เวลาประมาณ 11.30 น. วันที่ 20 ส.ค. ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การประชุมรัฐสภาเพื่อพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนญที่มาของสว.ในวาระที่ 2 เข้าสู่ระเบียบวาระการประชุมอย่างเป็นทางการ ภายหลังใช้เวลานานกว่า 1 ชั่วโมง 30 นาที ในการประท้วงการทำหน้าที่ประธานที่ประชุมของนายนิคม ไวยรัชพานิช
โดยนายสามารถ แก้วมีชัย ส.ส.เชียงราย ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการฯ อ่านรายงานการพิจารณาของคณะกรรมาธิการฯ ว่า มีผู้เสนอคำแปรญัตติทั้งสิ้น 202 คน ถอนตัว 2 คน จะเหลือผู้แปรญัตติ 200 คน แต่ในจำนวนนี้มีผู้สงวนคำแปรญัติจำนวน 57 คนที่ขอแปรญัตติเพื่อแก้ไขถ้อยคำในร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญที่ขัดกับหลักการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ซึ่งข้อบังคับการประชุมร่างรัฐสภา มาตรา 96 วรรค 3 กำหนดไว้ว่าการเสนอแก้ไขถ้อยคำที่ขัดกับร่างแก้ไขในร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญที่ผ่านการขั้นตอนการรับหลักการจะกระทำไม่ได้ซึ่งสมาชิกรัฐสภาทั้ง57คนได้เสนอคำแปรญัตติที่หลากหลาย เช่น การเสนอตัดบทบัญญัติทุกมาตรา และให้การได้มาซึ่งส.ว.กลับไปสู่ระบบสรรหาผสมกับการเลือกตั้ง ซึ่งถือว่าขัดกับหลักการของร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญที่รัฐสภาได้รับเอาไว้ โดยในร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญในวาระที่ 1 ที่รัฐสภารับหลักการไว้ คือ ให้สว.มาจากการเลือกตั้ง ดังนั้น การเสนอคำแปรญัตติเพื่อยกเลิกบทบัญญัติดังกล่าวจะไม่สามารถกระทำ ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการฯ ขอเสนอให้ที่ประชุมเป็นผู้ตัดสินว่าจะให้สมาชิกรัฐสภาทั้ง 57 คน สามารถใช้สิทธิ์อภิปรายในที่ประชุมรัฐสภาได้หรือไม่
ด้านนายนิคม กล่าวว่า การวินิจฉัยในปัญหานี้จะต้องดำเนินการตามข้อบังคับการประชุมรัฐสภาข้อที่ 117 ที่กำหนดให้ใช้เสียงไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกรัฐสภาที่มีอยู่ดำเนินการวินิจฉัยให้เด็ดขาด ทำให้ ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ นำโดยนายธนา ชีรวินิจ ส.ส.กทม. อภิปรายเรียกร้องให้นายสามารถชี้แจงว่าทำไมถึงไม่บรรจุคำแปรญัตติของนายนิพิฎฐ์ อินทรสมบัติ ส.ส.พัทลุง พรรคประชาธิปัตย์ ไว้ในรายงานของคณะกรรมาธิการฯ เพื่อให้นายนิพิฎฐ์มีสิทธิ์อภิปรายในรัฐสภาในฐานะผู้เสนอคำแปรญัตติแก้ไขถ้อยคำในร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ
นายสามารถชี้แจงว่าปัญหาของนายนิพิฎฐ์มาจากการที่นายนิพิฎฐ์ไม่ได้ส่งคำแปรญัตติภายในเวลา15 วัน นับตั้งแต่วันที่ที่ประชุมรัฐสภามีมติรับหลักการเมื่อวันที่ 4 เม.ย.56 ซึ่งครบกำหนดในวันที่19 เม.ย. ดังนั้น ในเมื่อนายนิพิฐฏ์เสนอคำแปรญัตติมาในวันที่ 1 พ.ค. ถือว่าไม่ทันตามกำหนด ทางกรรมาธิการฯก็ไม่สามารถดำเนินการบรรจุคำแปรญัตติของนายนิพิฎฐ์
จากนั้นนายนิพิฎฐ์ลุกขึ้นตอบโต้ว่าการเสนอคำแปรญัตติของตนเป็นการยึดตามมติของที่ประชุมรัฐสภาเมื่อวันที่18 เม.ย.56 ซึ่งเป็นการประชุมรัฐสภานัดพิเศษหลังจากการประชุมเมื่อวันที่ 4เม.ย.ไม่สามารถดำเนินการกำหนดระยะเวลาแปรญัตติได้เพราะองค์ประชุมไม่ครบ ดังนั้นส่วนตัวจึงยึดถือตามมติของที่ประชุมรัฐสภาในวันที่ 18 เม.ย. เท่ากับว่าวันสิ้นสุดครบกำหนดการเสนอคำแปรญัตติจะครบกำหนดในวันที่ 3 พ.ค.เท่านั้น ซึ่งตนได้ยื่นคำแปรญัตติไปเมื่อวันที่ 1 พ.ค.ที่ผ่านมา และที่สำคัญรัฐธรรมนูญมาตรา 291 กำหนดให้การแก้ไขรัฐธรรมนูญจะต้องดำเนินการเป็น 3 วาระ ในเมื่อวาระที่ 1 ยังไม่เสร็จสิ้นทั้งกระบวนการ คือ ลงมติรับหลักการและการกำหนดวันแปรญัตติ จะทำให้รัฐสภาไม่สามารถพิจารณาในวาระถัดไปได้ ร่างรัฐธรรมนูญนี้จะเป็นโมฆะ แต่หากรัฐสภายังยืนยันที่จะดำเนินการต่อไปก็เท่ากับว่ากำลังกระทำการที่ขัดกับรัฐธรรมนูญและสามารถเป็นประเด็นส่งไปให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยได้ซึ่งตนทำนายไว้ล่วงหน้าว่าเมื่อยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยประธานรัฐสภาจะไม่รับเพื่อส่งไปยังศาลรัฐธรรมนูญตนได้ถามสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญท่านหนึ่ง บอกว่าทำอย่างไรก็ได้ให้ส่งศาลรัฐรรมนูญตีความให้ได้
ทั้งนี้ เกิดการถกเถียงกันไปมาเสียเวลาไประยะหนึ่ง จนเวลา 12.35 น. นายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ ประธานรัฐสภา ขึ้นทำหน้าที่ประธานที่ประชุม และแจ้งต่อที่ประชุมว่า ทุกฝ่ายก็อภิปรายหารือกันมาพอสมควรแล้ว จะเปิดโอกาสให้สมาชิกได้อภิปรายกันอีกฝ่ายละ 2 ท่าน แต่ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ไม่ยอม ขอให้ยึดคำวินิจฉัยของนายนิคมว่าให้ส.ส.ที่แปรญัตติขัดหลักการณ์ได้อภิปราย ทำให้นายสมศักดิ์ กล่าวตัดบทว่าที่ผ่านมาให้เกียรติสมาชิกหารือกันพอสมควรแล้ว ถ้าปล่อยให้พูดกันทุกคนก็ไม่ต้องมาแก้ไขรัฐธรรมนูญกันแล้ว จึงขอมติจากที่ประชุมเลยว่าคำแปรญัตติของทั้ง 57 ท่านที่ขัดกับหลักการของร่างและข้อบังคับการประชุม จะเอาอย่างไร โดยระหว่างนั้นนายอำนวย คลังผา ประธานวิปรัฐบาลเดินเข้าไปหารือกับนายจุรินทร์ แต่นายสมศักดิ์ประกาศว่าถ้ายังไม่อภิปรายก็จะขอมติ “เป็นยังไงก็เป็นกัน” ทำให้ส.ส.ประชาธิปัตย์ตะโกนโห่ใส่ดังลั่นห้องประชุม แต่นายสมศักดิ์ยืนยันว่าตามข้อบังคับการประชุมข้อที่ 56 กำหนดให้เป็นอำนาจประธานฯ ที่จะวินิจฉัยกำหนดวันแปรญัตติ ขณะที่คำแปรญัตติใดขัดกับหลักการและข้อบังคับการประชุม จะต้องขอมติจากที่ประชุม ในที่สุดที่ประชุมมีมติว่าคำแปรญัตติของทั้ง 57 คน ขัดกับหลักการร่างด้วยคะแนน 339 ต่อ 15 ไม่ลงคะแนน 16 งดออกเสียง 8
อย่างไรก็ตาม ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ยังคงโวยวายไม่ยอมรับผลการลงคะแนน และเมื่อจะเริ่มประชุมต่อแต่ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์พากันลุกจากที่นั่งตะโกนโห่ฮารบกวนไม่ให้นายสามารถกล่าวรายงานผลการพิจารณาได้ซึ่งนายสมศักดิ์กล่าวเตือนว่าขอให้สมาชิกอยู่ในความสงบประชาชนทั้งประเทศเขาดูอยู่ ขณะที่ตำรวจรัฐสภา 4-5 นาย ต้องเข้ามายืนคุมเชิงอยู่ด้านหลังบัลลังก์ แต่ถึงจะกล่าวตักเตือนอย่างไรส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ก็ยังไม่ยอมหยุด จนนายสมศักดิ์ต้องนำค้อนขึ้นมาชูพร้อมกล่าวว่า “ช่วงหลังมานี้ไม่เคยใช้เลย วันนี้ขอใช้หน่อย” แล้วทุบลงบนบัลลังก์ 3 ครั้ง ทำให้ตำรวจรัฐสภากว่า10 คน เดินเรียงแถวเข้ามากลางห้องประชุมเพื่อควบคุมเหตุการณ์ ท่ามกลางความไม่พอใจของส.ส.พรรคประชาธิปัตย์
โดยมีส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ จำนวนหนึ่งเดินกรูเข้าไปต่อว่าตำรวจรัฐสภา โดยนายกุลเดช พัวพัฒนกุล ส.ส.อุทัยธานี พรรคประชาธิปัตย์ เข้าไปผลักที่หน้าและใช้มือค้ำคอตำรวจรัฐสภา จนเกิดความชุลมุนวุ่นวาย ซึ่งตำรวจรัฐสภาพยายามล็อกแขนนายกุลเดช เพื่อพาตัวออกจากห้องประชุม สร้างความไม่พอใจแก่ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ ที่พยายามกรูเข้ามาช่วยนายกุลเดช ระหว่างที่ชุลมุนอยู่นั้น นายกุลเดช ใช้มือค้ำคอพร้อมกับฟาดมือเข้าไปที่บริเวณขมับซ้ายของตำรวจรัฐสภานายหนึ่ง ทำให้นายธานี เทือกสุบรรณ ส.ส.สุราษฎร์ธานี พรรคประชาธิปัตย์ วิ่งเข้ามาผลักตำรวจฯที่ล็อกตัวนายกุลเดชอยู่ ทำให้ตำรวจฯเข้ารวบตัวนายธานี เพื่อลากออกจากห้องประชุมไปด้วย แต่นายธานีขัดขืนต่อสู้ด้วยการใช้มือกดหัวก่อนจะสะบัดตัวออกมายืนอยู่ในวงของส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ ที่พากันต่อว่าเจ้าหน้าที่ว่า “มึง..กล้าทำผู้แทนเหรอ” ตำรวจรัฐสภาจึงหยุดปฏิบัติการ
ขณะที่ส.ส.หญิงพรรคประชาธิปัตย์พากันกรีดร้อง อาทิ น.ส.นริศา อดิเทพวรพันธ์ ส.ส.นครศรีธรรมราช แต่นายสมศักดิ์สั่งเสียงเข้มว่าถ้าทำไม่ได้ตนจะตั้งคณะกรรมการสอบฐานขัดคำสั่งผู้บังคับบัญชา ขณะที่ส.ส.พรรคเพื่อไทยทำได้เพียงยืนดูและวิพากษ์วิจารณ์
ส่วนนายชูวิทย์ กมลวิศิษฎ์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรครักประเทศไทย เดินถ่ายคลิปเหตุการณ์และบรรยากาศอย่างละเอียด เมื่อบรรยากาศเริ่มบานปลายนายสมศักดิ์จึงกล่าวว่า ถ้ายังวุ่นวายนักขอให้ไปพักสงบสติอารมณ์ แล้วสั่งพักการประชุม 10 นาที ในเวลา 13.57 น. ทั้งนี้หลังเหตุการณ์เริ่มคลี่คลายตำรวจรัฐสภาได้เข้าไปยกมือไหว้พร้อมขอโทษ ส.ส.ประชาธิปัตย์ด้วยความเกรงใจ
ต่อมานายวัฒนา เซ่งไพเราะ โฆษกประจำตัวประธานสภาฯ ได้นำตัวเจ้าหน้าที่ตำรวจรัฐสภาที่ถูกทำร้ายลงมาให้แพทย์ที่อยู่ประจำรัฐสภาตรวจอาการ โดยพบว่ามีรอยแดงช้ำที่บริเวณขมับด้านซ้าย ทราบชื่อภายหลังคือ นายจิราพันธ์ พรหมศิลา จากนั้นได้เดินทางไปแจ้งความไว้ที่ สน.ดุสิต ไว้เป็นหลักฐาน
ด้านนายกุลเดช ลุกขึ้นชี้แจงว่า ตนเองโดนตำรวจ 7-8 นายล้อมกรอบก่อน และไม่ได้ทำร้ายตำรวจแต่อย่างใด และจะไปแจ้งความกลับด้วย
ขอขอบคุณ ข่าวสดออนไลน์