เปิดร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมฉบับญาติผู้สูญเสียสลายชุมนุม เม.ย. - พ.ค. 53

ประชาไท
17 กรกฎาคม 2556

อ่านร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมฯ ฉบับญาติผู้สูญเสีย ให้ลงโทษผู้ที่ทำให้ผู้อื่นสูญเสียชีวิตและทรัพย์สิน ลงโทษผู้ออกคำสั่งยุยง สั่งการบังคับบัญชาอันนำไปสู่ความรุนแรง รวมทั้งลงโทษผู้ปฏิบัติตามคำสั่ง และนิรโทษกรรมผู้ร่วมชุมนุมนับตั้งแต่หลัง 19 ก.ย. 49 ส่วนผู้ที่มุ่งต่อการประทุษร้ายผู้อื่นโดยใช้อาวุธ หรือกระทำผิดต่อทรัพย์ วางเพลิง ยังให้มีความผิดตามกฎหมาย

หมายเหตุ: เนื้อหาฉบับเต็ม “ร่างพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมแก่ประชาชนซึ่งได้กระทำความผิดอันเนื่องมาจากเหตุการณ์ความขัดแย้งทางการเมืองภายหลังการยึดอำนาจรัฐโดยคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขเมื่อวันที่ ๑๙ กันยายน พ.ศ. ๒๕๔๙” เสนอโดยญาติผู้สูญเสียจากเหตุการณ์ชุมนุมทางการเมืองเดือนเมษายน และพฤษภาคม 2553 และช่วงท้ายเป็นความเห็นต่อร่างกฎหมายดังกล่าวโดย นพ.เหวง โตจิราการ แกนนำ นปช

เนื่องจากที่ผ่านมามีการยื่นเสนอร่าง พรบ.นิรโทษกรรมมากกว่า 5 ฉบับ โดยทุกฉบับมักจะอ้างว่าเป็นความต้องการของกลุ่มญาติผู้สูญเสีย นักโทษการเมืองที่อยู่ในระหว่างจองจำ ฯลฯ จึงต้องมีร่างฉบับต่างๆ ดังกล่าว

เมื่อกลุ่มญาติฯ พิจารณาร่างต่างๆ โดยละเอียด พบว่าไม่ครอบคลุมกลุ่มเป้าหมาย และบางฉบับได้มีการสอดไส้ไม่กล่าวถึงปฏิบัติการทางทหารในการสลายการชุมนุม รวมทั้งคำว่า “ญาติผู้สูญเสีย” นั้น มิได้หมายความเฉพาะประชาชนแต่เพียงฝ่ายเดียว ยังมีทหารและข้าราชการ สื่อมวลชนที่ถูกสังหารอย่างเหี้ยมโหด มีการเผาทำลายทรัพย์สินเอกชนจำนวนมาก

ทางกลุ่มญาติฯจึงได้ขอคำปรึกษาจากอาจารย์ผู้เชี่ยวชาญทางด้านกฎหมายหลากหลายสำนัก นักกฎหมายสิทธิมนุษยชน นักกิจกรรมต้านรัฐประหาร ฯลฯ รวมถึงให้ความเห็นและรับฟังการวิเคราะห์จากคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย (คปก.) แล้ว ทางกลุ่มญาติจึงเห็นว่าน่าที่จะได้ร่างกฎหมายฉบับประชาชนขึ้นมาเอง และใช้กลไกทางรัฐสภาผลักดันร่าง พรบ.นิรโทษกรรม ฉบับประชาชนนี้ผ่านรัฐสภาเพื่อบังคับใช้ตามกฎหมาย

เมื่อกลุ่มญาติฯได้เตรียมนำเสนอร่างฉบับประชาชน กลับมีความพยายามทำลายความน่าเชื่อถือว่าร่างฉบับนี้จะทำให้นักโทษการเมืองจำนวนมากไม่ได้ออกจากคุก

ทางกลุ่มญาติจึงขอท้าทายบุคคล กลุ่มบุคคล องค์กร แกนนำ แกนนอน ฯลฯ แสดงความคิดเห็นต่อร่างฉับประชาชนนี้ และศึกษาเปรียบเทียบกับร่างอื่นอื่นว่ามีความแตกต่างกันอย่างไร และร่างไหนกันแน่ที่จะนำพาประเทศไทยและประชาชนกลับสู่สังคมแห่งสันติภาพ

จึงขอเชิญชวนท่านที่สนใจร่วมแสดงความคิดเห็นทั้งในแบบภาพรวม และ/หรือ รายละเอียดแบบเรียงตามรายมาตรา เพื่อสร้างสังคมแห่งการแสดงความคิดเห็นด้วยเหตุและผลต่อไป

ด้วยความเคารพ

 พันธ์ศักดิ์ ศรีเทพ
ผู้ประสานงานกลุ่มญาติฯ




ร่าง พรบ. นิรโทษกรรมแก่ประชาชนซึ่งได้กระทำความผิดอันเนื่องมาจากเหตุการณ์ความขัดแย้งทางการเมืองภายหลังการยึดอำนาจรัฐโดยคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขเมื่อวันที่ ๑๙ กันยายน พ.ศ. ๒๕๔๙

หลักการ

ให้มีกฎหมายว่าด้วยนิรโทษกรรมแก่ประชาชนซึ่งได้กระทำความผิดต่อความสงบเรียบร้อยหรือต่อความมั่นคงของราชอาณาจักร อันเนื่องมาจากเหตุการณ์ความขัดแย้งทางการเมือง ภายหลังการยึดอำนาจรัฐโดยคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขเมื่อวันที่ ๑๙ กันยายน พ.ศ. ๒๕๔๙

เหตุผล

โดยที่ได้ปรากฏความขัดแย้งทางการเมืองอันเป็นเหตุให้มีการเดินขบวนและชุมนุมประท้วงทางการเมืองของประชาชนตลอดจนมีการกระทำอื่นใด ไม่ว่าจะเป็นการกระทำทางกายภาพหรือการแสดงความคิดเห็นอันเนื่องมาจากเหตุการณ์ความขัดแย้งทางการเมืองภายหลังการยึดอำนาจรัฐโดยคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขเมื่อวันที่ ๑๙ กันยายน พ.ศ. ๒๕๔๙ อันนำไปสู่การกล่าวหาและดำเนินคดีกับประชาชนจำนวนมาก ตลอดจนมีประชาชนเสียชีวิตและบาดเจ็บจำนวนมาก ทรัพย์สินของทางราชการ และเอกชนถูกเผาทำลาย ปรากฏการณ์ดังกล่าวสร้างความเสียหายอย่างร้ายแรงต่อประเทศชาติทั้งทางด้านความมั่นคง การเมือง เศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรมอันดีงามของสังคมไทย

ทั้งนี้ เมื่อได้คำนึงว่าบรรดาการกระทำต่างๆ ของประชาชนที่ได้กระทำไปเพื่อแสดงออกซึ่งความคิดทางการเมืองของประชาชน มีมูลเหตุจูงใจทางการเมืองที่มีความสัมพันธ์โดยตรงกับความขัดแย้งในทางการเมือง จึงสมควรให้มีการนิรโทษกรรมแก่ประชาชนในกรณีดังกล่าวเพื่อเป็นการให้โอกาสแก่ประชาชนซึ่งเป็นพลเมืองของประเทศและเป็นการรักษาคุ้มครองศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ทั้งเพื่อส่งเสริมสิทธิมนุษยชนและสิทธิพลเมืองตามระบอบประชาธิปไตยโดยใช้หลักนิติธรรม

อย่างไรก็ตาม ยังมีการกระทำรุนแรงโดยรัฐในการปราบปรามประชาชน จนทำให้มีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บจำนวนมาก ทั้งข้าราชการและพลเรือน ทำให้ต้องมีการแยกแยะการกระทำใดๆที่เป็นความผิดร้ายแรงจนทำให้ผู้อื่นเสียชีวิต บาดเจ็บ ทุพลภาพ การเผาทำลายทรัพย์สินของเอกชน การกระทำเกินกว่าเหตุของผู้ปฏิบัติการ การออกคำสั่งบังคับบัญชา ฯลฯ ที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ออกจากการนิรโทษกรรมนี้ เพื่อให้มีการดำเนินคดีตามกระบวนการยุติธรรม และเพื่อป้องกันไม่ให้การกระทำเหล่านี้เกิดซ้ำขึ้นในภายหลัง

การทำให้กระบวนการยุติธรรมเดินหน้าเพื่อพิสูจน์ทราบความจริง นิรโทษกรรมให้กับบรรดาการกระทำความผิดอันเกี่ยวเนื่องกับความขัดแย้งทางการเมือง และการลงโทษผู้กระทำความผิดร้ายแรงจนทำให้ผู้อื่นสูญเสียชีวิตและทรัพย์สิน ตลอดจนการออกคำสั่งยุยง การสั่งการบังคับบัญชาอันนำไปสู่ความรุนแรง สมควรที่จะต้องรับความผิดตามโทษานุโทษ อันจะเป็นรากฐานที่ดีต่อการลดความขัดแย้ง และสร้างความปรองดองของคนในชาติ จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้

มาตรา ๑

พระราชบัญญัตินี้เรียกว่า “พระราชบัญญัตินิรโทษกรรมแก่ประชาชนซึ่งได้กระทำความผิดความสงบเรียบร้อยหรือต่อความมั่นคงของราชอาณาจักร อันเนื่องมาจากเหตุการณ์ความขัดแย้งทางการเมืองภายหลังการยึดอำนาจรัฐโดยคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข เมื่อวันที่ ๑๙ กันยายน พ.ศ. ๒๕๔๙ ,พ.ศ...........”

มาตรา ๒

พระราชบัญญัตินี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป

มาตรา ๓

(๑) บรรดาการกระทำใด ๆ ของบุคคลอันเป็นความผิดตามกฎหมายจากการฝ่าฝืนข้อกำหนด ประกาศ หรือคำสั่งที่ออกตามพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. ๒๕๔๘ หรือข้อกำหนดที่ออกตามพระราชบัญญัติการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ. ๒๕๕๑ ซึ่งได้ประกาศใช้อันเนื่องมาจากการเดินขบวนและการชุมนุมประท้วงทางการเมืองภายหลังจากการยึดอำนาจรัฐโดยคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขเมื่อวันที่ ๑๙ กันยายน พ.ศ. ๒๕๔๙ ให้ผู้กระทำพ้นจากความผิด และความรับผิดโดยสิ้นเชิง

(๒) บรรดาการกระทำใด ๆ ของบุคคลผู้เข้าร่วมเดินขบวนและชุมนุมประท้วงทางการเมืองในเขตท้องที่ที่มีการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินหรือการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงตามพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. ๒๕๔๘ หรือพื้นที่ที่มีการประกาศให้เป็นพื้นที่ปรากฏเหตุการณ์อันกระทบต่อความมั่นคงภายในราชอาณาจักรตามพระราชบัญญัติการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ. ๒๕๕๑ ซึ่งได้ประกาศใช้อันเนื่องมาจากการเดินขบวนและการชุมนุมประท้วงทางการเมืองภายหลังจากการยึดอำนาจรัฐโดยคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขเมื่อวันที่ ๑๙ กันยายน พ.ศ. ๒๕๔๙ หากเป็นความผิดลหุโทษตามประมวลกฎหมายอาญา หรือเป็นความผิดอันมีโทษปรับสถานเดียวหรือเป็นความผิดอันมีโทษจำคุกไม่เกิน ๒ ปีตามกฎหมายอื่น ให้ผู้กระทำพ้นจากความผิด และความรับผิดโดยสิ้นเชิง

(๓) บรรดาการกระทำใด ๆ ของบุคคลผู้เข้าร่วมเดินขบวนและชุมนุมประท้วงทางการเมือง ในเขตท้องที่หรือพื้นที่ตาม มาตรา ๓ (๒) อันเป็นความผิดตามกฎหมายซึ่งมิได้รับนิรโทษกรรมตามมาตรา ๓ (๑) หรือมาตรา ๓ (๒) ตลอดจนการกระทำใด ๆ ที่ได้กระทำขึ้นระหว่างวันที่ ๑๙ กันยายน พ.ศ. ๒๕๔๙ ถึงวันที่ ๙ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๕๔ ของบุคคลซึ่งไม่ได้เข้าร่วมเดินขบวนและชุมนุมประท้วงทางการเมือง แต่การกระทำนั้นมีความเกี่ยวเนื่องกับเหตุการณ์การทางการเมือง ภายหลังการยึดอำนาจรัฐโดยคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขเมื่อวันที่ ๑๙ กันยายน พ.ศ. ๒๕๔๙ หากการกระทำดังกล่าวเป็นความผิดต่อความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร อันผู้กระทำได้กระทำไปโดยมีความเกี่ยวเนื่องกับเหตุการณ์การทางการเมือง ให้ผู้กระทำพ้นจากความผิด และความรับผิดโดยสิ้นเชิง ทั้งนี้ เท่าที่ไม่ขัดกับพันธกรณีตามกฎหมายระหว่างประเทศ

(๔) การกระทำใด ๆ หรือการตระเตรียมการของผู้ใด ทั้งผู้ชุมนุมและผู้ที่ไม่ได้เข้าร่วมชุมนุม โดยมุ่งต่อการประทุษร้ายผู้อื่นโดยใช้อาวุธให้บุคคลนั้นยังคงมีความผิดตามกฎหมาย

การกระทำใด ๆ ของประชาชนทั้งผู้ชุมนุมและผู้ที่ไม่ได้เข้าร่วมชุมนุมอันมุ่งต่อการก่อให้เกิดภยันตรายต่อประชาชน หรือการกระทำผิดต่อทรัพย์ เช่นการวางเพลิงเผาทรัพย์ ปล้นทรัพย์ ลักทรัพย์ อันเป็นของเอกชน ให้บุคคลนั้นยังคงมีความผิดตามกฎหมาย

บทบัญญัติในวรรคที่หนึ่งและสอง รวมถึงการกระทำใดๆ ของบรรดาผู้ซึ่งมีอำนาจในการตัดสินใจ หรือสั่งการให้มีการเคลื่อนไหวทางการเมืองในห้วงระยะเวลาดังกล่าวนั้นด้วย

มาตรา ๔

การกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐระดับปฏิบัติการที่มิได้ฝ่าฝืนคำสั่งการบังคับบัญชา และ/หรือ ไม่ได้กระทำการเกินกว่าเหตุให้ผู้กระทำพ้นจากความผิด และความรับผิดโดยสิ้นเชิง ทั้งนี้ เท่าที่ไม่ขัดกับพันธกรณีตามกฎหมายระหว่างประเทศ

การกระทำของบรรดาเจ้าหน้าที่ของรัฐที่เกี่ยวข้องในเหตุการณ์ชุมนุมประท้วง ตลอดจนการสลายการชุมนุมไม่ว่าจะได้กระทำการในฐานะเป็นผู้สั่งการหรือผู้ปฏิบัติการ และไม่ว่าจะกระทำในขั้นตอนใด ๆ รวมถึงการกระทำใดๆ ของบรรดาผู้ซึ่งมีอำนาจในการตัดสินใจ หรือสั่งการให้มีการเคลื่อนไหวทางการเมือง หากการกระทำนั้นไม่สมควรแก่เหตุ และ/หรือเป็นความผิดตามกฎหมาย ให้บุคคลนั้นยังคงมีความผิดตามกฎหมาย

บทบัญญัติในวรรคที่สองให้ใช้บังคับกับบุคคลที่เป็นตัวการ ผู้ใช้ หรือผู้สนับสนุนในความผิดนั้น

มาตรา ๕

เมื่อพระราชบัญญัตินี้มีผลใช้บังคับแล้ว ถ้าผู้กระทำการตามมาตรา ๓ (๑), (๒) และ (๓) ยังมิได้ถูกฟ้องต่อศาลหรืออยู่ในระหว่างการสอบสวน ให้พนักงานสอบสวนผู้ซึ่งมีอำนาจสอบสวน หรือพนักงานอัยการระงับการสอบสวนหรือการฟ้องร้อง หากถูกฟ้องต่อศาลแล้วให้พนักงานอัยการ หรือองค์กรที่เกี่ยวข้องระงับการฟ้องหรือให้ถอนฟ้อง ถ้าผู้นั้นอยู่ในระหว่างการพิจารณาคดีไม่ว่าจำเลยร้องขอหรือศาลเห็นเอง ให้ศาลพิพากษายกฟ้องหรือมีคำสั่งจำหน่ายคดี ในกรณีที่ได้มีคำพิพากษาถึงที่สุดให้ลงโทษบุคคลใดก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้มีผลใช้บังคับ ให้ถือว่าบุคคลนั้นไม่เคยต้องคำพิพากษาว่าได้กระทำความผิด ถ้าผู้นั้นอยู่ระหว่างการรับโทษให้การลงโทษนั้นสิ้นสุดลงและปล่อยตัวผู้นั้น

มาตรา ๖

ผู้ได้รับการนิรโทษกรรมตามพระราชบัญญัตินี้ จะได้รับการช่วยเหลือเยียวยาตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องเท่านั้น แต่ไม่สามารถก่อให้เกิดสิทธิแก่ผู้ได้รับนิรโทษกรรมในอันที่จะเรียกร้องสิทธิ หรือประโยชน์ใดๆ เพิ่มเติมทั้งสิ้น

มาตรา ๗

การดำเนินการใดๆ ตามพระราชบัญญัตินี้ ไม่เป็นการตัดสิทธิของบุคคลซึ่งไม่ใช่องค์กรหรือหน่วยงานของรัฐในการเรียกร้องค่าเสียหายในทางแพ่ง จากการกระทำของบุคคลใดซึ่งพ้นจากความรับผิดตามพระราชบัญญัตินี้ และทำให้ตนต้องได้รับความเสียหาย

มาตรา ๘

ให้นายกรัฐมนตรีรักษาการตามพระราชบัญญัตินี้



ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ

นายกรัฐมนตรี


ความเห็นต่อร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมฯ ฉบับญาติผู้สูญเสีย

โดย นพ.เหวง โตจิราการ

ที่มา: http://uddred.blogspot.com/2013/07/53.html?spref=fb



ข้อคิดเห็นต่อ “ร่าง พรบ.นิรโทษกรรมของญาติวีรชน 53”

1.ญาติวีรชน 53 มีสิทธิโดยชอบธรรมตามรัฐธรรมนูญในการ เสนอ “ร่างพรบ.นิรโทษกรรมของกลุ่มตน”

2.สำหรับผมเอง “ท่าทีต่อวีรชน”ยังคงเช่นเดิม และยังคงเป็นเช่นนี้ตลอดไปจนสิ้นลมหายใจ คือ “ท่านเป็นวีรชนผู้พลีชีพต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยและความยุติธรรมของประเทศนี้)

3.ความเห็นต่อไปนี้เป็นความเห็นทางกฎหมาย ที่เสนอเพื่อ “ถามคำตอบ”จากนักกฎหมายที่ร่างให้กับ “กลุ่มญาติวีรชน 53”

ไม่ได้ตั้งคำถามกับ และไม่มีความคิดเห็นที่เป็นลบต่อ “กลุ่มญาติวีรชน53” เพราะ พ.ร.บ.ฉบับนี้ ผู้ร่าง “น่าจะเป็น” อาจารย์ผู้เชี่ยวชาญทางด้านกฎหมาย และนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน บางท่าน

เนื้อหาที่สำคัญของร่างนี้อยู่ในมาตรา 4

เพราะมาตรา 3 ล้วน กล่าวถึงการนิรโทษต่อผู้ที่

กระทำผิด พรก.ฉุกเฉิน48 พรบ.ความมั่นคง51 (ดูในมาตรา 3(1),)

พรก.ฉุกเฉินร้ายแรงและในพื้นที่ประกาศดังกล่าว กำหนดนิรโทษเฉพาะ “ความผิดลหุโทษ ความผิดอันมีโทษปรับสถานเดียว ความผิดอันมีโทษจำคุกไม่เกิน2ปี”(ดูในมาตรา3(2))

ความผิดทั้งหมดนั้น ถ้ารับโทษก็พ้นกำหนดโทษไปแล้วครับ แทบไม่ต้องมานิรโทษอะไรกับอีกต่อไป

ซึ่งแม้จะมีความสำคัญแต่เมื่อเทียบน้ำหนักกับมาตรา 4 แล้วถือว่า น้อยกว่าอย่างมากมาย

แม้ในมาตรา3(3)นิรโทษให้ผู้ที่ “ไม่ได้เข้าร่วม” แต่ “มีความเกี่ยวเนื่อง” ซึ่งเป็นการสร้างปมขัดแย้งอย่างใหญ่หลวงในการ ตีความว่า“มีความเกี่ยวเนื่อง”มีความหมายว่าอย่างไร นิยามความเกี่ยวเนื่องอย่างไร

แม้จะบอกว่า นิรโทษให้การกระทำที่เป็นความผิดต่อความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร แต่ก็มีปัญหาว่า อะไรคือ “ผู้กระทำได้กระทำไปโดยมีเกี่ยวเนื่องกับเหตุการณ์ทางการเมือง” เช่น เพียงแค่นั่งดูทีวีถ่ายทอดอยู่กับบ้านเป็นความเกี่ยวเนื่องหรือไม่

คราวนี้ มาตรา 4 ก่อให้เกิดปัญหาและอันตรายอย่างใหญ่หลวงโดยเฉพาะ “คนเสื้อแดง และแกนนำของคนเสื้อแดง”

เพราะเจตนารมณ์ของคนร่าง บ่งบอกอย่างชัดแจ้งว่า “การชุมนุม มุ่งต่อการประทุษร้ายผู้อื่นโดยใช้อาวุธ” เพราะหากเสื้อแดง ไม่ได้มีการชุมนุมโดยมุ่งต่อการประทุษร้ายผู้อื่นโดยใช้อาวุธ ในตัวกฎหมายก็ไม่จำเป็นต้องเขียนสิ่งนี้ไว้

และที่เขียนเช่นนี้ก็เพราะคนที่อยู่ในคุกซึ่งมีแต่เสื้อแดงเท่านั้น และหลายคนก็มีคำพิพากษาในความผิดเรื่องการประทุษร้ายคนอื่นโดยใช้อาวุธนั่นแหละ เท่ากับ พ.ร.บ.นี้ไม่ต้องการนิรโทษคนเสื้อแดงที่อยู่ในคุก

ไม่เพียงแต่เท่านั้น เจตนารมณ์ของคนร่าง พ.ร.บ.นี้ ยังระบุ ถึง “การกระทำอันมุ่งต่อการก่อให้เกิดภยันตรายต่อประชาชน หรือการกระทำผิดต่อทรัพย์ เช่นการวางเพลิง เผาทรัพย์ ปล้นทรัพย์ ลักทรัพย์ อันเป็นของเอกชน”

ผู้ร่างย่อมมีแบบจำลองอยู่ห้วงคิดคำนึงแล้วว่า คนเสื้อแดง เป็นคนก่อให้เกิดภยันตรายต่อประชาชน ,วางเพลิง,เผาทรัพย์,ปล้นทรัพย์,อันเป็นของเอกชน แล้ว จึงตราความผิดนี้ไว้ แล้วระบุว่าความผิดนี้นิรโทษไม่ได้ เพราะหากไม่คิดเช่นนี้แล้ว กำหนดรายละเอียดเช่นนี้ลงมาได้อย่างไร

โดยมุ่งหมายให้ เขาเหล่านั้น ยังคงมีความผิดตามกฎหมาย

คนที่ติดคุกอยู่ในขณะนี้ มีแต่เสื้อแดง และศาลก็พิพากษาตามความผิดที่ได้ระบุไว้นี้แหละ คือ วางเพลิง เผาทรัพย์ ปล้นทรัพย์ ลักทรัพย์ ก่อให้เกิดภยันตรายต่อประชาชน ก็คือต้องติดคุกต่อไปจนครบกำหนด

และยังหว่านแหไปรวมถึง “แกนนำ”ด้วย โดยให้รวมถึงการกระทำใดๆของบรรดาผู้ซึ่งมีอำนาจในการตัดสินใจ หรือสั่งการให้มีการเคลื่อนไหวทางการเมืองในห้วงระยะเวลาดังกล่าวนั้นด้วย

ท่อนแรกเป็นท่อนที่พุ่งเป้ามาที่ “คนเสื้อแดงและแกนนำของพวกเขา”ในขณะนี้ผู้ที่อยู่ในเรือนจำ “ล้วนเป็นพวกที่ ศาลพิพากษาว่า วางเพลิง เผาทรัพย์ เผาศาลากลาง อันก่อให้เกิดภยันตรายต่อประชาชนหรือ กระทำผิดต่อทรัพย์ทั้งสิ้น” ดังกล่าว

ดังนั้น เป็นเรื่อง ตลกร้าย ที่ “พรบ.นิรโทษ ไม่ต้องการให้นิรโทษต่อคนที่ติดคุก แต่ให้รับโทษต่อไปตามกฎหมาย”

แต่ผู้ที่ได้รับนิรโทษกลับเป็น

“เจ้าหน้าที่ของรัฐระดับปฏิบัติการ (นี่หมายถึงทหารในภาคสนามชัดเจน) ที่ไม่ได้ฝ่าฝืน คำสั่ง การบังคับบัญชา และ/หรือ ไม่ได้กระทำการเกินกว่าเหตุ (ทหารทุกคนเขายืนยันว่า เขาปฏิบัติตามคำสั่ง คำบังคับบัญชาทั้งนั้นครับ ไม่มีใครบอกดอกว่า เขาไม่ได้ปฏิบัติตามคำสั่งและคำบังคับบัญชา

ทหารทุกคนเขายืนยันครับว่าเขาไม่ได้ทำเกินกว่าเหตุ เพราะเสื้อแดง มีชายชุดดำที่ติดอาวุธ M16 M79 M67 และสารพัดอาวุธสงคราม ดังนั้นทหารจำเป็นต้องยิงหัวสังหารชายชุดดำที่ติดอาวุธ เช่นนี้แล้วทหารทุกคนรอดหมดครับ)

ให้เป็นผู้พ้นกระทำความผิดและความรับผิดโดยสิ้นเชิง

นอกจากนี้ อภิสิทธิ์ สุเทพ และนายทหารชั้นผู้ใหญ่ที่ร่วมวางแผนในการสังหารประชาชนก็จะรอดด้วย เพราะ

“การกระทำของบรรดาเจ้าหน้าที่ของรัฐที่เกี่ยวข้อง ในเหตุการณ์ชุมนุมประท้วง ตลอดจากการสลายการชุมนุม ไม่ว่าจะได้กระทำการในฐานะเป็นผู้สั่งการ หรือผู้ปฏิบัติการ และไม่ว่าจะกระทำในขั้นตอนใดๆ รวมถึงการกระทำใดๆของบรรดาผู้ซึ่งมีอำนาจในการตัดสินใจ หรือสั่งการให้มีการเคลื่อนไหวทางการเมืองหากการกระทำนั้นไม่สมควรแก่เหตุ

(อภิสิทธิ์สุเทพ และทหารทุกนายระบุชัดว่าเสื้อแดงมีชายชุดดำที่ใช้อาวุธสงครามสังหารทหาร จึงสมควรแก่เหตุที่จะใช้ทหาร 60,000นายสังหารคนเสื้อแดงครับ)

และ/หรือเป็นความผิดตามกฎหมาย

(อภิสิทธิ์สุเทพและนายทหารทุกคน มีกฎหมายพรบฉุกเฉินมาตรา 17 คุ้มครองครับว่าไม่ต้องรับผิดทั้งทางกฎหมายแพ่งอาญาและวินัยทางการปกครองครับ)

(จึงจะ) ให้บุคคลนั้นยังคงมีความผิดตามกฎหมาย

โดยสรุปก็คือ เสื้อแดงที่อยู่คุก ที่ถูกพิพากษาว่า เผาศาลากลาง มีอาวุธสงครามในครอบครองหรือใช้ในการที่ผิดกฎหมาย ก็ต้องอยู่ในคุกไปจนครบกำหนด 33 ปี หรือ 22 ปีตามคำพิพากษา

ที่กำลังถูกดำเนินคดีก่อการร้ายก็ต้องดำเนินคดีไปจนถึงที่สุด

แต่อภิสิทธิ์สุเทพและทหารทุกคนทั้งนายและพล ได้รับความคุ้มครองตาม พ.ร.บ.นิรโทษนี้ เพราะ “กระทำการโดยสมควรแก่เหตุ ไม่เป็นความผิดตามกฎหมาย”

นี่ พรบ.นิรโทษกรรมนี้ ต้องการช่วยอภิสิทธ์สุเทพและทหารทั้งหลายที่มีส่วนร่วมในการฆ่าประชาชนและลงโทษคนเสื้อแดงและแกนนำใช่ไหมครับ?

จึงเรียนมาเพื่อ “กลุ่มญาติวีรชน 53”ได้โปรดทบทวนพรบ.นิรโทษของท่านด้วย และต้องสำรวจด้วยว่า “ใครเป็นร่างให้ท่าน และด้วยจุดมุ่งหมายอะไรกันแน่ครับ”

นพ.เหวง โตจิราการ 15 ก.ค. 56