เปิดใจ"วรรณพงษ์ คชรักษ์" บัญชาการศูนย์คดีเสื้อแดง

ข่าวสด วันที่ 4 มกราคม 2556


ศูนย์แห่งนี้จะเปิดให้ผู้บาดเจ็บเข้าแจ้งความร้องทุกข์ได้ในวันเวลาราชการ ที่สำนักงานรองอธิบดีดีเอสไอ ชั้น 8 อาคารบี ศูนย์ราช การฯ ถนนแจ้งวัฒนะ

หลังจากกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) แจ้งข้อหานายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีต นายกฯ และนายสุเทพ เทือกสุบรรณ อดีตรอง นายกฯ และผอ.ศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน (ศอฉ.) ไปแล้วฐานร่วมกันก่อให้ผู้อื่นฆ่าคนตายโดยเจตนาเล็งเห็นผล

ต่อมายังเล็งขยายผลการสอบสวนกรณีผู้บาดเจ็บกว่า 2,000 คนจากเหตุการณ์สลายการชุมนุมปี 2553 โดย นายธาริต เพ็งดิษฐ์ อธิบดีดีเอสไอ ได้ตั้ง "ศูนย์ปฏิบัติการกลางเพื่อการสอบสวนคดีพิเศษ กรณีเหตุ การณ์ความไม่สงบ พ.ศ.2553"

เพื่อเป็นศูนย์กลางเชื่อมโยงคดีทั้งหมดให้เป็นเอกภาพในแง่การบริหารคดี มอบหมายให้ พ.ต.ท.วรรณพงษ์ คชรักษ์ ผบ.สำนักคดีการเงินการธนาคาร เป็นหัวหน้าศูนย์

ศูนย์ดังกล่าวมีขอบเขตการทำงานอย่างไร มีคำอธิบายจาก พ.ต.ท.วรรณพงษ์ ดังนี้

ภารกิจของศูนย์รวบรวมคดีเสื้อแดง

ศูนย์นี้นายธาริต เพ็งดิษฐ์ อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) เป็นผู้ประกาศตั้งเมื่อกลางเดือนธ.ค.ที่ผ่านมา มอบหมายให้ผมเป็นผู้อำนวยการ

พ.ต.ท.มนตรี บุญยโยธิน ผบ.สำนักเทคโนโลยีและศูนย์ข้อมูลการตรวจสอบ และพ.ต.ท.อนุรักษ์ โรจน์นิรันดร์กิจ ผบ.สำนักคดีอาญาพิเศษ 2 เป็นรองผู้อำนวยการศูนย์

มีภารกิจหน้าที่ 2 ส่วน คือ 1.อำนวยความสะดวกให้เจ้าหน้าที่เข้ามาร่วมทำงาน ซึ่งคณะพนักงานสอบสวนคดีดังกล่าว มีพนักงานสอบสวนที่ร่วมทำคดีกว่า 50 นาย ทั้งจากดีเอสไอ กองบัญชาการตำรวจนครบาล และกองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง

แต่ละชุดมีหน้าที่รับผิดชอบแตกต่างกัน อาทิ กองบัญชาการตำรวจนครบาลรับผิดชอบสำนวนการชันสูตรพลิกศพ และผู้บาดเจ็บ ส่วนดีเอสไอรับผิดชอบหลักในสำนวนการสอบสวน และทำหน้าที่ประสานงานในแต่ละชุดทำงานได้อย่างสอดคล้องและแก้ไขปัญหา รวมทั้งบริหารจัดการ งานธุรการ หลักฐานเอกสาร และการจัดประชุมคดีต่างๆ

และ 2.อำนวยความสะดวกให้กับประชา ชนที่ได้รับบาดเจ็บจากเหตุการณ์ดังกล่าว ในการร้องทุกข์กล่าวโทษ ผู้เกี่ยวข้องหรือผู้สั่งการ

ก่อนหน้านี้ผู้บาดเจ็บจากเหตุการณ์อาจไม่รู้ว่า จะต้องไปแจ้งความในท้องที่ไหนจึงไม่ได้เข้าแจ้งความ ต่อจากนี้ศูนย์ก็จะเข้ามารับหน้าที่เป็นตัวกลาง รับเรื่องแจ้งความ ไม่ว่าจะได้รับบาดเจ็บในพื้นที่ใด หากเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์เดือนเม.ย. -พ.ค.53 ก็สามารถมายื่นเรื่องได้

ส่วนวัตถุประสงค์การจัดตั้งศูนย์นั้น ไม่ได้มีเพียงผู้เสียชีวิต แต่ยังมีผู้ได้รับบาดเจ็บทั้งสาหัสและเล็กน้อยแตกต่างกันไป

ซึ่งจำนวนผู้บาดเจ็บจากตัวเลขของศูนย์รับแจ้งเหตุนเรนทรเมื่อช่วงเดือนเม.ย.-พ.ค.2553 มีผู้บาดเจ็บเกือบ 2,000 คน มีผู้เสียหายเข้าแจ้งความร้องทุกข์กับเจ้าหน้าที่ตำรวจไปแล้วบางส่วน

แต่ยังมีประชาชนอีกจำนวนมากยังไม่ได้เข้าให้ปากคำและแจ้งความร้องทุกข์กับเจ้าหน้าที่

ที่มาที่ไปของการตั้งศูนย์

สืบเนื่องจากกรณีที่ศาลมีคำสั่งไต่สวนคดีนายพัน คำกอง คนขับแท็กซี่ ที่ถูกยิงเสียชีวิตเมื่อเดือนพ.ค.2553 บริเวณย่านราชปรารภ ว่าเสียชีวิตจากการกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐที่ปฏิบัติหน้าที่บริเวณดังกล่าว ตามคำสั่งของศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน (ศอฉ.)

รวมทั้งคดีนายชาญณรงค์ พลศรีลา นายชาติชาย ชาเหลา และด.ช.คุณากร ศรีสุวรรณ

กระทั่งนำไปสู่การแจ้งข้อกล่าวหานายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรี และนายสุเทพ เทือกสุบรรณ อดีตรองนายกฯ และผอ.ศอฉ.ขณะนั้น เมื่อวันที่ 13 ธ.ค.ที่ผ่านมา

นับเป็นจุดเริ่มต้นของการเดินหน้าดำเนินคดีดังกล่าว และพบว่ายังมีผู้ได้รับบาดเจ็บอีกจำนวนมากที่ยังไม่ได้ดำเนินการ

การปฏิบัติของศูนย์หลังมีผู้บาดเจ็บร้องทุกข์

พนักงานสอบสวนจะสอบปากคำผู้บาดเจ็บเบื้องต้นเกี่ยวกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นว่า เกิดในพื้นที่ใด จากนั้นจะส่งเรื่องไปยังชุดพนัก งานสอบสวนที่รับผิดชอบเพื่อสอบปากคำและเก็บหลักฐาน

โดยศูนย์แห่งนี้จะเปิดให้ผู้บาดเจ็บเข้าแจ้งความร้องทุกข์ได้ในวันเวลาราชการ ที่สำนักงานรองอธิบดีดีเอสไอ ชั้น 8 อาคารบี ศูนย์ราชการฯ ถนนแจ้งวัฒนะ

การแบ่งภารกิจหน้าที่พนักงานสอบสวน

ทางศูนย์ตั้งชุดพนักงานสอบสวน 4 ชุด โดยแบ่งตามโซนพื้นที่ ประกอบด้วย ชุดที่ 1 เหตุการณ์วันที่ 10 เม.ย.2553 บริเวณสี่แยกคอกวัว ถนนดินสอ

ชุดที่ 2-4 เหตุเกิดระหว่างวันที่ 13-19 พ.ค.2553 อาทิ เหตุการณ์ภายในวัดปทุมวนาราม เหตุการณ์พื้นที่บ่อนไก่ ถนนพระราม 4 และเหตุการณ์พื้นที่ดินแดง ราชปรารภ และพญาไท

ที่ผ่านมาดีเอสไอเคยตั้งศูนย์ลักษณะนี้หรือไม่

ดีเอสไอเคยประกาศตั้งมาแล้วครั้งหนึ่ง เพื่อใช้สืบสวนสอบสวนคดีก่อการร้าย มี พ.ต.ท.พเยาว์ ทองเสน รักษาการผู้เชี่ยวชาญคดีพิเศษ เป็นผู้ประสานงานและบริหารคดี

วัตถุประสงค์การตั้งศูนย์ก็คล้ายๆ กัน เนื่องจากคณะพนักงานสอบสวนมีจำนวนหลายชุด และต้องมีหน่วยงานที่มองภาพร่วมกันว่าคณะทำงานชุดใดยังขาดข้อมูลส่วนใดบ้าง ก่อนจะประชุมสรุปผลในแต่ละชุดเพื่อนำไปสู่การสรุปสำนวนคดี

การรวบรวมคดีนั้นมีความยากง่ายอย่างไร

แนวทางการสอบสวนคดีการเสียชีวิตของประชาชนและเจ้าหน้าที่รัฐ จำนวน 99 ศพ จากเหตุการณ์รุนแรงทางการเมืองเดือน เม.ย.-พ.ค.53 นี้จะแบ่งการทำงานออกเป็น 2 ส่วน

ส่วนหนึ่งคือการสอบสวน ก็จะมีพนักงานสอบสวนแต่ละชุดรับผิดชอบไป ซึ่งก็มีพนักงานสอบสวนตำรวจ ดีเอสไอและฝ่ายอัยการ ทุกฝ่ายจะร่วมกันทำงาน ไม่มีปัญหาเรื่องการรวบรวมสำนวน

เพียงแต่ว่าบทบาทการประสานงานกันจากนี้คงต้องชัดเจนขึ้น ยืนยันว่าพนักงานสอบสวนทุกฝ่ายทำหน้าที่อย่างตรงไปตรงมา ไม่ทำเพื่อมีเป้าหมายอะไรพิเศษ คงไม่ใช่อย่างนั้น

วางเป้าหมายการทำงานอย่างไร

หลักการทำงานขณะนี้คือคดีการตายและผู้บาดเจ็บจากเหตุการณ์ปี 2553 โดยดูจากเนื้อหาและเหตุการณ์ในแต่ละเรื่อง บางเหตุก็เป็นเหตุเดียวกัน บางเหตุก็คนละเวลา บางเหตุก็คนละที่

คงต้องมาช่วยกันดูในส่วนกลางว่ามีพยานหลักฐานอะไรที่มันเกี่ยวเนื่องกัน ขนาดไหน สัมพันธ์กันหรือไม่ เพราะแต่ละชุดไปทำก็อาจไม่รู้ว่าของคนอื่นมีอะไร นี่คือสิ่งที่เราต้องลงไปดู ซึ่งคงจะต้องดู ทุกเรื่อง

เวลาเท่าไหร่จึงจะเห็นผลเป็นรูปธรรม

เรื่องการกำหนดระยะเวลาดำเนินการครั้งนี้คงไม่สามารถตอบได้ แต่สิ่งที่จะเห็นเป็นรูปธรรมมากสุดคือ จะมีการไต่สวนของศาลที่จะทยอยส่งมา และคดีก็จะเดินหน้าไป ซึ่งต้องรอคำไต่สวนของศาลด้วยว่าจะออกมาอย่างไร

ส่วนการสอบสวนมันก็มีจุดอ้างอิงทั้งคำไต่สวน พยานหลักฐานที่เราได้จากการสอบ สวนที่ผ่านมา จากที่เกิดเหตุ ซึ่งก็ต้องรอในส่วนนั้น ฉะนั้นระยะเวลานั้น ผมไม่สามารถฟันธงได้ว่าจะนานแค่ไหน แต่คิดว่าไม่ใช่ในเวลาอันสั้นนี้แน่นอน

เคยรับผิดชอบคดีเสื้อแดงหรือไม่

ภารกิจของผมก็ทำมาตั้งแต่มีการชุมนุมปี 2553 ในคดีก่อการร้าย (การประสานงานคณะพนักงานสอบสวนคดีก่อการร้าย 13 หน่วยงาน) ขณะนั้นเข้าไปเป็นเลขานุการในคณะทำงานด้วย

ส่วนคดีที่ผมรับผิดชอบจริงๆ เลยคือ คดีเพลิงไหม้ในปี 2553 ทั้งหมด

การทำคดีตอนนั้นจะแบ่งชุดทำงานเช่นเดียวกัน มีทั้งชุดเกี่ยวกับชีวิตร่างกาย และชุดอาวุธยุทธภัณฑ์ ซึ่งแต่ละชุดจะมีทีมงานรับหน้าที่ไป

สำหรับผมจะเป็นชุดที่เสริมในคดีต่อเนื่องมาจากการเผาเซ็นทรัลเวิลด์ ช่อง 3 และคดีเผาตลาดหลักทรัพย์ฯลฯ ซึ่งอยู่ในความรับผิดชอบของผม

ญาติเหยื่อเสื้อแดงมั่นใจการมาคุมคดีนี้มากน้อยแค่ไหน

วันนี้พวกเขามั่นใจการทำงานของดีเอสไอมากขึ้น หากไม่มั่นใจคงไม่มาให้ปากคำ และคนที่มาก็เริ่มรู้แนวทางแล้วว่าต่อไปจะเป็นอย่างไร อีกทั้งหลักฐานบางอย่างที่เราเจอ เขาก็ให้ความร่วมมือมอบให้ ทั้งที่ก่อนหน้านี้ไม่กล้ามอบ

ต้องยอมรับว่าคดีนี้มีคนเกี่ยวข้องเยอะ เราจึงต้องทำให้เขามั่นใจว่าจะได้รับความเป็นธรรม

ความมั่นใจในการส่งสำนวนคดีขึ้นสู่ศาล

เราทำสุดความสามารถในการรวบรวมพยานหลักฐาน ถามว่ามั่นใจหรือไม่ก็บอกว่าเนื้อหาที่เราทำไปนั้นมั่นใจ และกระบวนการของเราก็ไม่ใช่กระบวนการสุดท้ายของกระบวนการยุติธรรม

เราเป็นฝ่ายเริ่มต้นที่รวบรวมพยานหลักฐานเพื่อส่งต่อไปยังอัยการและต่อไปยังศาล ส่วนจะมีการสั่งคดีอย่างไรนั้นคงตอบแทนศาลไม่ได้

พรรคประชาธิปัตย์พยายามบอกว่าดีเอสไอกลั่นแกล้ง

ถามผมก็คงบอกว่า ต้องทำตามเนื้อหาของคดี และการสอบสวนก็ได้ดำเนินการมานานแล้ว ไม่ใช่เพิ่งมาตั้งศูนย์เพื่อทำคดี พยานหลักฐานต่างๆ เริ่มมีมากขึ้น จากเดิมที่หาได้บ้างไม่ได้บ้าง ช่วงหลังก็มีคลิปเหตุการณ์หลุดออกมา

ช่วงแรกคนอาจกังวลว่า เราทำไม่จริงเลยไม่ออกมาให้ข้อมูล แต่เมื่อศาลพิจารณาคดีไป 4 คดี ทำให้ผู้ได้รับผลกระทบมีความมั่นใจขึ้น และขณะนี้ก็เริ่มที่จะทยอยออกมาให้ข้อมูลแล้ว

เตรียมตัวรับกระแสโจมตีทางการเมืองหรือยัง

กระแสการโจมตีจากฝ่ายการเมืองนี้คงต้องมีอยู่แล้ว เป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ คงต้องยอมรับ เพราะมันมีทั้งฝ่ายที่กระทำและฝ่ายที่ถูกกระทำสลับกันไปสลับกันมา

ฝ่ายถูกกระทำก็ย่อมจะมีสิทธิคิด และฝ่ายผู้ปฏิบัติก็ต้องปฏิบัติ จะไม่ปฏิบัติเลยคงไม่ได้ และเราคงไม่มีวาระซ่อนเร้นอะไรที่จะต้องมีการวางแผนรับมือกับกระแสต่อต้านอะไร