ภาพการจุดพลุแสดงความยินดี กับการรัฐประหาร โค่นประธานาธิบดีมอร์ซี แห่งอียิปต์ แพร่กระจายไปทั่วโลก ส่งผลสะเทือนไปยังประเทศต่างๆ แม้แต่ประเทศไทย ที่ยังมีเสียงเพรียกหาการรัฐประหารอยู่ไม่ขาดสาย
การรัฐประหารล้มรัฐบาลจากการเลือกตั้งที่อียิปต์ก่อให้เกิดการถกเถียงในแวดวงต่างๆ เพราะหลักการประชาธิปไตย ปฏิเสธการเปลี่ยนแปลงด้วยการรัฐประหาร ขณะที่ประชาชนในอียิปต์ เห็นว่ารัฐบาลอียิปต์เอง กำลังนำประเทศย้อนกลับไปเป็นรัฐอิสลาม ซึ่งอาจทำให้เกิดปัญหาสิทธิเสรีภาพ
การจุดพลุดอกไม้ไฟแสดงความยินดีของชางอียิปต์ ทำให้บางคนนึกเปรียบเทียบกับการรัฐประหารไทย 2549 ที่มีประชาชนบางส่วนออกมามอบดอกไม้
การรัฐประหารในอียิปต์ และไทยแตกต่างกันมาก ทั้งพื้นฐานความจริง และเหตุผล
"ใบตองแห้ง"คอลัมนิสต์ออนไลน์ โพสต์ในเฟซบุ๊กส่วน มีเนื้อหาและมุมมองน่าสนใจ ขออนุญาตนำมาถ่ายทอดบางส่วนบางตอนดังนี้
"...... ข้อถกเถียงที่หาคำตอบโคตรยากส์เลย ว่ารัฐประหารในอียิปต์ (ใช้คำว่าถูกหรือผิด อาจง่ายไป) จำเป็นหรือไม่"
ตอบยากจริงๆ แม้โน้มเอียงไปด้านเห็นว่ายังไง รัฐประหารก็ไม่ใช่ทางออกที่ถูกต้อง (และเดี๋ยวก็จะเจอทางตันอยู่ดี)
ตอบอย่างมนุษย์ธรรมดาดีกว่า ไม่ต้องเป็นวิชาการ ถ้าผม (ในตัวตนเช่นนี้) เป็นคนอียิปต์ ผมก็คงอยู่ฝ่ายต่อต้านมอร์ซี เพราะผมเป็นเสรีนิยม แต่มอร์ซีเป็นพวกอนุรักษ์นิยมที่อ้างศาสนาลิดรอนสิทธิเสรีภาพของประชาชน ใช้ความรุนแรงกับคนต่างนิกาย มาจากประชาธิปไตยจากการเลือกตั้งแต่ใช้อำนาจไม่ต่างเผด็จการ
ตอบอย่างเป็นมนุษย์ธรรมดา ภายใต้สถานการณ์ตึงเครียด มีทั้งฝ่ายหนุนฝ่ายต้านรัฐบาล เกิดความรุนแรงต่อเนื่อง เมื่อมีรัฐประหารถ้าผมเป็นคนอียิปต์(แล้วอยู่ฝ่ายต่อต้านมอร์ซี) ผมก็คง "โล่งใจ"
อ้าว พูดอย่างนี้ก็ไม่ต่างจากพวกเชียร์รัฐประหาร 19 กย 2549 ต่างสิครับ อย่าลืมว่ารัฐประหาร 2549 เกิดทั้งๆที่จะเลือกตั้งใหม่อยู่แล้ว โมเมกันมาให้เลือกตั้ง 2 เมษาเป็นโมฆะ ก็หยวนๆ เอ้า กกต.ใหม่ก็เลือกแล้ว กำลังจะประกาศวันเลือกตั้ง จู่ๆ พธม.ก็นัดชุมนุม แล้วกองทัพก็ฉวยโอกาสอ้างว่าจะเกิดความรุนแรง ทำรัฐประหารทั้งที่ไม่มีอะไรซักหน่อย
คือสมมติทักษิณโวยวายไม่ยอมรับการเลือกตั้งใหม่ ระดมมวลชน ยกพลเข้ากรุงมาปะทะพันธมิตร สั่งตำรวจเข้าสลายม็อบ มีคนตายมากมายวุ่นวายไปทั่วแล้วเกิดรัฐประหาร ผมก็คงบอกว่า "โล่งใจ" แม้เห็นว่าไม่ใช่วิถีทางที่ถูกต้องแต่ก็คงอ้าปากคัดค้านได้ยากส์
แต่นี่แม่-ไม่มีไรเลย แค่กลัวว่าเลือกตั้งใหม่ ทรท.ก็ชนะอีก ทั้งๆ ที่กระแสตอนนั้นก็อาจบีบทักษิณให้เว้นวรรคไม่เป็นนายกฯ และชนะก็ไม่ถล่มทลาย เพราะคะแนนนิยมเริ่มตก คนไป Vote No เยอะแยะ
ทักษิณเป็นอำนาจนิยม แต่ไม่ถึงขั้นไล่ฆ่าคนเห็นต่าง ไม่ใช่ยุคเผ่า ศรียานนท์ ซึ่งตอบแบบมนุษย์ธรรมดา คนที่กลัวโดนตำรวจยุคอัศวินผยองอุ้ม ย่อมดีใจเมื่อสฤษดิ์รัฐประหาร (แต่ก็ถูกสฤษดิ์จับขังลืมในเวลาต่อมา)
ยิ่งเมื่อเกิดม็อบพันธมิตร รัฐบาลยิ่งระมัดระวังความรุนแรง ตรงกันข้าม พวกม็อบต่างหาก จำได้ไหมบุกทำเนียบวันเด็กแล้วเอาหัวโขกเก้าอี้จะกล่าวหาว่าตำรวจทุบตี (คนเดียวกันที่หาว่าตำรวจตีตอนไปตะโกนด่าทักษิณ)
ทักษิณเป็นอำนาจนิยมในการบริหาร พัฒนาประเทศแบบทักษิโณมิคส์ไม่ฟังใคร พวกต่อต้านทุนนิยมโลกาภิวัตน์ไม่พอใจกลัวประเทศ "หายนะ" ซึ่งก็ไม่ใช่ผมเห็นด้วยกับทักษิโณมิคส์ แต่นั่นไม่ใช่เหตุเพียงพอที่จะรัฐประหาร มันยังสร้างพลังต่อรองได้ในกระบวนการประชาธิปไตย
กรณีอียิปต์ตอบยากส์ เพราะขั้วจารีตนิยมดันมาจากการเลือกตั้ง แต่ทหารอียิปต์กลับไม่ผูกติดจารีตนิยมเป็นอำนาจสูงสุด
ทหารอียิปต์หลังนัสเซอร์ปฏิวัติล้มระบอบกษัตริย์เมื่อ 60 ปีที่แล้ว ก็ไม่เคยเข้ามายึดอำนาจอีก กองทัพอียิปต์ดูเหมือนจะ "ก้าวหน้า" กว่าสังคมอียิปต์ จึงไม่แปลกที่คนอียิปต์มีทัศนะที่ดีต่อทหาร เชื่อว่าเข้ามายุติความวุ่นวายชั่วขณะแล้วจะถอยกลับเข้ารั้ว (แต่ไม่ว่าทางทฤษฎี หรือในความเป็นจริงก็ตาม ทหารอียิปต์เข้ามาแล้วถอยยาก ถอยไปไหน เลือกตั้งใหม่พวกศาสนานิยมก็ชนะอีก คือเมื่อการเลือกตั้งหาทางออกไม่เจอ รัฐประหารก็หาทางออกไม่เจอเหมือนกัน แม้ดูดีกว่าตอนแรก แต่ตอนท้ายอาจย่ำแย่กว่า)
ข้อแตกต่างสำคัญ ถ้าแยก "เสรีนิยม" กับ "ประชาธิปไตย" แบบ อ.เกษียร เตชะพีระ รัฐประหารอียิปต์ยังอาจมีด้านที่เป็นรัฐประหารเสรีนิยม (ในขั้นตอนนี้นะต่อไปไม่แน่) แต่รัฐประหารไทยไม่ใช่เลย เป็นรัฐประหารจารีตนิยมที่ฉวยโอกาสความขัดแย้งระหว่างเสรีนิยมกับประชาธิปไตย เข้ามายึดอำนาจ โดยฝ่ายเสรีนิยมจริง ที่เคยขัดแย้งกับทักษิณ ก็ไม่เอารัฐประหารซึ่งอ้างสถาบันยัดข้อหา "หมิ่นเหม่" ปลุกความเกลียดชังรัฐบาลที่ถูกล้ม
ท้ายที่สุดก็แยกขั้วชัดเจน "เสรีนิยม" กับ "ประชาธิปไตย" เดินมาด้วยกันจนวันนี้ แม้ขัดแย้งกัน (เพราะเราก็ไม่เห็นด้วยกับรัฐบาลเพื่อไทยในหลายเรื่อง) ขณะที่พวกซากเดนพันธมิตร ไม่เหลือความเป็น "เสรีนิยม" เลยแม้แต่น้อย การเลือกตั้งก็ไม่เอา หลักนิติรัฐก็บิดเบือน หลักสิทธิเสรีภาพก็ "ฆ่ามันๆ"
ฉะนั้นกรณีอียิปต์อาจสับสน แต่ของไทยเราไม่สับสนครับ