มุมมองต่อข้อดี-เสีย รับเขตอำนาจ "ไอซีซี"

มติชน 6 พฤศจิกายน 2555 >>>


ความเห็นของนักวิชาการด้านนิติศาสตร์ ด้านรัฐศาสตร์ และ น.ส.จารุพรรณ กุลดิลก ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย (พท.) ต่อกรณีที่กระทรวงการต่างประเทศเตรียมลงนามยอมรับเขตอำนาจศาลอาญาระหว่างประเทศหรือไอซีซี (International Criminal Court : ICC) 

วิโรจน์ อาลี
อาจารย์ประจำภาควิชาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์


ข้อดีของการลงนามรับรองเขตอำนาจศาลอาญาระหว่างประเทศ ผมคิดว่าจะหยุดยั้งสิ่งที่เกิดขึ้นในการเมืองไทยตลอดมา คือการละเว้นโทษสำหรับการใช้ความรุนแรงกับประชาชน ซึ่งปรากฏการณ์แบบนี้เกิดมาตั้งแต่เหตุการณ์ 14 ตุลา 2516, 6 ตุลา 2519 และเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ เรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน ตรงนี้เป็นกระบวนการใหม่ที่จะทำให้ประเทศไทยเป็นส่วนหนึ่งของประชาคมโลก โดยเฉพาะในประเด็นเรื่องไม่ใช้ความรุนแรงกับประชาชนในประเทศ
จริงๆ แล้ว กระบวนการนี้ไม่ใช่การแทรกแซงหรือละเมิดการทำงานของศาลไทย เป็นเพียงขั้นตอนของการที่เราไปรับขอบเขตอำนาจ ไม่เชิงในทางศาล แต่เป็นทางอัยการที่จะเข้ามาขอข้อมูล เพื่อให้เกิดการตรวจสอบ แต่ขณะเดียวกันเขาจะทำอะไรไม่ได้จนกว่ากระบวนการภายในประเทศจะจบสิ้นลง หากกระบวนการของศาลไทยมีความยุติธรรม มีความโปร่งใส ทางไอซีซีก็คงไม่มีปัญหา แต่ถ้าไอซีซีเห็นว่าไม่ชอบมาพากล เขาอาจจะขอเข้ามาไต่สวน และอาจจะมีการจับกุมตัวผู้กระทำผิดไปเข้าสู่กระบวนการของศาลระหว่างประเทศต่อไป
ส่วนข้อเสีย ผมคิดว่าอาจจะเป็นประเด็นในทางการเมืองคือ การยื่นไปเป็นกรณีเดียว คือกรณีที่เกิดขึ้นในปี 2553 เท่านั้น ถ้าลงนามไปแล้วอาจมีข้อครหาได้ว่าเป็นการกลั่นแกล้งกันทางการเมือง แต่อย่างไรก็ดี อีกฝ่ายหนึ่งก็มีสิทธิที่จะยื่นให้ไอซีซีตรวจสอบในกรณีอื่นได้เช่นเดียวกัน เช่นที่ฝ่ายค้านจะยื่นเรื่องฆ่าตัดตอน (จากนโยบายปราบปรามยาเสพติดสมัยรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร) แต่ไอซีซีมีหลักเกณฑ์ในการพิจารณา 4 ข้อด้วยกัน (1. การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ 2. อาชญากรรมสงคราม 3. การรุกรานระหว่างประเทศ 4. อาชญากรรมต่อมนุษยชาติ) ซึ่งกรณีฆ่าตัดตอนอาจจะไม่เข้าข่าย แต่กรณีกรือเซะและตากใบ มีสิทธิเป็นไปได้เพราะมีประเด็นเรื่องเชื้อชาติ ซึ่งต้องพิสูจน์กันให้ได้ว่าถ้าเกิดเหตุการณ์แบบนี้ในที่อื่นของภาคอื่นในประเทศไทย รัฐไทยจะกระทำการแบบนี้เช่นเดียวกัน
อย่างไรก็ตาม กรณีของเหตุการณ์ความรุนแรงในปี 2553 ผมคิดว่าเข้าเงื่อนไขอย่างหนึ่ง คือ มีความพยายามที่รัฐจะใช้ข้อมูลและเหตุผลก่อให้เกิดความเกลียดชัง ข้อนี้มีโอกาสให้เข้าข่ายพิจารณาได้ ในกรณีที่รัฐใช้กระบอกเสียงของตัวเองในการปลุกปั่นต่างๆ นานา ก่อให้เกิดสิ่งที่เรียกว่า ? ใบอนุญาตฆ่า ? ทำให้คนเบื่อหน่าย ทนไม่ได้ คิดว่าอีกฝ่ายเลวร้าย และพร้อมที่จะใช้ความรุนแรง จนเกิดอารมณ์สะใจของคนบางกลุ่ม ซึ่งในเหตุการณ์ 6 ตุลา 2519 ก็มีลักษณะเดียวกัน
ถ้ากระบวนการยุติธรรมของศาลไทยมีประสิทธิภาพ ก็ไม่จำเป็นต้องถึงมือไอซีซี ในกรณีของคนตัวเล็กตัวน้อย เช่น คดีของ นายพัน คำกอง ศาลไทยยังใช้การได้อยู่แต่ถ้าถามว่าจนถึงวันนี้ เรื่องความชัดเจนว่าใครสั่งการ ตรงนี้ยังไม่เห็น ผมคิดว่าเรื่องใหญ่ๆ ต้องทำให้เห็นความชัดเจนก่อน ต้องดูภาพใหญ่ด้วย
กรณีคดีที่มีความใกล้เคียงกัน เช่น เขมรแดง หรือคดีที่ผู้นำสั่งให้ใช้ความรุนแรงกับประชาชน แล้วพอหลุดจากอำนาจ กระบวนการยุติธรรมในประเทศนั้นๆ ไม่ทำงานโดยสิ้นเชิง เช่น คองโก ยูกันดา ซูดาน เคนยา ไอซีซีก็เข้าไปดำเนินการ ซึ่งในขณะนี้ยังอยู่ในกระบวนการและยังไม่ตัดสิน
ถ้าเราเปรียบเทียบกับประเทศอื่นๆ พวกนี้ระบบยุติธรรมเขาไม่ทำงานเลย แต่ของเราทำงานอยู่ แต่ในขณะเดียวกันอาจจะมีบรรทัดฐานที่มีปัญหาในบางเรื่อง เพราะว่าที่มาที่ไปของระบบศาลไทยเป็นกลไกของรัฐมาเสมอ ไม่ได้เป็นอิสระอย่างในทฤษฎีที่เราเข้าใจ เพราะฉะนั้น ศาลปกครอง ศาลรัฐธรรมนูญ ที่เพิ่งเกิดขึ้นมาไม่นาน กระบวนการยังไม่เป็นไปเพื่อรักษาสิทธิของประชาชนเท่ากับรักษาไว้ซึ่งสิทธิของรัฐ
ตรงนี้จะเป็นการขยับให้องค์กรเหล่านี้พยายามดำเนินการเพื่อที่จะเข้าใจถึงการรักษาไว้ซึ่งสิทธิและเสรีภาพของประชาชนมากขึ้น และนอกจากกรณีของไอซีซีแล้ว ควรจะต้องมีการรณรงค์ในเรื่องของการจัดการกับกฎหมายอีกหลายฉบับที่มีปัญหาอยู่ในประเทศไทย ขยายผลไปในมิติอื่นๆ และเปิดกว้างให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมมากขึ้น

จารุพรรณ กุลดิลก
ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย

ข้อดีก็คือไอซีซี จะสามารถมาสอบสวนข้อเท็จจริงที่เกิดจากการสลายการชุมนุมเดือนเมษายน-พฤษภาคม 2553 และจะได้ให้ความเป็นธรรมกับผู้ที่ประสบเหตุการณ์หรือผู้ที่เสียชีวิต ให้ได้รับความเป็นธรรมในระดับสากล อีกทั้งจะเปิดโอกาสให้ไอซีซีทำงานร่วมกับศาลไทยซึ่งจะเป็นการทำให้กระบวนการยุติธรรมไทยทัดเทียมได้กับระบบยุติธรรมสากล และประการสุดท้ายก็คือ เป็นหลักประกันว่าการปล่อยให้ผู้กระทำผิดลอยนวล หรือการรัฐประหารซ้ำซากในประเทศไทยจะไม่มีอีกต่อไป
ส่วนข้อเสียในระดับประเทศแทบจะไม่มี แต่ถ้าจะมีก็คือคนที่กระทำผิดอาจจะหวาดกลัว และสร้างเรื่องสร้างราวขึ้นมาในประเทศได้ ซึ่งไม่ใช่เรื่องแปลก ในต่างประเทศก็เกิดขึ้น และในไทยเองก็คงมีเช่นกัน กระบวนการแหล่านี้อาจมี
1. ต่อต้านในแง่ข้อกฎหมาย
2. มีกระบวนการที่ปกป้อง คุณอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ และคนที่เกี่ยวข้องในรูปแบบต่างๆ หรือ
3. อาจจะถึงขั้นให้การเท็จต่อศาลอาญาระหว่างประเทศ
เหล่านี้เป็นสิ่งที่คาดเดาได้ แต่ทางเราก็มีข้อมูลที่จะชี้แจง เช่น ในเชิงข้อกฎหมาย อัยการของศาลอาญาระหว่างประเทศชี้ชัดว่าไม่จำเป็นต้องแก้ข้อกฎหมายใดๆ ในการรับรองเขตอำนาจศาลชั่วคราวนี้ เมื่อไม่ต้องแก้กฎหมายใดๆ ก็ไม่กระทบต่ออธิปไตย และการยอมรับอำนาจศาลชั่วคราว เป็นการประกาศยอมรับอำนาจฝ่ายเดียว เหมือนการเปิดห้องสมุดให้เข้าชม จะมาหรือไม่มาก็ได้ ไม่ได้เป็นสัญญากัน
ส่วนการยื่นให้ไอซีซีพิจารณาคดีอื่นๆ มีสิทธิจะทำได้ และถ้าต้องการให้ดิฉันช่วยเหลือในเรื่องคดีความกับศาลอาญาระหว่างประเทศก็มาติดต่อได้ แต่ดิฉันก็ต้องการข้อมูลที่เป็นจริงด้วย อย่างไรก็ดีเรื่องการฆ่าตัดตอนหรือเหตุการณ์ตากใบและกรือเซะ คดีจบไปตั้งแต่ 10 ปีที่แล้ว จึงอาจจะต้องตั้งคำถามว่าทำไมถึงเพิ่งจะมาทำตอนนี้ ดิฉันไม่อยากให้ถูกมองว่าเป็นการตอบโต้หรือการแก้แค้น
สำหรับขอบเขตการพิจารณาของไอซีซีในกรณีอาชญากรรมต่อมนุษยชาตินั้น จะต้องพิจารณาด้วยว่ามีความตั้งใจหรือไม่ ดิฉันเชื่อว่าในคดีฆ่าตัดตอนหรือคดีตากใบปราศจากเจตนา แตกต่างกับคดีสลายการชุมนุมที่ประกาศชัดเจนว่ามีเขตใช้กระสุนจริง และมีกระบวนการ อื่นๆ ที่ทำมาอย่างเป็นระบบ
ทั้งนี้ กรณีเทียบเคียงคือในประเทศเคนยา ซึ่งมีการปราบปรามกลุ่มคนที่ต่อต้านรัฐบาลในสมัยนั้นและเป็นกลุ่มคนที่มีความคิดทางการเมืองที่แตกต่าง โดยกระบวนการพิจาณาคดี หรือการตัดสินจะดูใน 2 ลักษณะ คือ เป็นผู้ที่มีอำนาจสูงสุดในการสั่งการ กับเป็นผู้มีอำนาจสูงสุดในการสั่งการแต่มิได้ห้ามให้กระทำการนั้น ซึ่งจะมีอัตราโทษต่างกันตามแต่ละกรณี เช่น กรณีเคนยา ประธานาธิบดีถูกตัดสินจำคุก 30 ปี
อย่างไรก็ดี การเข้ามาศึกษาของไอซีซีครั้งนี้เป็นการทำงานร่วมกันกับศาลไทย ถ้าตราบใดที่กระบวนการยุติธรรมในประเทศไทยยังดำเนินการได้ มีความบริสุทธิ์ยุติธรรม มีความจริงใจในการนำตัวผู้กระทำผิดมาลงโทษ เรื่องก็จะจบในประเทศไทย แต่ถ้าไอซีซีพิจารณาว่าไม่มีความจริงใจ ก็มีสิทธิที่จะนำเรื่องนี้ไปพิจารณาในต่างประเทศได้

ปิยบุตร แสงกนกกุล
อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์


ศาลอาญาระหว่างประเทศตั้งขึ้นมาตามธรรมนูญกรุงโรม เนื่องจากว่าในหลายๆ ประเทศได้รับความเลวร้ายจากการก่ออาชญากรรมต่อมวลมนุษยชาติ และมีการออกกฎหมายนิรโทษกรรม บางกรณีใช้วิธีการตั้งศาลเฉพาะกรณีขึ้นมา เช่น กรณีที่ของประเทศมูเดนเบิร์ก ญี่ปุ่น รวันดา ยูโกสลาเวีย เป็นต้น ประชาคมโลกเลยตกลงกันว่าสมควรที่จะตั้งศาลขึ้นมาให้เป็นการถาวรจะดีกว่าในชื่อ ศาลอาญาระหว่างประเทศ มีที่ทำการอยู่ที่กรุงเฮก ประเทศเนเธอร์แลนด์
วิธีที่จะไปศาลโลกได้นั้น แต่ละประเทศที่ไปลงนามในธรรมนูญกรุงโรมแล้ว จะต้องประกาศให้สัตยาบันก่อน ศาลอาญานี้ถึงจะมีผลต่อประเทศนั้นๆ ได้ อย่างกรณีของไทย ลงนามไปนานแล้ว ตั้งแต่สมัยรัฐบาลชวน หลีกภัย เป็นนายกฯ แต่ปรากฏว่า ไอซีซียังไม่มีผลต่อไทย เพราะเรายังไม่เคยไปให้สัตยาบัน ซึ่งการไม่ให้สัตยาบัน อาจมีวิธีอื่นอีก หากต้องการจะให้ศาลโลกรับเรื่องจากไทย คือ การทำคำประกาศฝ่ายเดียว เพื่อยอมรับขอบเขตอำนาจของไอซีซี เป็นการเฉพาะกรณี โดยอาศัยมาตรา 12 (3) ของธรรมนูญกรุงโรม ซึ่งจะเปิดโอกาสให้ประเทศที่ยังไม่อยากให้สัตยาบันถาวร ให้ใช้วิธีนี้ในการยอมรับเขตอำนาจศาลเป็นรายกรณีไป ประเทศที่ทำมาแล้วก็คือประเทศโกตดิวัวร์
กรณีของไทย มีทางเลือกอยู่ 2 ทางคือ การให้สัตยาบันต่อไอซีซีมีเขตอำนาจเหนือประเทศไทยเป็นการถาวร แต่ก็จะมีผลต่ออนาคตข้างหน้า นับตั้งแต่วันลงนาม นั่นหมายความว่า กรณีของ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ การปราบปรามยาเสพติดหรือการสลายการชุมนุม จะไม่สามารถย้อนหลังไปได้ แต่ถ้าต้องการจะย้อนหลังไปให้ได้ใน 2-3 เรื่องที่กล่าวมานั้น ต้องใช้ช่องทางมาตรา 12 (3) แต่ปัญหาอยู่ที่ว่ามาตรา 12 (3) ของธรรมนูญกรุงโรม ทางกลุ่ม 40 ส.ว. ออกมาต่อต้าน
แต่การประกาศฝ่ายเดียว เป็นการแสดงเจตนาฝ่ายเดียวของทางรัฐบาลจึงไม่ใช่ข้อตกลงระหว่างประเทศ ที่จะมีผลในการเปลี่ยนแปลงอาณาเขต เปลี่ยนแปลงดินแดน หรือต้องรับภาระผูกพันในการตามกฎหมาย ดังนั้น จึงไม่เข้าตามมาตรา 190 ของรัฐธรรมนูญไทย ประเทศที่ทำมาแล้วคือโกตดิวัวร์ โดยให้รัฐมนตรีต่างประเทศเป็นคนลงนาม เขาไม่ได้เอาเข้าสภา โดยการเซ็นจดหมายไป 1 ฉบับ แสดงเจตจำนงไปยังไอซีซีให้มีเขตอำนาจเหนือประเทศโกตดิวัวร์ ระบุระยะเวลาเลยว่าวันไหนถึงวันไหน