เปิดความจริง ฉบับ "สภาสูง" เหตุการณ์ชุมนุมพฤษภาคม 2553

มติชน 11 ตุลาคม 2555 >>>




หลังจากที่คณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อการปรองดองแห่งชาติ (คอป.) ที่มี นายคณิต ณ นคร เป็นประธาน ได้เปิดเผยรายงานเหตุการณ์ชุมนุมทางการเมืองระหว่างเดือนเมษายน-พฤษภาคม ปี 2553 ออกสู่สาธารณชน ตามมาด้วยข้อโต้แย้งต่างๆ มากมายในสังคม ทั้งกลุ่มคนที่เห็นด้วย และไม่เห็นด้วย กับชุด "ความจริง" ฉบับ คอป. ต่อเหตุการณ์การชุมนุมดังกล่าว
ทว่า ในส่วนของ "สภาสูง" หรือ "วุฒิสภา" ก็ได้มีการศึกษาเหตุการณ์ชุมนุมทางการเมืองระหว่างวันที่ 12 มีนาคม-19 พฤษภาคม ปี 2553 ของ "คณะกรรมการเพื่อติดตามสถานการณ์บ้านเมือง" ที่มี "จิตติพจน์ วิริยะโรจน์" ส.ว.ศรีสะเกษ เป็นประธาน ไว้เช่นกัน ผลการศึกษาของ "สภาสูง" ได้ทำการสรุป และรวบรวม "ข้อเท็จจริง" จำนวน 44 หน้า ซึ่งประกอบด้วย ข้อมูลข้อเท็จจริงเกี่ยวกับเหตุการณ์การชุมนุม และหลังการชุมนุมที่ได้รับจากการพิจารณารับฟังข้อมูล และความเห็นจากผู้เกี่ยวข้อง มีสาระสำคัญ ดังนี้

1. สาเหตุในการเข้าร่วมชุมนุม ระหว่างเดือนมีนาคม-พฤษภาคม 2553

1. ต้องการประชาธิปไตยอย่างแท้จริง เนื่องจากเชื่อว่าประชาธิปไตยที่เป็นอยู่ในปัจจุบันได้มาโดยไม่ถูกต้อง เกิดจากอำนาจการปฏิวัติ รัฐประหาร จึงไม่ต้องการรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง รวมถึงไม่ต้องการรัฐบาลที่ทำหน้าที่แบบสองมาตรฐาน
2. คนรากหญ้าถูกดู หมิ่นว่าซื้อได้ และถูกจ้างวานให้มาชุมนุม
3. ถูกเหยียดหยามว่าโง่ หลอกง่าย ถูกหลอกให้มาชุมนุม
4. ไม่ได้รับความเป็นธรรมในเรื่องต่างๆ หรือได้รับการปฏิบัติแบบสองมาตรฐาน และ
5. ถูกกล่าวหาว่าล้มสถาบัน
ขณะที่ด้านการดูแล-ควบคุมการชุมนุม ในประเด็นอาวุธที่ใช้ในการควบคุมการชุมนุม นั้น ผู้แทนกองสรรพาวุธ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) ยืนยันว่าอาวุธที่ใช้ในการควบคุมการชุมนุมของ สตช. นั้น มีเพียง โล่ กระบอง แก๊สน้ำตาชนิดขว้าง และปืนลูกซองบรรจุลูกกระสุนยาง ส่วนอาวุธหนัก เช่น ปืนเอ็ม 16 ไม่มีการเบิกจากกองสรรพาวุธ สตช. แต่อย่างใด
ส่วนปืนสไนเปอร์นั้น สตช. เคยมีการจัดซื้อเพื่อไว้ใช้ในภารกิจปราบปรามผู้ก่อการร้าย และช่วยเหลือตัวประกัน รวม 2 ครั้ง ครั้งละ 1 กระบอก มอบให้หน่วยอรินทราช และตำรวจตระเวนชายแดน ค่ายนเรศวร 261 แห่งละ 1 กระบอก ผู้ใช้ปืนชนิดนี้ได้จะต้องได้รับการฝึกมาอย่างดี เพราะอาวุธชนิดนี้จัดเป็นอาวุธชนิดพิเศษที่สั่งซื้อได้เฉพาะหน่วยงานของรัฐ โดยต้องจัดผ่านกองสรรพาวุธ และมีบัญชียุทธภัณฑ์ควบคุม
ขณะที่เจ้าหน้าที่ที่ดูแลการชุมนุม ให้ความเห็นเรื่องกฎการใช้กำลัง 7 ขั้นตอนว่า ในทางปฏิบัติไม่สามารถทำได้ เนื่องจากเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานไม่ได้รับการฝึกฝนตามขั้นตอนมาก่อน ประกอบกับเครื่องมือที่ใช้ในแต่ละขั้นตอน มีไม่เพียงพอและไม่มีประสิทธิภาพ ในขณะที่เกิดเหตุชุมนุม ผู้ชุมนุมจะไม่หยุดและไม่ฟังว่าเจ้าหน้าที่จะดำเนินการอย่างไร

2. ผลกระทบจากการบังคับใช้พระราชกำหนด (พ.ร.ก.) การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน

ด้านการละเมิดสิทธิของประชาชน และการละเมิดสิทธิมนุษยชน นพ.นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ กรรมการสิทธิมนุษยชน ระบุว่าความขัดแย้งในสังคมที่เกิดขึ้นภายหลังการชุมนุม เกิดจากสาเหตุ 3 ประการ คือ
1. การแย่งชิงอำนาจและผลประโยชน์
2. การต่อสู้เชิงอุดมการณ์ และ
3. การได้รับความไม่เป็นธรรมของประชาชน
ทั้งนี้ นพ.นิรันดร์ ยังให้ข้อคิดเห็นถึงผลกระทบอันเกิดจากการใช้พระราชกำหนดฯ ว่า
1. การถูกทำร้ายร่างกาย
2. เรื่องสิทธิในกระบวนการยุติธรรม และยังพบว่า เจ้าหน้าที่ตำรวจได้รับคำสั่งให้ต้องทำผลงานจึงมีการออกหมายจับบุคคลจากภาพ ถ่าย ซึ่งส่วนใหญ่ไม่ใช่ภาพที่กระทำการ จนทำให้บุคคลในภาพถูกคุมขัง ทั้งนี้ ประเด็นการละเมิดสิทธิเสรีภาพของประชาชนที่สำคัญมาก คือ การใช้พระราชกำหนดฯ ดังกล่าว ยกเลิกอำนาจศาลปกครองในการเข้าตรวจสอบการใช้อำนาจทางการปกครองของรัฐ
นอกจากนี้การที่รัฐบาลประกาศใช้ "เขตการใช้กระสุนจริง" บริเวณถนนราชปรารภ ถือได้ว่าเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนสากลอย่างร้ายแรง ซึ่งไม่ว่าจะมีข้ออ้างหรือเงื่อนไขใด รัฐบาลก็ไม่สามารถประกาศเขตการใช้กระสุนจริงได้ และการละเมิดสิทธิ เสรีภาพในการแสดงความเห็นของบุคคล และสื่อมวลชน ด้วยการใช้ประมวลกฎหมายอาญา และ พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ ควบคุมการเสนอข้อมูลข่าวสาร มีการปิดสื่อออนไลน์ สถานีวิทยุชุมชน ด้วยเหตุผลด้านความมั่นคง และจับกุมดำเนินคดี โดยไม่เปิดเผยรายละเอียด ซึ่งรูปแบบการสั่งปิดเว็บไซต์ มี
1. โดยคำสั่งศาล
2. ขอความร่วมมือ และ
3. คุกคาม ซึ่งหมวดหมู่ความผิดที่มากที่สุดคือ คดีการหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ 54 คดี การฉ้อโกง 38 คดี และการดูหมิ่นพระมหากษัตริย์ 31 คดี
ข้อสังเกตของคณะกรรมการฯ สรุปได้ว่า
1. ถึงแม้การชุมนุมที่เกิดขึ้นอาจขัดต่อกฎหมายบางประการ แต่มิได้หมายความว่า "รัฐจะมีอำนาจจัดการควบคุมการชุมนุม โดยละเมิดกฎหมาย หรือจำกัดเสรีภาพของประชาชนที่กำหนดไว้ตามรัฐธรรมนูญ" เห็นได้ชัดจากกรณีที่มีการนำป้ายประกาศ "เขตใช้กระสุนจริง" ติดที่บริเวณถนนราชปรารภ จึงถือว่าเป็นการละเมิดสิทธิเสรีภาพ และสิทธิมนุษยชนสากลอย่างรุนแรง
2. ไม่ใช้กระบวนการรัฐสภาในการแก้ ปัญหา เพราะนับแต่ที่มีการชุมนุม วุฒิสภาได้ออกมาแสดงท่าที และจุดยืน เรียกร้องให้ทุกฝ่ายปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญ และใช้กระบวนการทางรัฐสภาซึ่งเป็นตัวแทนที่มาจากประชาชน โดยวุฒิสภา ยินดีเป็นตัวกลางเจรจา แต่ปรากฏว่า ทั้งรัฐบาล ฝ่ายผู้ชุมนุม และนักการเมืองบางฝ่ายไม่สนใจที่จะใช้กระบวนการรัฐสภา โดย "ฝ่ายบริหาร" ในขณะนั้น ที่พยายามบ่ายเบี่ยงและประวิงเวลาในการประชุมวุฒิสภา เพื่อชี้แจงกรณีปัญหาที่เกิดขึ้น ขณะที่ "ฝ่ายผู้ชุมนุม" และ "ประชาชน" ก็ขาดความเชื่อมั่นในระบบรัฐสภา และตัวนักการเมือง เนื่องมาจากสถาบัน และกระบวนการรัฐสภาอ่อนแอ ไม่สามารถแก้ปัญหาความขัดแย้งต่างๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ทั้งนี้ จากข้อมูล ข้อเท็จจริงของคณะกรรมการฯ พบว่า เรื่องการประสานงานระหว่างนายประสพสุข บุญเดช ประธานวุฒิสภา ในขณะนั้น กับนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกฯในขณะนั้น กรณีที่วุฒิสภาจะเป็นคนกลางส่งตัวแทนสมาชิกวุฒิสภา เข้าไปเจรจากับแกนนำ นปช. ในวันที่ 18 พฤษภาคม 53 มีประเด็นที่ไม่ตรงกัน 2 ประการ คือ
1. การกำหนดเงื่อนไขเวลาที่ให้ฝ่าย นปช. หยุดยิง ซึ่งเป็นประเด็นสำคัญนำไปสู่การตัดสินใจเข้าดำเนินการขอคืนพื้นที่จากฝ่าย ผู้ชุมนุมของรัฐบาล โดยนายอภิสิทธิ์ให้ข้อมูลว่า "ได้แจ้งเงื่อนไขว่า ถ้าจะเจรจากัน กลุ่มผู้ชุมนุมจะต้องหยุดยุติการใช้อาวุธ และโจมตีเจ้าหน้าที่รัฐ ภายในเวลา 18.00-19.00 น. ของวันที่ 18 พฤษภาคม 53 ซึ่งหากเลยเวลานี้ไปก็จะยุติการเจรจา" ขณะที่นายประสพสุขให้ข้อมูลว่า "ไม่มีการกำหนดเงื่อนไขเวลาในการยุติการหยุดยิง"
2. การประสานงานกันของทั้งสองฝ่าย ภายหลังตัวแทนของสมาชิกวุฒิสภาเข้าพบและเจรจากับแกนนำ นปช. จนได้ข้อยุติ นายอภิสิทธิ์ให้ข้อมูลว่า "หลังจากเวลาที่กำหนดไว้ ยังมีการใช้อาวุธโจมตีออกมาจากกลุ่มผู้ชุมนุม ดังนั้นหลังเวลา 20.00 น. ของวันที่ 18 พฤษภาคม จึงไม่ได้มีการประสานงานกับประธานวุฒิฯ แต่อย่างใด" ขณะที่นายประสพสุขให้ข้อมูลว่า "หลังจากทราบผลการเจรจา ในช่วงดึกของคืนวันที่ 18 พฤษภาคม นายอภิสิทธิ์ได้โทรศัพท์มาสอบถามว่า เหตุใดจึงยังมีการยิงออกมาจากกลุ่มผู้ชุมนุม และในรุ่งเช้าของวันที่ 19 พฤษภาคม เวลา 06.00-07.00 น. นายอภิสิทธิ์ได้โทรศัพท์มาแจ้งว่า ทหารกำลังจะเข้าดำเนินการกระชับพื้นที่แยกราชประสงค์"
สิ่งที่เป็น "ข้อสงสัย" ของคณะกรรมการฯ คือ หากมีการกำหนดเวลาในการยุติการยิงตามที่นายอภิสิทธิ์ได้ให้ข้อมูลไว้ เหตุใดรัฐบาลถึงต้องกำหนดเงื่อนไขในเรื่องเวลา ถ้าไม่มีการกำหนดเงื่อนไขดังกล่าว และรอฟังผลการเจรจาระหว่างสมาชิกวุฒิสภา และแกนนำ นปช. อีกเพียง 2-3 ชั่วโมง แล้วยอมยุติการกระชับพื้นที่ ในวันที่ 19 พฤษภาคม และให้เวลาแกนนำ นปช. ในการส่งผู้ชุมนุมกลับภูมิลำเนา ความสูญเสียคงไม่เกิดขึ้นเช่นนี้

3. หลักเกณฑ์วิธีการในการจัดการดูแล-ควบคุม และสลายการชุมนุมที่ไม่มีมาตรฐาน และประสิทธิภาพเพียงพอ

เมื่อมีการชุมนุมในแต่ละครั้ง รัฐบาลต้องนำกฎหมายอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องมาบังคับใช้ ทั้งๆ ที่กฎหมายเหล่านั้น ไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อใช้กับการชุมนุม จึงทำให้ขัดต่อหลักสิทธิในการชุมนุมตามที่รัฐธรรมนูญกำหนด เมื่อประกอบกับทัศนคติ วิธีคิดในการจัดการชุมนุมของรัฐบาล ยัง "ยึดติด" กับการเป็น "ผู้ถือครองอำนาจการปกครอง" การจัดการการชุมนุมจึงเป็นไปเพื่อ "ขอคืนพื้นที่" และ "กระชับพื้นที่" ที่มุ่งเน้น "สลายการชุมนุม"
ถึงแม้ศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน (ศอฉ.) จะประกาศกฎการใช้กำลัง 7 ขั้นตอน แต่ก็เป็นกติกาที่ถูกกำหนดขึ้นเฉพาะหน้า และเป็นครั้งแรกที่ทำให้สังคมไทยได้รับทราบ ทำให้รัฐบาลขาดความพร้อมในการดำเนินการ ทั้งด้านอุปกรณ์ เครื่องมือ และความรู้ความเข้าใจในขั้นตอนวิธีการขอเจ้าหน้าที่

4. ความจริงในเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นยังไม่ปรากฏอย่างชัดเจน

ภายหลังเหตุการณ์ได้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการขึ้น เพื่อดำเนินการเกี่ยวกับเหตุการณ์ชุมนุม ปี 53 ทำให้ปัจจุบันมีคณะกรรมการที่ดำเนินการหลายคณะ และต่างฝ่ายต่างเป็นไปในลักษณะที่ทำตามอำนาจหน้าที่ของตัวเอง ขณะที่ความจริงของเหตุการณ์ที่รอการค้นหาในหลายมิติ เช่น ชายชุดดำเป็นใคร ใครเป็นผู้ลอบวางเพลิงอาคารต่างๆ เป็นต้น นอกจากนี้ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในเหตุการณ์ไม่ยอมให้ความร่วมมือในกระบวนการ ค้นหาความจริงของฝ่ายต่างๆ ไม่ยอมเปิดเผยความจริง หรือจะเปิดเผยความจริง หรือจะเปิดเผยเพียงบางส่วน โดยต่างฝ่ายต่างยังออกมากล่าวโทษกัน อาจจะด้วยเหตุผลในเรื่องทัศนคติ หรือการเกรงว่าจะต้องรับผิดในการกระทำที่ผ่านมา
ทั้งนี้เงื่อนไขที่เป็นกุญแจสำคัญในการนำไปสู่การค้นหาความจริงได้ คณะกรรมการฯ หรือผู้ที่ทำหน้าที่สอบสวนหาความจริงต้องมีความเป็น "อิสระ" อย่างแท้จริง และเมื่อความจริงปรากฏ ผู้สั่งการ ผู้กระทำผิดต้องยินยอมเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม และยอมรับการลงโทษ

5. คณะกรรมการฯ ได้มีข้อสงสัยเกี่ยวกับการบังคับใช้พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ ฉุกเฉิน พ.ศ. 2550 ว่ามีความชอบด้วยรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2550 หรือไม่ เนื่องจาก

1. พ.ร.ก. ดังกล่าว ถูกตราขึ้นตามรัฐธรรมนูญ ปี 2550 เมื่อมีการยกเลิก และบังคับใช้รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน จะมีผลให้บทบัญญัติบางประการของพระราชกำหนด ดังกล่าว ยังคงสามารถบังคับใช้ได้หรือไม่ หรือจะต้องมีการปรับปรุง เพื่อให้สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญ ปี 2550
2. บทบัญญัติบางมาตราของพระราชกำหนดฯ ที่อ้างอิงตามรัฐธรรมนูญ ปี 2540 อาจขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน
3. เหตุผลของรัฐบาลในการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน ตามมาตรา 4 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน และยังบังคับใช้พระราชกำหนดฯ หลังจากเหตุการณ์การชุมนุมเดือนเมษายน-พฤษภาคม นั้น เป็นการดำเนินการที่ขัดกับรัฐธรรมนูญหรือไม่ กฎหมายอื่นที่มีอยู่ไม่สามารถบังคับใช้ได้จริงหรือไม่ และการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินนั้นแก้ปัญหาได้จริงหรือไม่