ประชาไท 16 ตุลาคม 2555 >>>
ความเชื่อแบบเก่าคือความเชื่อในความศักดิ์สิทธิ์ของกษัตริย์และผู้นำอื่นๆ หรือความเชื่อที่ไม่เป็นวิทยาศาสตร์ ดังนั้นการเสื่อมสลายของความคิดประเภทนี้ในยุคสมัยใหม่ หมายความว่าการสร้างชาติไม่สามารถยึดถือการกลับไปสู่สังคมเก่าดั้งเดิมเป็นเป้าหมายได้ สิ่งที่ก่อให้เกิดความเสื่อมในความเชื่อเก่าๆในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ คือการทำลายหรือลดบทบาทของสถาบันกษัตริย์ในหลายประเทศโดยตะวันตก เช่นในพม่า มาลายู หรือ ชวา ในกรณีเขมร เวียดนาม และลาว ฝรั่งเศสใช้กษัตริย์เป็นเครื่องมือจนประชาชนหมดศรัทธาในการเป็นผู้นำการปลดแอกได้ และในช่วงแรกๆหลังเอกราช เราจะเห็นว่าเจ้าสีหนุ ต้องถึงกับลาออกจากการเป็นกษัตริย์เขมรเพื่อมีบทบาททางการเมืองอย่างจริงจัง
หลังการเจรจาสันติภาพ ระหว่างเจ้าอาณานิคมฝรั่งเศสกับขบวนการปลดแอกเวียดนาม ที่เจนีวาในปี ค.ศ. 1954 ซึ่งเป็นผลมาจากชัยชนะของขบวนการเวียดมินห์ในการต่อสู้กับฝรั่งเศสที่เดียนเบียนฟู เจ้าสีหนุขึ้นมาเป็นนายกรัฐมนตรีกึ่งเผด็จการและตั้ง “พรรคสังคม” ขึ้นมาเพื่อเป็นฐานอำนาจ โดยมีการอ้างว่าจะใช้แนว “สังคมนิยมพุทธ” ที่สืบทอดความคิดมาจากนครวัด แต่ในรูปธรรมไม่มีการใช้แนวสังคมนิยมหรือแนวพุทธในการบริหารประเทศสักเท่าไร
สีหนุพยายามใช้นโยบายเป็นกลางไม่เข้าข้างฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งในสงครามเย็น และโดยเฉพาะในสงครามเวียดนาม นโยบายนี้เป็นประโยชน์กับขบวนการคอมมิวนิสต์เวียดนามเพราะเป็นการกีดกันไม่ให้สหรัฐเข้ามามีอิทธิพลในเขมร และเปิดโอกาสให้ขบวนการชาตินิยมเวียดนามลำเลียงเสบียงจากเวียดนามเหนือลงมาให้ขบวนการปลดแอกชาติในเวียดนามใต้ผ่านเส้นทางโฮจิมินห์ โดยที่สีหนุทำเป็นไม่รู้ไม่เห็น
จุดยืนของสีหนุบวกกับความอ่อนแอของพรรคคอมมิวนิสต์เขมร มีผลให้พรรคคอมมิวนิสต์เวียดนามให้ความสำคัญกับการสร้างแนวร่วมกับสีหนุมากกว่าการสนับสนุนพรรคคอมมิวนิสต์เขมร ยิ่งกว่านั้นพรรคเวียดนามพยายามยับยั้งการต่อสู้ของพรรคเขมรกับสีหนุเพื่อเอาใจสีหนุ ซึ่งเป็นนโยบายคล้ายคลึงกับนโยบายของสตาลินต่อพรรคคอมมิวนิสต์จีนในปี ค.ศ. 1926 หรือนโยบายต่อกรณีสเปนในปี ค.ศ. 1936
สีหนุปกครองในรูปแบบเผด็จการ มีการโกงการเลือกตั้งและคุกคามฝ่ายค้าน การจำกัดพื้นที่ประชาธิปไตยแบบนี้ส่งผลให้ฝ่ายซ้ายเขมรหนีเข้าป่าในปี ค.ศ. 1962 และร่วมสู้รบกับเวียดมินห์
ในปี ค.ศ. 1960 สล็อท ซาร์ หรือที่ใครๆรู้จักในภายหลังในนามของ “พอล พต” รวมถึงผู้นำพรรคคอมมิวนิสต์เขมรอื่นๆ ประกาศแถลงการณ์ที่เจาะจงว่าภาระหลักของพรรคคือการต่อสู้กับระบบศักดินาเพื่อปลดแอกประเทศ ซึ่งถือว่าเป็นการโจมตีเจ้าสีหนุโดยตรง แถลงการณ์นี้สะท้อนความไม่พอใจของคอมมิวนิสต์เขมรต่อนโยบายพรรคเวียดนามที่คอยยับยั้งการต่อสู้ของชาวคอมมิวนิสต์เขมรมาตลอด อย่างไรก็ตามพรรคเขมรยังต้องเข้าไปอาศัยพื้นที่ชายแดนที่อยู่ภายใต้การควบคุมของพรรคเวียดนาม เพื่อความปลอดภัย ด้วยเหตุนี้ สล็อท ซาร์ จึงเดินทางไปผูกมิตรไมตรีกับจีนระหว่างปี ค.ศ. 1965-1966 ซึ่งเป็นช่วงที่เกิดการปฏิวัติวัฒนธรรมในจีน หลังจากที่กลับจากจีน สล็อด ซาร์ ย้ายที่ทำการพรรค จากดินแดนภายใต้การดูแลของทหารคอมมิวนิสต์เวียดนามทางใต้ไปสู่ป่าเขาของเขตรัตนคีรีซึ่งติดพรมแดนลาวและเวียดนามทางตะวันออกเฉียงเหนือของเขมร
ในปี ค.ศ. 1970 สหรัฐหนุนการทำรัฐประหารล้มเจ้าสีหนุและส่งกองทัพและเครื่องบินรบเข้าไปทิ้งระเบิดในเขมร ซึ่งเป็นการขยายสงครามเวียดนามเข้าไปในดินแดนเขมร ประธานาธิปดีนิคสันพยายามจัดการกับสายส่งเสบียงของเวียดนามเหนือที่ผ่านลาวและเขมร (เส้นทางโฮจิมินห์) สหรัฐสนับสนุนการทำรัฐประหารของนายพลลอนนอล เพื่อล้มรัฐบาลที่เป็นกลางของเจ้าสีหนุ หลังจากนั้นรัฐบาลฝ่ายขวาใหม่ของลอนนอลก็ “เชิญ” กองทัพสหรัฐให้บุกเข้าไปในเขมรและทิ้งระเบิดประเทศอย่างหนัก งบประมาณที่สหรัฐช่วยเหลือลอนนอลสูงถึง 500 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ในปี ค.ศ. 1971 นอกจากนี้สหรัฐยังขยายพื้นที่สงครามไปสู่ประเทศลาวและมีการส่งกองกำลังทหารเวียดนามใต้เข้าไปในลาวอีกด้วย ในที่สุดลาวก็ได้ขึ้นชื่อว่าเป็นประเทศที่ถูกถล่มด้วยระเบิดมากที่สุดในประวัติศาสตร์โลก
การกระทำของสหรัฐมีผลให้พรรคคอมมิวนิสต์เขมรขึ้นมาเป็นองค์กรนำของขบวนการชาตินิยมเขมร และยังปูทางไปสู่นโยบายของ “เขมรแดง” อีกด้วย หลังจากที่เขมรแดงยึดอำนาจได้ ก็เชิญเจ้าสีหนุมาเป็น “ประมุข” แต่ในไม่ช้าก็ทะเลาะกันและแยกทาง ต่อมาสีหนุได้ขึ้นมาเป็นกษัตริย์อีกครั้งหลังจากที่ฮุนเซนและกองทัพเวียดนามขับไล่เขมรแดงออกไป
สรุปแล้วสีหนุเป็นนักฉวยโอกาสชั้นยอดที่ใช้ความฉลาดในการมีบทบาททางการเมืองในเขมรเป็นเวลานาน แต่เขาไม่เคยทำอะไรเพื่อพัฒนาประชาธิปไตยและความอยู่ดีเป็นสุขของชาวเขมรแต่อย่างใด