Facebook วีรพัฒน์ ปริยวงศ์
12 พฤศจิกายน 2555 >>>
เรื่องนี้ มีผู้อ้างความเห็นคณะกรรมการกฤษฎีกาที่ 566/2553 ว่าสั่งปลดไม่ได้
ผมมองว่า ความเห็นกฤษฎีกาฉบับดังกล่าว มีประเด็นสำคัญอยู่สองประเด็น
ประเด็นแรก คณะกรรมการกฤษฎีกา ตีความว่า การที่กระทรวงกลาโหม จะดำเนินการทางวินัยตามมติของคณะกรรมการ ป.ป.ช. นั้น ถ้ากระทรวงกลาโหมเห็นว่าตนมีอำนาจที่จะปลดออกจากประจำการได้ ก็ต้องปลดออกโดยให้มีผลย้อนหลังไปถึงวันสุดท้ายของการรับราชการ หากพ้นจากราชการแล้วก็ไม่อาจปลดออกจากประจำการได้โดยสภาพ
ในประเด็นแรกนี้ จะเห็นได้ว่า กรณีคุณอภิสิทธิ์ มิได้เกี่ยวกับการดำเนินการทางวินัยตามมติของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ที่จะปลดคุณอภิสิทธิ์ออกจากประจำการ และหากเป็นการดำเนินการทางวินัย ก็ย่อมไม่อยู่ในอำนาจของศาลปกครอง
ส่วนประเด็นที่สอง คณะกรรมการกฤษฎีกา ตีความว่า การถอดยศทหารนั้น ถือว่ายศเป็นสิ่งที่ที่ติดตัวทหารไม่ว่าจะอยู่ในประจำการหรือนอกประจำการ การถอดยศทหารจึงสามารถกระทำได้แม้ทหารผู้นั้นจะออกจากประจำการแล้ว ไม่ต้องรอผลคดีอาญา
ในประเด็นที่สองนี้ จะเห็นได้ว่า หากจะมีการดำเนินการถอดยศคุณอภิสิทธิ์ และอ้างความเห็นฉบับนี้ ก็อาจมีผู้มองว่า การถอดยศสามารถดำเนินการได้ ไม่ว่าคุณอภิสิทธิ์จะอยู่ในประจำการหรือนอกประจำการก็ตาม
โดยรวม ผมจึงมองว่า การอ้างความเห็นคณะกรรมการกฤษฎีกาฉบับดังกล่าว อาจไม่ตรงกับประเด็นในกรณีคุณอภิสิทธิ์เสียทีเดียว และอาจเป็นเรื่องแปลก หากฝ่ายกฎหมายของคุณอภิสิทธิ์ จะอ้างเรื่อง 'วินัย' ต่อศาลปกครอง เพราะศาลปกครองไม่มีอำนาจพิจารณาเรื่องวินัยทหาร หากอ้างไป ก็อาจจะฟังขัดแย้งกันเอง