ข่าวสด 10 ตุลาคม 2555 >>>
เพื่อไทยตั้ง พล.ต.ท.วิโรจน์ เปาอินทร์ ทำหน้าที่รักษาการหัวหน้าพรรคก่อนเลือกหัวหน้าพรรคตัวจริงกันวันที่ 30 ต.ค. ที่ผ่านมา มีรายชื่อตกเป็นข่าวหลายคน ทั้ง นายจารุพงศ์ เรืองสุวรรณ รมว.คมนาคม รักษาการเลขาฯพรรค พล.ต.อ.เพรียวพันธ์ ดามาพงศ์ อดีต ผบ.ตร. นายภูมิธรรม เวชยชัย ผอ.พรรค พล.อ.อ. สุกำพล สุวรรณทัต รมว.กลาโหม รวมถึงการเสนอให้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกฯ นั่งหัวหน้าพรรคเสียเองตัวแทนแต่ละกลุ่มในพรรคเพื่อไทยเห็นด้วยหรือไม่ สนับสนุนใครแล้วหัวหน้าคนใหม่ต้องมีคุณสมบัติอย่างไร
ไพจิต ศรีวรขาน
แกนนำกลุ่มอีสานพัฒนา
การเลือกหัวหน้าพรรคต้องรอบคอบ ใช้เวลาพิจารณาไตร่ตรองโดยไม่ต้องเร่งรีบ ไม่จำเป็นต้องเป็น ส.ส. มาก่อน ที่ผ่านมา ยังมีข้อกฎหมายที่เป็นปัญหา ทั้งประเด็นยุบพรรคและตัดสิทธิ์ทางการเมือง ผู้ที่เข้ามาทำหน้าที่นี้จึงยังมีข้อจำกัดอยู่ หากมองเรื่องคุณสมบัติ หัวหน้าพรรคต้องโดดเด่นในการบริหารงานตามกฎหมายพรรคการเมือง เข้าใจการทำหน้าที่ของสมาชิกพรรค เข้าใจงานการเมืองระหว่างพรรค ไม่จำเป็นต้องเก่งการเมืองสุดขั้ว แต่ขอให้มีหัวใจของการทุ่มเททำงานร่วมกับ ส.ส. และรัฐมนตรี เรียกว่ามีจิตวิญญาณในการแก้ปัญหาให้กับพรรคในฐานะที่เป็นรัฐบาล นายยงยุทธ มีคุณสมบัติอย่างที่ผมกล่าวมา คือ เด่นเรื่องการประสานกับข้าราชการ ในฐานะอดีตข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ ไม่ทะเลาะกับใคร และยังประสานกับพรรคอื่นๆ ได้ด้วยท่าทีประนีประนอม หากหัวหน้าคนใหม่ไม่ได้มาจากกลุ่มอีสาน หรือกลุ่มอื่นๆ รวมทั้งบุคคลภายใน กลุ่มเราจะยอมรับได้หรือไม่ เรื่องนี้ไม่ใช่ปัญหาเพราะนายยงยุทธ ก็มาจากภาคใต้ แต่ไม่มีปัญหากับ ส.ส.อีสาน หรือภาคใดๆ จึงเชื่อว่า ส.ส.อีสาน จะยอมรับได้ ไม่ว่าจะเป็นใครขอให้ตั้งใจทำงาน ไม่ต้องเป็นนักการเมืองอาชีพ ตอนนี้พรรคมี พล.ต.ท.วิโรจน์ ทำหน้าที่รักษาการอยู่ ผมมองว่าท่านเป็นผู้ใหญ่ มีประสบการณ์ สามารถประสานงานกับบุคคลต่างๆ ทั้งภายในและนอกพรรคได้ด้านนายภูมิธรรม มีความโดดเด่น เป็นมือประสานงาน พล.ต.อ.เพรียวพันธ์ เป็นผู้ใหญ่ที่ผ่านการบริหารงานตำรวจมาก่อน จึงมีภาพน่าเชื่อถือ และพูดน้อยแต่เน้นการทำงาน ซึ่งถือเป็นจุดเด่น นายจารุพงศ์ ถือว่าเป็นเบอร์ 2 รองจากนายยงยุทธ อีกทั้งยังเป็นปลัดเก่า ซึ่งมีสัมพันธ์กับข้าราชการ รวมทั้งฝ่ายต่างๆ พอสมควร ชื่อที่เอ่ยมาทั้งหมดนั้น แสดงให้เห็นว่าทุกคนมีความสามารถทั้งหมด จึงน่าจะขอให้เวลากรรมการบริหารพรรคตัดสินใจ และหากมีการเสนอชื่อบุคคลที่ใกล้ชิดกับคนชินวัตร ก็ไม่น่าจะมีปัญหาอะไรกับพรรค ในสายตาของคนนอกที่มองมาที่เราอาจจะคิดมาก แต่คิดว่าหากมีความเข้าใจทั้งสมาชิกและรูปแบบการทำงานของพรรคก็ไม่มีปัญหา แต่ถ้าจะให้นายกฯ มารับตำแหน่งหัวหน้าพรรค ผมมองว่าไม่จำเป็น เพราะกรอบการบริหารงานของฝ่ายบริหารก็สอดคล้องกับการทำงานของพรรคอยู่แล้ว โดยเฉพาะเรื่องนโยบายงานในฐานะนายกฯมีภารกิจค่อนข้างมาก ขณะที่ข้อกฎหมายเองก็ยังมีปัญหาในบางเรื่อง
วิชาญ มีนชัยนันท์
แกนนำกลุ่ม กทม. โซนตะวันออก
ผมไม่ได้วิตกว่าหัวหน้าพรรคต้องเป็น ส.ส. หรือไม่ ก่อนหน้านี้นายยงยุทธ หรือแม้แต่นายจาตุรนต์ ฉายแสง อดีตรักษาการหัวหน้าพรรคไทยรักไทย ก็ไม่ได้เป็น ส.ส. แต่เห็นว่าควรเป็นสมาชิกของพรรคคุณสมบัติของหัวหน้าพรรคต้องเป็นผู้นำ เข้าใจการทำงานของ ส.ส. เขตและบัญชีรายชื่อว่าเหมือนหรือแตกต่างกันอย่างไร แต่ละโซนต้องการอะไรบ้าง ต้องเป็นมือประสานทั้งภายในและภายนอก ทั้งงานด้านการบริหารและการเมือง ประสบการณ์ที่เคยผ่านมาด้านอื่นๆ ต้องบ่งบอกได้ถึงความรอบรู้และกล้าคิด ในขณะที่สถานการณ์การเมืองยังเป็นอย่างนี้ถือว่าการประสานงานมีความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง ยกตัวอย่างคุณสมบัติเด่นของนายยงยุทธ คือเรื่องความซื่อตรง และกล้าตัดสินใจในเรื่องที่สำคัญเมื่อถึงเวลาจำเป็น รายชื่อแคนดิเดตต่างๆ ที่ปรากฏทางสื่อ ยังไม่สำคัญเท่ากับคุณสมบัติที่ผมกล่าวมา และเชื่อว่าไม่ว่าจะเสนอใคร หากมีการรับฟังความเห็น มีการประชุมร่วมกันตามระบบพรรค ที่สุดน่าจะยอมรับได้กับชื่อที่ถูกเสนอมา เพราะได้ผ่านกระบวนการคัดเลือกจากคณะกรรมการมาแล้วทุกชื่อที่เป็นข่าวจึงมีความเป็นไปได้หมด พล.ต.ท.วิโรจน์ มีประสบการณ์การเมือง และมีความสามารถคนหนึ่ง ขณะที่ พล.ต.อ.เพรียวพันธ์ เคยบริหารบุคลากรจำนวนมากในสำนักงานตำรวจแห่งชาติ และการเป็นข้าราชการประจำมาก่อนนั้นต้องเกี่ยวพันกับงานการเมืองอยู่แล้ว นายจารุพงศ์ นายปลอดประสพ ต่างมีคุณสมบัติเด่นที่ต่างกัน ขณะที่นายภูมิธรรม มีคุณสมบัติในเรื่องการกำหนดยุทธศาสตร์ให้กับพรรค เชื่อว่าพรรคจะดูคุณสมบัติเบื้องหน้าเบื้องหลังของบุคคลนั้นๆ ว่าเหมาะหรือไม่ สุดท้ายผมไม่ได้มองว่าหัวหน้าพรรคเป็นใคร เพราะรูปแบบโครงสร้างการทำงานของพรรคจะเป็นคณะกรรมการที่คิดและตัดสินใจร่วมกัน ไม่ใช่หัวหน้าพรรคจะมีอำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาดเพียงคนเดียวกระแสเรียกร้องของฝ่ายค้านให้นายกฯมารับตำแหน่งหัวหน้าพรรคด้วยนั้น พรรคเราบริหารงานการเมืองยุคใหม่ หัวหน้าพรรคไม่จำเป็นต้องเป็นหัวหน้ารัฐบาลอย่างเป็นรูปธรรม แต่จะเป็นอิสระในการทำงาน ถือเป็นรูปแบบใหม่การบริหารงานซึ่งต่างจากบางพรรคหรือในอดีต ที่หัวหน้าพรรคกับนายกฯต้องเป็นคนคนเดียวกัน ทำให้การทำงานหรือตัดสินใจอยู่ในมือคนคนเดียว จนบางครั้งอาจทำให้การบริหารงานเกิดความล่าช้าขึ้นได้
วรวัจน์ เอื้ออภิญญกุล
รมต. ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แกนนำ ส.ส.ภาคเหนือ
หัวหน้าพรรคคนใหม่จำเป็นต้องมาจาก ส.ส. เพื่อให้การทำงานและการบริหารงานเชื่อมโยงทั้งกับประชาชน รวมทั้งกับ ส.ส. และสมาชิกพรรค ส่วนจะเป็น ส.ส.บัญชีรายชื่อ หรือจากเขตเลือกตั้งก็สุดแล้วแต่อาจเป็นบุคคลที่เคยเป็น ส.ส. มาก่อนก็ได้ โดยต้องมีความรู้ ความเข้าใจงานด้านการเมืองด้วย หากไม่ใช่บุคคลที่เป็น ส.ส. มาก่อน ก็จำเป็นต้องเข้าใจงานด้านการเมืองเป็นอย่างดี ส่วนรักษาการหัวหน้าพรรคที่กรรม การบริหารพรรคมีมติให้ พล.ต.ท.วิโรจน์ ทำหน้าที่ไปก่อน ถือว่าเป็นบุคคลที่มีความเหมาะสม แต่หัวหน้าพรรคเพื่อไทยตัวจริงจะเป็นใคร คงต้องรอผลการประชุมวิสามัญวันที่ 30 ต.ค. นี้ เช่นกัน บรรดาแคนดิเดตที่มีชื่อออกสื่อหลายคน ทั้ง พล.อ.อ.สุกำพล นายจารุพงศ์ พล.ต.อ.เพรียวพันธ์ ทุกคนล้วนมีความสามารถและมีความเหมาะสมแทบทั้งสิ้น แต่สุดท้ายแล้วคงต้องขึ้นกับที่ประชุมวันนั้นสำหรับข้อเสนอให้นายกฯ นั่งเป็นหัวหน้าพรรค คงเป็นไปไม่ได้ ต้องยอมรับว่าสถานการณ์ทางการเมืองในวันนี้ยังไม่ปกติ พรรคเราโดนยุบพรรคมาถึง 2 ครั้งแล้ว ดังนั้น บุคคลที่จะมาเป็นหัวหน้าพรรคเพื่อไทยคนใหม่ต้องมีความพิเศษ เชื่อมประสานทุกฝ่ายได้ ที่สำคัญต้องไม่เป็นเป้าหมายหรือมีข้อบกพร่องให้ฝ่ายตรงข้ามโจมตีจนนำไปสู่การยุบพรรคได้
อุดมเดช รัตนเสถียร
ประธานวิปรัฐบาล
ส่วนตัวเห็นว่าหัวหน้าพรรคเพื่อไทยจำเป็นต้องเป็น ส.ส. อย่างน้อยจะได้ช่วยกันทำงานหรือประสานงานในสภา ส่วนต้องเป็นบุคคลที่รู้งานการเมืองหรือไม่ ผมมองว่าไม่มีความจำเป็นขนาดนั้น เพราะงานการเมืองเป็นเรื่องที่เรียนรู้ได้ คนที่จะมาเป็นหัวหน้าพรรคเพื่อไทยควรมีประสบการณ์ ทำหน้าที่ได้ดี จะเป็นอดีตนักการเมืองหลายสมัยหรืออดีตข้าราชการก็ได้ ไม่จำเป็นที่ต้องเก่งในเรื่องใดเรื่องหนึ่งเป็นพิเศษ รวมทั้งเป็นบุคคลที่มีความประนีประนอม ที่สำคัญขอเพียงให้เป็นบุคคลที่ ส.ส. ของพรรคยอมรับ ส่วนรายชื่อที่ถูกเสนอตามสื่อมีความเป็นไปได้ทุกคน แต่สุดท้ายต้องขึ้นกับมติของที่ประชุมพรรคการเสนอให้นายกฯ นั่งหัวหน้าพรรคเอง ก็เป็นอีกหนึ่งทางเลือกซึ่งขณะนี้ก็ยังมีเวลาเหลือ
แต่ตราบใดที่เรายังกังวลกับการทำหน้าที่ขององค์กรอิสระ การใช้ดุลพินิจหรือการวินิจฉัยข้อกฎหมายของศาลรัฐธรรมนูญ การจะเลือกคนที่มีภาระหน้าที่บริหารประเทศเข้ามาเป็นหัวหน้าพรรค อาจกลายเป็นการผูกปมไว้กับคนคนเดียว ก็ถือเป็นเรื่องอันตรายเหมือนกัน