังคมไทย ว่าเวทีนี้จะนำชาวเราทั้งหลายพ้นความขัดแย้ง หรือเพียงเป็นเกมซ่อนกลซื้อเวลาของรัฐบาลอย่างที่ฝ่ายค้านกล่าวหา

น่ายินดีที่ผู้มีบทบาทสำคัญทางการเมือง เศรษฐกิจและสังคม ทั้งในอดีตและปัจจุบันเข้าร่วมประชุมอย่างคับคั่ง จากการสังเกตท่าทีหลังการประชุมดูเหมือนหลายท่านเกิดความเชื่อมั่นมากกว่าตอนรับคำเชิญ น่าเสียดายที่องค์ประกอบสำคัญอย่างพรรคฝ่ายค้านปฏิเสธการเข้าร่วมตั้งแต่ต้นและยังคงยืนกรานปฏิเสธอยู่จนวันนี้

เหตุผลสำคัญข้อหนึ่งที่ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรี หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ อธิบายกับสังคมคือ รัฐบาลชุดที่แล้วตั้ง คณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อการปรองดองแห่งชาติ (คอป.) ขึ้นมาทำหน้าที่ แต่รัฐบาลนี้กลับไม่นำข้อสรุปจากรายงานของ คอป.มาปฏิบัติทำให้การคลี่คลายวิกฤตไม่คืบหน้า นัยว่า คอป.ทำไว้ถูกถ้วนดีแล้วแต่รัฐบาลไม่สนใจประมาณนั้น

การตั้งคณะกรรมการแบบนี้ถือเป็นวิธีการหนึ่งซึ่งหลายประเทศใช้เพื่อยุติความขัดแย้งภายใน พลันที่นายอภิสิทธิ์ ประกาศแต่งตั้ง ศ.ดร.คณิต ณ นคร ขึ้นเป็นประธาน คอป. หลังการสลายการชุมนุม 19 พฤษภาคม 2553 ภาพที่ปรากฏคล้ายกับว่ารัฐบาลเวลานั้นใช้สูตรสากลในการแก้ปัญหา แต่เวลาผ่านไปจนกระทั่งรายงาน คอป.ฉบับสมบูรณ์ปรากฏออกมา ก็มีคำถามดังขึ้นทั่วไปว่า ด้วยข้อสรุปที่อยู่ในรายงานนี้ หรือจะเป็นคัมภีร์นำพาประเทศไทยออกจากความขัดแย้งได้? 

บทความนี้ จึงขอทำหน้าที่เป็นกระจกเงาสะท้อนแง่มุมที่แตกต่างระหว่าง คอป.ของไทยกับ คณะกรรมการค้นหาความจริง (truth commissions) ที่ถูกแต่งตั้งขึ้นใน 5 ประเทศ ซึ่งประสบความสำเร็จและได้รับการยอมรับอย่างสูงในระดับนานาชาติ

1.อาร์เจนตินา : คณะกรรมการแห่งชาติว่าด้วยบุคคลสาบสูญ (1983)

2.ชิลี : คณะกรรมการแห่งชาติว่าด้วยความจริงและการปรองดอง (1990)

3.เอลซัลวาดอร์ : คณะกรรมการเพื่อความจริงแห่งเอลซัลวาดอร์ (1992)

4.แอฟริกาใต้ : คณะกรรมการเพื่อความจริงและการปรองดอง (1995)

5.กัวเตมาลา : คณะกรรมการเพื่อความกระจ่างทางประวัติศาสตร์ (1996)

ที่มาของคณะกรรมการในประเทศที่มีความขัดแย้งรุนแรง เช่น เอลซัลวาดอร์ ซึ่งเกิดสงครามกลางเมืองต่อเนื่องราว 12 ปี ภายใต้อิทธิพลของสงครามเย็น โดยการสนับสนุนจาก 2 ขั้วมหาอำนาจ เมื่อสงครามเย็นยุติโดยไม่มีฝ่ายไหนในเอลซัลวาดอร์ได้รับชัยชนะเด็ดขาด ทั้งสองฝ่ายจึงขอเจรจายุติสงคราม โดยให้ สหประชาชาติ (UN) เป็นตัวกลาง 

สหประชาชาติกำหนดให้ตั้งคณะกรรมการเพื่อความจริงแห่งเอลซัลวาดอร์ โดยกำหนดว่ากรรมการจะต้องถูกแต่งตั้งโดยเลขาธิการสหประชาชาติ และต้องมีการลงนามรับรองโดยคู่ขัดแย้งทั้ง 2 ฝ่าย แต่เนื่องจากความขัดแย้งลุกลามรุนแรงกรรมการ 3 คน (อดีตประธานาธิบดีโคลอมเบีย อดีตรัฐมนตรีต่างประเทศเวเนซุเอลา และอดีตประธานศาลสิทธิมนุษยชนแห่งทวีปอเมริกา) และเจ้าหน้าที่อีก 20 คน จึงเป็นชาวต่างชาติทั้งหมด

ในกัวเตมาลา กองทัพรัฐบาลทำสงครามกับกลุ่มต่อต้านมา 30 ปี มีการประมาณการหลังตรวจสอบข้อเท็จจริงว่า น่าจะมีผู้เสียชีวิตถึง 200,000 คน โดย 95% ถูกฆ่าโดยกองทัพของรัฐบาล และ 83% ของเหยื่อทั้งหมดเป็นคนเชื้อสายมายา มีการเจรจายุติสงครามในปี 1987 ที่สเปนแต่ไม่สำเร็จ พอปี 1993 สหประชาชาติเข้ามาเป็นเจ้าภาพจนนำไปสู่การลงนามในสัญญายุติสงครามของคู่ขัดแย้งในปี 1996 มีข้อกำหนดให้เลขาธิการสหประชาชาติแต่งตั้งประธานกรรมการซึ่งต้องเป็นชาวต่างชาติ ส่วนกรรมการอีกสองคนต้องเป็นชาวกัวเตมาลาที่ประธานแต่งตั้ง โดยหนึ่งในสองต้องมาจากรายชื่อนักวิชาการที่อธิการบดีมหาวิทยาลัยต่างๆ ในกัวเตมาลาเสนอ และกรรมการทั้งสองคนต้องได้รับการลงนามรับรองจากคู่ขัดแย้งทั้งสองฝ่าย

ในประเทศที่ความขัดแย้งไม่ได้แบ่งขั้วรุนแรงเหมือนสองรายแรกหรือเบาบางลงบ้างแล้ว แม้จะไม่มีชาวต่างชาติร่วมเป็นคณะกรรมการแต่ก็ต้องมีกลไกการสรรหา เพื่อให้เกิดความมั่นใจในความเป็นกลางอย่างแท้จริง เช่น ในแอฟริกาใต้ กำหนดกรรมการ 17 คน มีการประกาศรับสมัครกรรมการแล้วคัดผู้สมัครจำนวนหนึ่งผ่านเข้ารอบแล้วให้ผู้เข้ารอบตอบคำถามออกสื่อให้ประชาชนพิจารณา จากนั้นประธานาธิบดีจะเลือกมา 17 คน โดยรายชื่อที่ประธานาธิบดีเลือกต้องได้รับการลงนามรับรองโดยบุคคลสำคัญต่างๆ ในขบวนการต่อต้านการเหยียดสีผิว (แน่นอนว่าต้องรวมเนลสัน แมนเดลาด้วย) และบุคคลที่เป็นที่ยอมรับอีกจำนวนหนึ่ง

ที่อาร์เจนตินา แม้ไม่มีสหประชาชาติแต่งตั้งกรรมการ แต่เปิดโอกาสให้ประชาชนมีส่วนร่วมทางอ้อม คือ สภาผู้แทนราษฎรตั้งกรรมการ 3 คน วุฒิสภาตั้ง 3 คน (แต่วุฒิสภาตกลงกันไม่ได้จึงไม่มีตัวแทนเข้าร่วม) ส่วนกรรมการอีก 10 คนให้ประธานาธิบดีแต่งตั้ง โดยมีข้อกำหนดให้ทั้ง 10 คน ต้องเป็นตัวแทนกลุ่มวิถีชีวิตต่างๆ ในสังคมอาร์เจนตินา

ในชิลีถึงจะไม่มีกระบวนการซับซ้อนนัก แต่ก็กำหนดให้กรรมการต้องมาจากทั้งฝ่ายสนับสนุนและต่อต้านนายพลปิโนเชต์ ตรงนี้ก็ถือว่ากรรมการมาจากคู่ขัดแย้งทั้งสองฝ่าย

คณะกรรมการจากทั้ง 5 ประเทศนี้ แม้จะมีองค์ประกอบและที่มาแตกต่าง แต่ก็ได้รับการยอมรับในระดับนานาชาติและควรถือเอาเป็นแบบอย่างแนวทางได้สำหรับ "มือใหม่หัดปรองดอง" อย่างประเทศไทย

ขณะที่ คอป.ของไทย นายอภิสิทธิ์ใช้อำนาจนายกรัฐมนตรีออกระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อการปรองดองแห่งชาติ พ.ศ.2553 ระบุชื่อ ศ.ดร.คณิต ณ นคร เป็นประธานกรรมการ แล้วมอบอำนาจให้ประธานคณิตแต่งตั้งกรรมการอีก 8 คน เป็นอำนาจเต็ม โดยไม่ต้องมีบุคคลหรือองค์กรใดมีส่วนร่วมพิจารณาอีก

พูดอย่างวัยรุ่นหน่อยก็ต้อง สหประชาชาติไม่เกี่ยว สภาสูงสภาล่างเฉยไว้ คู่ขัดแย้งถอยไป องค์กรสังคมต่างๆ หลีกทาง อภิสิทธิ์จัดให้ (อำนาจ) คณิตจัดเต็ม (ตั้งกรรมการ) ว่ากันอย่างนั้น

ข้อสังเกตสำคัญอีกประการคือ ไม่มีคณะกรรมการในประเทศใดที่หยิบยกมาเปรียบเทียบแต่งตั้ง โดยผู้ที่ถูกกล่าวหาว่ามีส่วนเกี่ยวข้องโดยตรงกับความขัดแย้งและการก่ออาชญากรรมต่อประชาชน 

เอลซัลวาดอร์กับกัวเตมาลาโดยสหประชาชาติ แอฟริกาใต้โดยฝ่ายนิติบัญญัติและภาคสังคม แม้ชิลีกับอาร์เจนตินาจะแต่งตั้งโดยฝ่ายบริหาร แต่ก็เป็นฝ่ายบริหารที่มิได้เป็นคู่ขัดแย้งและตกเป็นผู้ถูกกล่าวหา ต่างกับ คอป.ซึ่งตั้งโดยนายอภิสิทธิ์ นายกรัฐมนตรีผู้กุมอำนาจรัฐสั่งการเจ้าหน้าที่จนมีผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตมากที่สุดในประวัติศาสตร์ประเทศไทย ยังไม่รวมกรณีกรรมการบางคนถูกมองว่า เป็นผู้ฝักใฝ่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งและคณะทำงานบางชุดถึงกับเคยเป็นการ์ดในกลุ่มพันธมิตรมาก่อน

ในภาคเนื้อหารายงาน คอป.ให้ความสำคัญกับการเปิดเผยรายละเอียดการละเมิดสิทธิมนุษยชน ชะตากรรมของเหยื่อแต่ละราย หรือกระทั่งปากคำของญาติพี่น้องเหยื่อและผู้อยู่ร่วมในเหตุการณ์น้อยมาก เมื่อเทียบกับทั้ง 5 ประเทศที่ให้ความสำคัญอย่างยิ่งต่อเรื่องเหล่านี้ มีการเปิดเผยรายละเอียดเป็นรายกรณี ชะตากรรมของเหยื่อแต่ละรายถูกบันทึกไว้หลายหน้ากระดาษ 

ขณะที่ คอป.กล่าวถึงอย่างจำกัด เช่น รายงานหน้า 101 พูดถึงผู้เสียชีวิต 8 คน เพียงแค่ชื่อไม่มีรายละเอียดหรือข้อเท็จจริงใดมาอธิบายสาเหตุของความตายเหล่านั้น ในประเด็นนี้ดูเหมือนรายงานของกลุ่มอื่น เช่น นักวิชาการที่รวมตัวกันในนาม ศูนย์ข้อมูลผู้ได้รับผลกระทบเหตุสลายการชุมนุมเมษายน-พฤษภาคม 2553 (ศปช.) จะให้ข้อมูลได้มากกว่ารายงานของ คอป.ด้วยซ้ำ

เมื่อมองจากมิติเหล่านี้ก็จะเห็นคำถามถึงความชอบธรรม ทั้งในขั้นตอนการแต่งตั้งประธานและคณะกรรมการตลอดจนคณะทำงานของ คอป.ที่นายอภิสิทธิ์ใช้และให้อำนาจเอาไว้ รวมถึงสาระในรายงานที่มีคนพยายามอ้างว่า ได้ชี้แนวทางปรองดองไว้แล้วสำหรับประเทศไทย แต่ผมเห็นต่าง เพราะไม่เชื่อว่าด้วยกระบวนการทั้งหมดจะทำให้รายงานของ คอป.ครบถ้วนครอบคลุมจนนำไปสู่การปฏิรูปประเทศไทยได้จริง และอาจเป็นเพราะภูมิรู้ที่จำกัดทำให้ผมยังไม่พบว่า ภายใต้วิธีการแบบนี้มีประเทศไหนประสบความสำเร็จในการแก้ไขความขัดแย้ง

จึงขอสนับสนุนแนวทางปฏิรูปประเทศของนายกฯยิ่งลักษณ์ ซึ่งต้องเข้าใจว่านายกรัฐมนตรีไม่ได้ใช้อำนาจแต่งตั้งใครมาประชุมกัน แต่เป็นการเชิญทุกฝ่ายทั้งที่อยู่ในความขัดแย้งและภาคส่วนต่างๆ ของสังคมมาแสดงความเห็นถึงแนวทางการสร้างสันติภาพอย่างยั่งยืนในสังคมไทย ถ้าต่อไปจะต้องแต่งตั้งกรรมการชุดไหนนายกฯยิ่งลักษณ์ ก็ยังมีความชอบธรรมในฐานะผู้นำจากการเลือกตั้งที่ไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องโดยตรงกับความขัดแย้งที่ผ่านมา หรือถ้าจะให้มีกระบวนการคัดสรรที่สังคมไทยและเวทีโลกยอมรับก็ย่อมทำได้

เสียดายอีกครั้งที่ยังไม่เห็นพรรคประชาธิปัตย์ในเวทีนี้ แต่ไม่อยากได้ยินข้ออ้างถึงรายงาน คอป.ราวกับเป็นคัมภีร์ที่สำเร็จรูปแล้ว หันหน้ามาร่วมวงคุยกัน รายงาน คอป.รัฐบาลก็ไม่ได้ทิ้ง อาจมีบางส่วนใช้ประกอบได้ สำคัญว่าต้องเปิดใจให้กว้างละวางทิฐิและประโยชน์ทางการเมืองเสียก่อน แสงสว่างของสังคมไทยอาจรออยู่ในเวทีปฏิรูปก็เป็นได้