ข่าวสด 11 ตุลาคม 2555 >>>
ดีเอสไอส่ง ตร. ชันสูตรอีกราย จ่าเอกเหยื่อปืน
ดีเอสไอส่งให้ ตร. ชันสูตรพลิกศพอีกคดี "จ่าเอก" อากาศ โยธิน เหยื่อปืน พ.ค.53 สงสัยถูกเจ้าหน้าที่รัฐด้วยกันยิงตาย ขณะสับเปลี่ยนกำลังที่สีลม เผยจุดเกิดเหตุเป็นพื้นที่ควบคุมของเจ้าหน้าที่ ไม่มีผู้อื่น ขณะที่ศาลบริหารคดี "โปเลงกี" ช่างภาพอิตาลี เหยื่อปืน พ.ค. 53 สรุปไต่สวนพยาน 29 ปาก 11 นัด เริ่มนัดแรก 7 ธ.ค. ทนายผู้ร้องยื่นขอศาลไต่สวน "มาร์ค" รวมทั้งนักข่าวเนเธอร์แลนด์ด้วย ด้าน นพ.เชิดชัย ส.ส.เพื่อไทย แถลงย้ำ "ฮิโรยูกิ" โดนกระสุนความเร็วสูง ขณะถ่ายภาพฝั่งเจ้าหน้าที่ ในเหตุการณ์ 10 เม.ย. ส่วน "เหวง" ร่วมยันโดนลูกปืนเอ็ม 16 ไม่ใช่อาก้า
เมื่อวันที่ 10 ต.ค. ที่ศาลอาญากรุงเทพใต้ ศาลนัดพร้อมเพื่อบริหารจัดการคดีใหม่ ในคดีที่พนักงานอัยการยื่นคำร้องขอให้ศาลไต่สวนการเสียชีวิตของนายฟาบิโอ โปเลงกี นักข่าวชาวอิตาลี ที่ถูกยิงเสียชีวิตในเหตุการณ์สลายการชุมนุม เมื่อวันที่ 19 พ.ค. 2553 โดยพนักงานอัยการยื่นคำร้องขอให้ศาลไต่สวนพยาน 21 ปาก ส่วนฝ่ายผู้ร้องยื่นคำร้องขอให้ศาลไต่สวนพยาน 8 ปาก รวมทั้งหมด 29 ปาก จำนวน 11 นัด นัดไต่สวนในวันที่ 7, 26 ธ.ค. 2555, 25, 28 ม.ค., 1, 18, 22 ก.พ., 1, 8, 15 และ 22 มี.ค. 2556
นายคารม พลพรกลาง ทนายความแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) กล่าวว่า ฝ่ายผู้ร้องได้ยื่นคำร้องขอให้ศาลไต่สวนพยานปากสำคัญ ประกอบด้วย นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรี และหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ พล.อ.อนุพงศ์ เผ่าจินดา อดีต ผบ.ทบ. พล.ต.อ.ปทีป ตันประเสริฐ อดีต รรท.ผบ.ตร. พ.ต.อ.ประเวศน์ มูลประมุข รองอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) และนายมิเชล มาสส์ นักข่าวชาวเนเธอร์แลนด์ สังกัดวิทยุเนเธอร์แลนด์ เรดิโอ เวิลด์ไวด์ และหนังสือพิมพ์โฟล์กส์แรนต์ ที่อยู่ในเหตุการณ์นายฟาบิโอถูกยิง และคาดว่าจะออกหมายเรียกนายอภิสิทธิ์เข้าเบิกความประมาณเดือน ม.ค. 2556
ที่กองบัญชาการตำรวจนครบาล พล.ต.ต.อนุชัย เล็กบำรุง รอง ผบช.น. กล่าวว่า ดีเอสไอส่งสำนวนชันสูตรพลิกศพมายัง บช.น. เพิ่มอีก 1 ราย คือ จ.อ.พงศ์ชลิต พิทยานนกาญจน์ สังกัดกรมปฏิบัติการพิเศษ หน่วยบัญชาการอากาศโยธิน ที่ได้รับคำสั่งให้ปฏิบัติหน้าที่รักษาความสงบที่ถนนสีลม ในเหตุการณ์เดือน เม.ย.-พ.ค.2553 โดย จ.อ.พงศ์ชลิตขับรถกระบะยี่ห้อโตโยต้า รุ่นไฮลักซ์ วีโก้ สีดำ ทะเบียน ฌฬ 7620 กทม. เพื่อไปยังจุดที่ได้รับคำสั่ง และมาจอดรถที่อาคารซีพีทาวเวอร์ เลี้ยวซ้ายเข้าถนนสีลม
รอง ผบช.น. กล่าวว่า ในระหว่างนั้นถูกคนร้ายไม่ทราบจำนวนใช้อาวุธปืนยิงใส่รถ 4-5 นัด กระสุน 1 นัด ถูกศีรษะ จ.อ.พงศ์ชลิต และ ร.ท.อภิชาติ ซังยัง ผู้บังคับบัญชาที่นั่งมาด้วยได้รับบาดเจ็บ โดยรถของทหารที่ปฏิบัติหน้าที่ในจุดนั้นนำผู้ตายและผู้บาดเจ็บส่ง ร.พ.กรุงเทพคริสเตียน ก่อนจะเสียชีวิต ส่งศพไปชันสูตรที่ ร.พ.ภูมิพล เหตุเกิดหน้าธนาคารกรุงเทพ สำนักงานใหญ่ ถนนสีลม เมื่อเวลา 01.00 น. วันที่ 17 พ.ค. 2553 ในช่วงแรกทาง สน.ทุ่งมหาเมฆ รับคำร้องทุกข์คดีฆ่าไว้ ก่อนส่งไปที่ดีเอสไอ โดยทำเป็นรูปคดีที่ไม่รู้ตัวผู้กระทำผิด แต่ดีเอสไอพิจารณาแล้วมีพยานหลักฐานเชื่อว่าน่าจะเกิดจากการกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐ จึงส่งมายัง บช.น. เนื่องจากจุดเกิดเหตุเป็นพื้นที่รับผิดชอบของเจ้าหน้าที่ ไม่มีผู้อื่น
ผู้สื่อข่าวถามว่า แสดงว่าเจ้าหน้าที่อาจยิงกันเอง พล.ต.ต.อนุชัย กล่าวว่า ที่ส่งมาก็ไม่ได้กล่าวอย่างนั้น แต่ดีเอสไอส่งมาว่ามีพยานหลักฐานข้อเท็จจริง เชื่อว่าการเสียชีวิตน่าจะเกิดจากการกระทำของเจ้าหน้าที่ รวมแล้วในขณะนี้มีสำนวนที่ดีเอสไอส่งมาให้เพิ่มเติมรวม 9 สำนวน จึงตั้งคณะพนักงานสอบสวนรับผิดชอบ และเริ่มวางแผนการสอบสวนแล้ว
ที่รัฐสภา นพ.เชิดชัย ตันติศิรินทร์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย แถลงกรณีการเสียชีวิตของ นายฮิโรยูกิ มูราโมโตะ ช่างภาพสำนักข่าวรอยเตอร์ ชาวญี่ปุ่น ที่เสียชีวิตในเหตุการณ์เมื่อวันที่ 10 เม.ย. 2553 ที่หน้าโรงเรียนสตรีวิทยา ถนนดินสอ ว่า ในฐานะแพทย์ศัลยกรรมหัวใจ และมีโอกาสร่วมอยู่ในกลุ่มแพทย์ที่ชันสูตรศพนาย ฮิโรยูกิ ในเบื้องต้นตั้งแต่แรก ผลที่ชันสูตรได้จากการบันทึกไว้นั้น พบว่าถูกยิงเข้าบริเวณหน้าอกซ้าย บาดแผลรูกระสุนเข้าขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 0.5 ซ.ม. เฉี่ยวขั้วหัวใจ มีเลือดออกช่องเยื่อหุ้มหัวใจที่ทรวงอกขวา 800 ซีซี ระหว่างผ่านทะลุเส้นเลือดใหญ่ที่ออกจากหัวใจ มีรูทะลุ 1.5 ซ.ม. ถูกปอดกลีบขวา ทำลายกระดูกซี่โครงชิ้นที่ 3 และ 4 ก่อนผ่านช่องรักแร้ แล้วทะลุแขนขวาด้านหลังเป็นแผลกว้างขนาด 1.5 คูณ 3 ซ.ม. ซึ่งเป็น 3 เท่าของแผลรูกระสุนเข้า
นพ.เชิดชัย กล่าวต่อว่า นอกจากนี้ ยังพบว่ากลีบปอดซ้ายฟกช้ำ ส่วนบาดแผลบริเวณแขนใต้รอยกระสุน และบาดแผลที่แก้มซ้ายนั้น น่าจะเกิดจากบาดแผลถลอก การที่นายฮิโรยูกิถูกยิงในลักษณะนี้ได้ เกิดจากระหว่างการปฏิบัติหน้าที่ ที่ต้องถือกล้องมือขวา และมือซ้ายประคองเลนส์ไว้ โดยในขณะนั้นหันหน้าไปถ่ายภาพฝั่งเจ้าหน้าที่ และไม่มีผู้ชุมนุมอยู่ในบริเวณดังกล่าว จึงตั้งข้อสังเกตว่า นายฮิโรยูกิถูกยิงด้วยกระสุนความเร็วสูง และรุนแรง
ส่วน นพ.เหวง โตจิราการ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย หนึ่งในแกนนำ นปช. กล่าวว่า ในประเด็นที่ พ.ต.ท.พเยาว์ ทองเสน พนักงานสอบสวนดีเอสไอ ระบุว่า ในที่ประชุมคณะกรรมาธิการตำรวรวจ เมื่อวันที่ 9 ต.ค. ที่ผ่านมา ว่านายฮิโรยูกิถูกกระสุนขนาด 7.62 ม.ม. เป็นกระสุนที่ใช้กับปืนอาก้า แต่ไม่แน่ใจว่าใช้ปืนอื่นได้หรือไม่นั้น โดยส่วนตัวได้ศึกษาเรื่องลักษณะการทำลายล้างของกระสุนมาบ้าง และจากการศึกษาข้อมูลตำราเรียนของทางสหรัฐอเมริกัน ก็ระบุชัดเจนว่าหากบาดแผลกว้างเช่นนี้ จะต้องเกิดจากกระสุนความเร็วสูงจากปืนเอ็ม 16 จึงไม่น่าเป็นไปได้ว่านายฮิโรยูกิโดนยิงจากกระสุนปืนอาก้า อีกทั้งยังสงสัยว่าทำไมไม่มีใครได้เห็นหัวกระสุนที่ยิงศพนายฮิโรยูกิเลย และจากการวิเคราะห์หลักฐานทางวิทยาศาสตร์ หลังการชันสูตรใหม่ๆ สำนวนชั้นต้นของเจ้าหน้าที่ตำรวจ ก็ระบุว่ามีความเป็นไปได้มากว่าบาดแผลเกิดจากอาวุธเอ็ม 16 และเป็นไปน้อยมากที่บาดแผลจะเกิดจากปืนอาก้า
"การที่เจ้าหน้าที่ดีเอสไอระบุว่านายฮิโรยูกิถูกยิง ด้วยหัวกระสุนขนาด 7.62 ม.ม. ที่ใช้ในปืนอาก้านั้น เข้าใจว่าได้รับข้อมูลมาจากนายตำรวจคนหนึ่งระดับ พล.ต.ท.นอกราชการ ที่ร่วมทำรายงานกับคณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อการปรองดองแห่งชาติ (คอป.) ที่ก่อนหน้านั้นเคยถูกดึงมาช่วยงานที่ดีเอสไอ จึงให้ข้อมูลดังกล่าวไว้ เป็นคนละเรื่องกับสำนวนตำรวจในขั้นแรกที่ระบุว่า กระสุนที่สังหารนาย ฮิโรยูกิมาจากเอ็ม 16 ก็อยากขอให้นายตำรวจ ดังกล่าวออกมาแสดงตัว และเปิดเผยข้อมูลที่แท้จริง" นพ.เหวง กล่าว
วันเดียวกัน ที่ศาลอาญา ศาลนัดสืบพยานโจทก์คดีที่นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกฯ เป็นโจทก์ยื่นฟ้องนายอริสมันต์ พงศ์เรืองรอง แกนนำนปช. เป็นจำเลยในความผิดฐานหมิ่นประมาทผู้อื่นโดยการโฆษณา โดยในนายสุเทพ เทือกสุบรรณ อดีตรองนายกฯ เบิกความสรุปว่า ที่จำเลยประกาศชัยชนะหลังจากบุกล้มการประชุมสุดยอดอาเซียนที่เมืองพัทยา จ.ชลบุรี นั้น จำเลยได้รับมอบหมายจากนายจักรภพ เพ็ญแข ตามแผนการที่วางไว้ เพื่อทำให้นายอภิสิทธิ์ไม่สามารถควบคุมสถานการณ์ และไม่เหมาะเป็น นายกฯ ต่อมาวันที่ 12 เม.ย. 2552 กลุ่ม นปช. บุกยึดพื้นที่ตามแยกต่างๆ ใน กทม. เผารถแท็กซี่ เผารถประจำทาง ทำให้สถานการณ์วุ่นวาย และยังปิดล้อมกระทรวงมหาดไทย ทุบกระจกรถที่นายอภิสิทธิ์นั่งอยู่ด้วย
นายสุเทพเบิกความต่อว่า สำหรับกรณีที่จำเลยกล่าวหาว่าโจทก์ประชุมสั่งการให้เจ้าหน้าที่ทหารไปฆ่าประชาชน ตามที่มีคนเอาคลิปเสียงมาแสดงเผยแพร่นั้น ยืนยันว่าไม่มีการประชุมดังกล่าว ในเรื่องนี้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผบ.ทบ. เคยออกมาให้สัมภาษณ์สื่อมวลชน ว่าไม่มีการสั่งฆ่าประชาชนจากโจทก์แต่อย่างใด นอกจากนี้ หลังจากส่งคลิปเสียงให้หน่วยงานทั้งของรัฐบาล และเอกชนตรวจสอบแล้ว ผลออกมาตรงกัน คือเกิดจากการตัดต่อตกแต่ง
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังจากพยานเบิกความเรื่องอื่นๆ แล้วเสร็จ ศาลจึงนัดสืบพยานจำเลยในวันที่ 16-18 ต.ค. นี้ เวลา 09.00 น.
ที่พรรคประชาธิปัตย์ นายอภิสิทธิ์กล่าวถึงกรณีอัยการสูงสุดสั่งไม่ฟ้องคดีที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ชี้มูลความผิดคดีสลายการชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย (พธม.) เมื่อวันที่ 7 ต.ค. 2551 ว่าเข้าใจว่างานนี้ ป.ป.ช. ต้องพิจารณาต่อว่าจะฟ้องเองหรือไม่ เพราะมีสิทธิ์ฟ้องเอง และเมื่อถึงวันนั้นคงต้องไปที่ศาล จะรู้ว่าอัยการคิดถูก หรือคิดผิด
"อยากให้อัยการมีความชัดเจนว่า การสั่งไม่ฟ้องนั้น เหตุผลและข้อเท็จจริงคืออะไร ไม่ใช่เรื่องการเมือง เพราะกรณีอัยการเป็นประเด็นที่เข้ามาเกี่ยวข้องหลายเรื่องแล้ว กับการอุทธรณ์ ไม่อุทธรณ์ ฟ้อง ไม่ฟ้อง โดยเฉพาะเกี่ยวข้องกับคนที่ใกล้กับศูนย์กลางอำนาจ ทั้งที่ความจริง รัฐธรรมนูญให้อัยการสูงสุดมีอิสระ จึงอยากให้อัยการมีความโปร่งใส ชี้แจงให้ชัดเจน มีหลายคดีที่เป็นอย่างนี้ คืออัยการไม่ฟ้อง แล้ว ป.ป.ช. เป็นผู้ฟ้องเอง สิ่งที่น่าสนใจขอให้ดูกระบวนการด้วย เพราะขณะนี้เรื่องที่พยายามจะเล่นงานผมกับคุณสุเทพ ก็แปลกที่ ดีเอสไอไม่คิดส่ง ป.ป.ช. ทั้งที่คดีนี้เป็นหน้าที่ของ ป.ป.ช. ที่จะสอบสวน" นายอภิสิทธิ์ กล่าว