ถึงเวลาสานต่อ"ปรองดอง"?

ข่าวสด วันที่ 5 มกราคม 2556
รายงานพิเศษ

แม้การเมืองไทยจะรอดพ้นจากวิกฤตมาอีกหนึ่งปี แต่ประเด็นการปรองดองดูจะแผ่วลงในช่วงหลังๆ ทั้งที่เป็นหนึ่งในนโยบายเร่งด่วนของรัฐบาล

ขึ้นสู่ศักราชใหม่ เรื่องดังกล่าวสมควรได้รับการสานต่อเพื่อแก้ปัญหาความขัดแย้งในสังคมอีกหรือไม่ หากทำควรมีแนวทางอย่างไรให้เกิดผลเป็นรูปธรรมชัดเจน และมีจุดเริ่มต้นที่เกิดความร่วมมือของทุกฝ่าย

โดยเฉพาะอย่างยิ่งการออกเป็นกฎหมายปรองดอง จะช่วยแก้วิกฤตความแตกแยกได้จริงหรือไม่

มีความเห็นจากนักสันติวิธีดังต่อไปนี้
 

                                   พล.อ.เอกชัย ศรีวิลาศ,พล.อ.เลิศรัตน์ รัตนวานิช,เอกพันธุ์ ปิณฑวณิช  
 
เอกพันธุ์ ปิณฑวณิช
ศูนย์ศึกษาและพัฒนาสันติวิธี ม.มหิดล

แนวคิดในการปรองดองควรเดินหน้าต่อไป เพื่อให้คนในชาติสามารถอยู่ร่วมกันได้ แม้จะมีความคิดเห็นที่แตกต่างกัน โดยไม่ทะเลาะ หรือทำร้ายและทำลายกัน

แต่ที่ผ่านมายังไม่เห็นการกระทำที่ดูเป็นรูปธรรม ดังนั้นควรมีการวางแผนและทำกระบวนการปรองดองให้เป็นรูปธรรมมากขึ้น

เพราะสังคมไทยมีลักษณะความขัดแย้งในระดับความคิด ซึ่งเคยมีประวัติศาสตร์และบาดแผลกันมาแล้ว กระบวนการปรองดองจึงควรทำอย่างต่อเนื่อง

แต่กระบวนการปรองดองไม่สมควรจะทำเป็นกฎหมาย เพราะเหมือนบังคับให้คนมาปรองดองกัน แล้วยิ่งเป็นกฎหมายปรองดองฉบับเดิมก็ไม่ควรนำมาใช้ ซึ่งเห็นแล้วว่าทำให้สังคมเกิดความขัดแย้งเพียงใด

แต่ถ้าเป็นกฎหมายที่ออกมาจากการที่คนหลายฝ่ายร่วมคิดกันจนตกตะกอนแล้ว อาจเป็นที่ยอมรับร่วมกันได้ แต่ถ้าเป็นเพียงความคิดของคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง คงไม่มีใครยอมรับได้

ถามว่าจำเป็นมั้ยที่จะต้องออกกฎหมายปรองดอง ส่วนตัวเห็นว่าไม่มีความจำเป็นที่ต้องออกเพื่อการปรองดองโดยเฉพาะ แต่ควรจะแก้ไขสิ่งที่เป็นอุปสรรคเฉพาะเรื่อง โดยไม่เอามารวมกันเป็นกฎหมาย

เช่น การนิรโทษกรรม การเปลี่ยนแปลงกฎหมายที่จะทำให้เกิดการปรองดอง เป็นต้น

แต่ก่อนที่จะจัดการแก้ไขอะไร ควรได้รับฉันทามติจากภาคประชาชนก่อน โดยมีการพูดคุยให้ตกผลึก และนำประเด็นเหล่านั้นไปสานต่อ

สำหรับกระบวนการที่น่าจะเป็นรูปธรรมมากที่สุด คือ การสานเสวนาเพื่อหาทางออก ซึ่งก่อนหน้านี้มีกรมการพัฒนาชุมชนเป็นผู้ดำเนินการ แต่ตอนนี้กลับหยุดชะงักไปและเปลี่ยนกระบวนการใหม่ ยังไม่ทราบว่าจะออกมาในรูปแบบไหนแน่ชัด

การสานเสวนาเพื่อหาทางออกนั้น ถือเป็นกระบวนการที่ครอบคลุมทุกฝ่าย เพราะมีลักษณะของการทำงานตั้งแต่ระดับกลุ่มย่อย คือ ระดับหมู่บ้าน ตำบล และอำเภอ จากกลุ่มย่อยก็ยกระดับขึ้นสู่จังหวัด และเข้ามาอยู่ในระดับชาติ

ซึ่งแต่ละขั้นตอนจะได้ผลของกระบวนการความคิดที่ตกผลึกจากทุกฝ่ายแล้ว

ในการสานเสวนานี้จะมีตัวแทนจากคนเกือบทุกภาคส่วนในประเทศ ที่เห็นพ้องต้องกันว่าควรมีกระบวนการปรองดองอย่างไร และทุกฝ่ายควรมีหน้าที่ทำอะไรบ้าง

ผลที่ได้ต้องได้รับการนำไปปฏิบัติจริงในเรื่องนั้นๆ แม้เสียงอาจไม่เป็นเอกฉันท์ แต่แรงต้านอาจจะน้อยลง เพราะทุกฝ่ายได้เข้ามามีส่วนร่วมแล้ว

นอกจากนี้ทุกฝ่ายที่มาร่วมสานเสวนาต้องปรับแนวความคิด และมีส่วนร่วมพูดคุยแสดงความคิดเห็น โดยสามารถทนฟังและนั่งร่วมอยู่กับคนที่มีแนวคิดต่างกันได้

ส่วนเหตุการณ์ที่มีการกระทบกระทั่งและมีผู้เสียชีวิต ก็มีกลุ่มต่างๆ จัดทำรายงานและข้อเท็จจริงมาเปิดเผย และมีการเยียวยาผู้ที่ได้รับผล กระทบ ถือเป็นเรื่องที่ดีในระดับหนึ่ง

แต่ถ้ายอมรับและให้อภัยกันได้ การให้อภัยก็ถือเป็นอีกวิธีหนึ่งที่จะทำให้การปรองดองเป็นรูปธรรมมากขึ้น

ดังนั้นรัฐบาลควรกลับไปดูกระบวนการปรองดองแบบสานเสวนาเพื่อหาทางออกกันใหม่ เพราะการจะทำให้เกิดการปรองดองอย่างแท้จริง ต้องให้ทุกฝ่ายมีส่วนร่วมและเกิดการยอมรับ


พล.อ.เอกชัย ศรีวิลาศ
ผอ.สำนักสันติวิธี สถาบันพระปกเกล้า

แนวโน้มการปรองดองคงไม่เกิดขึ้นในเร็วๆ นี้

"กระบวนการปรองดองไม่สมควรจะทำเป็นกฎหมาย"


การปรองดองที่ต้องหยุดชะงักลง เพราะมีประเด็นการแก้รัฐธรรมนูญและการทำประชามติที่ตกเป็นกระแสวิพากษ์วิจารณ์ จึงทำให้การปรองดองตกลงไป

อย่างไรก็ตามนโยบายการปรองดองเป็นสิ่งที่ควรทำต่อ แม้จะไม่มีการแก้รัฐธรรมนูญก็ตาม

โดยการปรองดองนั้น ควรดำเนินการด้วยความโปร่งใส ฟังเสียงประชาชนเป็นหลัก วิทยากรที่ทำหน้าที่บรรยายก็ควรทำหน้าที่เพื่อจุดประกายประเด็น ไม่ใช่ทำเพื่อให้ได้คำตอบที่ต้องการ

และกลุ่มคนที่ทำ ก็อยากให้มหาวิทยาลัยต่างๆ ของทุกพื้นที่ทั่วประเทศที่ได้รับมอบหมาย จัดเวทีสานเสวนา ที่สำคัญคือการคัดสรรคนมารับฟัง จะต้องเป็นตัวแทนของประชาชนที่มีศักยภาพในการนำข้อมูลจากการเข้าร่วมเสวนานั้น ไปเผยแพร่ต่อคนอื่นได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ไม่ใช่เพียงเข้ามารับฟังแล้วไม่ทำอะไรต่อ

อีกทั้งหัวข้อการปรองดองก็ต้องชัดเจน พูดเฉพาะเรื่องปรองดอง ถ้าเอาประเด็นอื่น เช่น การแก้รัฐธรรมนูญมาพูดมากเกินไป จะสร้างความสับสนให้กับผู้รับฟังได้

สำหรับฝ่ายรัฐบาล สิ่งที่สำคัญที่สุดในนโยบายการปรองดอง คือการรับฟังข้อเสนอจากทุกฝ่าย เมื่อรับข้อเสนอให้ดูรายละเอียดในแต่ละข้อ แล้วนำมาปรับใช้ให้สัมฤทธิผล ดำเนินการจากอ่อนไปหาเข้ม

เช่น การแก้รัฐธรรมนูญ ถ้าเริ่มแก้เฉพาะรายมาตรา แต่ละมาตราที่แก้ ต้องไม่มีท่าทีว่าจะเอื้อประโยชน์ให้กับฝ่ายตัวเอง หรือใครก็ตาม มิเช่นนั้นจะทำให้เกิดความขัดแย้งต่อไปไม่จบสิ้น

เช่นเดียวกับการปรองดอง ควรคำนึงถึงหลักสันติวิธี ประเทศชาติ และประชาชนเป็นหลัก ควรจะมองในมุมที่ว่าหากยื่นข้อเสนอไปแล้ว ความขัดแย้งสามารถยุติได้

ฝ่ายค้านเอง สิ่งที่ควรทำคือการเปิดใจ ไม่ใช่ว่ารัฐบาลเสนอข้อไหนมาก็ปฏิเสธหมด การทำอย่างนี้นอกจากการปรองดองจะไม่คืบหน้าแล้ว ยิ่งสร้างความขัดแย้งให้มากขึ้นไปอีก

การหารือร่วมกับรัฐบาลเองก็ควรนำแต่ข้อที่เป็นประโยชน์กับประชาชนและประเทศชาติ เช่น การร่วมกันแก้ปัญหาเรื่องไฟใต้ จะถือเป็นตัวอย่างที่ดี

หากเปรียบเทียบกับรัฐบาลชาติตะวันตก เช่น สหรัฐ อเมริกา แม้ตอนเลือกตั้ง แต่ละพรรคจะแข่งขันกันสูง จน ดูเหมือนขัดแย้ง แต่เวลาต้องทำงานร่วมกัน ก็ประสานงานกันได้เป็นอย่างดี อยากให้ดูตัวอย่างดีๆ แบบนี้เพื่อนำมา ปรับใช้

ส่วนกลุ่มเคลื่อนไหวทางการเมือง ถ้าจะให้ทั้ง 2 กลุ่ม ไม่ว่า นปช. หรือพันธมิตร มาหารือร่วมกัน คงเป็นไปได้ยาก เพราะแนวคิดของแต่ละกลุ่มยังระอุเกินไป

ความขัดแย้งตอนนี้มันเกินกว่าความขัดแย้งระดับบุคคลไปแล้ว กลายเป็นเรื่องของระบบ อุดมการณ์ทางการเมืองที่ตรงข้ามกันชัดเจน การปรับแก้จุดนี้คงเป็นไปได้ยาก

แต่อย่างน้อย ถ้าจะเริ่มต้นด้วยการลดระดับใช้สื่อโจมตีกันและกัน จะเป็นเรื่องดีมาก แกนนำควรเลิกปลุกระดมประชาชน ปล่อยให้พรรคการเมืองแข่งขันกันตอนเลือกตั้ง โดยยอมรับผลที่ออกมาตามระบอบประชาธิปไตย

การออกกฎหมายเพื่อการปรองดอง เป็นสิ่งไม่น่าจะได้ผล อย่าลืมว่าอุดมการณ์ของแต่ละฝ่ายยังอยู่ในขั้นรุนแรง การออกกฎหมายเท่ากับเป็นการบีบบังคับ มีแต่จะทำให้ขัดแย้ง และทำให้กระแสต่อต้านเพิ่มขึ้นไปอีก

อย่างไรก็ตามแนวโน้มการปรองดองคงไม่เกิดขึ้นในเร็วๆ นี้ ปีหน้าอาจยังเป็นแบบนี้ต่อไป แต่รัฐบาลหรือฝ่ายบริหาร จะมองข้ามเสียมิได้ ควรค่อยๆ ดำเนินการทีละขั้นตอน

เริ่มต้นด้วยการสานเสวนาจากหลายฝ่ายเพื่อหาทางออก

พล.อ.เลิศรัตน์ รัตนวานิช
อดีตประธานอนุกรรมการสมานฉันท์ วุฒิสภา

ไม่ใช่ให้ใครยอมถอยร่นก่อนใคร แต่ต้องก้าวถอยไปพร้อมกัน

การสร้างความปรองดองเป็นเรื่องเร่งด่วนอยู่แล้ว ถือเป็นเรื่องสำคัญและเป็นวาระแห่งชาติ ถ้าปรองดองได้ก็คงไม่ต้องมาชนวาทะกันบนหน้าสื่อ

จะปรองดองกันได้นั้น ทุกฝ่ายต้องร่วมกัน ยอมถอยร่นจุดยืนคนละก้าวสองก้าว ไม่ใช่ปล่อยเป็นหน้าที่รัฐบาลอย่างเดียว ซึ่งควรเร่งสร้างความปรองดองทันทีที่พร้อม มิฉะนั้นการเมืองก็ไม่พัฒนา เศรษฐกิจจะมีปัญหาไม่เติบโตตามมาด้วย

ยอมรับว่ามีความพยายามหลายทางที่จะร่วมกันสร้างความสมานฉันท์ของประชาชนในประเทศ แต่ยังมีความคิดเห็นไม่ตรงกัน เราขัดแย้ง ไม่ปรองดองกันมาเป็น 10 ปีแล้ว ทั้งที่ประเทศควรจะเจริญก้าวหน้าไปมากกว่านี้หรือไม่

ปัญหาที่เกิดขึ้นทุกวันนี้ ต่างฝ่ายต่างเอาชนะในจุดที่ตัวเองยืนอยู่ คนที่เป็นผู้นำในแต่ละฝ่ายต้องมาร่วมพูดจากันหาแนวทาง โดยมีกรรมการกลางช่วยหาทางออกที่ดีที่สุดสำหรับทุกฝ่าย

ต้องลดทิฐิการเมือง ลดการมองผลประโยชน์พรรคพวกตัวเอง แล้วหันมาฟังเสียงประชาชน ไม่ใช่ให้ใครยอมถอยร่นก่อนใคร แต่ต้องก้าวถอยไปพร้อมกัน

ที่ผ่านมาการเจรจาอาจเกิดขึ้นในทางลับ แต่กรรมการกลางอาจยังเลือกมาไม่ตรงจุด และไม่เป็นที่ยอมรับของหลายฝ่าย ซึ่งในที่นี้ไม่ได้หมายถึงองค์กรอิสระ แต่ควรเป็นผู้หลักผู้ใหญ่ของบ้านเมืองที่เป็นที่นับถือ ยอมเสียสละ

ไม่ใช่เอาผู้ใหญ่ของแต่ละพรรค แต่ละกลุ่มสี ซึ่งน่าจะเป็นเพียงองค์ประกอบที่ช่วยให้การเจรจาที่อาจเกิดขึ้นเป็นไปโดยราบรื่นเท่านั้น

อย่างไรก็ดีอย่าลืมว่าสงครามไม่มีทางจบลงด้วยความเป็นธรรม ต้องยึดผลประโยชน์ส่วนรวมเป็นที่ตั้งไว้ก่อน

จึงคิดว่าในช่วงการบริหารราชการของรัฐบาลชุดน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เป็นโอกาสที่ดี ในการเริ่มต้นสร้างความปรองดองกันใหม่

เพราะเรามีนายกฯที่ค่อนข้างรอมชอม ไม่สร้างเงื่อนไขมาก จึงควรเร่งรีบทำให้สำเร็จในอีก 2-3 ปีข้างหน้า ไม่เช่นนั้นระบบการเมือง และเศรษฐกิจของไทยจะเสียหายไปมากกว่าเดิม

หากเรายังออกกฎหมายไม่ได้ ต่างชาติไม่มาเยี่ยมประเทศเรา การผลิตไม่เกิดขึ้น ก็แย่เลย เนื่องจากเศรษฐกิจเราเติบโตได้ดีส่วนหนึ่งก็เพราะการส่งออกถึง 70 เปอร์เซ็นต์

ส่วนการที่มองว่าการปรองดองถึงขั้นจำเป็นต้องออกกฎหมายด้วยหรือไม่นั้น คิดว่า สิ่งแรกที่ควรทำคือ การทำให้แนวทางเป็นที่ยอมรับจากทุกฝ่ายก่อนจะดีกว่า ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่าย

ต้องทำควบคู่ไปกับการเจรจาหาแนวทางที่นอกเหนือทางการ เพราะบ้านเมืองเราตอนนี้มีความขัดแย้งมากกว่า 2 ฝ่าย

แต่ถ้าผ่านพ้นจุดยากนี้ไปได้ ท้ายที่สุดตั้งแต่การอภัยโทษ การนิรโทษกรรม แม้กระทั่งการลบล้างความผิดที่ต้องใช้กฎหมายมาเกี่ยวข้อง ก็สามารถออกกฎหมายเพื่อลดความแบ่งแยกเหล่านี้ได้เอง

ซึ่งในหลายประเทศก็ใช้วิธีลงนามข้อตกลงที่เห็นชอบร่วมกัน ก่อนเสนอรัฐบาลหรือผู้มีอำนาจต่อไป และเป็นวิธีแก้ไขความรุนแรงระดับชาติที่ประสบความสำเร็จมาแล้วด้วย