81ปีประชาธิปไตย "เฒ่าทารก" โดย จรัล ดิษฐาอภิชัย

 โพสต์ทูเดย์ 24 มิถุนายน 2556





โดย...ปริญญา ชูเลขา

เนื่องในวัน 24 มิถุนายนของทุกปี ที่กำหนดไว้เป็นวันย้อนรำลึกถึงการเปลี่ยนผ่านการปกครองจากระบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์เป็นการปกครองประชาธิปไตยเกิดวิกฤตการณ์ทางการเมืองมากมาย ตั้งแต่เหตุการณ์ 14 ตุลาฯ 2516 รัฐประหาร 6 ตุลาฯ2518 พฤษภาทมิฬ 2535 หรือ ปฏิวัติ 19 กันยาฯ2549 จนถึงเหตุการณ์ชุมนุมบริเวณราชประสงค์ 2553 ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันประชาธิปไตยไทยเปื้อนเลือดมาโดยตลอด การปกครองประเทศกลับไปกลับมาระหว่างการปฏิวัติรัฐประหาร เกิดเหตุการณ์นองเลือด ฉีกรัฐธรรมนูญแล้วเลือกตั้งใหม่สุดท้ายกลับมาสู่จุดเดิม ยิ่งปัจจุบันเกิดความขัดแย้งทางการเมืองลึกและกว้างอย่างหนักระหว่างประชาชนที่มีความแตกต่างอุดมการณ์เชิงสัญลักษณ์สีเสื้อแดงกับเหลือง

นายจรัล  ดิษฐาอภิชัย ที่ปรึกษารองนายกรัฐมนตรี ในฐานะนักเคลื่อนไหวทางการเมืองสะท้อนมุมมองว่าประชาธิปไตยไทยที่ผ่านมา 81 ปี เปรียบเหมือน “เฒ่าทารก” กล่าวคือ หน้าตาแก่แต่ร่างกายกลับเล็กลีบ ซึ่งมองได้ 2 สาเหตุ คือรูปแบบและเนื้อหารัฐธรรมนูญเป็นประชาธิปไตยเพียง 40% เท่านั้น แม้ประชาชนจะมีสิทธิเสรีภาพในการชุมนุมเรียกร้องเดินขบวนได้แต่เกิดจากผลพวงเหตุการณ์ 14 ตุลาฯในอดีต และแม้ว่าจะมีการเลือกตั้งมี สส.สว.ระบบพรรคการเมืองและรัฐบาลมาจากเสียงข้างมาก แต่รัฐบาลกลับไม่มีอำนาจเด็ดขาด หรือ ไม่สามารถบริหารประเทศได้เต็มที่ เพราะยังมีองค์การเหนือรัฐบาล คือ กองทัพ กลุ่มอมาตยธิปไตย และ กลุ่มแนวคิดทางการเมืองแบบอนุรักษ์นิยม ที่รัฐบาลเสียงข้างมากจะต้องคำนึงถึงและระมัดระวังในการบริหารประเทศ

“ดังเช่น รัฐบาล นส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี บริหารประเทศมา 1 ปี 10 เดือน แต่กลับไม่สามารถจะดำเนินนโยบายนิรโทษกรรมแก่ผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการชุมนุมทางการเมืองกว่า 400 คนได้ เพราะมีอำนาจนอกระบบ คอยขัดขวางอยู่”

ทั้งนี้โครงสร้างการเมืองปัจจุบันมีสถาบันหรือองค์การที่สามารถแทรกแซงการบริหารได้ เช่น ศาลรัฐธรรมนูญ ศาลปกครอง หรือองค์กรอิสระต่างๆ เช่น คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริต หรือ ปปช. ซึ่งองค์การเหล่านี้ล้มรัฐบาลมาแล้วถึง 2 ชุด คือ รัฐบาลสมัคร สุนทรเวช และรัฐบาลสมชาย  วงศ์สวัสดิ์ เป็นต้น ซึ่งสถาบันกึ่งยุติธรรมเหล่านี้ได้อำนาจจากรัฐธรรมนูญจากนั้นได้แผ่ขยายอำนาจตัวเองออกไปเรื่อยๆ

“รู้สึกผิดหวังกับองค์กรอิสระเพราะในอดีตเคยเป็นผู้ผลักดัน แม้ในตอนจัดตั้งด้วยเจตนารมณ์ที่ดีแต่มีปัญหาการขยายอำนาจตัวเองออกไปเรื่อยๆโดยไม่ยึดโยงกับประชาชน”

นับแต่ประเทศเกิดวิกฤตการเมือง ผ่านมา 7 ปี เป็นการต่อสู้เชิงสัญลักษณ์สีเสื้อ แดง – เหลือง ในการบริหารประเทศของรัฐบาลทุกเรื่องหากเสื้อแดงทำอะไรก็จะต้องคำนึงถึงว่าเมื่อทำสิ่งนี้ไปแล้วอีกฝ่ายหนึ่ง(เสื้อเหลือง)จะตอบโต้อย่างไร ดังนั้นในการบริหารประเทศจึงยากลำบาก ทั้งในทางการเมืองและการดำเนินนโยบายต่างๆ อย่างไรก็ตามการดำรงอยู่ของรัฐบาลมาได้ 1 ปี 10 เดือนนับว่าอยู่เหนือความคาดหมายของฝ่ายตรงข้ามที่คิดว่าน่าจะล้มไปตั้งนานแล้ว แต่กลับไม่เป็นเช่นนั้น ด้วย 5 ปัจจัย

1.ความนิยมในตัวของนายกรัฐมนตรี ไม่ได้ลดลงและยังสูงอยู่ แม้จะถูกโจมตีกระแนะกระแหน่ ถูกฟ้องร้องหรือถูกกล่าวร้ายทั้งในและนอกรัฐสภา
2.การดำเนินนโยบายตามที่ได้ประกาศไว้ แม้จะมีข้อบกพร่องผิดพลาดอยู่บ้าง แต่ประชาชนยังเห็นว่าเป็นประโยชน์
3.ความสัมพันธระหว่างรัฐบาลกับกองทัพยังดีอยู่
4.คนเสื้อแดง ยังสามารถขยายตัวเติบใหญ่ คล้ายๆกับเป็นพลังสนับสนุนและปกป้องรัฐบาล แม้ในคนเสื้อแดงบางกลุ่มจะไม่พอใจรัฐบาล แต่โดยรวมยังสนับสนุนรัฐบาล และ
5.ฝ่ายต่อต้านรัฐบาลอ่อนแอลง เช่น ฝ่ายค้าน สว.สรรหา และกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย (พธม.) แม้ว่าในช่วง 1 เดือนที่ผ่านมาจะเกิดปรากฎการณ์ “หน้ากากขาว” ก็ตาม

“การล้มรัฐบาล ผมยืนยันได้เลยว่าการชุมนุมเดินขบวนแบบพวกหน้ากากขาว ก็เหมือนกับที่คนเสื้อแดงเคยทำมาก่อน เคยพาพี่น้องประชาชนมาชุมนุมนับแสนๆคน ยังล้มรัฐบาลไม่ได้ ดังนั้นสิ่งที่หน้ากากขาว ชุมนุมกันอยู่แม้จะมากขึ้นเรื่อยๆ ก็ไม่มีทางล้มรัฐบาลได้ สิ่งที่จะล้มรัฐบาลได้มีเพียงสิ่งเดียว คือ ปฏิวัติรัฐประหาร เท่านั้น”

เช่นกันการปลุกมวลชนขึ้นได้ย่อมต้องมีประเด็นเกื้อหนุน อย่างเช่นตอนสมัยนายสนธิ ลิ้มทองกุล แกนนำพันธมิตรฯ ปลุกม็อบด้วยประเด็น พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ขายหุ้นชินคอร์ปฯ หรือกลุ่มเสื้อแดง ชูประเด็นประชาธิปไตย 2 มาตรฐานจึงมีมวลชนมาร่วมชุมนุมกันเป็นแสนๆคน แต่การเคลื่อนไหวของกลุ่มหน้ากากขาว คือ กลุ่มอารมณ์ตกค้างอับจนปัญญาอึดอัดกับครั้งก่อนที่พ่ายแพ้ทั้งกลุ่มพันธมิตรฯ หรือกลุ่มเสธ.อ้าย พล.อ.บุญเลิศ แก้วประสิทธิ์ ที่ในตอนแรกคิดว่าตัวเองจะปลุกม็อบขึ้น แต่สุดท้ายพ่ายแพ้

สำหรับยุทธวิธีหน้ากากขาวที่ปลุกม็อบขึ้นเพราะเป็นกลยุทธ์ที่โดนใจคนชนชั้นกลางเพราะ1.ในเชิงสัญลักษณ์โดยตัวหน้ากากมีความน่ากลัวยิ่งใส่หน้ากากทำให้ยิ่งรู้สึกดูน่ากลัวน่าเกรงขาม 2.สอดคล้องกับสามารถตอบสนองความต้องการของคนชนชั้นกลางที่ส่วนใหญ่มักไม่กล้าแสดงตัวว่าร่วมชุมนุม แต่ข้ออ่อนของการใส่หน้ากาก คือ ในที่สุดจะกลายเป็นม็อบแฟนซี หรือ ตัวตลกที่ไม่สามารถคุกคามรัฐบาลได้

แต่การเคลื่อนไหวของกลุ่มหน้ากากขาวในครั้งนี้ที่เป็นเนื้อเดียวกับกลุ่มพันธมิตรฯ เพราะต้องการจุดเชื้อคน 3 กลุ่มขึ้นมาต่อต้านรัฐบาล คือ
1.กลุ่มทุนดั้งเดิมที่เกลียด พ.ต.ท.ทักษิณ 
2.กลุ่มนายทุนอนุรักษ์นิยม หรือ กลุ่มรอลัลลิตส์ ที่เห็นว่าคนเสื้อแดงไม่จงรักภักดี และ
3.กลุ่มทุนที่หวังผลประโยชน์จากการล้มรัฐบาลได้

“ความคิดที่จะปลุกม็อบให้เกิดม็อบชนม็อบแล้วให้ทหารเข้ามาปฏิวัติ ไม่มีทางทำได้ 7 ปีผ่านมา ม็อบแดงกับเหลืองปะทะกันแค่ 2 ครั้ง ซึ่งในทางการเมืองก็ไม่ทำกัน แม้ทหารทำปฏิวัติได้ก็ถูกต่อต้านอยู่ดี บริหารประเทศไม่ได้ก็ต้องร่างรัฐธรรมนูญใหม่ คืนอำนาจให้ประชาชน ซึ่งคนเสื้อแดงก็ไม่กลัว เตรียมการต่อต้านไว้ตลอดเวลาอยู่แล้ว”  

นายจรัล กล่าวว่าความขัดแย้งระหว่างเสื้อแดงและเสื้อเหลืองจะยุติลงได้ด้วย 2 เหตุผล คือ
1.ไม่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งต้องชนะอย่างเด็ดขาด ซึ่งในช่วง 7 ปีที่ผ่านมาผลัดกันแพ้ผลัดกันชนะ และ 2.ปรองดอง ซึ่งในความเป็นจริงทั้ง
2 อย่างเป็นไปไม่ได้เพราะ99% ของคนทั้งสองฝ่าย ฝ่ายเสื้อเหลืองกลัว พ.ต.ท.ทักษิณ กลับมา และฝ่ายเสื้อแดงต้องการนำตัวคนสั่งฆ่าประชาชนในช่วงเดือน พ.ค. 2553 มาลงโทษ ดังนั้นสังคมไทยจะยังดำรงความขัดแย้งแบบนี้ต่อไป

อีกทั้งความขัดแย้งทางการเมืองเป็นความขัดแย้งที่ลึกและกว้างซึมลึกลงไปในระดับครอบครัวยากยิ่งกว่าสมัยอดีตอย่างสมัย 14 ตุลาฯ เป็นความขัดแย้งเชิงอุดมการณ์ทางการเมืองระหว่างซ้ายกับขวา และความขัดแย้งในครั้งนี้ไม่มีกลไกสถาบันหรือบุคคลสำคัญของประเทศที่จะสามารถเป็นคนกลางไกล่เกลี่ยทั้งสองฝ่ายได้ แต่เชื่อว่าวิกฤตการเมืองครั้งนี้จะค่อยๆคลี่คลายลงจากวิกฤตร้อนเป็นวิกฤตเย็น ภายใน 6 ปีข้างหน้า นับจากรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ที่เหลือเวลาบริหารราชการอีก 2 ปี จากนั้นมีการเลือกตั้งใหม่ ซึ่งตอนนั้นต้องรอดูว่าฝ่ายใดได้เป็นรัฐบาลใหม่ พรรคเพื่อไทย หรือ พรรคประชาธิปัตย์ ความเขม็งเกลียวทางการเมืองค่อยๆดีขึ้น