ข่าวสด
2 สิงหาคม 2556
รายงานพิเศษ
ชาติหน้าก็ไม่มีทางปรองดองได้ การจะปรองดองต้องหันหน้า มาคุยกัน หรือมีคนกลางที่ 2 ฝ่ายเคารพมาช่วยไกล่เกลี่ย แต่ขณะนี้มีหรือไม่ มีฝ่ายไหนฟังใครกันบ้าง
หมายเหตุ - นายวสันต์ สร้อยพิสุทธิ์ อดีตประธานศาลรัฐธรรมนูญ เปิดใจก่อนพ้นจากตำแหน่งประธานและตุลาการศาลรัฐธรรม นูญ มีผลตั้งแต่ 1 ส.ค.นี้เป็นต้นไป
การลาออกจากประธานและตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ
เป็นไปตามสัญญาสุภาพบุรษที่ให้ไว้ต่อคณะตุลาการ เมื่อครั้งเข้ารับตำแหน่งประธานศาลรัฐธรรมนูญ ไม่มีเหตุผลอื่นตามที่นำไปตีความกัน
ผมเคยพูดถึงความตั้งใจในการดำรงตำแหน่งประธานศาลรัฐธรรมนูญว่า จะไม่อยู่ในตำแหน่งจนครบวาระ จะเป็นแบบมาเร็วเคลมเร็วไปเร็ว จัดแถวสำนักงานเป็นระเบียบเรียบร้อย เสร็จเมื่อไร พร้อมไปทันที เบื้องต้น มีข้อตกลงกันว่าจะอยู่ในตำแหน่งประธาน 2 ปี
ทิ้งเก้าอี้ทั้งที่เป็นประธานไม่ครบ 2 ปี
แม้ตอนที่ตุลาการชุดนี้เข้ามาและเลือกประธานศาลรัฐธรรมนูญครั้งแรกเมื่อ พ.ค.51 ก็ตกลงกันไว้คือ 3 ปี ไม่ใช่ 2 ปี แต่พอมันล่วงเลยจนกลางปี"54 ซึ่งเกิน 3 ปีมามากแล้ว เลยเปลี่ยนข้อตกลงกันใหม่เป็น 2 ปี
และผมก็ย้ำต่อที่ประชุมตุลาการด้วยว่า ไม่ประสงค์จะอยู่เป็นประธานครบ 2 ปี อีกทั้งหากออกจากตำแหน่งประธาน ก็จะออกจากตำแหน่งตุลาการด้วย
ที่จริงผมเตรียมเอกสารไว้แล้วว่าจะออกวันที่ 2 พ.ค. ที่ผ่านมา แต่บังเอิญมีม็อบมาขับไล่จึงยังออกไม่ได้ เพราะถ้าเขาประสบความสำเร็จ จะไปรุกรานองค์กรอื่น เพิ่มค่าตัว
ซึ่งม็อบที่มาควรจะเสียใจ เพราะถ้าอยู่เฉยๆ ผมไปตั้งแต่พ.ค.แล้ว หรือถ้าม็อบอยู่ถึงตอนนี้ก็จะยังไม่ออก
มีเสียงวิจารณ์ถึงการผลัดเปลี่ยนตำแหน่ง
ที่มีการมองว่าตุลาการผลัดเปลี่ยนกันเป็นประธาน เพราะอยากได้เครื่องราชอิสริยาภรณ์นั้น ไม่จริง พวกผมได้เครื่องราชฯ ชั้นสูงสุดมาตั้งแต่ก่อนอยู่ศาลรัฐธรรมนูญ ผมได้สายสะพายสูงสุดตั้งแต่ปี"40
หรือที่มีการวิจารณ์ว่าไปเพราะหนีงานหนัก ก็ไม่ใช่ เพราะถ้าหมายถึงกฎหมายที่กำลังอยู่ในสภา คงไม่เรียกว่างานหนัก เช่น พ.ร.บ.กู้เงิน 2 ล้านล้านบาท ที่ว่าจะมา ก็ไม่รู้ว่าจะมาเมื่อไร และจะมาหรือไม่
ขณะที่พ.ร.บ.นิรโทษฯ หรือกฎหมายปรองดอง เคยพูดแล้วว่าการจะเขียนกฎหมายใดขอให้ดูรัฐธรรมนูญว่ากฎหมายที่จะออก ขัดหรือแย้งหรือไม่ ใน 3 เรื่องคือ
1.ต้องไม่ขัดต่อหลักนิติธรรม หรือหลักกฎหมายทั่วไปตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 3 วรรคสอง 2.ถ้าไปออกกฎหมายเพื่อคนคนเดียวก็จะขัดต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 29 และ 3.ถ้ามีลักษณะเลือกปฏิบัติ ไม่เป็นธรรม ก็ขัดรัฐธรรมนูญมาตรา 30
ถ้าไม่ขัด 3 ข้อนี้ก็ไม่เห็นจะเป็นปัญหาหรือเป็นเรื่องยากเย็นอะไร การลาออกตอนนี้จึงเป็นเรื่องที่ยังไม่มีอนาคตว่ากฎหมายเหล่านี้จะมาหรือไม่
เคยยอมรับความผิดพลาดคดีชิมไปบ่นไป
คดีนี้ไม่ว่าจะตัดสินกี่ร้อยพันครั้งก็ไม่เปลี่ยน เพราะเป็นมติเอกฉันท์ 9 ต่อ 0 แต่ที่ผมว่าผิดพลาดหมายถึงรูปแบบการเขียนคำวินิจฉัยเท่านั้น ที่หัวหางสลับกันทำประชาชนไม่เข้าใจ
เช่นเดียวกับคดียุบ 3 พรรค กก.บห.โกงเลือกตั้ง ศาลฎีกามีคำพิพากษามาแล้ว ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยในข้อกฎหมายเท่านั้นซึ่งคำวินิจฉัยเป็นอย่างอื่นไม่ได้
และผมไม่เคยพูดว่าที่ศาลต้องวินิจฉัยเช่นนี้เพื่อความสงบเรียบร้อย หรือเรื่องเขตอำนาจศาลที่มีการพูดกันมากว่ารัฐบาลทำผิดรัฐธรรมนูญ ทำไมศาลจึงไม่รับวินิจฉัย เช่น กรณีรับจำนำข้าว รัฐไปแย่งพ่อค้าทำมาหากิน
หรือการที่รัฐไม่แถลงผลการดำเนินงานในรอบ 1 ปี แม้จะผิดรัฐธรรมนูญ แต่ก็ไม่มีข้อใดในกฎหมายให้อำนาจศาลรัฐธรรมนูญก้าวล่วงเข้าไปวินิจฉัย
ศาลรัฐธรรมนูญถูกลากเข้าไปเป็นคู่ขัดแย้งทางการเมือง
ก็มันขัดแย้งกันไม่เลิก ศาลพยายามทำตัวให้เป็นกลาง แต่ต่างฝ่ายก็อยากชนะ ซึ่งการจะชนะก็ควรคิดก่อนว่าตัวเองทำตามกฎหมายแค่ไหน และการสู้คดีทำเป็นแค่ไหน
โดยในส่วนของตุลาการยืนยันได้ว่า แต่ละคนมีความเป็นอิสระต่อกัน ควบคุมกันไม่ได้ เราเพียงแต่ระวังปัญหาเรื่องการลงมติที่เสียงอาจออกมาเท่านั้น เพราะตามกฎหมายไม่ให้ประธานทำหน้าที่ชี้ขาดได้ จึงต้องคุยและประนีประนอมกันจนกระทั่งออกตรงกลางให้ได้
แต่ตุลาการทุกคนจะปลอดจากการเมืองหรือไม่ ผม ไม่ทราบ ส่วนตัวไม่มีใครมาสั่งได้ ทุกคนรู้ดีว่าถ้ามาสั่งผมจะถูกด่า
ศาลมีหน้าที่ตัดสินคดี แต่ไม่มีหน้าที่ช่วยคลี่คลายสถานการณ์การเมือง บางครั้งอยากทำอย่างโน้นอย่างนี้ แต่ก็ทำไม่ได้ ศาลก็ต้องเป็นศาล คนเป็นตุลาการ มีรัก มีชอบ มีเกลียดกันทุกคน แต่เมื่อตัดสินคดี สิ่งเหล่านั้นต้องทิ้งไปทั้งหมด
กรณีรับวินิจฉัยคดีแก้รธน.มาตรา 291 และ 68
ประเด็นดังกล่าวที่มีการวิจารณ์ว่าศาลทำให้การเมืองหยุดชะงักนั้น ความจริงเป็นเรื่องที่กฎหมายให้อำนาจ ในเมื่อมาตรา 68 อยู่ในหมวดว่าด้วยสิทธิพิทักษ์รัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็นสิทธิเสรีภาพของชนชาวไทย ไม่ใช่สิทธิเสรีภาพของอัยการสูงสุด ซึ่งไม่ต้องเป็นห่วงว่าคนจะร้องไม่เป็นที่สิ้นสุด ถ้าร้องเข้ามาไม่เข้าท่าก็ไม่รับ
ซึ่งกรณีแก้ไขมาตรา 68 อาจจะไม่ต้องรีบแล้วก็ได้ เพราะทราบว่าในรัฐสภาจะมีการนำประเด็นแก้ไขเรื่องที่มาส.ว.เข้าพิจารณาก่อน ตามด้วยมาตรา 190 และมาตรา 68 น่าจะเป็นเรื่องสุดท้าย
ซึ่งตราบใดมาตรา 68 ยังไม่ยุติ กรรมาธิการสามารถแปรญัตติใหม่ได้เสมอ แม้จะบอกว่าตอนนี้ยุติตรงนี้แล้ว แต่ก็ยังไม่แน่จึงไม่ควรตีตนไปก่อนไข้
ศาลรัฐธรรมนูญมีความจำเป็นต้องคงอยู่ แม้จะมีความพยายามแก้ไขยุบเลิก เพราะถ้าประเทศใช้หลักกฎหมายในการปกครองบ้านเมือง ก็ต้องมีคนคุมกฎกติกา ซึ่งนักการเมืองหากจะทำอะไร ควรดูกฎหมายให้รอบคอบ อย่าทำสุ่มเสี่ยง
แต่ปัจจุบันกลายเป็นว่าฉันทำอะไรก็ถูกหมด นักกฎหมายที่เป็นลูกสมุนก็บอกว่าถูก ฝ่ายตรงข้ามวิจารณ์ก็บอกว่าผิด ส่วนหนทางสร้างความปรองดอง ยังมองว่าเกิดได้ยากเพราะต่างฝ่ายหันไปคนละทาง
อย่างที่ได้เคยบอกชาติหน้าก็ไม่มีทางปรองดองได้ การจะปรองดองต้องหันหน้ามาคุยกัน หรือมีคนกลางที่ 2 ฝ่ายเคารพมาช่วยไกล่เกลี่ย แต่ขณะนี้มีหรือไม่ มีฝ่ายไหนฟังใครกันบ้าง
การให้ฝ่ายตุลาการเป็นกรรมการสรรหา ส.ว.
ไม่เห็นด้วย เพราะไม่ใช่หน้าที่ของฝ่ายตุลาการ แต่ก็ต้องไปทำเพราะกฎหมายบังคับ เป็นการทำแบบไม่เต็มใจ ไม่อยากเข้าไปยุ่ง แม้จะเข้าใจว่าผู้ร่างกฎหมายให้เครดิต เนื่องจากมองว่าฝ่ายตุลาการ เป็นคนมีความซื่อสัตย์สุจริต แต่พอมีการสรรหาที ก็มีการวิ่งมาหาจากสายโน่นสายนี้ น่ารำคาญที่สุด
วางแผนชีวิตหลังจากนี้อย่างไร
มีคนคาดหมายเยอะว่าผมออกแล้วจะไปเป็นกกต. หรือกรรมการในองค์กรอิสระ องค์กรรัฐอื่น บอกเลยว่าถ้าเป็นองค์กรภาครัฐคงยุติบทบาทแล้ว
เว้นแต่งานวิทยากรบรรยายให้ความรู้ซึ่งก็คงทำต่อ เพราะยังเป็นวิทยากรของสถาบันพัฒนาข้าราชการฝ่ายตุลาการของศาลยุติธรรมมาตั้งแต่ปี"39 จนถึงปัจจุบัน
ซึ่งต่อไปอาจเป็นงานภาคเอกชน แต่ยังไม่ใช่ตอนนี้ ขอเขียนต้นฉบับพ็อกเกตบุ๊กชีวิตการเป็นตุลาการให้เสร็จก่อน
ส่วนงานการบ้านการเมืองคงไม่ยุ่ง หากสื่อมาลากผมเข้าไปเกี่ยวข้องก็จะฟ้อง เพราะมีเวลาว่างเยอะที่จะเป็นทนายให้ตัวเอง