คอลัมน์ สัมภาษณ์
สรุปการต่อสู้ของนปช.ในรอบปีที่ผ่านมา
เราแบ่งงานเป็น 2 ส่วนคือ ส่วนที่เราเป็นฝ่ายถูกกระทำ เช่น การต่อสู้คดีจากการถูกจับกุมคุมขัง และการเยียวยา
และส่วนที่เราพยายามจะเป็นฝ่ายกระทำ เช่น การพยายามหาหลักฐาน มาฟ้องร้องกล่าวโทษผู้ฆ่าประชาชน รวมทั้งการดำเนินงานในเวทีต่างประเทศ นั่นคือเราพลิกจากผู้ถูกกระทำมาเป็น ผู้กระทำ
ในส่วนที่เราเป็นผู้ถูกกระทำพบว่า มีปัญหาอยู่ที่มีคนจำนวนหนึ่งยังถูกคุมขังไม่สามารถประกันตัวได้ แต่ถ้าเทียบจากปี 2554 คนที่ได้รับการประกันตัวมีจำนวนมากขึ้น
จากหลักพันเหลือเพียงหลักสิบ ประมาณกว่า 20 คน ส่วนมาก เป็นคดีมาตรา 112 จะเห็นว่าได้รับการประกันตัวไปเยอะ แต่ก็ยังไม่ทั้งหมด
การที่ผลออกมาดีในระดับหนึ่งแบบนี้ ไม่ใช่เพราะนปช.เพียงอย่างเดียว แต่รัฐบาลก็เข้ามามีส่วนร่วมมาก ซึ่งการเยียวยาถือเป็นเครดิตของรัฐบาล
ดังนั้น การเยียวยา การประกันตัว และการต่อสู้คดีในรอบปีที่ผ่านมา เราได้ดำเนินการไปมากพอสมควร
แต่ก็ยังไม่จบ เพราะยังมีคนที่ประกันไม่ได้อีกจำนวนหนึ่ง และคดีที่เราคิดว่ายังไม่เหมาะสม เช่น ข้อกล่าวหาที่ยังไม่ได้รับการพิสูจน์แล้วเขาถูกคุมขังอยู่นาน ซึ่งมีบางส่วนที่ได้รับการยกฟ้อง
เช่น เผาเซ็นทรัลเวิลด์ หากเขาไม่ได้ทำผิด รัฐก็ต้องเยียวยา ไม่ใช่ให้เขาไปติดคุกฟรี
และในฐานะผู้ถูกกระทำในส่วนนี้ จึงอยากเรียก ร้องเรื่องการออกพ.ร.บ.นิรโทษกรรมให้กับประชาชน ทุกสีเสื้อ ในคดีที่เกี่ยวข้องกับความขัดแย้งทางการ เมือง ส่วนแกนนำทั้ง 2 ฝั่ง และผู้สั่งฆ่าประชาชนต้องละเอาไว้
มีเพียงวิธีนี้ที่จะช่วยพี่น้องของเราได้ ที่ผ่านมาเราพยายามเต็มกำลังแล้วแต่ยังแก้ไม่ได้หมด จึงขอพ.ร.บ. นิรโทษกรรม
อีกด้านหนึ่งคือการที่เราได้โต้แย้งคณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อการปรอง ดองแห่งชาติ (คอป.) ด้วยหลักฐานและเอกสาร ทั้งภาษาไทย ภาษาอังกฤษ เพื่อทำความจริงให้ปรากฏ เชื่อว่างานด้านนี้จะชัดเจนขึ้นเรื่อยๆ
รวมทั้งการนำเรื่องไปยังศาลอาญาระหว่างประเทศ (ไอซีซี) ให้ความจริงปรากฏทั้งในและนอกประเทศ ดังนั้น กระบวนการทำงานดังกล่าวจึงเป็นอย่างหนึ่งในการทำความจริงให้ปรากฏ ทำให้ประเทศไทยมีนิติธรรมให้ได้
ทิศทางการเคลื่อนไหวในปี 2556
เราต้องรุกคืบทางการเมืองไปข้างหน้า สิ่งสำคัญคือการแก้ไขรัฐธรรมนูญซึ่งเป็นเป้าหมายเชิงยุทธศาสตร์ ในปัจจุบัน เพราะการได้รับชัยชนะจากการเลือกตั้งอย่างเดียวไม่พอ
รัฐธรรมนูญเป็นปัญหาใหญ่ของประเทศ ที่ทำให้ ไม่สามารถเดินหน้าไปสู่ประชาธิปไตยที่เราต้องการได้ ทำให้กติกาของประเทศคงไว้อยู่กับอำนาจของเครือข่ายระบอบอำมาตย์ เป็นอุปสรรคต่อการที่ประชาชนจะมีอำนาจ
ดังนั้น การแก้ไขรัฐธรรมนูญจึงถูกจัดวางให้มีความสำคัญเป็นอันดับที่ 1 เพื่อเป้าหมายระยะยาวเราจึงต้องสร้างความเข้มแข็งให้กับประชาชนด้วย
นอกจากนี้ สิ่งที่เราพยายามทำแม้ว่าจะยังไม่ได้รับผลสำเร็จที่ดี คือการสร้างความแข็งแกร่งในการจัดตั้งองค์กรประชาชนในทุกระดับ พูดง่ายๆ คือการสร้างแกนนำทั่วประเทศ
แต่พอมีแกนนำทั่วประเทศก็จะมีเรื่องความไม่ เป็นเอกภาพในพื้นที่ตามมา จึงเป็นโจทย์ที่ยาก แต่เราก็เข้าใจว่าเป็นธรรมชาติ ซึ่งจะทำต่อไปโดย ใช้กระบวนการประชาธิปไตย แม้ต้องใช้เวลานานก็ตาม
โดยทำควบคู่ไปกับการเดินหน้าแก้ไขรัฐธรรมนูญ และการนิรโทษกรรม รวมถึงการเปิดโรงเรียนนปช. เพื่อสร้างประชาชนให้มาค้ำยันต่ออำนาจนอกระบบที่ไม่ต้องการให้เกิดประชาธิปไตย
แต่ไม่ได้หมายความว่าเราเป็นผู้พิทักษ์รัฐบาล เพียงแค่เราต้องการพิทักษ์ระบอบประชาธิปไตย ดังนั้น รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง หากต้องออกไปจะต้องออกตามวิถีทางรัฐสภา ไม่ใช่การทำรัฐประหาร
ความเห็นต่างเรื่องการแก้รัฐธรรมนูญระหว่าง นปช.กับพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร
เราต้องกล้ายืนยันแม้จะเห็นไม่ตรงกับพ.ต.ท. ทักษิณ คิดว่าพ.ต.ท.ทักษิณจะเข้าใจมากขึ้นเนื่องจากกระบวนการต่อสู้ไม่ง่าย จำเป็นต้องมีข้อมูลรอบด้าน
และวิธีคิดของคนที่เป็นนักการเมือง นักธุรกิจ กับมุมมองของนักต่อสู้ไม่เหมือนกัน ในฐานะนักต่อสู้เราต้องคิดว่าเขาจะชกคุณอย่างไร มีจุดอ่อนตรงไหน
เปรียบเหมือนการขึ้นเวทีที่มีสปอตไลต์ส่องมา ทำให้ต้องคิดตลอดว่านี่คือเวทีต่อสู้ ไม่ใช่เวทีประนีประนอม อาจมีการถอยเข้าถอยออก ไม่จำเป็นต้องเดินหน้าชก ลูกเดียว
แต่ที่สำคัญที่สุดคือเราต้องมีการแลกเปลี่ยน โดยเฉพาะเรื่องรัฐธรรมนูญ ต้องมีหลักคิดว่าเรามีขบวนประชาธิปไตยที่มีเป้าหมาย ซึ่งวิธีการต้องสอดคล้อง กับเป้าหมายหรือทิศทางที่นำไปสู่ประชาธิปไตยอย่างแท้จริง
และหากต้องเดินตามทางระบอบอำมาตย์ โดย ให้เหตุผลว่าไปง่ายสบายกว่า ก็คงไม่เดินไปด้วยเพราะเราต้องเดินตามทางประชาธิปไตย แม้จะยากลำบากกว่า แต่เราก็ต้องหยุดดูหลุมพราง ว่าอยู่ตรงไหน และเดินอย่างไร
อาจจะอ้อมนิดหน่อยได้ แต่ถ้าเดินผิดทางเราไม่เอา ดังนั้น ทิศทางและหลักการจะต้องถูก ต้องตรวจสอบข้อมูลด้วย
สำคัญที่สุดสิ่งที่ทำต้องเป็นผลดี หรือไม่เกิดโทษ ต่อขบวนการต่อสู้ของประชาชน และหากต้องเกิดโทษจะต้องนำมาเทียบกันเลยว่า วิธีไหนทำให้เกิดโทษเลวร้ายกว่า
นี่คือเหตุผลที่เรายืนยันให้ลงมติในวาระที่ 3 เพราะ ถ้าปล่อยให้ทำประชามติแล้วพัง มันไม่ใช่พังแค่รัฐบาล แต่เขาจะไปอ้างได้ ตลอดว่าผ่านประชามติมาแล้วเมื่อปี 2551 และยังมาผ่านรอบสองอีกว่าไม่ให้แก้
คราวนี้รัฐบาลจะไม่มีสิทธิทำอะไรกับรัฐธรรมนูญฉบับนี้อีกเลย เท่ากับการต่อสู้ของประชาชนจบ
ในทรรศนะของดิฉัน เมื่อเราเลือกเส้นทางไหนก็ต้องเดินไปข้างหน้า มีคนถามว่าสองเส้นทางนี้ถ้าไม่ผ่าน เส้นทางไหนจะเสียหายมากกว่า
ทั้งดิฉัน นายจตุพร พรหมพันธุ์ และ นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ ตอบตรงกันว่าทำประชามตินี่แหละ ที่เสียหายมากกว่าจนกู่ไม่กลับ การทำประชามติเป็นการนำคอไปขึ้นเขียง
ขอเรียกร้องไปยังรัฐบาลว่า การทำประชามติจะต้องไม่เร่งรีบ แต่ควรศึกษาให้ดี เพราะมีหลุมพรางทั้งตัวเลขและข้อกฎหมาย ซึ่งหมายถึงอนาคตการต่อสู้ทางการเมืองของประชาชน
จึงจำเป็นที่เราต้องยืนหยัดทรรศนะและจุดยืน ให้ชัดเจนบนพื้นฐานผลประโยชน์ของประชาชน ไม่ใช่บนพื้นฐานผลประโยชน์ของรัฐบาลหรือพ.ต.ท.ทักษิณ
ประชาธิปไตยเกิดขึ้นในบ้านเราหรือยัง
เกิดขึ้นเพียง 25% หากได้รัฐธรรมนูญก็จะได้สัก 50% แต่นี่แก้รัฐธรรมนูญยังไม่ได้เลย เขาจะล้มรัฐบาลนี้เมื่อไหร่ก็ได้ ดังนั้น ระบอบประชาธิปไตยที่เราพูดกันนั้นยังไม่ถึงครึ่งใบ
แม้กระทั่งช่วงที่เรามีรัฐธรรมนูญ ปี 2540 หรือตอนที่พ.ต.ท.ทักษิณเป็น นายกฯ ครั้งนั้นก็ไม่ได้หมายความว่าเรามีประชาธิปไตยเต็มใบ มีเพียงค่อนใบเท่านั้น
แต่พอถูกทำลายมันก็ยิ่งถดถอยลงมาเป็นศูนย์และพอมีการเลือกตั้งจัดตั้งรัฐบาลนี้ก็กลับมาเป็น 25% แต่ก็ถือว่าเส้นทางยังอีกยาวไกลแม้จะดูดีขึ้นเป็นลำดับ
แต่การดีขึ้นของเราก็สร้างความหวั่นใจให้กับอีกฝ่ายหนึ่ง
สัมพันธ์ระหว่างนปช.กับรัฐบาลและพ.ต.ท.ทักษิณ
ความสัมพันธ์ยังดีอยู่ เพราะเรามีเป้าหมายเดียวกัน เช่น การแก้รัฐธรรมนูญ และความต้องการประชาธิปไตย
แต่จุดหลักของเราคือเน้นความเข้มแข็งของประชาชน ขณะที่พรรคเพื่อไทยและพ.ต.ท.ทักษิณต้อง การเน้นความเข้มแข็งของพรรคและรัฐบาล
ดังนั้น อาจมีเส้นทางต่อสู้ต่างกันบ้าง กระบวนการทำงานอาจต่างกัน แต่ช่วงที่ผ่านมาไม่มีทางไปทางอื่นได้ อย่างไรก็ต้องเดินไปด้วยกัน
ที่ผ่านมามักมีคำถามว่าเส้นทางเราราบรื่นหรือไม่ คงต้องตอบว่าไม่ราบรื่น แต่ก็เป็นไปไม่ได้ที่เราจะแยกจากกัน พูดตรงๆ ว่าความจำเป็นทำให้เราต้องเดินไปด้วยกัน หากเปรียบก็เหมือนคนในครอบครัวที่มีความคิดไม่ตรงกันบ้าง
การเรียกร้องความเป็นธรรมในคดี 99 ศพ
เราจะหาประจักษ์พยานเพิ่มเติม รวมทั้งญาติผู้เสีย ชีวิตให้ฟ้องร้องนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกฯ ข้อหาพยายามฆ่าด้วย สรุปคือจะหาประจักษ์พยาน เพิ่มในคดี 99 ศพ และเชิญชวนให้มาฟ้องร้องในฐานะ ผู้บาดเจ็บ
เชื่อว่าทั้ง 36 คดี ผลจะเป็นการฟ้องร้องว่า เจ้าหน้าที่รัฐได้กระทำต่อประชาชนที่ไม่มีอาวุธทั้งหมด และเราจะดำเนินงานต่อ คิดว่าชุดหลังจะมีพยานไม่น้อยกว่า 50 คน
เชื่อมั่นว่าเกือบทั้งหมดน่าจะมีความชัดเจน ว่าเป็น การกระทำโดยเจ้าหน้าที่รัฐ ขณะที่เราก็ไม่รังเกียจที่เขาจะพยายามหาให้ได้ว่าทหารตายเพราะอะไร โดยขณะนี้เริ่มมีข้อมูลออกมา
พูดตรงๆ ว่าประชาชนจำนวนหนึ่งไม่เชื่อว่าจะมีนักการเมืองใหญ่ติดคุก เพราะที่สำคัญกว่าติดคุก คือเรื่องของคดีที่ศาลบอกว่าใครคือตัวการที่ทำให้เกิด การตาย
แม้เอาเขาติดคุกไม่ได้ แต่อย่างน้อยที่สุดเขาต้องบาดเจ็บสาหัสทางจิตใจ ถูกประจานไปทั่วโลกโดยกระบวนการกดดันจากสังคม จึงต้องพยายามทำในส่วนของศาลอาญาระหว่างประเทศด้วย
เราต้องการฟ้องต่อโลก ไม่เช่นนั้นเขาก็จะพูดทุกวันเรื่องชายชุดดำที่เป็นเหตุผลในการสั่งฆ่า
ประเมินตัวเองในช่วงปีที่ผ่านมา
น่าจะทำได้ดีกว่านี้ แต่เคยบอกแล้วว่าตำแหน่งประธานนปช. เหมือนมงกุฎหนาม เพราะประชาชนแตกแยกกันมากพอสมควร ซึ่งเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้ เราทำงานได้ไม่เต็มพลัง เพราะเรารู้สึกว่าเราไปขวางทางใครหรือไม่
รวมถึงความพยายามจัดตั้งองค์กรซ้อน ทั้งในส่วน ของประชาชนและพรรค เป็นอุปสรรคต่อการสร้างความแข็งแกร่งขององค์กร
แต่เราต้องใช้กระบวนการประชาธิปไตยปล่อยให้เรียนรู้กันเอาเอง