ข่าวสด 16 ตุลาคม 2555 >>>
ศึกน้ำปีนี้เตรียมปิดฉากลงพร้อมความโล่งอกของหลายๆ ฝ่าย หลังจากที่แผนบริหารจัดการน้ำของรัฐบาลมีแนวโน้มว่าจะเอาอยู่ รอดพ้นการซ้ำรอยวิกฤตมหาอุทกภัยไปได้ การทำงานตลอด 1 ปีที่ผ่านมาอยู่ในความสนใจของประชาชน ข่าวที่เกิดขึ้นก็มีทั้งด้านบวกและลบ
ผู้เกี่ยวข้องมองและติดตามสถานการณ์ ประเมินผลงานของรัฐบาลในครั้งนี้อย่างไร พร้อมให้ข้อคิดเห็นที่เป็นประโยชน์ในการป้องกันน้ำท่วมปีถัดไปด้วย
ดิเรก ถึงฝั่ง
ส.ว.นนทบุรี
ปีนี้รัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องวางแผนรับมือภัยธรรมชาติได้ค่อนข้างดี ภาวะผู้นำของรัฐบาลพัฒนาขึ้นมาก โดยใช้บทเรียนปีที่ผ่านมาเป็นครู
แต่บางเรื่องเกินคาดเดา ทำให้แผนไม่เป็นไปตามเป้า ฝนตกกระจายทั่ว น้ำท่วมบางแห่ง เช่น จ.นครนายก ขณะที่ฝนตกเหนือเขื่อนน้อย จึงมีความกังวลว่าจะไม่มีน้ำพร่องให้ชาวนา เกษตรกรไว้ใช้ในการเพาะปลูกเพียงพอในต้นปีหน้า
อย่างไรก็ตามเป็นเพียงการคาดการณ์ ไม่มีอะไรแน่นอน เนื่องจากสภาวะโลกร้อน ทำให้บรรยากาศเปลี่ยนแปลงไปหมด ซึ่งไม่แน่ว่าอาจจะมีฝนตกในช่วงต้นปีหน้าอีกก็เป็นได้
ในภาพรวมผมจึงมองว่าการแก้ปัญหาเป็นไปด้วยดี การจัดการรับมือต่างกับปีที่แล้วมาก น้ำไม่ท่วมขังลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยานานถึงขั้น 3 เดือนอย่างที่ผ่านมา ชาวบ้านก็ได้รับความพึงพอใจ
แต่มีสิ่งเดียวที่ยังเป็นปัญหาใน กทม. คือเรื่องที่ กทม. ทะเลาะกับรัฐบาล พบกระสอบทรายอุดตันท่อระบายน้ำ ผมฟังแล้วก็ขำ กทม. บอกเป็นเทคนิคไม่ให้น้ำเข้าท่อได้อย่างไร คนที่มีความรู้เขาไม่เชื่อหรอก ผมก็เคยเรียนช่างมาก่อน
หากคิดว่าประสบปัญหาการควบ คุมน้ำเข้าท่อ แทนที่จะติดตั้งระบบวาล์วปิด-เปิด เมื่อฝนตกก็เปิดวาล์วเอา ใช้งบประมาณไม่มาก ออกแรงหมุนวาล์วอีกหน่อย ง่ายกว่ามานั่งเอาทรายอุดท่อกว่าหรือไม่
มิหนำซ้ำ กทม. จะมาร้องแจ้งความดำเนินคดี ฐานรื้อกระสอบทราย ทำลายทรัพย์สิน ผมคิดว่าไม่ควรนำเอาเรื่องสัพเพเหระมาเป็นประเด็น
เราไม่รู้ว่าใครเล่นเกมการเมือง ใครเล่นก่อนใคร แต่ผู้ที่เดือดร้อนจริงๆ คือประชาชน ซึ่งข้อเท็จจริงก็เห็นกันอยู่ เราควรยอมรับความเป็นจริง การที่บอกเป็นเทคนิคใหม่ ผมจึงยังไม่อยากเชื่อเลย
ชูโชค อายุพงศ์
หัวหน้าหน่วยวิจัยภัยพิบัติทางธรรมชาติ คณะวิศวกรรมศาสตร์ ม.เชียงใหม่
จุดเด่นในการรับมือน้ำท่วมที่ผ่านมาคือเรื่องการเตือนภัย ซึ่งรัฐบาลค่อนข้างให้ความสำคัญ ถือว่าทำได้ดีทั้งในพื้นที่ส่วนกลางและต่างจังหวัด รวมถึงความพยายามในการเพิ่มประสิทธิภาพในการระบายน้ำ เช่น การขุดลอกคูคลอง หรือพร่องน้ำบางส่วนเพื่อรองรับ แต่เชื่อว่าหากปริมาณน้ำในปีนี้เท่ากับปีที่แล้ว คงเกิดน้ำท่วมหนักเหมือนเดิม
นอกจากนี้ รัฐบาลยังต้องเตรียมความพร้อม โดยให้ความสำคัญกับการลดปริมาณน้ำที่จะไหล หรือการตัดยอดน้ำที่จะมาจากตอนบน ซึ่งขณะนี้ยังไม่มีการสร้างอ่างเก็บน้ำหรือแก้มลิงเพื่อรองรับ เป็นโจทย์ที่รัฐบาลต้องแก้ต่อไปเพราะมีเสียงคัดค้านพอสมควร
อย่างไรก็ตาม มาตรการที่ว่ามายังเป็นเพียงมาตรการใช้ สิ่งก่อสร้าง (Structural Measures) ซึ่งรัฐบาลควรให้ความสำคัญกับมาตรการไม่ใช้สิ่งก่อสร้าง (Structural Measures) ด้วยเช่นกัน
ไม่ว่าเรื่องสำคัญอย่างการบังคับใช้กฎหมาย เช่น การบังคับใช้กฎหมายป้องกันการบุกรุกแม่น้ำ หรือออกกฎหมายที่ห้ามปลูกสิ่งก่อสร้างกีดขวางทางเดินน้ำ
นอกจากนี้รัฐบาลควรให้ความรู้ ทำความเข้าใจกับภาคประชาชนมากขึ้น รวมถึงให้ความสำคัญกับการเปิดเผยข้อมูล เช่น การประกาศว่ารัฐบาลมีขีดความสามารถในการรับมือน้ำท่วมได้มากแค่ไหน
อย่าไปบอกว่าสู้ได้ 100 เปอร์เซ็นต์ เพราะในแต่ละพื้นที่หรือจังหวัดมีศักยภาพในการรับมือน้ำท่วมแตกต่างกัน สิ่งเหล่านี้คือสิ่งที่รัฐบาลต้องเปิดเผย
เท่าที่เห็นภาพของรัฐบาลชุดนี้ดูมีความตั้งใจ ตัวนายกฯ เองก็ให้ความสำคัญกับการแก้ปัญหาน้ำท่วมค่อนข้างสูง
อย่างไรก็ตาม บทบาทของรัฐบาลควรเน้นการจัดการในเรื่องนโยบาย หรือการจัดการในภาพรวม ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเดินในกรอบของตัวเองโดยไม่เข้าไปแทรกแซง ไม่เช่นนั้นจะทำให้การทำงานเกิดความซ้ำซ้อน
ไม่ควรมาเถียงกันเรื่องเทคนิค เช่น ปัญหาระหว่างรัฐบาลกับ กทม. เรื่องกระสอบทรายที่ผ่านมา เพราะการจัดการปัญหาพวกนี้มันมีหลายวิธี แต่ละวิธีก็มีทั้งข้อดีข้อเสีย ภาพความขัดแย้งที่เกิดขึ้นจะทำให้ประชาชนรู้สึกไม่สบายใจ
ฉะนั้น หากภารกิจใด ส่วนท้องถิ่นจัดการได้ รัฐบาลก็ควรปล่อยให้เขาจัดการไป หากท้องถิ่นไม่ไหว เขาก็จะขอความช่วยเหลือเอง รัฐบาลควรเน้นดูเรื่องนโยบายหรืองบประมาณมากกว่า
หาญณรงค์ เยาวเลิศ
ประธานมูลนิธิเพื่อการบริหารจัดการน้ำแบบบูรณาการ
ใกล้หมดหน้าฝนจะเข้าหน้าหนาว แต่คนส่วนใหญ่โดยเฉพาะผู้ที่เคยประสบภัยนั้นคลายกังวลไปได้เพียงบางจุด ยังไม่เชื่อมั่นร้อยเปอร์เซ็นต์
เนื่องเพราะมหาอุทกภัยปีที่แล้วยังตามหลอนอยู่ ปีนี้แม้รัฐบาลจะทำดีแค่ไหน คนก็ยังไม่เชื่อมั่นอยู่ดี จะเห็นได้จากหลายคนยังวิตกกังวล หลายครอบครัวไม่กล้าซ่อมแซมบ้าน แค่ฝนตกเห็นน้ำท่วมขังก็สะดุ้ง กลายเป็นโรคกลัวน้ำกันหมด
คงต้องใช้เวลา รอดูการทำงานวางแผนและการชี้แจงจากรัฐบาลอีกสักระยะ จึงจะเกิดความเชื่อมั่นมากกว่านี้
แต่แน่นอนว่าถ้ารัฐบาลเอาอยู่ในปีนี้และปีต่อๆ ไป รวมถึงทำงานอย่างตรงไปตรงมา รับฟังความคิดเห็นและเปิดโอกาสให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการวางแผนมากขึ้น ก็จะส่งผลต่อคะแนนนิยมของรัฐบาลด้วย
ที่ผ่านมาคณะกรรมการบริหารจัดการน้ำและอุทกภัย (กบอ.) ซึ่งมีนายปลอดประสพ สุรัสวดี รมว.วิทยาศาสตร์ฯ เป็นประธาน ทำงานคึกคักกว่าตอนตั้งศูนย์ปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย (ศปภ.) เมื่อปี 2554
มีการแลกเปลี่ยนประสานข้อมูลระหว่างหน่วยงาน เช่น กรมอุตุฯ ปภ. ไอซีที ฯลฯ สามารถแจ้งเตือนภัยได้ทันท่วงที แต่ภายในคณะกรรมการกลับเกิดศึกเกาเหลากันเอง เกิดภาพนายปลอดประสพไม่ฟังคนรู้จริงและผู้มีประสบการณ์
เพราะเมื่อกางชื่อกรรมการแต่ละคน พบว่าส่วนใหญ่เป็นข้าราชการ มีผู้เชี่ยวชาญน้ำจริงๆ ไม่ถึง 10% บางครั้งคณะกรรมการชุดนี้ก็เข้าไปแทรกแซงกลไกการทำงานของหน่วยงานประจำ เช่น กรมชลฯ สำนักระบายน้ำ เกิดปัญหาในการทำงาน
อีกเรื่องที่ควรปรับปรุงคือการใช้งบประมาณ เพราะเข้าลักษณะใช้งบตามกระแสแต่ไม่ตอบโจทย์เรื่องการบริหารจัดการน้ำ เช่น กรณีขุดลอกลำน้ำธรรมชาติที่ใช้งบกว่าหมื่นล้าน สุดท้ายก็ทำลายต้นไม้ เกิดดินร่วนจนตลิ่งพัง ช่วยป้องกันน้ำท่วมไม่ได้
การตั้งงบฯ ครั้งต่อไปจึงควรคำนึงถึงทรัพยากร และเปิดให้ประชาชนร่วมกำหนดทิศทางของแผนงานให้มากกว่านี้
อีกเรื่องที่เป็นห่วงคือ ผลจากการระบายน้ำออกจากอ่างเก็บน้ำมากกว่าเดิมในปีนี้ เกรงว่าพอเข้าช่วงหน้าแล้ง น้ำอาจไม่เพียงพอสำหรับการเกษตรที่ต้องทำนากันปีละ 3 ครั้ง ไม่ทราบว่ารัฐบาลได้คำนวณและวางแผนเรื่องกันอย่างไร ควรชี้แจงประชาชนทราบให้มากกว่านี้
และที่สำคัญอย่าเล่นเกมการเมืองกันมาก โดยเฉพาะศึกถุงทรายระหว่างรัฐบาลกับกทม. ควรเอาเวลาที่เถียงกันมาสูบน้ำในหลายๆ คลองออกทั้งใน กทม. และปริมณฑล เช่น จ.นนทบุรี ปทุมธานี ที่กำลังปริ่มตอนนี้